สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จันทรุปราคาในวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564

จันทรุปราคาในวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564

24 พฤษภาคม 2564 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด
      เวลาหัวค่ำของวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จะเกิดจันทรุปราคาซึ่งเป็นผลจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาโลก ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภาค โดยจันทรุปราคากำลังดำเนินอยู่ขณะดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก และส่วนใหญ่ของประเทศเห็นได้ในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาบางส่วนเท่านั้น ไม่เห็นในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง เนื่องจากจันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงก่อนดวงจันทร์ขึ้น

      เงาโลกแบ่งได้เป็นสองส่วน ได้แก่ เงามืดและเงามัว เงามืดมีความทึบแสงมากกว่าเงามัวหลายเท่า ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัวจะแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ช่วงที่เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่งได้ชัดเจนคือเมื่อดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืด (เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน) ครั้งนี้เกิดขึ้นเวลา 16:45 น. เวลานั้นดวงอาทิตย์ยังอยู่บนท้องฟ้า และดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น

 (จาก วรเชษฐ์ บุญปลอด)

      จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในช่วงที่ดวงจันทร์ทั้งดวงอยู่ในเงามืด ตรงกับเวลา 18:11-18:26 น. ช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังไม่เห็นดวงจันทร์ บริเวณที่ดวงจันทร์ขึ้นแล้ว ได้แก่ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลายสุดของภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างสุด อย่างไรก็ตาม การสังเกตการณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตรงกับช่วงที่ดวงอาทิตย์เพิ่งจะตก ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ และดวงจันทร์เพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้า อาจมีเมฆหมอกมาบดบัง

ภาพจำลองดวงจันทร์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เมื่อเวลาที่ดวงจันทร์ถูกบังราวครึ่งดวง และเมื่อใกล้สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (จาก Stellarium)

      หลังจากสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว พื้นที่บางส่วนของดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามืด โดยจันทรุปราคาบางส่วนจะสิ้นสุดในเวลา 19:52 น. เวลาสัมผัสเงาในแต่ละขั้นตอนของจันทรุปราคาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ตำแหน่งดวงจันทร์ที่มองเห็นจากแต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน และเวลาดวงจันทร์ขึ้นก็ต่างกันด้วย ดังที่แสดงตัวอย่างของกรุงเทพฯ และบางจังหวัดในตารางต่อไปนี้

การเกิดจันทรุปราคา 26 พฤษภาคม 2564
สถานที่ดวงจันทร์ขึ้น มุมเงย 18:26 น.มุมเงย 19:52 น.
กรุงเทพฯ18:41-15°
ขอนแก่น18:36-16°
จันทบุรี18:33-17°
เชียงใหม่18:57-11°
นครพนม18:30-17°
นครราชสีมา18:37-16°
นราธิวาส18:2419°
ประจวบคีรีขันธ์18:41-15°
ภูเก็ต18:40-15°
สงขลา18:30-18°
อุบลราชธานี 18:2618°

       คำนวณต่างจากกรณีทั่วไปที่วัดจากขอบบนของดวงจันทร์ ในที่นี้แสดงเวลาที่ดวงจันทร์ทั้งดวงเริ่มขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้า

      จากตารางจะเห็นว่าดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก การสังเกตจันทรุปราคาในวันนี้จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกเปิดโล่ง ไม่มีอะไรมาบดบัง นอกจากนี้ ในช่วงแรกหลังจากดวงจันทร์เพิ่งจะขึ้น ท้องฟ้าที่ยังไม่มืดดีนักจะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง

ภาพจำลองแสดงตำแหน่งดวงจันทร์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 19:20 น. เหนือขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก ขณะนั้นดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตในกลุ่มดาวแมงป่อง (จาก Stellarium)

ดวงจันทร์เต็มดวงขณะใกล้โลกที่สุด


      จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุด หรือที่บางคนเรียกว่าซูเปอร์มูน (supermoon) โดยขนาดของดวงจันทร์จะใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยราว 7-8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้แตกต่างมากจนสังเกตได้ชัดด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ผิดสังเกตเสมอเมื่อเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องเกิดซูเปอร์มูน อันเกิดจากการที่มีฉากหน้า เช่น สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ภูเขา มาอยู่ใกล้ดวงจันทร์ให้เกิดการเปรียบเทียบ หากคำนวณแล้ว ในคืนนั้น ดวงจันทร์เมื่ออยู่สูงสุดบนท้องฟ้าราวเที่ยงคืน มีระยะทางที่ใกล้กับผู้สังเกตซึ่งอยู่บนผิวโลกมากกว่าเวลาที่ดวงจันทร์เพิ่งจะขึ้นเหนือขอบฟ้าหรือใกล้จะตกลับขอบฟ้าเสียอีก

      ปีนี้จะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทง เป็นจันทรุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะซีกด้านตะวันออกของประเทศ

ดูเพิ่ม


 สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในปี 2564