จดหมายถึง thaiastro |
Maselo Salas (salas@hotmail.com)ผมเป็นนักศึกษาของ ม.เทคโนโลยีสุรนารี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คือว่าผมต้องการข้อมูลของ เรื่องจุดดับบนดวงอาทิตย์ทั้งหมดที่เป็นภาษาไทย ถ้าคุณหาให้ผมได้ช่วยส่งกลับมาที่ Patipan_k@hotmail.com ด้วยครับ ขอบพระคุณอย่างสูงครับthaiastroข้อมูลเกี่ยวกับจุดำบนดวงอาทิตย์ในหนังสือภาษาไทยมีอยู่น้อยมาก จริง ๆ แล้วก็มีการกล่าวถึงแทบทุกเล่มที่เขียนเรื่องดวงอาทิตย์ แต่มีไม่เกิน 1 หน้า ส่วนข้อมูลในเว็บนั้นผมและพวกพ้องได้พยายามค้นหาแล้วก็ไม่พบเลย บังเอิญผมได้เรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับจุดดำบนดวงอาทิตย์มาบ้าง เพื่อจะเรียบเรียงเป็นบทความเกี่ยวกับจุดดำและลมสุริยะในเร็ว ๆ นี้ จดหมายของคุณช่วยเร่งให้ผมเร่งหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เร็วขึ้น เพื่อให้ตอบคำถามได้ทัน หวังว่าข้อมูลที่ส่งมาให้ข้างล่างนี้คงเป็นประโยชน์กับคุณบ้าง และหวังว่าคงจะไม่ช้าจนเกินไป อาจจะอ่านไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก เพราะผมยังไม่ได้ขัดเกลาสำนวนเลยครับ
----------------------- จุดดำของดวงอาทิตย์มักไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนพื้นผิว แต่มักจะมีการรวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ โดยลักษณะของจุดดำคู่จะพบได้มากกว่า จุดดำบนดวงอาทิตย์มีการเกิดขึ้นและสลายตัวตลอดเวลา โดยปรกติแล้วจุดดำแต่ละจุดจะมีอายุประมาณไม่เกินสองสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีบางจุดที่มีอายุยาวนานนับเดือนก็เป็นได้ umbra ของจุดดำมีอุณหภูมิประมาณ 4,000 เคลวิน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดบนดวงอาทิตย์ ในขณะที่ชั้นโฟโตสเฟียร์รอบ ๆ ข้างจะมีอุณหภูมิ 6,000 เคลวิน ส่วนบริเวณ penumbra มีอุณหภูมิประมาณ 5,600 เคลวิน บริเวณที่เกิดจุดดำจะเป็นบริเวณที่เกิดสนามแม่เหล็กเข้มข้นสูงมาก โดยสนามแม่เหล็กจะพุ่งออกจากจุดดำนั้นพร้อม ๆ กับนำเอาแก๊สร้อนจัดจากภายใต้พื้นผิวดวงอาทิตย์ขึ้นมาด้วย สนามแม่เหล็กที่จุดดำอาจมีความเข้มข้นสูงถึง 0.2 - 0.4 เทสลา (1 เทสลาเท่ากับ 10,000 เกาสส์) ทิศทางและรูปร่างของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์จะขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มของจุดดำเหล่านี้ บริเวณที่มีจุดดำคู่จะมีสนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์ (bipolar) สนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์พุ่งขึ้นจากจุดดำจุดหนึ่งสู่บรรยากาศชั้นบนเหนือโฟโตสเฟียร์ แล้วเลี้ยวโค้งวกกลับลงสู่จุดดำอีกจุดหนึ่งที่อยู่คู่กัน จุดดำสองจุดนั้นจึงมีขั้วแม่เหล็กที่ตรงข้ามกันเสมอ เหมือนกับแม่เหล็กแบบเกือกม้าที่ติดอยู่บนผิวดวงอาทิตย์ บริเวณที่มีจุดดำรวมกลุ่มกันเป็นกระจุกขนาดใหญ่จะมีรูปร่างของสนามแม่เหล็กที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นสนามแม่เหล็กปิดเช่นเดียวกับสนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์ ส่วนจุดดำที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว สนามแม่เหล็กจะพุ่งออกจาก umbra ของจุดดำและสาดออกไปสู่อวกาศโดยไม่วกกลับเข้ามา เรียกว่าเป็นสนามแม่เหล็กเปิด สนามแม่เหล็กเปิดนี้เป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดลมสุริยะ สนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์บนดวงอาทิตย์มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ ทุก ๆ คู่ของจุดดำจะมีเรียงกันในแนวนอนเกือบจะขนานกับเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ เนื่องจากดวงอาทิตย์มีการหมุนรอบตัวเองด้วย ดังนั้นจุดดำสองจุดในแต่ละคู่จึงมีชื่อเรียกว่า จุดนำ ใช้อักษรย่อว่า p- (preceding) และจุดตาม ใช้อักษรย่อว่า f- (following) เรามักพบว่าจุดนำของแต่ละคู่มักจะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าจุดตามเล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า สนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์ที่เกิดขึ้นในซีกดาวเดียวกันจะมีทิศทางตรงกันทั้งหมด และสนามแม่เหล็กของซีกเหนือและซีกใต้ของดวงอาทิตย์จะมีขั้วตรงข้ามกันเสมออีกด้วย นอกจากตัวจุดดำบนดวงอาทิตย์มักอยู่รวมกันเป็นกระจุกแล้ว ปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนดวงอาทิตย์เช่นแฟลร์ มักจะเกิดบริเวณใกล้ ๆ กับจุดดำบนดวงอาทิตย์อีกด้วย โดยจะเกิดบริเวณชั้นโครโมสเฟียร์ที่อยู่เหนือแนวแบ่งระหว่างขั้วแม่เหล็กทั้งสองในสนามแม่เหล็กแบบไบโพลาร์ ปริมาณของจุดดำบนดวงอาทิตย์มีปริมาณที่ไม่คงที่ บางช่วงอาจมีเป็นจำนวนมาก และบางช่วงอาจจะไม่มีเลยแม่แต่จุดเดียว คาบของการผันแปรของจำนวนจุดดำบนดวงอาทิตย์นี้อยู่ในช่วง 8 ปี ถึง 16 ปี มีคาบเฉลี่ย 11.1 ปี คาบนี้เรียกว่า sunspot cycle หรือ solar cycle หากเราเขียนแผนภูมิแสดงจำนวนของจุดดำบนดวงอาทิตย์กับเวลา โดยให้เวลาอยู่ในแนวนอน และจำนวนจุดดำเป็นแนวตั้ง จะพบว่ารูปกราฟที่ได้คล้ายกับคลื่นรูปฟันเลื่อย โดยช่วงขาขึ้น (จากช่วงที่มีจุดดำน้อยที่สุดไปสู่ช่วงที่มีจุดดำมากที่สุด) จะชันกว่าช่วงขาลงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยแล้วช่วงขาขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 4.8 ปี ส่วนขาลงใช้เวลาประมาณ 6.2 ปี ตำแหน่งการเกิดของจุดดำก็มีลักษณะน่าสนใจอีกเช่นกัน หลังจากที่ดวงอาทิตย์เพิ่งพ้นจากช่วงที่มีจำนวนจุดดำต่ำสุดมาและกำลังจะเริ่มคาบใหม่ จุดดำจะเกิดในวงจรใหม่นี้เริ่มเกิดขึ้นที่บริเวณละติจูดประมาณ 35 องศา ทั้งซีกเหนือและซีกใต้ แล้วจุดดำเหล่านั้นก็เริ่มเคลื่อนที่เข้าหาเส้นศูนย์สูตรช้า ๆ แต่ก็ไปไม่ถึงเส้นศูนย์สูตรเพราะจุดดำนั้นหมดอายุไขไปเสียก่อน จุดดำที่เกิดขึ้นในรุ่นต่อ ๆ มาก็จะเริ่มเกิดขึ้นอีกที่ละติจูดเริ่มต้นต่ำกว่าระดับของจุดดำรุ่นที่แล้วเล็กน้อย แล้วก็เคลื่อนเข้าหาเส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกัน จุดเริ่มต้นของการเกิดจุดดำจะเปลี่ยนตำแหน่งเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งก่อนถึงช่วงต่ำสุดของดวงอาทิตย์ ละติจูดเฉลี่ยของจุดดำจะอยู่ประมาณ 7 องศา (เหนือและใต้) เท่านั้น หากเราสังเกตตำแหน่งของจุดดำทุก ๆ จุดอย่างต่อเนื่องและยาวนานพอ แล้วนำตำแหน่งของจุดดำมาเขียนเป็นแผนภูมิ โดยให้แกนนอนเป็นเวลา และแกนตั้งเป็นละติจูดของจุดดำ แผนภูมิที่ได้จะมีลักษณะเหมือนกับใบมะกอก หรือผีเสื้อมาเกาะเรียงต่อ ๆ กัน แผนภูมินี้จึงมีเชื่อเรียกเฉพาะว่า แผนภูมิรูปผีเสื้อ (butterfly diagram) ดังที่กล่าวมาแล้วว่า สนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้นบริเวณจุดดำบนดวงอาทิตย์จะมีทิศทางเดียวกันในแต่ละซีกดาว แต่ทิศทางของแม่เหล็กนี้จะไม่คงที่เสมอไป ในช่วงที่จุดดำบนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นน้อยที่สุด (sunspot minimum) นั้น จะมีการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กทั้งซีกบนและซีกใต้ สนามแม่เหล็กในจุดดำของชุดใหม่จะมีทิศทางตรงข้ามกับชุดเดิม ดังนั้น คาบที่สมบูรณ์ของจุดดำบนดวงอาทิตย์จึงเท่ากับสองเท่าของคาบจำนวนจุดดำ คือ 22.2 ปี นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าการผันแปรของจุดดำดวงอาทิตย์ยังมีคาบที่ยาวกว่าซ้อนอยู่บนคาบ 11.1 ปีนี้อีกด้วย นักดาราศาสตร์ได้พบว่าปริมาณของจุดดำที่เกิดขึ้นยังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรายคาบที่ไม่เด่นชัดนัก คาบละ 80 ปี นอกจากนี้คาบของจุดดำบนดวงอาทิตย์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอมาตลอด ในปี ค.ศ. 1645 ถึง ค.ศ. 1715 เป็นช่วงเวลาที่แทบจะไม่มีจุดดำบนดวงอาทิตย์อยู่เลย นั่นหมายความว่าคาบของดวงอาทิตย์มีการหยุดชะงักไปนานถึง 70 ปี ช่วงเวลานี้เรียกว่า Maunder mininum เนื่องจากจำนวนของจุดดำมีความสัมพันธ์ต่อความเข้มข้นและความผันผวนของลมสุริยะ และลมสุริยะมีความรุนแรงแผ่ออกไปหลายล้านกิโลเมตร โลกของเราซึ่งอยู่ภายในเขตของลมสุริยะจึงได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของจุดดำนี้ด้วย สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ การเกิดแสงเหนือ-แสงใต้ (aurora) ในช่วงใดที่เกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์มาก ก็จะเกิดแสงเหนือแสงใต้บนโลกมาก หากช่วงใดเกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์น้อย ก็จะเกิดแสงเหนือ-แสงใต้บนโลกน้อย ในช่วงที่เกิด Maunder mininum แทบจะไม่มีรายงานการพบแสงเหนือ-แสงใต้เกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณของจุดดำอาจสัมพันธ์กับอุณหภูมิของโลกด้วย อุณหภูมิโลกในช่วง Maunder mininum จะหนาวเย็นผิดปกติจนแม่น้ำเทมส์ถึงกับแข็งตัวในฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังไม่กล้าสรุปในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคาบของจุดดำกับอุณหภูมิ เนื่องจากข้อมูลที่เก็บไว้ยังมีไม่เพียงพอ ในช่วงที่จุดดำบนดวงอาทิตย์มีมาก ลมสุริยะซึ่งประกอบด้วยอนุภาคประจุไฟฟ้าพลังงานสูงจะมีความเข้มข้นและมีความผันแปรมากกว่าในช่วงอื่น ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นประจุไฟฟ้าจะทำให้สนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าขึ้นในวัตถุใด ๆ บนโลกที่เป็นตัวนำไฟฟ้าและมีความยาวมาก ๆ เช่น ท่อส่งน้ำมัน หรือสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งกรณีหลังอาจทำให้ระบบกำเนิดไฟฟ้าเสียหายได้ ดังที่เกิดขึ้นในแคนาดาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ช่วงที่เกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์สูงสุดครั้งล่าสุดคือ เดือนกรกฎาคมปี 2532 ดังนั้นเวลาที่คาดว่าจะเกิดจุดดำบนดวงอาทิตย์มากที่สุดอีกครั้งคือในราวปลายปี 2543 จนถึงต้นปี 2544 จุดดำบนดวงอาทิตย์เกิดจากอะไร? เหตุใดจำนวนของจุดดำจึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นคาบ? จนถึงวันนี้ก็ยังหาคำอธิบายที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับจุดดำบนดวงอาทิตย์ไม่ได้ ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเกิดจากการคลายตัวของสนามแม่เหล็กที่พันขดอยู่ภายในดวงอาทิตย์ใต้ชั้นโฟโตสเฟียร์ แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์อีกหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกันได้ คำว่า sunspot ยังไม่มีการบัญญัติเป็นคำไทยที่แน่นอน ตามตำราเราอาจพบอยู่สองคำคือ "จุดดับ" และ "จุดดำ" นักดาราศาสตร์ไทยท่านหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า ควรใช้คำว่า "จุดดำ" มากว่า เนื่องจากแท้จริงแล้วภายในจุดนั้นมิได้ดับแต่อย่างใดหากแต่ยังเจิดจ้าและมีอุณหภูมิสูงถึงหลายพันองศา แต่เหตุที่เรามองเห็นว่ามีสีดำเนื่องจากผิวดวงอาทิตย์บริเวณรอบข้างมีความสว่างมากกว่าบริเวณจุดดำมากกว่านั่นเอง ผมจึงใช้คำว่าจุดดำในที่นี้ทั้งหมด วิมุติ วสะหลาย Anuchit Ratanasuwan (g40anr@ku.ac.th)อยากทราบเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดพายุสุริยะ และผลกระทบต่อโลก (อย่างละเอียดก็จะเป็นพระคุณยิ่ง) ขอบคุณครับjediku@hotamail.com thaiastroตอนนี้ผมกำลังเรียบเรียงเรื่องนี้อยู่พอดี คาดว่าจะนำลงเว็บในเร็ว ๆ นี้ โปรดอดใจรอครับวิมุติ วสะหลาย b3801949@student.sut.ac.th (prapaporn)สวัสดีครับผมเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กำลังทำรายงานเรื่องโลกในแง่ของดาราศาสตร์ กรุณาช่วยส่งรายละเอียดเรื่องนี้ให้ผมด้วยครับ ขอบคุณครับ thaiastroสวัสดีครับตอนนี้ข้อมูลรายละเอียดในเรื่องนี้ยังไม่มีในโฮมเพจของสมาคมฯ ครับ มีเพียงข้อมูลพื้นฐานทั่ว ๆ ไปในหน้า "ข้อมูลดาวเคราะห์" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/planets.html) เท่านั้น และยังไม่พบข้อมูลที่ไหนที่ละเอียด ๆ จริงที่เป็นภาษาไทยเลย แต่คุณอาจหาได้จากโฮมเพจของ The Nine Planets ครับ ที่นี่มีข้อมูลโดยละเอียดของดาวเคราะห์ทั้งเก้าดวงรวมทั้งบริวารต่าง ๆ ด้วย และยังมีลิงก์ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ผิดหวังแน่นอนครับ url อยู่ที่ http://SEDS.LPL.Arizona.EDU:80/billa/tnp ครับ วิมุติ วสะหลาย "Ake Sompong" (somake@hotmail.com)ถึง คุณวิมุติผมได้ชื่อและ e-mail คุณวิมุติมาจาก homepage ของวารสารทางช้างเผือก ผมสนใจที่จะรับวารสารทางช้างเผือกเป็นประจำ จึงรบกวนช่วยส่งรายละเอียด และค่าสมัคร มาให้ผมด้วยครับ สะดวกเป็นทาง e-mail หรือ ทางจดหมาย ก็ได้ส่งมาที่ เอก สมพงษ์ 701/36 ถนนวงศ์สว่าง บางซื่อ กทม. 10800 ขอแสดงความนับถือ เอก สมพงษ์ thaiastroขอบคุณที่ให้ความสนใจในวารสารทางช้างเผือก วารสารทางช้างเผือกจะแจกให้กับสมาชิกของสมาคมครับ รายละเอียดในการสมัครเป็นสมาชิกอยู่ในหน้า "สมาชิก" (https://thaiastro.nectec.or.th/member.html) ครับวิมุติ วสะหลาย DevilEd-Tossapon (DevilEd@ksc.th.com)ผมอุตส่าห์หาเว็บไซต์ดี ๆ ของสมาคมจนเจอ กะจะ save เป็นเวิร์ดไว้ หรือจะไว้พิมพ์รายงานส่งอาจารย์ แต่ไหงดันพิมพ์ออกเป็นช่องสี่เหลี่ยม แถมพอแปลง html เป็นเวิร์ดก็แปลงไม่ได้ เซ็งเลยพี่
ด้วยความเคารพอย่างสูง thaiastroเพราะน้องใช้ Word 97 ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ เวลา font เป็นของฝรั่ง เช่น Times New Roman หรือ Arial ภาษาไทยที่น้องก๊อบปี้มา paste ในเวิร์ดจะเห็นเป็นช่องสี่เหลี่ยม จง edit/select all แล้วเปลี่ยน font ของมันให้เป็นภาษาไทย เท่านี้ก็อ่านออกแล้วครับถ้าปัญหาเป็นเพราะเหตุอื่น กรุณาบอกรายละเอียดของโปรแกรมที่ใช้และวิธีการก๊อปมาอีกที วิษณุ "Jad" (veeravat@access.inet.co.th)เรียน คุณวิมุติดิฉันอยากจะเป็นสมาชิกวารสารทางช้างเผือกทั้งฉบับ อดีต ปัจจุบันและอนาคตเลย ทุกฉบับที่ยังมีเหลืออยู่ จะต้องทํายังไงบ้างคะ เอาที่สะดวกที่สุดในการติดต่อและจ่ายเงินนะคะ
ขอบพระคุณค่ะ thaiastroสมาชิกวารสารทางช้างเผือกไม่มีครับ มีแต่สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยครับ คนที่เป็นสมาชิกจะได้รับวารสารทางช้างเผือกปีละสี่ฉบับทางช้างเผือกฉบับย้อนหลังมีไม่กี่ฉบับเท่านั้น คือนับตั้งแต่ฉบับ มกราคม - มีนาคม 2538 เป็นต้นมา ฉบับก่อนหน้านั้นหมดแล้วครับ ราคาสั่งซื้อย้อนหลังเล่มละ 30 บาท (ยกเว้นฉบับ กรกฎาคม - ธันวาคม 2538 ราคา 40 บาท) บวกค่าส่ง 10 บาท ส่วนทางช้างเผือกในอนาคตนั้น ถ้าหากคุณเป็นสมาชิกและต่ออายุสม่ำเสมอ ก็จะได้รับทางช้างเผือกในอนาคตทุกฉบับครับ หรือถ้าไม่อยากต่ออายุสมาชิกบ่อย ๆ ก็สมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพได้ครับ ค่าสมัคร 3,000 บาท รายละเอียดเรื่องการสมัครสมาชิกอยู่ใน https://thaiastro.nectec.or.th/member.html รายละเอียดเรื่องการสั่งซื้อวารสารทางช้างเผือก อยู่ใน https://thaiastro.nectec.or.th/mlky/mlkyjnl.html ครับ วิมุติ วสะหลาย Piyanan Ananyossorakit (piyanan23@hotmail.com)ผมทราบว่านักดาราศาสตร์สามารถคำนวณล่วงหน้าได้ว่า ดวงดาวในระบบสุริยะจะเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งใด องศาที่เท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งจะเกิดปรากฏการณ์เช่น สุริยุปราคา น้ำขึ้น-น้ำลง เมื่อใด ผมเคยเห็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของต่างประเทศสามารถจำลองภาพการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้า ณ วันที่ เวลา สถานที่ตามที่เราต้องการได้ ก็เลยอยากจะลองทำมันขึ้นมาเป็นของตัวเองบ้าง แต่ผมไม่ทราบจะไปหาซื้อตำราเกี่ยวกับการคำนวณต่าง ๆ ได้ที่ไหน จึงขอรบกวนช่วยบอกตำราดี ๆ ของทั้งผู้แต่งคนไทยและต่างประเทศ ที่มีสูตรคำนวณแม่นยำที่สุด รวมถึงราคาเท่าไรและสถานที่จำหน่ายด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ขอขอบคุณล่วงหน้าครับpiyanan23@hotmail.com thaiastroคุณวรเชษฐ์ บุญปลอดได้ให้ข้อแนะนำมาดังนี้ครับหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการคำนวณตำแหน่งดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะ จะมีแบบที่ละเอียดพอประมาณกับละเอียดแม่นยำครับ อย่างแรกจะมีอยู่หลายเล่ม ที่เป็นภาษาอังกฤษ มีฉบับภาษาไทยอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นฉบับแปล เป็นหนังสือประกอบการเรียนวิชาหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนแบบละเอียดจริง ๆ นั้นไม่เคยเห็นที่เป็นภาษาไทย แต่ถ้าฉบับภาษาอังกฤษที่คนนิยม และชื่อของคนเขียนมักถูกอ้างถึงบ่อย ๆ คือ Astronomical Algorithms ของ Jean Meeus ราคา 24.95 เหรียญ วิมุติ วสะหลาย |