สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina)

ดาวหางแคทาลินา (C/2013 US10 Catalina)

30 ธันวาคม 2558
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 1 สิงหาคม 2560
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ช่วงเดือนธันวาคม 2558 ถึงเดือนมกราคม 2559 ดาวหางแคทาลินา หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ซี/2013 ยูเอส 10 (C/2013 US10) จะปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด คาดว่าอาจสว่างราวโชติมาตร จึงเห็นได้ยากหรือแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ยังสามารถสังเกตได้ดีด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์

ตำแหน่งดาวหางแคทาลินาในช่วงเดือนธันวาคม 2558 มกราคม 2559 ขนาดของดาวสอดคล้องกับความสว่าง ดาวหางแคทาลินาสว่างใกล้เคียงดาวดวงเล็กที่สุดที่เห็นในแผนที่ และควรใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ส่องดู (ขอบฟ้าที่แสดงในภาพเป็นขอบฟ้าโดยประมาณ ณ วันที่ 16 ธันวาคม เวลา 05:00 น. ช่วงก่อนหน้านั้น ดาวหางจะอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากกว่าในภาพ ช่วงหลังจากนั้น ดาวหางจะอยู่สูงเหนือขอบฟ้ามากกว่าในภาพ) 

ดาวหางแคทาลินาถูกค้นพบเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 หรือเมื่อ ปีก่อน ขณะนั้นสว่างที่โชติมาตร 19 อยู่ห่างดวงอาทิตย์ 7.7 หน่วยดาราศาสตร์ (ไกลกว่าดาวพฤหัสบดี) ช่วงแรกเห็นเป็นเพียงจุดสว่าง และการคำนวณวงโคจรในช่วงแรกมีความผิดพลาด ทำให้เข้าใจว่าเป็นดาวเคราะห์น้อย จึงจัดอยู่ในบัญชีดาวเคราะห์น้อย เมื่อคำนวณวงโคจรใหม่จึงพบว่าวงโคจรเป็นไฮเพอร์โบลา แสดงว่าเป็นดาวหาง โดยคงชื่อเดิมไว้ ดาวหางแคทาลินาผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ที่ระยะห่าง 0.823 หน่วยดาราศาสตร์ (123 ล้านกิโลเมตร)

ข้อมูลเมื่อปลายปี 2557 แสดงว่าเมื่อถึงเดือนธันวาคม 2558 ดาวหางแคทาลินาอาจสว่างที่สุดราวโชติมาตร 4-5 แต่ช่วงเดือนกันยายน 2558 มีรายงานว่าความสว่างเกือบไม่เปลี่ยนแปลง จึงมีแนวโน้มว่าจะสว่างช้ากว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ วงโคจรแบบไฮเพอร์โบลาแสดงว่าดาวหางดวงนี้เดินทางมาจากเมฆออร์ต ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของดาวหางคาบยาว ไกลออกไปจากดวงอาทิตย์มาก ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แสดงพฤติกรรมแบบดาวหางน้องใหม่ คือสว่างเร็วเป็นพิเศษขณะยังอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ จนทำให้มีความหวังว่าน่าจะสว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จากนั้นอัตราการระเหิดของน้ำแข็งได้ลดลง ทำให้ดาวหางสว่างช้าลง เมื่อสว่างที่สุดจึงจางกว่าความคาดหมาย และยากจะเห็นด้วยตาเปล่า

หลังจากผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ต้นเดือนธันวาคม 2558 ดาวหางเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์ และเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ช่วงแรกอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว อาจสว่างราวโชติมาตร เข้าสู่กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ในวันที่ 25 ธันวาคม คาดว่าความสว่างของดาวหางแคทาลินาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลง อาจมีโชติมาตรประมาณ 5-6 ตลอดเดือนธันวาคม 2558 ถึงมกราคม 2559 ดาวหางเคลื่อนห่างดวงอาทิตย์ แต่เข้าใกล้โลกมากขึ้น ทำให้ความสว่างเกือบคงที่

ดาวหางเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวหมาล่าเนื้อ หมีใหญ่ และมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ (ดูแผนที่ประกอบ) เช้ามืดวันที่ และ มกราคม 2559 ดาวหางแคทาลินามีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้ดาวดวงแก้วในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ที่ระยะห่างประมาณ 1° ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 17 มกราคม 2559 ที่ระยะห่าง 0.725 หน่วยดาราศาสตร์ (108 ล้านกิโลเมตร) วันนั้นดาวหางผ่านใกล้ดาราจักรเอ็ม 101 โชติมาตร ที่ระยะ 2° หลังจากนั้นเคลื่อนห่างโลกและดวงอาทิตย์มากขึ้น พร้อมกับจางลงเรื่อย ๆ การคำนวณวงโคจรแสดงว่ามันจะไม่กลับเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อีก

นอกจากดาวหางแคทาลินา เวลาเช้ามืดของช่วงเดียวกันยังสังเกตดาวเคราะห์ได้หลายดวง ทั้งดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เดือนมกราคม 2559 ยังเห็นการเข้าใกล้กันของดาวศุกร์กับดาวเสาร์ในกลุ่มดาวแมงป่องได้อีกด้วย ซึ่งจะใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ มกราคม 2559 ที่ระยะห่างเพียง 0.3°

ดาวหางดวงถัดไปที่คาดว่าสว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อสังเกตภายใต้ท้องฟ้ามืดคือดาวหางวีร์ทาเนน (46P/Wirtanen) ซึ่งจะเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 อาจสว่างถึงโชติมาตร 3-4 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นอาจมีการค้นพบดาวหางดวงใหม่ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าก็เป็นไปได้

ดาวหางแคทาลินาเมื่อวันที่ ธันวาคม 2558 หางแยกเป็นสองส่วน หางแก๊สสีน้ำเงินและหางฝุ่นสีเหลือง ซึ่งพุ่งไปคนละทิศเนื่องจากมวลที่ต่างกันของแก๊สและฝุ่น อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมุมมองจากโลก (จาก Michael Jäger)


ตำแหน่งดาวหาง


แผนที่ตำแหน่งดาวหางแคทาลินาในเดือนธันวาคม 2558 ลงตำแหน่ง ณ เวลา 05:00 น. ของทุกวัน แผนที่นี้วางตัวให้ใกล้เคียงการปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในประเทศไทย โดยทิศเหนืออยู่ซ้ายมือ  

แผนที่ตำแหน่งดาวหางแคทาลินาในเดือนมกราคม 2559 ลงตำแหน่ง ณ เวลา 05:00 น. ของทุกวัน แผนที่นี้วางตัวให้ใกล้เคียงการปรากฏบนท้องฟ้าในประเทศไทย  

แหล่งข้อมูล

C/2013 US10 (Catalina) JPL Small-Body Database Browser
C/2013 US10 (Catalina) Seiichi Yoshida
C/2013 US10 (Catalina) Andreas Kammerer