สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)

29 พฤศจิกายน 2556
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 31 สิงหาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
13 พ.ย. 2556 ดาวหางไอซอนยังคงสว่างน้อยเกินกว่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า และความสว่างก็เพิ่มขึ้นช้ากว่าความคาดหมาย ราววันที่ 20 พฤศจิกายน คาดว่าความสว่างอาจแตะโชติมาตร ซึ่งเป็นความสว่างที่เริ่มจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้ามืด แต่ดาวหางมีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามาก จึงสังเกตได้ยาก (ดาวหางที่สว่างกว่าและเห็นได้ง่ายกว่าในขณะนี้คือดาวหางเลิฟจอย)

หากไอซอนไม่แตกสลายไปก่อนที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน และมีความสว่างเพิ่มขึ้นหลายเท่า คาดว่าตั้งแต่วันที่ ธันวาคม เป็นต้นไป น่าจะเป็นช่วงที่ดีสำหรับการสังเกตดาวหางไอซอนจากประเทศไทย โดยดาวหางอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก และเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นทุกวัน

14 พ.ย. 2556 ดาวหางไอซอนมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากโชติมาตร ไปที่โชติมาตร ขณะนี้จึงเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากสถานที่มืด แต่ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนของดาวหางก่อน (ดูได้จากแผนที่) การเพิ่มความสว่างครั้งนี้เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน นี่อาจเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ได้

ข่าวดี คือ อาจเป็นไปตามสมมติฐานก่อนหน้านี้ จากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักดาราศาสตร์ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าดาวหางไอซอนอาจหมุนรอบตัวเองโดยหันขั้วเข้าหาดวงอาทิตย์ ช่วงที่ผ่านมาจึงมีด้านเดียวที่ถูกแสงอาทิตย์ ขณะนี้ไอซอนอาจเริ่มหันอีกด้านหนึ่งเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำแข็งด้านนั้นเริ่มระเหิด ทำให้ดาวหางสว่างขึ้นมาก

ข่าวร้าย คือ นิวเคลียสของดาวหางไอซอนอาจเริ่มแตก ทำให้น้ำแข็งที่อยู่ภายในถูกความร้อนจนระเหิด ปล่อยแก๊สและฝุ่นออกมาในปริมาณมาก แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในตอนนี้

ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของดาวหางไอซอน  (จาก Juanjo González Díaz)

16 พ.ย. 2556 ดาวหางไอซอนยังคงมีความสว่างเพิ่มขึ้น ขณะนี้สว่างราวโชติมาตร หัวสว่างคล้ายดาวฤกษ์ หางจางกว่ามาก ภาพถ่ายโดย เดเมียน พีช เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน เปิดหน้ากล้องเป็นเวลานาน 12 นาที ผ่านกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด นิ้ว แสดงให้เห็นหางแผ่กว้างขึ้นกว่าเดิม และเห็นโครงสร้างภายในหางที่ซับซ้อนมากขึ้น

ดาวหางไอซอนจะผ่านใกล้ดาวรวงข้าวในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน น่าจะเป็นช่วงที่สามารถเห็นดาวหางได้ง่ายโดยไม่ต้องกวาดหาบนท้องฟ้า โดยเฉพาะผู้ที่มีกล้องสองตา หลังจากนั้น หากไอซอนยังสว่างขึ้นอีกไม่มาก การสังเกตจะทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงมีตำแหน่งต่ำลงทุกวัน

หมายเหตุ นักดาราศาสตร์บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้าด้วยโชติมาตร ยิ่งมีค่าน้อยยิ่งสว่าง ดาวจางที่สุดที่ดวงตาของมนุษย์จะเห็นได้ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิทมีค่าโชติมาตร 6.5 ดาวรวงข้าวมีโชติมาตร ขณะนี้ดาวหางไอซอนจึงสว่างพอจะเห็นได้จาง ๆ ด้วยตาเปล่า แต่ยังสว่างน้อยกว่าดาวรวงข้าวประมาณ 40 เท่า

แผนที่ตำแหน่งดาวหางไอซอนและดาวหางเลิฟจอยบนท้องฟ้าในเวลาประมาณ 05:30 น. ของวันที่ 17-29 พฤศจิกายน 2556 การสังเกตควรทำก่อนหน้านั้น เนื่องจากท้องฟ้าจะเริ่มสว่างในเวลาประมาณตี วันที่ 18 พฤศจิกายน ไอซอนจะผ่านใกล้ดาวรวงข้าว จึงระบุตำแหน่งได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ดาวหางเลิฟจอยอยู่สูงกว่า และอาจสังเกตได้ง่ายกว่าไอซอน (คลิกดูภาพขนาดใหญ่) 

17 พ.ย. 2556 โทรเลขอิเล็กทรอนิกส์ฉบับที่ 3715 (CBET 3715) จากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล รายงานการสังเกตดาวหางไอซอนจากทีมนักวิจัยที่สถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ และสถาบันดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยลุดวิกแมกซิมิเลียนแห่งมิวนิก ประเทศเยอรมนี พบว่าภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 และ 16 พฤศจิกายน 2556 แสดงให้เห็นโคม่าของดาวหางไอซอนที่มีโครงสร้างรูปปีกแผ่ออกไปสองข้าง รายงานระบุว่าโครงสร้างดังกล่าวแสดงว่านิวเคลียสของดาวหางไอซอนมี นิวเคลียส หรือมากกว่า ซึ่งอาจแสดงว่านิวเคลียสได้แตกออกจากกันเมื่อไม่นานมานี้

18 พ.ย. 2556 รายงานความสว่างล่าสุดยังคงอยู่ที่โชติมาตร หรือสว่างกว่าเล็กน้อย ภาพถ่ายโดย Michael Jäger มองเห็นหางยาว 7° หรือมากกว่า การสังเกตทำได้ยากขึ้น เนื่องจากดาวหางเคลื่อนต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้น มีเวลาสังเกตได้ไม่นานก่อนท้องฟ้าสว่าง และมีแสงจันทร์ข้างแรมรบกวน

เว็บไซต์ CIOC รายงานว่าทีมนักดาราศาสตร์ยังคงไม่แน่ใจว่านิวเคลียสของดาวหางไอซอนได้แตกไปแล้วจริงหรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างปีกรอบโคม่าตามที่มีรายงานนั้นมีลักษณะสมมาตร หากเกิดการแตกของนิวเคลียส ควรมีลักษณะไม่สมมาตร นอกจากนี้ โครงสร้างดังกล่าวอาจเป็นเพียงเพราะดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงพ่นแก๊สออกมาจากพื้นผิวมากขึ้นตามลักษณะทั่วไปของดาวหาง การพิสูจน์เพื่อยืนยันว่านิวเคลียสของดาวหางไอซอนได้แตกไปแล้วจริงหรือไม่ ยังคงต้องรอผลการสังเกตและวิเคราะห์อีกสักระยะหนึ่ง

โครงสร้างรูปปีกของโคม่า (ภาพ Wendelstein Observatory of the LMU/MPS) 

21 พ.ย. 2556 ช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน มีรายงานว่าความสว่างของไอซอนลดลงเล็กน้อย แต่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้เกิดปะทุความสว่างขึ้นอีกครั้ง ทำให้ดาวหางกลับมาสว่างใกล้เคียงกับเมื่อวันที่ 16 คืออยู่ที่ราวโชติมาตร วันนั้นดาวหางไอซอนผ่านใกล้ดาวพุธที่ระยะห่าง 0.242 หน่วยดาราศาสตร์ (36 ล้านกิโลเมตร)

รายงานความสว่างของดาวหางไอซอนล่าสุดอยู่ที่ราวโชติมาตร หางจางกว่าหัวมาก เมื่อมองผ่านกล้องจึงเห็นเฉพาะโคม่า ไม่เห็นหางอย่างในภาพถ่าย การสังเกตดาวหางไอซอนจะทำได้ยากขึ้นทุกวัน เนื่องจากดาวหางอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า ซึ่งมักมีเมฆหมอกบดบัง หากรอให้ดาวหางเคลื่อนสูงขึ้น ท้องฟ้าก็จะสว่างมากขึ้นเนื่องจากบรรยากาศโลกได้รับแสงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ

26 พ.ย. 2556 ดาวหางไอซอนเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้จากพื้นโลกมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ขณะนี้อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ รายงานล่าสุดพบว่ามีสัญญาณหลายอย่างแสดงว่าดาวหางไอซอนอาจกำลังแตกสลาย

     ความสว่างของดาวหางในช่วงวันที่ 20-24 พฤศจิกายน แทบไม่เปลี่ยนแปลงที่โชติมาตร ทั้งที่ควรจะสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น
     อัตราการผลิตแก๊สของดาวหางไอซอนลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวันที่ 21-25 พฤศจิกายน ขณะที่อัตราการผลิตฝุ่นก็ลดลงมาตลอดหลังจากวันที่ 21 พฤศจิกายน
     ตำแหน่งดาวหางที่วัดได้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน อยู่ตามหลังตำแหน่งที่ควรจะเป็นราว พิลิปดา แสดงว่านิวเคลียสอาจแตก จากนั้นเศษซากส่วนใหญ่ก็เคลื่อนที่ช้าลง คลาดไปจากตำแหน่งที่พยากรณ์ไว้

ภาพจากยานสเตอริโอ-เอ (STEREO-A) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:29 น. ตามเวลาประเทศไทย มองเห็นดาวหางไอซอน ดาวหางเองเคอ ดาวพุธ และโลก (ภาพ SECCHI/NRL) 

ยังไม่มีการยืนยันว่าขณะนี้ดาวหางไอซอนได้แตกสลายไปจริงหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้

27 พ.ย. 2556 ภาพจากยานสเตอริโอ ดูเหมือนว่าดาวหางไอซอนได้กลับมามีความสว่างเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่มากนัก ดาวหางเคลื่อนเข้ามาในขอบเขตภาพของกล้องบนยานโซโฮเมื่อเวลาเกือบ 09:00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยยังไม่มีลักษณะที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเกิดการแตกสลายไปแล้ว

การแถลงข่าวของนาซาเมื่อคืนที่ผ่านมา มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

     ขณะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวหางไอซอนอยู่ห่างผิวดวงอาทิตย์ 1.17 ล้านกิโลเมตร จุดนั้นผิวดาวหางจะมีอุณหภูมิสูงถึง 2,700 องศาเซลเซียส มีโอกาสร้อยละ 30 ที่ดาวหางจะรอดพ้นจากความโน้มถ่วงและความร้อนสูงจากดวงอาทิตย์ โดยไม่แตกสลาย
     หากดาวหางไอซอนแตก ช่วงสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ ของเดือนธันวาคม 2556 มีโอกาสที่เราจะเห็นดาวหางไอซอนคล้ายดาวหางเลิฟจอยดวงที่มาปรากฏเมื่อปี 2554 (C/2011 W3) โดยไอซอนจะอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดและหัวค่ำ เมื่อสังเกตจากละติจูดสูงของซีกโลกเหนือ (สำหรับประเทศไทยเห็นได้ดีเฉพาะในเวลาเช้ามืด)
     กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลไม่สามารถถ่ายดาวหางได้ในช่วงนี้ เนื่องจากแสงสว่างจ้าของดวงอาทิตย์ จะกลับมาถ่ายได้อีกครั้งในกลางเดือนธันวาคม 2556
     ดาวหางไอซอนมีพฤติกรรมที่แปลก คาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์
     อีก 2-3 วัน ถัดจากนี้ คาดว่าไอซอนจะสว่างเพิ่มขึ้นราว 15 เท่า
     นิวเคลียสของดาวหางไอซอนมีขนาดประมาณ 1.2 กิโลเมตร หมุนรอบตัวเองด้วยคาบประมาณ 10 ชั่วโมง
     ขณะที่ดาวหางใกล้ดวงอาทิตย์ คนบนพื้นโลกไม่น่าจะมีโอกาสเห็นได้ เนื่องจากมีความสว่างไม่มากพอ และอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายจากแสงอาทิตย์

นักดาราศาสตร์จะติดตามดาวหางไอซอนจากภาพถ่ายที่ส่งมาจากยานอวกาศ ได้แก่

     สเตอริโอ-เอและบี (STEREO-A/STEREO-B)
     โซโฮ (SOHO)
     เอสดีโอ (SDO)
     ฮิโนเดะ (Hinode)

28 พ.ย. 2556 ภาพจากกล้องบนยานโซโฮแสดงว่าดาวหางไอซอนยังคงสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไอซอนจะผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เวลาประมาณ 01:40 น. ตามเวลาประเทศไทย ติดตามรายงานสดจากนาซาทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ NASA Hangout: Comet ISON LIVE ระหว่างเวลา 01:00-03:30 น.

29 พ.ย. 2556 (03:12 น.) ดาวหางไอซอนไม่ปรากฏในภาพถ่ายจากยานเอสดีโอ ขณะที่ภาพจากยานโซโฮแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าดาวหางไอซอนอาจแตกสลายไปในช่วงก่อนจะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด หากเป็นเช่นนั้น โอกาสที่เราจะเห็นดาวหางไอซอนได้อีกครั้งในต้นเดือนธันวาคมก็แทบหมดไปด้วย อย่างไรก็ตาม เราจะได้ข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของดาวหางไอซอนในช่วงเช้าของวันนี้ หากดาวหางไอซอนยังเหลือซากอยู่ มันอาจเคลื่อนออกมาให้เห็นได้ในภาพจากยานโซโฮ แต่หากไม่เห็นอะไรโผล่ออกมา นั่นก็แปลว่าไม่มีดาวหางไอซอนแล้ว

29 พ.ย. 2556 (08:22 น.) ภาพจากยานโซโฮ เราเห็นสิ่งที่น่าจะเป็นซากของดาวหางไอซอนโผล่ออกมาอีกด้านหนึ่งของดวงอาทิตย์ ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าดาวหางไอซอนได้ถูกแรงโน้มถ่วงและความร้อนสูงของดวงอาทิตย์ฉีกออก เหลือเพียงซากซึ่งต่อไปเมื่อเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ น่าจะกระจายออกและจางลงมากจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ภาพต่อเนื่องจากกล้อง LASCO C2 บนยานโซโฮ (เวลาในภาพเป็นเวลาสากล ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย ชั่วโมง) วงกลมตรงกลางที่ถูกบังไว้คือดวงอาทิตย์ (ภาพ SOHO/ESA/NASA) 

29 พ.ย. 2556 (13:07 น.) ภาพจากยานโซโฮแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ดูเหมือนซากของดาวหางไอซอนที่เราเห็นก่อนหน้านี้ ไม่ได้จางลงอย่างที่คาดไว้ ยังเหลือชิ้นส่วนของนิวเคลียส และมองเห็นหางแผ่กว้าง นักดาราศาสตร์จะติดตามดาวหางไอซอนต่อไปอย่างใกล้ชิด เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในอีกไม่เกิน วัน ซึ่งอาจตอบคำถามได้ว่าดาวหางไอซอนจะสว่างขึ้นอีกจนเห็นได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้หรือไม่

30 พ.ย. 2556 สิ่งที่เป็นซากของดาวหางไอซอนเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ดูเหมือนว่าไม่เหลือใจกลางสว่างที่เราเห็นก่อนหน้านี้ กลายเป็นกลุ่มฝุ่นที่เริ่มกระจายตัวมากขึ้น พร้อมกับความสว่างที่ลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้โอกาสที่จะเห็นดาวหางไอซอนด้วยตาเปล่าในช่วงสัปดาห์ที่ ของเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางเริ่มห่างดวงอาทิตย์มากพอจะสังเกตได้ ดูจะน้อยลงมาก หรือไม่น่าจะเป็นไปได้

เว็บไซต์ CIOC กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดาวหางไอซอนเมื่อช่วงเช้า (ก่อนไอซอนจะจางลงมากในช่วงบ่าย) สรุปดังนี้

     ขณะที่ไอซอนผ่านบรรยากาศชั้นคอโรนาของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีอุณหภูมินับล้านองศาเซลเซียส หัวดาวหางถูกเผาไปเกือบหมด ขณะที่ฝุ่นละเอียดบางส่วนเหลือรอดพ้นออกมาเป็นซากของดาวหาง
     เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าซากที่เหลือออกมานี้มีนิวเคลียส (แกนกลางของดาวหาง) อยู่หรือไม่ ขนาดเท่าใด ต้องรอภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่จะถ่ายภาพดาวหางได้ในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนธันวาคม
     นักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสเห็นไอซอนด้วยตาเปล่าอีกหรือไม่ และเมื่อใด ขณะนี้ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไอซอนจางลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามต่อไป
     ไอซอนยังคงเคลื่อนไปตามวงโคจรเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเส้นทาง และไม่เป็นอันตรายต่อโลก

ภาพต่อเนื่องจากกล้อง LASCO C3 บนยานโซโฮ (เวลาในภาพเป็นเวลาสากล ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทย ชั่วโมง) วงกลมตรงกลางที่ถูกบังไว้คือดวงอาทิตย์ (ภาพ SOHO/ESA/NASA) 

ดูภาพล่าสุด


 กล้อง LASCO C3 NASA หรือ ESA (ดาวหางควรจะอยู่ในภาพนี้จนถึงเวลาประมาณ 06:00 น. ของวันที่ ธันวาคม 2556 ตามเวลาประเทศไทย)
 กล้อง LASCO C2 NASA หรือ ESA ดาวหางจะเข้ามาอยู่ในภาพนี้ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน และออกในเวลาประมาณ 06:00 น. ของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 ตามเวลาประเทศไทย)
 กล้องบนยานเอสดีโอ (ดาวหางควรจะเข้ามาอยู่ในช่วงที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด)

แหล่งข้อมูล


NASA Comet ISON Observing Campaign (CIOC)
Updates on Comet ISON Sky Telescope
Comet ISON Comes to Life! Sky Telescope
C/2012 S1 (ISON) JPL Small-Body Database Browser
C/2012 S1 (ISON) Seiichi Yoshida
Comet ISON Toolkit NASA
Comet ISON Meteor Shower NASA
C/2012 S1 (ISON) Gary W. Kronk
C/2012 S1 (ISON) Andreas Kammerer
Recent Comet Brightness Estimates International Comet Quarterly
Comet C/ISON Details Emerge as it Races Toward the Sun Planetary Science Institute
Brightness and Orbital Motion Peculiarities of Comet C/2012 S1 (ISON): Comparison with Two Very Different Comets Zdenek Sekanina
Comet ISON is in Outburst Ignacio Ferrìn
Comet ISON unfolds its wings Max Planck Institute for Solar System Research
Comet ISON Becomes Nail-Biter Sky Telescope
Anticipated STEREO observations of Comet ISON

ดูเพิ่ม

ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON)
ดาวหางสว่างใน พ.ศ. 2556
ดาวหางเลิฟจอย (C/2013 R1 Lovejoy)
สารพันคำถามเกี่ยวกับดาราศาสตร์ หมวดดาวหางและดาวเคราะห์น้อย
เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก