สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ไขปัญหาลำเมฆประหลาด

ไขปัญหาลำเมฆประหลาด

25 ก.พ. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หรือราวปีหนึ่งผ่านมาแล้ว หอสังเกตการณ์ลอยฟ้าแห่งใหม่ของนาซา ชื่อ โซลาร์ไดนามิกส์ออบเซอร์เวทอรี หรือ เอสดีโอ (Solar Dynamics Observatory (SDO)) ได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยจรวดแอตลาส การปล่อยจรวดในครั้งนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ระหว่างการส่งได้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต่างงุนงงหาคำอธิบายไม่ได้มานานถึงหนึ่งปี
ในวันนั้น ท้องฟ้าบริเวณที่ปล่อยจรวดมีปรากฏการณ์สหายดวงอาทิตย์หรือซันด็อก (sundog) อยู่ด้วย ปรากฏการณ์นี้มีลักษณะเป็นก้อนหรือแท่งแสงสีรุ้ง อยู่ด้านซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์ เกิดจากผลึกน้ำแข็งรูปหกเหลี่ยมในเมฆชั้นซีร์รัสกระจายแสงอาทิตย์ออกเป็นสีต่าง ๆ เหมือนสีรุ้ง สาเหตุการเกิดคล้ายอาทิตย์ทรงกลดมากและมักเกิดขึ้นคู่กัน แต่ต่างกันตรงที่ อาทิตย์ทรงกลดเกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆที่มีลักษณะเป็นแท่งหกเหลี่ยมเหมือนดินสอแท่งสั้น ๆ ส่วนสหายดวงอาทิตย์เกิดจากผลึกน้ำแข็งที่เป็นเกล็ดบางรูปหกเหลี่ยม
การเกิดปรากฏการณ์สหายดวงอาทิตย์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เรื่องแปลกเกิดขึ้นขณะที่จรวดแอตลาส พุ่งขึ้นไปถึงชั้นของเมฆซีร์รัส ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสหายดวงอาทิตย์ ได้เกิดระลอกคลื่นอากาศแผ่กระจายจากจรวด แล้วสหายดวงอาทิตย์ก็อันตรธานหายไป พร้อมกับปรากฏแท่งเมฆสีขาวเกิดขึ้นในแนวตั้งที่ตำแหน่งใกล้กับที่จรวดเพิ่งพุ่งผ่านไป 
การที่สหายดวงอาทิตย์หายไปเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะคลื่นกระแทกจากจรวดจะไปทำลายระเบียบการเรียงตำแหน่งของผลึกน้ำแข็งไป แต่ที่มาของเมฆรูปแท่งนี้ต่างหาก ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์งุนงงอยู่ร่วมปี
คาวเลย์ และรอเบิร์ต กรีนเลอร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี ได้พยายามค้นหาคำอธิบายนี้ ในตอนแรก เขาได้จำลองเหตุการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ โดยตั้งสมมุติฐานว่า ผลึกน้ำแข็งได้หันเหไปในทิศทางต่าง ๆ อย่างไร้ระเบียบ แต่ก็ไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เห็นเลย
แต่ในที่สุด เขาก็พบคำตอบ เมื่อแบบจำลองแสดงว่าผลึกน้ำแข็งนั้นไม่ได้หันเหอย่างไร้ระเบียบทุกทิศทุกทางอย่างที่คิดกันแต่แรก คลื่นกระแทกได้ทำให้ผลึกปั่นและโคลงเหมือนการหมุนของลูกข่าง ที่นอกจากหมุนรอบแกนแล้ว แกนที่เอียงยังโคลงไปรอบแกนอย่างช้า ๆ  แบบจำลองเผยว่า ผลึกเอียงเป็นมุมอยู่ระหว่าง 8-12 องศา 
งานวิจัยนี้ได้เปิดเผยถึงของผลกระทบจากคลื่นกระแทกที่มีต่อเมฆอย่างน่าอัศจรรย์ จนถือว่าเป็นการเบิกทางงานวิจัยสาขาใหม่ที่เรียกว่า "พลวัตของกลด" (halo dynamics) เลยทีเดียว



 
จรวดกำลังเข้าใกล้ซันด็อก <wbr>ก่อนที่คลื่นกระแทกจะทำลายสหายดวงอาทิตย์ไป<br />

จรวดกำลังเข้าใกล้ซันด็อก ก่อนที่คลื่นกระแทกจะทำลายสหายดวงอาทิตย์ไป

แท่งเมฆสีขาวปรากฏขึ้นตามจรวดขึ้นไป<br />

แท่งเมฆสีขาวปรากฏขึ้นตามจรวดขึ้นไป

ตามคำอธิบายของคาวเลย์และกรีนเนอร์ ผลึกน้ำแข็งรูปเกล็ดได้ปั่นและโคลง จนทำให้เกิดแสงเป็นลำขึ้นมา

ตามคำอธิบายของคาวเลย์และกรีนเนอร์ ผลึกน้ำแข็งรูปเกล็ดได้ปั่นและโคลง จนทำให้เกิดแสงเป็นลำขึ้นมา

ที่มา: