สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โรเซตตาพบอะไรในดาวหาง 67 พี

โรเซตตาพบอะไรในดาวหาง 67 พี

29 ต.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปี 2547 องค์การอีซา หรือองค์การอวกาศยุโรป ได้ส่งยานอวกาศชื่อโรเซตตาขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสำรวจดาวหางและดาวเคราะห์น้อย ยานได้ใช้เวลาเดินทางหนึ่งทศวรรษเป็นระยะทางหกพันล้านกิโลเมตร ผ่านดาวอังคารและดาวเคราะห์น้อยสองดวง ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายหลัก นั่นคือดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค (67P/Churyumov–Gerasimenko) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า 67 พี 

ยานโรเซตตาได้เดินทางไปถึงดาวหาง 67 พี ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก่อนที่ปรับทิศทางมาเป็นโคจรรอบดาวหาง เป็นยานอวกาศลำแรกที่โคจรรอบดาวหางได้ หลังจากนั้นยานโรเซตตาได้สำรวจดาวหางดวงนี้อย่างละเอียดด้วยอุปกรณ์หลักบนยาน 12 ชิ้น บวกกับอาวุธเด็ดอีกอย่างคือ ยานลูกชื่อ ฟิเล ซึ่งเป็นยานลงจอด 

ยานโรเซตตาได้ปล่อยยานฟิเลลงไปบนนิวเคลียสของดาวหางเพื่อสำรวจในระยะใกล้ ฟิเลได้เผยสภาพแวดล้อมที่ระดับพื้นผิวของดาวหางที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนเป็นเวลา 60 ชั่วโมงก่อนที่พลังงานในยานจะหมดไป และในวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา โรเซตตาก็ได้เผยภาพของนิวเคลียสที่พ่นลำฝุ่นและแก๊สออกมาในขณะที่อยู่ในช่วงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด

คำถามสำคัญที่สุดที่ภารกิจนี้ต้องค้นหาคำตอบให้ได้ก็คือ ดาวหางคือตัวนำองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต น้ำ และสารอินทรีย์ มาสู่โลกใช่หรือไม่?

จากรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร ไซนส์ ในเดือนกรกฎาคม พบว่ายานฟีเลตรวจพบสารอินทรีย์บนดาวหางด้วย รวมถึงสารประกอบอีกสี่ชนิดที่ไม่เคยพบในดาวหางดวงอื่นมาก่อน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจไม่พบกรดอะมิโน แต่ก็พบสารที่คาดว่าจะเป็นสารตั้งต้นของกรดอะมิโน จึงเป็นไปได้อย่างมากที่ดาวหางอย่าง 67 พี ดวงนี้จะเป็นตัวนำกรดอะมิโน น้ำตาล และสารอินทรีย์พื้นฐานมายังโลกในยุคที่โลกเพิ่งกำเนิดขึ้น

แล้วน้ำเล่า? การที่ดาวหางมีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำแข็งและขนาดแต่ละดวงก็ใหญ่เท่าภูเขา จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะสันนิษฐานว่าเมื่อดาวหางชนโลกก็จะนำน้ำมาทิ้งไว้บนโลก ดวงแล้วดวงเล่าที่ดาวหางเข้ามาชนโลก ปริมาณน้ำบนโลกก็ค่อย ๆ สะสมมากขึ้นจนกลายเป็นมหาสมุทรดังปัจจุบัน แต่สิ่งที่ดาวหางดวงนี้บอกนักดาราศาสตร์ก็คือ เขาอาจคิดผิด

น้ำบนโลกมีสัดส่วนของเฮฟวีวอเตอร์ต่อน้ำธรรมดาเฉพาะตัว (เฮฟวีวอเตอร์คือสารประกอบคล้ายน้ำ แต่ไฮโดรเจนถูกแทนที่ด้วยดิวทีเรียม) แต่ในดาวหาง 67 พี มีค่าสัดส่วนนี้สูงกว่าน้ำบนโลกถึงสามเท่า ดังนั้นดาวหางประเภทนี้ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของน้ำบนโลกแน่นอน

สิ่งที่น่าประหลาดใจไม่น้อยไปกว่ากันอีกเรื่องก็คือ ยานฟิเลไม่พบสนามแม่เหล็กบนดาวหางเลย

เป็นที่เชื่อกันว่า ในยุคต้นของระบบสุริยะเมื่อราว 4.6 พันล้านปีก่อน สนามแม่เหล็กมีส่วนช่วยให้เศษวัสดุน้อยใหญ่จับกันเป็นกลุ่มก้อนในกระบวนการสร้างดาวเคราะห์ การลงจอดแบบกระเด้งกระดอนของฟิเลทำให้ยานวัดสนามแม่เหล็กในแต่ละสถานที่และที่ระดับความสูงต่าง ๆ ได้ ผลก็คือสนามแม่เหล็กที่ยานวัดได้มีเพียงแหล่งเดียวเท่านั้นคือจากดวงอาทิตย์ การที่พบว่าดาวหางดวงนี้ไม่มีสนามแม่เหล็กคลุมทั้งดวง อาจหมายความว่าสนามแม่เหล็กอาจมีส่วนช่วยในการสะสมพอกพูนมวลเพียงในพิสัยเล็กระดับไม่ถึง เมตรเท่านั้น

เมื่อมองดาวหางดวงนี้ที่ระดับวงโคจรของโรเซตตา ยานนี้พบว่าพื้นผิวของนิวเคลียสดาวหาง 67 พี มีหลุมยุบหลายแห่งที่มีความกว้างนับร้อยเมตร บางทีหลุมยุบเหล่านี้อาจเป็นแหล่งที่มาของวัสดุที่พ่นออกไปเป็นหางก็ได้ นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าเดิมทีบริเวณนี้อาจเคยมีบ่อน้ำแข็งใต้พื้นผิวมาก่อน เมื่อความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งใต้ผิวระเหิดหายไป บ่อนั้นก็จะว่างเปล่ากลายเป็นโพรงใต้ดิน เวลาต่อมาพื้นผิวบาง ๆ ที่คลุมโพรงอยู่ก็ถล่มลงไป กลายเป็นหลุมยุบดังที่พบ

ในช่วงที่ดาวหาง 67 พี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ทุกหนึ่งวินาทีดาวหางดวงนี้เสียน้ำออกไปในรูปของไอน้ำประมาณ 300 กิโลกรัมกับฝุ่นอีกหนึ่งตัน ฝุ่นปริมาณนี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อยานโรเซตตาที่กำลังโคจรอยู่ มีบันทึกว่าฝุ่นจากดาวหางรบกวนการทำงานของตัวตรวจจับตำแหน่งดาวที่ใช้ในระบบควบคุมทิศตำแหน่งของยาน ทำให้ยานต้องอ่านซ้ำหลายครั้งเพื่อหาค่าที่แน่นอน 

ขณะนี้ยานโรเซตตาได้เสร็จสิ้นภารกิจสำรวจดาวหาง 67 พี แล้ว เชื้อเพลิงบนยานโรเซตตาจะหมดไปในเดือนกันยายนปีหน้า ทางผู้ควบคุมภารกิจต้องการให้ยานจบภารกิจด้วยการส่งยานออกไปนอกระบบสุริยะเช่นเดียวกับที่ภารกิจวอยเอเจอร์ทำ ยานโรเซตตาได้พกดิสก์ขนาด 7.5 เซนติเมตรที่บรรจุภาษา 1,000 ภาษาเพื่อทำหน้าที่ต่างหินโรเซตตาที่ยานนำชื่อมาใช้

แต่ขณะนี้ทางอีซากำลังพิจารณาทางเลือกใหม่ให้โรเซตตา นั่นคืออาจให้ยานพุ่งเข้าชนดาวหาง โดยหวังว่าการชนจะผลักดันให้ฝุ่นปริมาณมากกระเด็นออกมาเป็นก้อนใหญ่พอให้กล้องโทรทรรศน์บนโลกศึกษาได้ชัดเจน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือให้ยานโรเซตตาลงจอดบนพื้นผิวดาวหางตามยานลูกฟิเลไป วิธีนี้จะทำให้ยานมีโอกาสได้สำรวจพื้นผิวด้วยกล้องอัลตราไวโอเลตและอุปกรณ์ความไวสูงชิ้นอื่นในระยะใกล้ชิดอย่างที่ไม่มียานใดเคยทำมาก่อน 
 
ไม่ว่าอีซาจะเลือกหนทางใด ยานโรเซตตาก็ได้รับการจารึกไว้แล้วว่าเป็นภารกิจสำรวจอวกาศที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดภารกิจหนึ่ง โรเซตตาได้ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะและปฐมวัยของโลกของเราต้องเปลี่ยนไป อาจถึงเวลาที่นักดาราศาสตร์ต้องเขียนตำราเกี่ยวกับต้นกำเนิดของระบบสุริยะเสียใหม่แล้ว

ภาพดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค ถ่ายโดยยานโรเซตตาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ขณะที่นิวเคลียสกำลังพ่นฝุ่นและแก๊สออกมาเป็นหาง

ภาพดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค ถ่ายโดยยานโรเซตตาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ขณะที่นิวเคลียสกำลังพ่นฝุ่นและแก๊สออกมาเป็นหาง (จาก ESA / Rosetta / MPS for OSIRIS Team MPS / UPD / LAM / IAA / SSO / INTA / UPM / DASP / IDA)

ภาพระยะใกล้ของนิวเคลียสดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค ถ่ายโดยยานโรเซตตา

ภาพระยะใกล้ของนิวเคลียสดาวหาง 67 พี/ชูรูยมอฟ-เกราซีเมนโค ถ่ายโดยยานโรเซตตา (จาก ESA/Rosetta/Navcam – CC BY-SA IGO 3.0)

ภาพระยะใกล้ของพื้นผิวที่เต็มไปด้วยฝุ่นของดาวหาง 67 พี ถ่ายโดยยานฟิเล

ภาพระยะใกล้ของพื้นผิวที่เต็มไปด้วยฝุ่นของดาวหาง 67 พี ถ่ายโดยยานฟิเล (จาก ESA/Rosetta/Philae/ROLIS/DLR)

ภาพต่อเนื่องที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมของยานโรเซตตาที่เต็มไปด้วยฝุ่นจากดาวหาง 67 พี ในขณะที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรคและคุกคามภารกิจของโรเซตตาด้วย

ภาพต่อเนื่องที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมของยานโรเซตตาที่เต็มไปด้วยฝุ่นจากดาวหาง 67 พี ในขณะที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรคและคุกคามภารกิจของโรเซตตาด้วย (จาก ESA / Rosetta / MPS for OSIRIS Team MPS / UPD / LAM / IAA / SSO / INTA / UPM / DASP / IDA)

ที่มา: