สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทะเลสาบบนไททันเกิดจากหลุมยุบ

ทะเลสาบบนไททันเกิดจากหลุมยุบ

21 ก.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดวงจันทร์ไททัน บริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ เป็นวัตถุหนึ่งเดียวในระบบสุริยะนอกจากโลกที่พบว่ามีทะเลสาบอยู่ด้วย ต่างเพียงตรงที่ของเหลวในทะเลสาบของไททันไม่ใช่น้ำ แต่เป็นไฮโดรคาร์บอนเหลวจำพวกมีเทนและอีเทน 

ยานแคสซีนีพบทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนบนไททันหลายแห่ง ทะเลสาบที่นี่พอจะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ แบบแรกคือทะเลสาบขนาดใหญ่ มีความกว้างหลายร้อยกิโลเมตรและลึกนับร้อยเมตร มีสายธารของไฮโดรคาร์บอนไหลรินลงสู่ทะเลสาบ ทะเลสาบอีกจำพวกหนึ่งที่มีอยู่จำนวนมากเป็นทะเลสาบขนาดเล็กและตื้น รูปร่างค่อนข้างโค้งมน ขอบตลิ่งชัน และมักพบอยู่ตามที่ราบ นอกจากนี้แคสซีนียังพบแอ่งแห้งอีกหลายแห่ง

ทะเลสาบจำพวกหลังนี้มักไม่มีลำธารไหลมาลง นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าของเหลวในทะเลสาบเกิดมาจากการรับฝนไฮโดรคาร์บอนโดยตรง หรือไม่เช่นนั้นก็ซึมขึ้นมาจากใต้พื้นดิน ทะเลสาบบางแห่งมีของเหลวขังสลับกับแห้งขอดตามฤดูกาลของดาวเสาร์และไททันที่ยาวนาน 30 ปี แต่นักดาราศาสตร์ไม่เข้าใจว่าแอ่งที่เป็นที่มาของทะเลสาบเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ในการพยายามค้นหาคำตอบ เมื่อไม่นานมานี้นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งได้หันมามองดูดาวเคราะห์บ้านเกิดของตนเอง พบว่าทะเลสาบของไททันคล้ายคลึงกับหลุมคาสต์บนโลก  ซึ่งเป็นหลุมที่เกิดขึ้นจากการสึกกร่อนของหินที่ละลายน้ำได้ เช่น หินปูน ยิปซัม น้ำใต้ดินและน้ำฝนแทรกซึมเข้าไปในเนื้อหินแล้วละลายออกไป เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าก็เกิดที่ว่างกลายเป็นหลุมยุบและถ้ำ 

การสึกกร่อนจะเกิดขึ้นช้าเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่นองค์ประกอบทางเคมีของหิน ความชุกของฝน อุณหภูมิพื้นผิว แม้ปัจจัยเหล่านี้ของโลกกับไททันจะต่างกันมาก แต่นักวิจัยเชื่อว่ากลไกการเกิดก็น่าจะไม่ต่างกัน

นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งที่นำโดย ทอมัส คอร์เนต จากองค์การอวกาศยุโรปได้คำนวณว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าใดในการทำให้พื้นดินของไททันยุบลงไปเป็นแอ่งดังที่พบเห็นนี้ เขาสมมุติว่าพื้นผิวนี้ปกคลุมด้วยสารอินทรีย์แข็ง และตัวทำละลายหลักคือไฮโดรคาร์บอนเหลว แล้วใช้สภาพลมฟ้าอากาศปัจจุบันของไททันเป็นเงื่อนไขในการคำนวณ 

ผลลัพธ์ที่ได้คือดวงจันทร์ไททันใช้เวลาประมาณ 50 ล้านปีในการทำให้เกิดแอ่งลึก 100 เมตรในบริเวณฉ่ำฝนใกล้ขั้วดาว ตัวเลขนี้สอดคล้องกับอายุที่น้อยของพื้นผิวไททัน

ทอมัส คอร์เนต กล่าวว่า "เราเปรียบเทียบอัตราการสึกกร่อนของสารอินทรีย์ในไฮโดรคาร์บอนเหลวบนไททันกับอัตราสึกกร่อนของคาร์บอเนตและหินเกลือระเหยในน้ำของโลก พบว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นบนดวงจันทร์ไททันช้ากว่าบนโลกประมาณ 30 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงปีที่ยาวนานกว่ามากของไททัน อีกเหตุผลหนึ่งคือบนไททันมีฝนตกเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการละลายคือสาเหตุหลักของวิวัฒนาการทางภูมิทัศน์บนไททันและเป็นสาเหตุของการเกิดทะเลสาบ

ส่วนในบริเวณละติจูดต่ำลงมาซึ่งมีปริมาณฝนน้อยกว่าบริเวณขั้วดวงจันทร์ ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการสร้างหลุมขนาดเดียวกันยาวนานถึง 375 ล้านปี นั่นเป็นเหตุผลที่บริเวณนี้พบแอ่งน้อยมาก

นิโคลัส อัลโตเบลลี จากองค์การอีซากล่าวว่า "ด้วยการเปรียบเทียบภูมิลักษณ์บนไททันกับบนโลก บวกกับการคำนวณอีกเล็กน้อย เราพบว่ามีกระบวนการทางธรณีวิทยาคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพลมฟ้าอากาศและเคมีที่ต่างกันอย่างสุดขั้วได้เหมือนกัน"
ภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันที่สร้างขึ้นโดยเรดาร์จากยานแคสซีนีของนาซา มีทะเลสาบขนาดย่อมที่มีของเหลวขังอยู่จำนวนมาก บางแห่งก็เป็นแอ่งแห้ง

ภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันที่สร้างขึ้นโดยเรดาร์จากยานแคสซีนีของนาซา มีทะเลสาบขนาดย่อมที่มีของเหลวขังอยู่จำนวนมาก บางแห่งก็เป็นแอ่งแห้ง (จาก NASA/JPL-Caltech/ASI/USGS)

ดวงจันทร์ไททันและดาวเสาร์ ถ่ายจากยานแคสซีนี

ดวงจันทร์ไททันและดาวเสาร์ ถ่ายจากยานแคสซีนี (จาก NASA/JPL-Caltech/SSI)

ที่มา: