สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สำรวจฝุ่นดาวเคราะห์น้อย อิโตะกะวะ

สำรวจฝุ่นดาวเคราะห์น้อย อิโตะกะวะ

19 มี.ค. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานฮะยะบุซะ ได้เดินทางกลับมาสู่โลกเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจอันยาวนานถึง ปี พร้อมกับสมบัติอันล้ำค่าที่เก็บมาจากอวกาศ นั่นคือ ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะ 
ดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะ หรือชื่อเต็มว่า 25143 อิโตะกะวะ (25143 Itokawa) เป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอะพอลโล วงโคจรมีจุดใกล้สุดใกล้กว่ารัศมีวงโคจรของโลก และมีจุดไกลสุดอยู่ไกลกว่ารัศมีวงโคจรของดาวอังคาร มีรูปร่างเหมือนหัวมันฝรั่ง ขนาดประมาณ 630 250 เมตร 
การวิเคราะห์เบื้องต้นเผยว่า ไม่พบโมเลกุลอินทรีย์ใด ๆ และยืนยันว่าก้อนหินตัวอย่างนี้มีอายุ 4,600 ล้านปี ซึ่งเกือบเท่ากับอายุของระบบสุริยะเลยทีเดียว
นักวิจัยเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะเกิดขึ้นจากวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากมาเกาะและพอกพูนกันจนเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้น การเกาะกันอย่างหลวม ๆ นี้ทำให้ดาวเคราะห์น้อยนี้มีโครงสร้างแบบกองหิน 
ภารกิจเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยของฮะยะบุซะไม่มีการลงจอด แต่ยานใช้วิธี "ตอม" เข้าไปใกล้พื้นผิว จ่อกรวยเก็บตัวอย่างไปที่พื้นผิวแล้วยิงกระสุนลงไป เพื่อให้มีเศษหินกระเด็นขึ้นมาในกรวยซึ่งจะนำไปเก็บไว้ในกล่องเก็บตัวอย่างภายในยาน
แต่ขั้นตอนที่วางแผนไว้เกิดความผิดพลาด เนื่องจากตุ้มน้ำหนักไม่ยิงออกมา นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอีกมากมาย ไม่ว่าจะเกิดการรั่วไหลของเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ไอออนเสียหาย ความผิดปกติของแบตเตอรี่ และการติดต่อสื่อสารขาดหายไปนานถึงสองเดือน จนเจ้าหน้าที่โครงการต้องเลื่อนกำหนดการกลับโลกจากเดิมที่จะกลับมาในปี 2550 มาเป็นปี 2553  ถึงแม้ว่ายานจะกลับมายังโลกได้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังอดกังวลมิได้ว่า ภารกิจนี้อาจล้มเหลวโดยยานนำเพียงแคปซูลเปล่ากลับมา 
เดชะบุญที่ฝันร้ายนั้นไม่เป็นจริง จากการเปิดแคปซูลเมื่อปีที่แล้ว พบว่ายานสามารถเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยได้ เป็นเศษผงร่วนราว 1,500 เม็ด ส่วนใหญ่ยืนยันได้ว่ามาจากดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะจริง ผงส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีบางเม็ดที่ใหญ่ถึง 100 ไมครอนหรือใหญ่กว่า 
นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มการวิเคราะห์ขั้นต้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในราวเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นก็จะกระจายส่งตัวอย่างผงดาวเคราะห์น้อยนี้ไปยังห้องวิจัยต่าง ๆ เพื่อศึกษาในขั้นต่อไป
องค์การนาซาก็จะได้ตัวอย่างฝุ่นนี้ราว 10 เปอร์เซ็นต์ด้วย จากการที่สหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการในภารกิจนี้
ฮะยะบุซะเป็นภารกิจแรกของมนุษย์ที่มีการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยและนำกลับมายังโลก
ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยที่ยานฮะยะบุซะนำกลับมา

ตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยที่ยานฮะยะบุซะนำกลับมา (จาก JASA)

ดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะระหว่างที่ยานฮะยะบุซะเข้าใกล้ในปี 2548

ดาวเคราะห์น้อยอิโตะกะวะระหว่างที่ยานฮะยะบุซะเข้าใกล้ในปี 2548 (จาก JASA)

ที่มา: