สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบหลักฐาน ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งเคยฝ่าเข้ามาในเขตระบบสุริยะเมื่อ 70,000 ปีก่อน

พบหลักฐาน ดาวฤกษ์ดวงหนึ่งเคยฝ่าเข้ามาในเขตระบบสุริยะเมื่อ 70,000 ปีก่อน

1 มี.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ย้อนหลังไปเมื่อราว 70,000 ปีก่อน เมื่อครั้งที่มนุษย์นีแอนเดอทรัลและโครมันยองยังคงย่ำบนพื้นพิภพหากินขยายอาณาเขต เผ่าพันธุ์บรรพบุรุษของเรานี้อาจไม่ทันได้สังเกตเลยว่า บนท้องฟ้าขณะนั้น มีดาวฤกษ์ดวงหนึ่งได้รุกล้ำเข้ามาในเขตของระบบสุริยะของเรา 
เอริก มามาเจ็ก จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์และคณะได้ใช้กล้องซอลต์ในแอฟริกาใต้และกล้องเจมิไนในการวัดความเร็วตามขวางและความเร็วตามแนวรัศมีของดาวดวงหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ปีแสง เพื่อใช้คำนวณหาเส้นทางการเคลื่อนที่ 
ดาวดวงนี้มีชื่อว่า ดาวโชลซ์ (Scholz's star) อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น ผลการคำนวณเส้นทางการเคลื่อนที่ซึ่งมีความแม่นยำมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์แสดงว่า เมื่อราว 70,000 ปีก่อน ดาวดวงนี้ได้เคยเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ โดยในขณะนั้นอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เพียง 0.8 ปีแสง หรือประมาณ 50,000 หน่วยดาราศาสตร์ ปัจจุบันดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า อยู่ห่างออกไป 4.2 ปีแสง
ระยะนี้ อาจพูดไม่ได้ว่าดาวโชลต์ได้ผ่านเข้ามาใกล้ระบบสุริยะ แต่ต้องเรียกว่าผ่าเข้ามายังลานบ้านของระบบสุริยะของเราเลยทีเดียว เพราะที่ระยะ 50,000 หน่วยดาราศาสตร์เป็นเขตของเมฆออร์ตยังถือว่าเป็นอาณาเขตของระบบสุริยะอยู่ เมฆออร์ตเป็นแหล่งที่อยู่ของวัตถุต้นกำเนิดดาวหางอยู่นับพันล้านดวง วัตถุเหล่านี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบหลายแสนปี
การค้นพบนี้อาจทำให้หลายคนนึกไปถึงเรื่องของดาวเนเมซิส ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์มฤตยูที่คุกคามชีวิตบนโลก
เมื่อราว 30 ปีก่อน นักบรรพชีวินวิทยา เดวิด รอป และ แจ็ก เซปโคสกี ตั้งสมมุติฐานว่า ดวงอาทิตย์ของเรามีดาวแคระแดงดวงหนึ่งโคจรรอบ มีคาบโคจรยาวมาก ทุก 26 ล้านปีดาวดวงนี้จะเข้ามาใกล้ระบบสุริยะ ก่อให้เกิดพายุดาวหางขึ้นถล่มระบบสุริยะชั้นในรวมถึงโลก เป็นเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานต่าง ๆ ทั้งรอยพุ่งชนบนโลก ดวงจันทร์ และดาวอังคาร ไม่สนับสนุนทฤษฎีนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเนเมซิสไม่น่าจะมีจริง
ในขณะที่ดาวเนเมซิสเป็นจินตนาการ แต่ดาวโชลซ์เป็นเรื่องจริง ดาวดวงนี้เป็นดาวแคระแดง ชนิดสเปกตรัมเอ็ม ดาวชนิดเอ็มเป็นชนิดที่มีมากที่สุดในดาราจักรทางช้างเผือก และน่าจะเป็นชนิดที่มากที่สุดในเอกภพด้วย ประมาณว่า 75% ของดาวฤกษ์ทั้งหมดเป็นดาวชนิดนี้ ดาวโชลซ์มีมวลประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ดาวโชลซ์ยังเป็นดาวคู่ นอกจากดาวประธานที่เป็นดาวชนิดเอ็มแล้ว ยังมีดาวแคระน้ำตาลชนิดสเปกตรัมที อีกดวงหนึ่งโคจรรอบอยู่ ดาวแคระน้ำตาลก็เป็นชนิดวัตถุที่มีอยู่มากในเอกภพเช่นกัน แต่เนื่องจากแสงจางมาก จึงตรวจพบได้ยากมาก นอกจากจะโคจรรอบดาวดวงอื่นเช่นกรณีนี้
ดาวโชลซ์เป็นดาวที่แสงจางมาก แม้ในขณะที่เข้าใกล้ระบบสุริยะที่สุด ยังมีอันดับความสว่าง 11 ซึ่งจางกว่าระดับที่ตาเปล่าจะมองเห็นมาก แต่ดาวดวงนี้เป็นดาวที่มีกัมมันตภาพคึกคัก บางครั้งอาจมีการลุกจ้าหรือการปะทุรุนแรงขึ้นบนพื้นผิวที่อาจทำให้ความสว่างของดาวพุ่งขึ้นอย่างกระทันหันจนถึงระดับที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษของเราอาจเคยมองเห็นดาวดวงนี้ และอาจมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าจุดนี้คือดาวดวงใหม่หรือไม่
นักดาราศาสตร์คณะนี้คาดว่า ด้วยความสามารถของกล้องใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้มีค้นพบวัตถุจำพวกดาวแคระแดง ดาวแคระน้ำตาล รวมถึงดาวเคราะห์อิสระ ล่องลอยอยู่ไม่ไกลจากระบบสุริยะของเรามากขึ้น และบางดวงในจำนวนนี้ อาจเคยเฉียดเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์และโลกมาแล้วแบบดาวโชลซ์ได้เช่นกัน
    ดาวโชลซ์ ตามจินตนาการของศิลปิน ดาวดวงนี้ได้เคยเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ 70,000 ปีก่อน

    ดาวโชลซ์ ตามจินตนาการของศิลปิน ดาวดวงนี้ได้เคยเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อ 70,000 ปีก่อน (จาก Michael Osadciw/University of Rochester)

    เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวโชลซ์เทียบกับระบบสุริยะ ดาวดวงนี้ได้เคยตัดผ่านเข้ามาในเมฆออร์ตด้วยระยะ 50,000 หน่วยดาราศาสตร์

    เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวโชลซ์เทียบกับระบบสุริยะ ดาวดวงนี้ได้เคยตัดผ่านเข้ามาในเมฆออร์ตด้วยระยะ 50,000 หน่วยดาราศาสตร์ (จาก NASA, Michael Osadciw/University of Rochester, Illustration-T.Reyes)

    ที่มา: