สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวแฝด(นรก)ของโลก

ดาวแฝด(นรก)ของโลก

3 ธ.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
        เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ นักดาราศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้เคียงโลกมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา จนถึงกับเรียกกันว่าเป็นแฝดโลกเลยทีเดียว ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์-438 บี ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากดาวเคปเลอร์-438 บี มีขนาดใกล้เคียงโลกมาก ใหญ่กว่าโลกเราเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ และโคจรอยู่ในเขตที่เรียกว่าเขตเอื้ออาศัย ซึ่งหมายถึงระยะที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ที่ทำให้มีอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่ทำให้น้ำบนพื้นผิวอยู่ในสถานะของเหลวได้ 

        แต่ถ้าจะเรียกว่านี่คือดาวที่น่าอยู่ก็คงต้องคิดเสียใหม่แล้ว เพราะนักดาราศาสตร์คณะหนึ่งที่นำโดย ดร.เดวิด อาร์มสตรอง จากมหาวิทยาลัยวอร์วิก  เพิ่งพบว่าสมบัติด้านอื่นของดาวเคราะห์ดวงนี้ล้วนแต่บอกว่าที่นี่คือแดนนรกดี ๆ นี่เอง

        เคปเลอร์-438 บี เป็นบริวารของดาวเคปเลอร์-438 ซึ่งเป็นดาวแคระแดง อยู่ห่างจากโลกไป 470 ปีแสงในกลุ่มดาวพิณ 

        แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์ที่เป็นที่รู้กันว่ามีการลุกจ้ารุนแรงและการพ่นมวลคอโรนาเกิดขึ้นบ่อย ทั้งสองสิ่งนี้เป็นต้นเหตุของพายุสุริยะที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่มันพัดเข้าใส่

        ดวงอาทิตย์ของเราก็มีการลุกจ้าและการพ่นมวลคอโรนาเหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับที่เกิดขึ้นบนดาวเคปเลอร์-438 แล้ว การลุกจ้าและการพ่นมวลคอโรนาของดวงอาทิตย์มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก 

        ในช่วงระยะเวลา ปีที่เคปเลอร์สำรวจดาวดวงนี้ เคปเลอร์ตรวจจับและวัดพลังงานของการลุกจ้าได้ ครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดมีพลังงานมากถึง 1033 เอิร์ก ในขณะที่การลุกจ้าที่รุนแรงที่สุดที่เคยตรวจพบได้บนโลกเกิดขึ้นเมื่อปี 2402 ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์คาร์ริงตันยังมีพลังงานน้อยกว่าถึงสิบเท่า

        โลกและสิ่งมีชีวิตบนโลกได้รับการปกป้องจากพายุสุริยะโดยสามปัจจัย  อย่างแรกคือรัศมีวงโคจรของโลกที่ค่อนข้างห่างถึง 150 ล้านกิโลเมตร ทำให้ความเข้มของรังสีจากดวงอาทิตย์ที่มาถึงโลกทอนกำลังลงไปมาก อย่างที่สองคือสนามแม่เหล็กรอบโลกที่ช่วยเบี่ยงเบนพายุสุริยะให้พ้นทาง และอย่างสุดท้ายคือบรรยากาศของโลกที่ขวางกั้นอนุภาคพลังงานสูงและรังสีอันตรายไม่ให้ตกลงถึงพื้นโลก 

        ดาวเคปเลอร์-438 บี ดูเหมือนจะไม่มีทั้งสามสิ่งนี้เลย ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่ 24.8 ล้านกิโลเมตร ด้วยระยะเพียงเท่านี้ ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจถูกตรึงไว้จนหันด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ตลอดเวลา การถูกตรึงเช่นนี้ทำให้แกนของดาวเคราะห์ที่หลอมเหลวถูกตรึงไปด้วยกัน หรืออย่างน้อยก็ถูกหน่วงให้ช้าลง การหมุนของแกนเหล็กภายในดาวเคราะห์เป็นกลไกสำคัญในการกำเนิดสนามแม่เหล็ก เมื่อการหมุนนี้หยุดหรือช้าลง สนามแม่เหล็กก็หายไปหรืออ่อนไป เมื่อสนามแม่เหล็กหายไป ดาวเคราะห์ก็จะเสียเกราะป้องกันชั้นนอกไป เปิดโอกาสให้อนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะปะทะบรรยากาศได้โดยตรง พัดพาให้บรรยากาศหลุดลอยออกไป รังสีจากดาวฤกษ์ก็จะจู่โจมถึงพื้นผิวได้โดยตรง

        การลุกจ้าบนดาวแคระแดงมักมีความรุนแรงเป็นปรกติอยู่แล้ว ดังนั้นระบบสุริยะของดาวจำพวกนี้จึงไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่เหมาะที่จะไปค้นหาดาวคู่แฝดโลกนัก อย่างไรก็ตาม อาร์มสตรองกล่าวว่า อย่าเพิ่งถึงกับตัดความพยายามค้นหาดาวเคราะห์เอื้ออาศัยรอบดาวแคระแดงออกไปเสียเลย เพราะในเมื่อดาวเคราะห์ที่มีขนาดและอุณหภูมิใกล้เคียงกับโลกพบได้ง่ายรอบดาวแคระแดง บางทีอาจมีดาวเคราะห์หนึ่งในนั้นที่มีสภาพน่าอยู่อาศัยก็เป็นได้
ภาพวาดดาวเคปเลอร์-438 และดาวเคราะห์ ตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพวาดดาวเคปเลอร์-438 และดาวเคราะห์ ตามจินตนาการของศิลปิน (จาก Mark A Garlick/University of Warwick.)

ที่มา: