ดาวเคราะห์ในเดือนกันยายน 2557

วรเชษฐ์ บุญปลอด 30 สิงหาคม 2557

เวลาหัวค่ำ

ดาวพุธอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกต่อเนื่องมาจากเดือนที่แล้ว โดยอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวตลอดทั้งเดือน ดาวพุธจะผ่านใกล้ดาวรวงข้าวในค่ำวันที่ 20 กันยายน ที่ระยะ 0.6° และทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 22 กันยายน ตลอดเดือนดาวพุธมีความสว่างลดลงจากโชติมาตร –0.2 ไปที่ +0.3

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง เข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องในกลางเดือน และเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงูในปลายเดือนกันยายน วันที่ 28 กันยายน ดาวอังคารผ่านใกล้ดาวแอนทาเรสหรือดาวปาริชาตที่ระยะใกล้กันที่สุดประมาณ 3.1° ต้นเดือนดาวอังคารตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง ปลายเดือนตกเร็วขึ้นอีกครึ่งชั่วโมง เดือนนี้ความสว่างของดาวอังคารลดลงจากโชติมาตร +0.6 ไปที่ +0.8

ดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.6) อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง วันแรกของเดือนอยู่ห่างดาวอังคารประมาณ 5° ดาวอังคารเคลื่อนเร็วกว่าไปทางทิศตะวันออก สิ้นเดือนดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ห่างกัน 21° ต้นเดือนดาวเสาร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง ปลายเดือนตกตั้งแต่ 2 ทุ่มครึ่ง

ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.8) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ดาวเนปจูนผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อปลายเดือนสิงหาคม สังเกตดาวเนปจูนได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยเลือกเวลาที่ท้องฟ้ามืดและไม่มีแสงจันทร์รบกวน

เวลาเช้ามืด

ต้นเดือนมองเห็นดาวศุกร์ (โชติมาตร –3.9) อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน สัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืด โดยดาวศุกร์จะผ่านทางทิศเหนือ (ซ้ายมือ) ของดาวหัวใจสิงห์ในเช้ามืดวันที่ 6 กันยายน ที่ระยะ 0.8° หลังจากนั้น ดาวศุกร์จะมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ลดลงจนสังเกตได้ยาก

ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวปู ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นจนปรากฏอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออก ต้นเดือนขึ้นในเวลาประมาณตี 4 เศษ ปลายเดือนขึ้นในเวลาตี 2 ครึ่ง ช่วงต้นเดือน เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่างจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่สูงเหนือขอบฟ้าประมาณ 15° ปลายเดือนเคลื่อนสูงขึ้นเป็น 30° เดือนนี้ดาวพฤหัสบดีกลับมาสว่างเพิ่มขึ้น จากต้นเดือนที่โชติมาตร –1.8 สว่างขึ้นเป็น –1.9 ในปลายเดือน

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.7) อยู่ในกลุ่มดาวปลา สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยเลือกเวลาที่ท้องฟ้ามืดและไม่มีแสงจันทร์รบกวน ดูแผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและเนปจูนได้ที่ดาวเคราะห์ในปี 2557

ภาพจำลองดาวเคราะห์ แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์ และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)

ดวงจันทร์

ช่วงแรกของเดือนเป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ วันที่ 1 กันยายน ดวงจันทร์อยู่ทางทิศตะวันออกของดาวอังคารและดาวเสาร์ วันที่ 2 กันยายน ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง ด้านสว่างของดวงจันทร์มีพื้นที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งจันทร์เพ็ญในวันที่ 9 กันยายน

เช้ามืดวันที่ 15 กันยายน ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัวที่ระยะ 2° ก่อนจะสว่างครึ่งดวงในเช้าวันถัดไป วันที่ 20 กันยายน มองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่สูงเยื้องไปทางขวามือของดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 7° จากนั้นเช้ามืดวันที่ 22 กันยายน ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ที่ระยะ 6°

หลังจันทร์ดับในวันที่ 24 กันยายน จะเข้าสู่ข้างขึ้นอีกครั้ง ดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ วันที่ 26 กันยายน จันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่ทางขวามือของดาวพุธที่ระยะ 4° โดยมีดาวรวงข้าวอยู่ต่ำกว่าดวงจันทร์ที่ระยะ 5° วันที่ 28 กันยายน ดวงจันทร์เคลื่อนสูงขึ้นไปอยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 3° บางส่วนของโลกมีโอกาสเห็นดวงจันทร์บังดาวเสาร์ เช่น ฮาวาย วันที่ 29 กันยายน ดวงจันทร์อยู่ทางขวามือของดาวอังคารที่ระยะ 6°

ดูเพิ่ม