สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี : 12 สิงหาคม 2555

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี : 12 สิงหาคม 2555

29 กรกฎาคม 2555
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 20 ธันวาคม 2562
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
กลางดึกของคืนวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม เข้าสู่เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555 ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเป็นดาวสว่างอยู่ใกล้ดวงจันทร์เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก เป็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นปกติสำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย แต่มีบางจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ทั่วทั้งจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กับพื้นที่บางส่วนของสงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล มีโอกาสเห็นดวงจันทร์บดบังดาวพฤหัสบดีหลังจากขึ้นเหนือขอบฟ้าไม่นาน

การบัง

ดาวเคราะห์ทุกดวงต่างมีวงโคจรอยู่ในแนวใกล้เคียงกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย ซึ่งเรียกว่า “ระนาบสุริยวิถี” ดวงจันทร์เอียงทำมุมเพียง 5°กับระนาบสุริยวิถี ทำให้มีโอกาสที่ดวงจันทร์จะเคลื่อนมาบังดาวเคราะห์ได้ เรียกว่าการบัง (occultation) หากผ่านตรงกลางพอดี การบังจะใช้เวลานานกว่า ชั่วโมง สามารถสังเกตได้ชัดเจนในกรณีที่เป็นการบังดาวเคราะห์สว่าง และเกิดขึ้นในเวลากลางคืน
ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ พฤศจิกายน 2541 (ภาพ – วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต) 

ก่อนเช้าตรู่ของวันแม่ในปีนี้ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี เห็นได้ในพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ทางใต้ของเวียดนาม และติมอร์ตะวันออก รวมทั้งบางส่วนของปาปัวนิวกินี นอกนั้นได้แก่บริเวณใกล้ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ส่วนหมู่เกาะฮาวายและตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดขึ้นในเวลากลางวัน

ดาวเคราะห์มีขนาดปรากฏเล็ก เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากโลก ทำให้เราเห็นดาวเคราะห์เป็นจุดแสงคล้ายดาวฤกษ์ แสงดาวเคราะห์ที่กระทบดวงจันทร์จะทำให้เกิดเงาขนาดกว้างใหญ่พาดลงมาบนผิวโลก ประเทศที่อยู่ในแนวที่เงาดวงจันทร์พาดผ่านจะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์บดบังดาวเคราะห์ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางคืน ไม่มีเมฆบัง จึงจะสังเกตได้ชัดเจน

แผนที่แสดงเขตที่เห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี (ภายในขอบเขตที่ล้อมด้วยเส้นสีน้ำเงิน) บริเวณเส้นทึบทางซ้ายคือพื้นที่ที่สังเกตเห็นได้ในเวลากลางคืน บริเวณเส้นประทางขวา สังเกตไม่ได้หรือไม่ชัดเจน เนื่องจากเกิดขึ้นในแสงสนธยาและในเวลากลางวัน 

ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 จากสวีเดน  (จาก Peter Larsson Tycho Brahe Observatoriet)


ดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดี
ช่วง พ.ศ. 2555-2556 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีจำนวน 10 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 17 มิถุนายน 2555 สังเกตได้ในบริเวณตอนเหนือสุดของแคนาดา ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 สังเกตได้จากตอนใต้ของออสเตรเลีย หลังจากนั้น ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีชุดถัดไปจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2559

ปรากฏการณ์ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 เป็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีครั้งเดียวในชุดปัจจุบันที่เห็นได้จากประเทศไทย โดยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของข้างแรม ดวงจันทร์สว่างเป็นเสี้ยวคิดเป็นพื้นที่ด้านสว่างราว ใน ของดวง ส่วนดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏตามแนวศูนย์สูตร 37 พิลิปดา (เล็กกว่าดวงจันทร์ประมาณ 48 เท่า) ขนาดปรากฏตามแนวขั้ว 35 พิลิปดา เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูงจะเห็นเป็นทรงกลมแป้น และเห็นดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีได้ ซึ่งดาวบริวารก็จะถูกดวงจันทร์บดบังไปด้วยในเวลาที่ต่างกัน

ขณะเกิดปรากฏการณ์ ไอโอและยูโรปาเกือบอยู่ในแนวเดียวกับดาวพฤหัสบดี (กำลังผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี) จึงอาจสังเกตได้ยาก ส่วนแกนีมีดและคัลลิสโตอยู่ทางทิศตะวันออกของดาวพฤหัสบดี จึงถูกดวงจันทร์บังตามหลังดาวพฤหัสบดี

เมื่อสังเกตจากประเทศไทย

ผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาเกือบตี ครึ่ง โดยอยู่ในกลุ่มดาววัว ห่างดาวอัลเดบารันหรือดาวตาวัว ซึ่งเป็นดาวสว่างสีส้มในกลุ่มดาววัว เป็นระยะเชิงมุม 5° และมีกระจุกดาวลูกไก่อยู่สูงขึ้นมาเหนือดวงจันทร์ประมาณ 13°

เมื่อดวงจันทร์ขึ้นสูงเหนือขอบฟ้าพอสมควรแล้ว หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆฝนบดบัง ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเห็นดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างอยู่ทางทิศเหนือ หรือซ้ายมือของดวงจันทร์ โดยด้านสว่างของดวงจันทร์หันเข้าหาขอบฟ้าตามลักษณะของดวงจันทร์ข้างแรม

เมื่อสังเกตจากภาคใต้ของประเทศไทย ดวงจันทร์กับดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่ใกล้กัน ยิ่งลงใต้มากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใกล้กันมากขึ้น หากอยู่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอำเภอที่อยู่ทางใต้ของสตูลและสงขลา จะมีโอกาสเห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีได้มิดหมดทั้งดวง ดวงจันทร์เริ่มบังดาวพฤหัสบดีในเวลาไม่นานหลังดวงจันทร์ขึ้น จังหวะนั้นดวงจันทร์จึงอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก หากท้องฟ้าเปิด ไม่มีเมฆหมอกบดบัง ก็พอจะสังเกตได้

เราอาจแบ่งพื้นที่ประเทศไทยตามลักษณะการเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้เป็น เขต ดังนี้

 เขตที่ไม่เห็นการบัง ดวงจันทร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกันบนท้องฟ้า โดยไม่เกิดการบัง ได้แก่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย
 เขตที่เห็นการบังแบบหมดดวง ดาวพฤหัสบดีหายเข้าไปอยู่หลังดวงจันทร์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านมืดของดวงจันทร์ ได้แก่ พื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งอำเภอที่อยู่ทางใต้ของจังหวัดสตูลกับสงขลา และตอนใต้ของเกาะตะรุเตา
 เขตที่เห็นการบังแบบบางส่วน เขตนี้อยู่ตรงกลางระหว่างเขตแรกกับเขตที่ ดาวพฤหัสบดีเฉียดขอบด้านทิศเหนือของดวงจันทร์ โดยมีบางส่วนของดาวพฤหัสบดีถูกดวงจันทร์บัง ได้แก่ พื้นที่ตอนกลางของ จ.สงขลา, ส่วนใหญ่ของ จ.สตูล (อำเภอเมืองสตูลอยู่ในเขตที่เห็นการบังแบบหมดดวง), ตอนล่างของ จ.ตรัง, ตอนล่างของ จ.พัทลุง และส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

เขตที่เห็นดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีในประเทศไทย แบ่งได้เป็นเขตที่เห็นการบังแบบบางส่วน (ตรงกลาง) และเขตที่เห็นการบังแบบหมดดวง (ด้านล่าง) ส่วนบริเวณที่อยู่เหนือเส้นที่ลากผ่าน อ.หาดสำราญ จ.ตรัง และ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จะไม่เห็นการบัง หากอยู่ตรงเส้นประ ขณะบังเต็มที่ ดาวพฤหัสบดีจะถูกดวงจันทร์บังครึ่งดวง 

เมื่อเวลาผ่านไป เขตที่เห็นการบังแบบหมดดวง จะเห็นดาวพฤหัสบดีเริ่มโผล่ออกมาที่ขอบด้านมืดของดวงจันทร์ ซึ่งจังหวะนี้ เมื่อสังเกตจากต่างสถานที่กัน ก็เกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน พื้นที่ทางเหนือของเขตนี้จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏก่อนพื้นที่ทางใต้ เช่น อ.จะนะ จ.สงขลา ดาวพฤหัสบดีเริ่มโผล่ออกมาที่ขอบดวงจันทร์ในเวลาประมาณ 01:49:37 น. ขณะที่ อ.เมืองนราธิวาส ดาวพฤหัสบดีเริ่มโผล่ออกมาที่ขอบดวงจันทร์ในเวลา 01:56:39 น.

จังหวะนั้น ดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีมีมุมเงยสูงจากขอบฟ้าไม่มาก การสังเกตจึงจำเป็นต้องหาสถานที่ที่ท้องฟ้าด้านนี้เปิดโล่ง หรือสังเกตจากอาคารสูงที่ไม่มีต้นไม้หรืออาคารสูงตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจุดสังเกต นอกจากนี้ ยังต้องลุ้นด้วยว่าจะมีเมฆหมอกเป็นอุปสรรคหรือไม่ ในตารางเป็นผลการคำนวณเมื่อสังเกตจากอำเภอเมืองของจังหวัดที่เห็นการบังในวันนี้
ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี 12 สิงหาคม 2555
สถานที่ดวงจันทร์ขึ้นสัมผัสที่ (เริ่มบัง)สัมผัสที่ (บังหมดทั้งดวง)สัมผัสที่ (เริ่มออก)สัมผัสที่ (ออกหมดทั้งดวง)
อ.เมืองนราธิวาส01:22 น.01:33:14 น. (2°)01:36:22 น.01:56:39 น.01:59:55 น. (9°)
อ.เมืองปัตตานี01:20 น.01:36:16 น. (3°)01:40:43 น.01:52:42 น.01:57:17 น. (8°)
อ.เมืองยะลา01:20 น.01:34:40 น. (2°)01:38:16 น.01:54:49 น.01:58:34 น. (8°)
อ.เมืองสงขลา01:22 น.01:39:56 น. (3°)--01:53:56 น. (6°)
อ.หาดใหญ่01:22 น.01:38:57 น. (3°)--01:54:42 น. (6°)
อ.เมืองสตูล01:25 น.01:37:26 น. (2°)01:43:11 น.01:49:56 น.01:55:49 น. (6°)


หมายเหตุ:

1. ในวงเล็บหลังเวลาคือมุมเงยของดาวพฤหัสบดี (แสดงเฉพาะสัมผัสที่ และ 4)
2. เมฆหมอกใกล้ขอบฟ้าอาจบดบังดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีขณะเพิ่งขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้า จึงเริ่มเห็นได้ช้ากว่าเวลาที่ระบุ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม
3. ดวงจันทร์ขึ้นที่มุมทิศประมาณ 69° แสดงว่าอยู่ทางซ้ายมือของทิศตะวันออกจริงประมาณ 21°
4. เวลาที่ระบุนี้พอจะใช้เป็นแนวทางได้สำหรับผู้ที่อยู่ในแต่ละอำเภอ การสังเกตการณ์จริงมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากเวลานี้ได้หลายสิบวินาที แม้อยู่ในอำเภอเดียวกัน ปัจจัยที่มีผล เช่น จุดสังเกตการณ์อยู่ห่างจากจุดที่คำนวณ, ขอบดวงจันทร์ที่ไม่เรียบ, ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงรี แต่การคำนวณนี้สมมุติให้เป็นทรงกลมที่มีรัศมีเท่ากับค่าเฉลี่ย เป็นต้น
5. หากต้องการผลการคำนวณสำหรับสถานที่ใด ๆ สามารถใช้เครื่องมือคำนวณด้านล่าง
6. เทียบเวลาประเทศไทยได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 181

ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวพฤหัสบดีเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ในช่วงก่อนฟ้าสางของเช้าวันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม 2555 เมื่อสังเกตจากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ สงขลา และนราธิวาส เส้นประคือเส้นทางขณะดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์อยู่ใต้ขอบฟ้า กากบาทแสดงตำแหน่งดาวพฤหัสบดีขณะดวงจันทร์ขึ้น ขอบดวงจันทร์ส่วนที่เป็นเส้นทึบคือด้านสว่าง เส้นประคือด้านมืด กรอบด้านล่างทางซ้ายแสดงตำแหน่งดาวพฤหัสบดีและบริวาร เมื่อสังเกตจาก อ.เมืองนราธิวาส กรอบทางขวาแสดงตำแหน่งดาวพฤหัสบดีเมื่อสังเกตจากสงขลา ซึ่งจะเห็นดาวพฤหัสบดีเคลื่อนไปตามขอบดวงจันทร์ (ภาพล่างทั้งสองภาพนี้กำหนดให้ทิศเหนืออยู่ด้านบน เมื่อพลิกภาพไปทางซ้าย ดวงจันทร์จะวางตัวอยู่ในแนวเดียวกับภาพบน) 

ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ในอนาคต

หลังจากดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีในปีนี้ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์สว่างครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทย เป็นดวงจันทร์บังดาวอังคารในค่ำวันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยสามารถสังเกตได้ทั่วประเทศในเวลาประมาณ 2-3 ทุ่ม บนท้องฟ้าทิศตะวันตก ส่วนกรณีของดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดี ต้องรอถึงวันที่ พฤศจิกายน พ.ศ. 2569 ประเทศไทยจึงจะมีโอกาสเห็นได้อีก

ดูเพิ่ม

 ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ที่เห็นได้ในประเทศไทย พ.ศ. 2555-2584
 เวลาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ขึ้น-ตก
 เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก