จดหมายถึง thaiastro

job Liam [marukio_jung@hotmail.com]

สวัสดีครับ
ผมมีความฝันอยากจะท่องอวกาศ ไม่มทราบว่าต้องเรีนสาขาอะไรถึงจะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้บ้าง ตอนนี้ผมกำลังศึกษาต่อมหาลัย มองคณะวิศวะ กับ ฟิสิกส์ เอาไว้ แต่ยังไปแน่ใจว่าจะเรียนตัวไหนดี แล้วถ้าไปต่อเมืองนอก ต้องไปเรียนที่ไหนคณะอะไร แล้วเค้าให้คนเอเชียเรียนเกี่ยวกับด้านนี้รึเปล่า แล้วโครงการอวกาศ ที่เมืองนอกจะเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่เชื้อชาติของตัวเอง ออกไปทำภาระกิจนอกโลกรึเปล่า ไม่ต้องถึงขนาดไปดาวอังคาร แค่ออกไปซ่อม ดาวเทียมก็พอแล้ว ใครพอมีความรู้ทางด้านนี้ช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอบคุณครับ

thaiastro

คุณเลือกเรียนถูกทางแล้วครับ เพราะนักบินอวกาศเขาจบวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนต่างชาติถ้าจะไปขึ้นอวกาศกับนาซานั้น บอกตรง ๆ ว่าโอกาสน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามผมไม่อยากให้คุณเลิกฝัน ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น เพราะบางทีคุณอาจจะเป็นนักบินอวกาศคนแรกของไทยก็ได้
คุณสุรศักดิ์ เพ็งชำนาญ เขียนบทความ "มาเป็นนักบินอวกาศกันเถอะ" ในวารสารอัปเดทฉบับ 153 เดือนพฤษภาคม 2543 เนื้อหาตรงกับที่คุณต้องการทราบพอดี เนื้อหากล่าวถึงคุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเป็นนักบินอวกาศของนาซาเท่านั้นนะครับ ขององค์การอวกาศชาติอื่นไม่เกี่ยวข้อง พอจะสรุปสั้น ๆ ให้ได้ดังนี้
1. เคยขับเครื่องบินรบ นักบินอวกาศของสหรัฐเกือบทั้งหมดเป็นทหารอากาศ
2. สัญชาติอเมริกันจะได้เปรียบมาก
3. เรียนสูง ๆ เข้าไว้ จบดอกเตอร์ได้ยิ่งดี หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง
4. แข็งแรง สายตาต้องดี ส่วนสูงต้องอยู่ในช่วง 162-193 ซม.
5. พูดเก่ง เพราะนอกจากปฏิบัติหน้าที่หลักแล้วยังต้องประชาสัมพันธ์เสริมภาพพจน์ของนาซาด้วย
6. เข้าทำงานกับนาซา ราวครึ่งหนึ่งของนักบินอวกาศเป็นคนของนาซาเอง
7. บ้าอวกาศ คิดทำอะไรให้เป็นอวกาศ แสดงความกระตือรือล้นที่จะเป็นนักบินอวกาศให้มาก ๆ
8. ตื้อ ถ้าสมัครไปแล้วถูกคัดชื่อออก อย่ายอมแพ้ จงสมัครใหม่
ส่งใบสมัครไปที่
NASA, Johnson Space Center
AHX/Astronaut Selection Office
Houston Texas 77058
(281) 483-5907
บทความนี้เรียบเรียงจาก http://www.ksc.nasa.gov/ffacts/faq12.html และ http://nasajobs.nasa.gov/jobs/astronauts/astronauts.htm ครับ

วิมุติ วสะหลาย


"tanadcha paungklad" [tanadchap@hotmail.com]

สวัสดีค่ะ
อยากทราบว่าเมื่อประมาณ 50- 55 ปีก่อน มีดาวหางที่มีลักษณะเหมือนไม้กวาดแม่มด ผ่านบริเวณ จังหวัด ชัยนาท ตอนเช้ามืด หนูอยากทราบว่ามันชื่อดาวอะไร เพราะว่า คุณยายหนูเค้าเล่าให้ฟัง แต่คุณยายจำชื่อไม่ได้ คุณยายบอกว่า มันสวยมาก กรุณาช่วยหาข้อมูลให้หนูด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ
ธนัชชา

thaiastro

สวัสดีครับ คุณธนัชชา
คุณวิมุติได้ส่งต่อเมล์ฉบับนี้มาให้ผม ซึ่งผมมีคำตอบที่มั่นใจว่าจะเป็น "คำตอบสุดท้าย" ครับ ผมใช้เวลาเล็กน้อยกับซอฟแวร์ดาราศาสตร์ในการค้นหาดาวหางที่น่าจะหมายถึงดาวหางที่คุณยาย ของคุณธนัชชาได้เห็น ได้พบว่ามีดาวหางดวงหนึ่งที่เข้าข่ายมากที่สุด และยิ่งมั่นใจขึ้นไปอีกเมื่อค้นดู จากข้อเขียนของอาจารย์ระวี ภาวิไล ได้เขียนไว้ใน หนังสือ "ฮัลเลย์ ลางหายนะหรือปรากฏการณ์ธรรมดา" ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2529 กล่าวถึงดาวหางดวงนี้ด้วย ขออนุญาตคัดลอกตอนต้นมาให้อ่านและเนื้อหาโดยสรุปตามข้างล่างนี้ครับ
"...เมืองไทยเราในช่วงตั้งแต่ดาวหางฮัลเลย์มาปรากฏเมื่อ 76 ปีที่แล้ว (หมายถึงปี 2453) ก็มีดาวหางใหญ่อื่นมาเยือนให้ชมกันหลายครั้ง และผู้เขียนก็ได้รู้ได้เห็นได้ติดตามสังเกตการณ์บางดวง ในโอกาสนี้จะขอเล่าถึงดาวหางใหญ่ดวงหนึ่งซึ่งมาปรากฏให้เห็นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2491 เพราะมีผู้ กล่าวขวัญ และถามถึงบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้อยู่ในวัยกลางคน ซึ่งจำได้ติดตา เพราะปรากฏสุกสว่าง ชัดเจน และเห็นอยู่นานหลายคืนทีเดียว
เมื่อผู้เขียนถูกถามว่าดาวหางนี้ชื่ออะไร ใครค้นพบอย่างไร ผู้เขียนตอบไม่ได้เป็นเวลานาน ต่อเมื่อได้ทำการ สอบสวนเอกสารบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับดาวหางประกอบกับทบทวนความจำของตนเองรวมทั้งเอกสารบันทึก ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จึงได้ความว่าดาวหางดวงนี้ชื่อ "ดาวหางอุปราคา (Eclipse Comet)" ไม่มีชื่อเป็น บุคคลใดบุคคลหนึ่ง..."
รายละเอียดโดยสรุปคือ ดาวหางดวงนี้ถูกค้นพบได้เห็นพร้อมกันหลายคนในระหว่างการเกิด สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2491 ซึ่งมองเห็นได้ในแอฟริกา มีนักดาราศาสตร์เดินทาง ไปที่นั่นเพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ ในขณะที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงทุกคนต่างสังเกตเห็นว่ามีดาวหางดวงหนึ่งอยู่ ใกล้กับดวงอาทิตย์ซึ่งดาวหางกำลังมีหางยาวและสุกสว่างมาก หลังจากนั้นวันที่ 6 พฤศจิกายน ดาวหางเริ่มออกห่างจากดวงอาทิตย์จนมองเห็นได้ในเวลาเช้ามืด หลังจากนี้ผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะ ในแถบศูนย์สูตรและซีกโลกใต้ก็มองเห็นดาวหางอุปราคาสว่างสุกใสชัดเจนในเวลาเช้ามืด ดาวหางดวงนี้ลดความสว่างลงจนหายไปราวๆ กลางเดือนธันวาคม มีภาพวาดลายเส้นแสดงดาวหางปรากฏอยู่เหนือตึกฟิสิกส์ จุฬาฯ บนหน้าปกของ วารสาร "วิทยาศาสตร์" เล่มที่ 12 เดือนธันวาคม 2491ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยด้วยครับ

วรเชษฐ์ บุญปลอด


tanadcha paungklad [tanadchap@hotmail.com]

สวัสดีค่ะ
ขอบคุณมากนะคะ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวหาง เมื่อคุณยายได้อ่าน ท่านก็เลยรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าท่านเห็นจริงๆ แต่คุณยายมีคำถามอีกข้อนะคะว่า
เมื่อตอนคุณยายเป็นเด็ก เป็นช่วงสงคราม ได้ยินพวกผู้ใหญ่พูดว่า ฝรั่งเศสรบกับไทย มีดาวหางขึ้นพร้อมกัน 2 ดวง เป็นกลมๆ ขึ้นตอนพลบค่ำ ชาวบ้านก็เลยทำนายการรบจากดาว โดยที่ดาวดวงไหนสุกสว่างกว่า ก็ชนะ กรุณาช่วยหาข้อมูลอีกทีนะคะ คุณยายอยากทราบชื่อค่ะ รบกวนอีกทีนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ธนัชชา

thaiastro

สวัสดีอีกครั้งครับ
ต้องขอบอกตามตรงว่า ค่อนข้างบอกได้ยากและไม่ค่อยแน่ใจ เนื่องจากคุณธนัชชาไม่ได้บอกมาว่าคุณยายท่านอายุเท่าไร และตอนที่คุณยายได้ยินตอนเป็นเด็กนั้น ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังขณะที่เกิดเหตุการณ์ หรือว่าเหตุเกิดหลายปีก่อนหน้านั้น ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นอย่างหลังมากกว่า?
จากที่ค้นดูมีดาวหางสว่าง 2 ดวง ที่มาไล่ๆ กัน และเห็นพร้อมกันตอนหัวค่ำในปี ค.ศ. 1911 หรือ พ.ศ. 2454 คือหนึ่งปีหลังจากดาวหางฮัลเลย์ผ่านเข้ามา ชื่อดาวหางบรูคส์ (Brooks) และดาวหางเบลจอสคี (Beljawsky) ดาวหางบรูคส์มาให้เห็นในช่วงปลายสิงหาคม-ปลายพฤศจิกายน ส่วนดาวหางเบลจอสคีมาให้เห็นตั้งแต่ปลายกันยายน-ปลายตุลาคม 2454 ดาวหางสองดวงนี้มาให้เห็นใกล้กันในท้องฟ้าหัวค่ำช่วงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งดาวหางบรูคส์มีสีน้ำเงิน ส่วนดาวหางเบลจอสคีมีสีทอง ช่วงก่อนที่จะใกล้กันมากที่สุด ดาวหางเบลจอสคีสว่างกว่าดาวหางบรูคส์ แต่หลังจากที่เข้าใกล้กันมากที่สุดแล้ว ดาวหางบรูคส์จะสว่างกว่า นอกจากนี้ดาวหางทั้งสองดวงไม่เพียงมองเห็นได้ตอนหัวค่ำเท่านั้น แต่ยังปรากฏในท้องฟ้าตอนเช้ามืดด้วยครับ

วรเชษฐ์ บุญปลอด