สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วัตถุต้องสงสัยชนดาวพฤหัสบดี

วัตถุต้องสงสัยชนดาวพฤหัสบดี

3 ก.พ. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในที่สุด ดูเหมือนนักดาราศาสตร์จะได้ข้อสรุปแล้วว่า วัตถุที่พุ่งชนดาวพฤหัสบดีจนทำให้เกิดรอยแผลเห็นเด่นชัดในปี 2552 นั้นเกิดจากวัตถุอะไร
ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดสามกล้อง ยืนยันว่าเป็นรอยที่เกิดจากวัตถุแข็งประเภทดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน ไม่ใช่ดาวหาง
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 นักดาราศาสตร์สมัครเล่นพบรอยด่างคล้ายแผลถูกชนบนดาวพฤหัสบดี ทันทีที่นักดาราศาสตร์ทราบข่าว กล้องชั้นนำสารพัดกล้องทั่วโลกก็หันลำกล้องไปที่ดาวพฤหัสบดีทันที ไม่ว่าจะเป็นกล้องไอทีเอฟของนาซาบนฮาวาย กล้องเจมิไนเหนือ เจมิไนใต้ และกล้องวีแอลทีของหอดูดาวอีโซ
ก่อนหน้าปี 2552 นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วัตถุที่จะมาชนดาวพฤหัสบดีได้คงมีแต่วัตถุน้ำแข็งประเภทดาวหางที่มีวงโคจรที่ไม่เสถียรเท่านั้น เมื่อวัตถุพวกนี้โคจรเข้ามาใกล้ดาวพฤหัสบดี แรงโน้มถ่วงมหาศาลของดาวพฤหัสบดีจะดึงดูดให้ดาวหางนั้นไปโคจรรอบตัวเอง ส่วนวัตถุแข็งแบบดาวเคราะห์น้อยน่าจะถูกแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีกวาดไปจนเกลี้ยงจากบริเวณวงโคจรไปนานแล้ว 
นักดาราศาสตร์เคยพบการชนหรือเหตุการณ์เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เพียงสามครั้งเท่านั้น นอกจากชูเมกเกอร์-เลวีในปี 2537 และรอยแผลลึกลับในปี 2552 แล้ว อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วนี้เอง
ข้อมูลจากฮับเบิลแสดงว่าวัตถุที่พุ่งชนในปี 2552 นี้มีมวลมากกว่าดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี เสียอีก การพุ่งชนทำให้บรรยากาศสตราโทสเฟียร์เบื้องล่างของดาวพฤหัสบดีอุ่นขึ้นราว 3-4 เคลวิน ความแตกต่าง 3-4 เคลวินนี้อาจฟังดูเหมือนไม่มาก แต่ผลกระทบนี้เกิดขึ้นเป็นพื้นที่กว้างมาก ซึ่งหมายถึงพลังงานมหาศาลที่การพุ่งชนถ่ายเทลงไปบนดาวพฤหัสบดี
นอกจากนี้วัตถุที่พุ่งชนยังทะลวงลึกลงไปในบรรยากาศ สร้างโพรงอากาศร้อนจัด ก่อนที่จะระเบิดขึ้นที่เบื้องล่างที่มีพลังงานมากเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที พันล้านตัน แรงระเบิดผลักดันเศษซากของวัตถุนั้นกลับขึ้นมาตามโพรงจนถึงเหนือชั้นเมฆ พร้อมกับแอมโมเนียที่อยู่ในบรรยากาศชั้นล่างด้วย
ว่าแต่วัตถุที่พุ่งชนนั้นคืออะไร แม้เศษซากสีเข้มที่ลอยขึ้นมาปรากฏบนผิวดาวพฤหัสดูคล้ายกับที่เกิดขึ้นจากการชนของชูเมกเกอร์-เลวี แต่ซากและพวยของการระเบิดไม่ได้ขึ้นมาสูงมากเท่า และไม่ได้ทำให้อุณหภูมิชั้นสตราโทสเฟียร์ชั้นบนสูงขึ้น นอกจากนี้สเปกตรัมยังแสดงหลักฐานของไฮโดรคาร์บอน ซิลิเกต และซิลิกาที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่พบคาร์บอนมอนอกไซด์ หลักฐานเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าวัตถุนี้เป็นวัตถุแห้ง ไม่ใช่วัตถุที่เปราะบางอุ้มน้ำอย่างดาวหาง
นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าวัตถุที่พุ่งชนน่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีความหนาแน่นประมาณ 2.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 200-500 เมตร
ดาวเคราะห์น้อยใหญ่ขนาดนี้น่าจะเป็นวัตถุที่เคยมีการพบเห็นมาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้นักดาราศาสตร์จึงตรวจสอบวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในบัญชีรายชื่อทั้งหมดเพื่อหาว่าน่าจะเป็นดวงใด ผลพบว่า วัตถุที่ชื่อ 2005 ทีเอส 100 (2005 TS100) ใกล้เคียงผู้ต้องสงสัยที่สุด วัตถุดวงนี้คาดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย หรืออาจเป็นแกนของดาวหางที่หมดแก๊สแล้ว
การค้นพบนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่า สภาพแวดล้อมของระบบสุริยะชั้นนอกมีความซับซ้อนยุ่งเหยิง อลหม่าน และมีพลวัตสูงยิ่ง 
สำหรับโลกเรา นักดาราศาสตร์ประเมินว่าโลกมีโอกาสถูกวัตถุขนาดนี้ชนเฉลี่ยประมาณ 100,000 ปีต่อครั้ง
ภาพรังสีอินฟราเรดของดาวพฤหัสบดี ถ่ายโดยกล้องไอทีเอฟของนาซา แสดงจุดที่เกิดการชน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2552

ภาพรังสีอินฟราเรดของดาวพฤหัสบดี ถ่ายโดยกล้องไอทีเอฟของนาซา แสดงจุดที่เกิดการชน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2552 (จาก NASA/IRTF/JPL-Caltech/University of Oxford)

ที่มา: