สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส 2550

ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส 2550

14 กรกฎาคม 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 23 พฤษภาคม 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
เดือนสิงหาคมของทุกปีในช่วงใกล้วันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็นวันแม่แห่งชาติอีกด้วย เป็นช่วงเวลาที่มีฝนดาวตกสำคัญกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส (Perseid meteor shower) ดาวตกเกือบครึ่งหนึ่งของฝนดาวตกกลุ่มนี้สว่างมาก ส่วนใหญ่มีสีขาว-เหลือง และมีอัตราการเกิดค่อนข้างถี่ เคลื่อนที่เข้าสู่บรรยากาศโลกด้วยอัตราเร็วประมาณ 59 กิโลเมตรต่อวินาที

การที่ประเทศไทยอยู่ในฤดูมรสุม จึงอาจไม่ค่อยได้มีโอกาสมองเห็นดาวตกจากฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมากนัก ยกเว้นบางปีที่ท้องฟ้าเปิด ปี 2550 นี้หากสภาพท้องฟ้าเป็นใจ คาดว่าจะเป็นปีที่สามารถมองเห็นฝนดาวตกเพอร์ซิอัสได้ดีเนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน ข้อมูลจากองค์การอุกกาบาตสากล คาดหมายว่าฝนดาวตกเพอร์ซิอัสในปี 2550 น่าจะมีอัตราสูงสุดในคืนวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม (เข้าสู่เช้ามืดวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม) และคืนวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม ช่วงที่ถี่มากที่สุดประเทศไทยอาจเห็นได้เฉลี่ยราว ดวงต่อนาที

ภาพถ่ายดาวตกบริเวณกลุ่มดาวนายพราน จากฝนดาวตกเพอร์ซิอัส โดย Jerry Schad 

ฝนดาวตกเกิดขึ้นเมื่อโลกเดินทางผ่านธารสะเก็ดดาวอันเกิดจากดาวหาง รังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้ผิวดาวหางระเหิดปลดปล่อยแก๊สและฝุ่นออกมาในอวกาศ สะเก็ดดาวจำนวนมากที่หลุดออกมาจากดาวหางยังคงล่องลอยอยู่ในอวกาศ หากวงโคจรของสะเก็ดดาวเหล่านั้นผ่านใกล้วงโคจรโลกจะทำให้เกิดดาวตกที่มีกำเนิดจากแหล่งเดียวกัน เรียกว่าฝนดาวตก ดาวหางต้นกำเนิดของฝนดาวตกเพอร์ซิอัส คือ ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล ดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 130 ปี เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2535

ในการสังเกตฝนดาวตก เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวตกจะมีแนวที่ดูคล้ายพุ่งออกมาจากจุดหนึ่งบนท้องฟ้า จุดนั้นเรียกว่า "จุดกระจาย (ฝน) ดาวตก (radiant)" ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส ใกล้กับกลุ่มดาวแคสซิโอเปียในซีกฟ้าเหนือ แต่เราไม่จำเป็นและไม่ควรมองไปที่จุดนั้น

เวลาที่สามารถดูดาวตกได้เริ่มตั้งแต่ประมาณ 4-5 ทุ่ม ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืด ในช่วงแรกปริมาณดาวตกจะยังน้อยอยู่ (แต่อาจพบว่าหลายดวงที่เห็นในช่วงแรก ๆ มีเส้นทางยาวกว่าช่วงเวลาอื่น เนื่องจากสะเก็ดดาวพุ่งทำมุมเฉียดเข้ามาในบรรยากาศโลก) จากนั้นจะเริ่มเห็นถี่ขึ้นทีละน้อย ถี่มากที่สุดในช่วงเวลาประมาณ 4.00-5.00 น. การสังเกตดาวตกให้เห็นได้ชัดควรสังเกตจากสถานที่ที่ฟ้ามืด ห่างจากเมืองใหญ่ ไม่มีแสงไฟรบกวน ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ เพียงใช้เก้าอี้ผ้าใบหรือนอนดูแล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า