ดาวเคราะห์ในเดือนสิงหาคม 2557

วรเชษฐ์ บุญปลอด 28 กรกฎาคม 2557

เวลาหัวค่ำ

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว วันที่ 10 สิงหาคม ย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง และจะผ่านใกล้ดาวเสาร์ในปลายเดือนสิงหาคม สังเกตดาวอังคารได้ตั้งแต่หัวค่ำ โดยอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากนั้นคล้อยต่ำลง ต้นเดือนตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง ปลายเดือนตกเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง

วันที่ 25 สิงหาคม ดาวอังคารจะผ่านใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะใกล้กันที่สุด โดยอยู่ทางทิศใต้ของดาวเสาร์เป็นระยะทางเชิงมุม 3.4° เดือนนี้ความสว่างของดาวอังคารลดลงจากโชติมาตร +0.4 ไปที่ +0.6

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง มีตำแหน่งอยู่ทางทิศตะวันออก (ซ้ายมือ) ของดาวอังคารเกือบตลอดเดือน ช่วงปลายเดือนจะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ใกล้กัน เดือนนี้ดาวเสาร์มีความสว่างลดลงเล็กน้อยจากโชติมาตร +0.5 ไปที่ +0.6 ดาวอังคารกับดาวเสาร์จึงมีความสว่างใกล้เคียงกัน ต่างกันที่สี ดาวเสาร์มีสีค่อนไปทางเหลือง ขณะที่ดาวอังคารมีสีค่อนไปทางส้มอมชมพู

ดาวพุธผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอกในวันที่ 8 สิงหาคม วันท้าย ๆ ของเดือน เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก แต่ยังอยู่ใกล้ขอบฟ้า ช่วงวันที่ 21-31 สิงหาคม ดาวพุธจางลงจากโชติมาตร –0.7 ไปที่ –0.2 เดือนกันยายนดาวพุธจะจางกว่านี้ แต่ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น

เวลาเช้ามืด

ดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ช่วงแรกอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ วันที่ 11 สิงหาคม เข้าสู่กลุ่มดาวปู โดยผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 18 สิงหาคม จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโตในวันที่ 27 สิงหาคม ต้นเดือนดาวศุกร์โผล่เหนือขอบฟ้าตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ดาวศุกร์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงขึ้นช้าลงทุกวัน ปลายเดือนอาจเริ่มเห็นได้ในเวลาประมาณตี 5 เศษ แม้ว่าดาวศุกร์จะห่างโลกมากขึ้น แต่ดาวศุกร์กลับมีความสว่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโชติมาตร –3.8 ไปที่ –3.9 ซึ่งเกิดจากพื้นผิวด้านสว่างของดาวศุกร์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่ขนาดปรากฏเล็กลงเล็กน้อยเมื่อมองจากโลก

ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร –1.8) อยู่ในกลุ่มดาวปู หลังจากอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม ควรจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างช้า ๆ เช้ามืดวันที่ 18 สิงหาคม ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 0.4° (ใกล้กว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กน้อย)

เราสามารถมองเห็นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างคู่กันเหนือขอบฟ้า โดยที่ดาวศุกร์สว่างกว่า และต้องสังเกตจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้าทิศตะวันออกเปิดโล่ง ช่วงนั้นดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กระจุกดาวรังผึ้ง ซึ่งเป็นกระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวปู แต่อาจสังเกตกระจุกดาวนี้ได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากเมื่อดาวเคราะห์ทั้งสองเคลื่อนสูงขึ้น ท้องฟ้าก็เริ่มสว่างขึ้นแล้ว หลังจากเข้าใกล้กันที่สุดแล้ว วันถัดไป ดาวศุกร์จะอยู่ต่ำกว่าและห่างดาวพฤหัสบดีมากขึ้น

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.8) อยู่ในกลุ่มดาวปลา ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.8) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ดาวเนปจูนจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 29 สิงหาคม 2557 มีขนาดเชิงมุม 2.4 พิลิปดา สังเกตดาวเคราะห์ทั้งสองได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยเลือกเวลาที่ท้องฟ้ามืดและไม่มีแสงจันทร์รบกวน ดูแผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและเนปจูนได้ที่ดาวเคราะห์ในปี 2557

ภาพจำลองดาวเคราะห์ แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์ และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)

ดวงจันทร์

ช่วงแรกของเดือนมองเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 2 สิงหาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวรวงข้าวในกลุ่มดาวหญิงสาวที่ระยะ 3° จากนั้นผ่านใกล้ดาวอังคารในคืนวันที่ 3 สิงหาคม และใกล้ดาวเสาร์ในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งเป็นคืนที่ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง ดวงจันทร์บังดาวเสาร์เมื่อสังเกตจากออสเตรเลีย

ดวงจันทร์มีพื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้นจนกระทั่งจันทร์เพ็ญในคืนวันที่ 10/11 สิงหาคม ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในเวลาประมาณตี 1 ของวันที่ 11 สิงหาคม และตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในปีนี้ ทำให้ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดในรอบปี

เมื่อเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์มีส่วนสว่างลดลง สว่างครึ่งดวงในวันที่ 17 สิงหาคม เช้ามืดวันที่ 18 สิงหาคม ดวงจันทร์อยู่ห่างไปทางทิศใต้ของกระจุกดาวลูกไก่ วันถัดไปผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัว วันที่ 24 สิงหาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวศุกร์ โดยมีดาวพฤหัสบดีอยู่สูงขึ้นไปเล็กน้อย

จันทร์ดับในวันที่ 25 สิงหาคม หลังจากนั้นจะเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ วันที่ 27 สิงหาคม จันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่ทางซ้ายมือของดาวพุธที่ระยะห่าง 5° วันที่ 29 สิงหาคม ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวรวงข้าวที่ระยะ 6° คืนวันสุดท้ายของเดือนจะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือ เยื้องไปทางด้านล่างของดาวอังคารกับดาวเสาร์

ดูเพิ่ม