สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์แคระเค็ม ๆ

ดาวเคราะห์แคระเค็ม ๆ

2 ก.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ถ้าเอ่ยถึงดาวพฤหัสบดี ทุกคนคงนึกถึงจุดแดงใหญ่ที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้าเอ่ยถึงดาวเสาร์ก็ต้องนึกถึงวงแหวน ถ้าเอ่ยถึงดาวพลูโตก็ต้องนึกถึงหัวใจพลูโต  แต่ถ้าเอ่ยถึงดาวซีรีส ก็คงต้องนึกถึงจุดขาว

ดาวซีรีสเป็นดาวเคราะห์แคระ อยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี เคยถูกจัดเป็นดาวเคราะห์น้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 1,000 กิโลเมตร

หากดูเพียงผิวเผิน ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ไม่มีอะไรสะดุดตาเป็นพิเศษ แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อน กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลตรวจพบจุดขาวจุดหนึ่งบนพื้นผิว  ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว ยานดอว์นของนาซาได้ไปสำรวจดาวซีรีสถึงระยะใกล้ จึงได้พบว่าจุดขาวนั้นแท้จริงประกอบด้วยจุดน้อยใหญ่เกาะกลุ่มกันเป็นกระจุก นอกจากนี้ยังมีจุดเล็กจุดน้อยลักษณะคล้ายกันกระจายไปทั่วทั้งดวง

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาคำอธิบายมาเป็นเวลานานว่าจุดขาวนั้นคืออะไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ที่แน่ ๆ คือต้องไม่ใช่น้ำแข็ง เพราะน้ำแข็งจะคงสภาพอยู่ในสภาพแวดล้อมของซีรีสได้ไม่นานนัก น้ำแข็งจะระเหิดหายไปหมดในเวลาอันรวดเร็ว ในเบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นเกลือแมกนีเซียมซัลเฟต

ข้อมูลด้านสเปกตรัมล่าสุดจากการสำรวจในย่านอินฟราเรดของยานดอว์นได้ให้คำตอบที่แน่ชัดแล้วว่า คราบขาวนั้นเป็นเกลือจริง ๆ แต่เป็นเกลือโซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซดาแอช มีแอมโมเนียปะปนอยู่จำนวนหนึ่ง

นี่นับเป็นแห่งที่สามในระบบสุริยะที่พบโซเดียมคาร์บอเนต ก่อนหน้านี้สารประกอบชนิดนี้พบบนโลกและดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์เท่านั้น

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า เกลือนี้ผุดขึ้นมาจากใต้พื้นผิวพร้อมกับน้ำ ต่อมาน้ำได้ระเหยหายไป คงเหลือไว้แต่เกลือทิ้งไว้บนพื้นผิว ส่วนที่มาของน้ำยังไม่แน่ชัด อาจเป็นไปได้หลายทาง เช่น การชนของอุกกาบาตที่ทำให้เกิดหลุมออกเคเตอร์เมื่อ 80 ล้านปีก่อนได้ทำให้น้ำแข็งใต้พื้นผิวละลายและซึมขึ้นมาบนพื้นผิว หรืออาจเป็นน้ำที่อยู่ลึกลงไปไหลแทรกขึ้นมาตามรอยแตกใต้หลุมออกเคเตอร์  หรือไม่ก็อาจเกิดจากน้ำแข็งใต้พื้นผิวเดือดแล้วพ่นออกมาเป็นกีเซอร์ก็เป็นได้

แม้ดาวซีรีสจะมีพื้นผิวแห้ง แต่ก็นับเป็นโลกที่ชุ่มน้ำมาก ไมเคิล แบลนด์ จากสถาบันสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ได้คำนวณหาปริมาณน้ำบนซีรีสโดยประเมินจากความลึกของหลุมอุกกาบาต พบว่าดาวเคราะห์แคระดวงนี้น่าจะมีน้ำอยู่มากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ส่วนที่เหลือเป็นหิน เกลือ และวัสดุชนิดอื่น

เรียกว่าเป็นดินแดนที่ทั้งชุ่ม ทั้งฉ่ำ ทั้งเค็มเลยทีเดียว
ดาวเคราะห์แคระซีรีส กับจุดขาวกลางหลุมออกเคเตอร์

ดาวเคราะห์แคระซีรีส กับจุดขาวกลางหลุมออกเคเตอร์

ภาพระยะใกล้ของหลุมออกเคเตอร์ <wbr>แสดงจุดขาวปริศนา <wbr>ภาพนี้ถ่ายโดยยานดอว์นในปี <wbr>2558<br />

ภาพระยะใกล้ของหลุมออกเคเตอร์ แสดงจุดขาวปริศนา ภาพนี้ถ่ายโดยยานดอว์นในปี 2558
(จาก NASA / JPL / UCLA / MPS / DLR / IDA)

ที่มา: