จดหมายถึง thaiastro

Kanlai Sujareerat (klais@asiaaccess.net.th)

เรียน คุณวิมุติ วสะหลาย
ขอบคุณครับ สำหรับเมลที่ตอบมาเรื่องกำหนดโครงการชาวฟ้า รุ่น 5 ยืนยันนะครับว่า ปลายปี 2542 อีกเกือบปี ทีเดียว จะคอยครับ อยากทราบอีกเรื่องว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยหรือเปล่า การสมัครสมาชิกสมาคมฯ ให้ไปสมัครที่ไหน ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

ขอแสดงความนับถือ
ครรไล สุจารีรัตน์

thaiastro

ผู้ที่จะเข้ารับการอบรมชาวฟ้าไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณครรไลยังไม่เป็นสมาชิก ผมขอแนะนำให้สมัครเสียแต่เดี๋ยวนี้ครับ เพราะเมื่อถึงเวลาที่โครงการใกล้ ๆ จะเปิดรับสมัคร สมาคมจะแจ้งข่าวและวิธีการสมัครไปยังสมาชิกทางไปรษณีย์ คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอาจตกข่าวได้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


From: Theeraya Uttha (sc383233@sci.kku.ac.th)

อยากทราบว่า ถ้าอยากได้แผนที่ดาวจะสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้มั๊ยคะ เพราะว่า อยู่ไกลถึงขอนแก่นและไม่มีโอกาสได้ไปกรุงเทพฯ บ่อยนักค่ะ

thaiastro

ได้ครับ แผนที่ดาวราคาอันละ 60 บาท (สมาชิกสมาคมฯ ซื้อได้ในราคา 54 บาท) เพิ่มค่าส่ง 15 บาท ดังนั้นสำหรับสมาชิกซื้อได้ในราคา 69 บาท และถ้าไม่ใช่สมาชิกซื้อในราคา 75 บาท ส่งธนาณัติมายัง สมาคมดาราศาสตร์ไทย 928 ถ.สุขุมวิท กทม. 10110 ป.ณ.สันติสุข

วิมุติ วสะหลาย


"naripon pensiri" (naripon@mailcity.com)

สวัสดีครับ
ผมติดตามผลงานของคุณผ่านทางอินเทอร์เน็ตมา รู้สึกชื่นชมในผลงานของคุณมาก ผมเริ่มติดตามเรื่องดาราศาสตร์นับตั่งแต่เริ่มออกท่องเที่ยวตามป่าเขา กางเต้นท์ นอนดูดาว กางแผนที่ และเริ่มรู้จักดวงดาวที่ละดวง เหมือนกับมีเพื่อนใหม่ทุกครั้ง

ผมเริ่มสนใจที่จะประกอบกล้องดูดาวชนิด 3 เลนส์ ซึ่งที่ผมค้นเจอจะเป็น 2 เลนส์ซึ่งผมไม่ถูกใจ ไม่ทราบว่า คุณพอจะอนุเคราะห์ข้อมูลในการทำ หรือแนะนำหนังสือที่อธิบายการประกอบกล้องชนิดนี้โดยละเอียดได้ไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้า

นฤพนธ์ เพ็ญศิริ

thaiastro

กล้องแบบ 3 เลนส์ที่ว่านี้ ไม่แน่ใจว่าหมายถึงแบบไหน เพราะเราจะจำแนกชนิดของกล้องด้วยจำนวนเลนส์ไม่ได้หรอกครับ ต้องบอกว่าเป็นชนิดไหน คุณนฤพนธ์ได้ยินมาจากไหนหรือครับ เท่าที่ผมนึกเอา อาจจะเป็นกล้องแบบหักเหแสงที่เพิ่มเลนส์เข้ามาตรงกลาง เพื่อกลับภาพให้กลายเป็นภาพหัวตั้ง หรืออาจจะเป็นกล้องหักเหแสงที่ใช้เลนส์สองตัววางใกล้ ๆ กันเป็นเลนส์ตาเพื่อให้มีกำลังขยายและมุมกว้างมากขึ้น หรืออาจจะเป็นอย่างอื่นที่เกินกว่าผมจะคาดเดาได้ เรื่องของการสร้างกล้องแบบที่ใช้เลนส์ตัวที่สามมาทำให้เป็นกล้องภาพหัวตั้งนี้ เคยตีพิมพ์ในวารสาร "รู้รอบตัว" เล่มเก่ามาก (น่าจะเกิน 10 ปี) ลองติดต่อที่ บ.ซีเอ็ดฯ ดูนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


Kaew

หวัดดีครับ
ผมเข้ามาดูใน Homepage แล้วก็อยากจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ดูบ้าง เอาแค่ประมาณ ดาวใกล้ ๆ นี่ละ แบบว่าไม่เคยดูมาก่อน ผมเห็นในบทความแล้ว ผมอยากจะถามว่าถ้าหากผมอยากได้กล้องดูดาวจริง ๆ สำหรับมือใหม่แบบยังไม่เคยดูมาเลยอะ พอจะบอกได้หรือเปล่าครับว่า ขอซื้อได้ที่ไหนบ้างใน กทม. ราคาประมาณเท่าไร เอาแบบ ที่ตาเดียวนะครับ  แล้วอยากจะถามต่อไปว่าเราจะเลือกกล้องดูดาวยังไง มีวิธีเลือกหรือเปล่า เพราะถ้าหากไปซื้อตอนกลางวันมันมองดาวไม่เห็นน่ะครับ ส่วนเรื่องระยะของลำกล้องและ จุดโฟกัสมีขนาดเท่าไรอย่างไรถึงจะดี  ไม่ทราบว่าจะอ่านเข้าใจหรือเปล่านะครับ ถ้าไม่เข้าใจก็สรุปว่าช่วยบอกวิธีเลือกซื้อกล้องดูดาวก็ได้ครับ และบอกราคาพอประมาณมาก็ได้ บอกที่ซื้อด้วยยิ่งดีครับ กรุณาตอบกลับมาด้วยนะครับ

นับถือมาก
จาก คนหันมาสนใจดาราศาสตร์แต่ไม่รู้อะไรเลย
(ยังไม่ถึงขั้นมือใหม่เลยด้วยซ้ำ อิอิอิ)

Kaew.

thaiastro

กล้องดูดาวหาได้ไม่ยากนักตามร้านขายกล้องใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็กและคุณภาพต่ำ ราคาของกล้องระดับนี้จะประมาณ ไม่เกินหมื่น ผมไม่แนะนำให้ซื้อแบบนี้ครับ ถ้ากล้องที่พอจะยอมรับได้จะแพงหน่อยครับ ควรเลือกประมาณ 20,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ถ้างบไม่ถึงก็ขอแนะน้ำให้ไปซื้อกล้องสองตาดีกว่าครับ คุ้มกว่า กล้องเกรดที่ว่านี้จะหาซื้อยากหน่อยครับผมเคยเห็นไม่กี่แห่ง เช่น ที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ย่านขายกล้องแถวพลับพลาชัย หรือจะดูที่โฆษณาในวารสารทางช้างเผือกก็ได้ครับ มีผู้สั่งเข้าโดยตรงเหมือนกัน

เรื่องวิธีเลือกซื้อกล้องดูดาวมีคนถามมามาก ผมคงจะนำลงในโฮมเพจของสมาคมฯ เร็ว ๆ นี้ ถ้าคุณ Kaew รอไม่ไหว ให้ลองไปซื้อทางช้างเผือกฉบับ มกราคม-มีนาคม 2539 ดูนะครับ เพราะมีบทความเกี่ยวกับการเลือกซื้อกล้องโทรทรรศน์โดยตรง เขียนโดยอ.นิพนธ์ครับ หรือดูจดหมายเก่า ๆ ที่มีผู้เขียนมาถามเรื่องกล้องในหน้า "จดหมายถึง thaiastro" (https://thaiastro.nectec.or.th/letters/letters.html) ก็ได้ครับ มีอยู่ไม่น้อยเลย

วิมุติ วสะหลาย


John Chu (jchu@loxinfo.co.th)

I live in Bangkok (Bangna) and I have an 8" Celestron telescope. How can I find out other people in Thailand interested in Astronomy? I would like to attend some meetings and meet some other fellow space buffs.

Thanks,
John

thaiastro

The Thai Astronomical Society organises star party trips when the seasons permit. These would be the best time for you to meet other star gazers. When we do not go out we have monthly lectures on astronomy and related subjects, in Thai. I do not know if you are a Thai speaker or not, but if you are or can understand Thai, it will be better. The lectures will allow you to meet knowledgeable speakers and many astronomy enthusiasts--a few can speak English too.

Bangna is only an hour's drive to Chachoengsao. Khun Worawit, one of Thailand's best astrophotographers has a very interesting home-made observatory there.

Visanu Euarchukiati


John Chu (jchu@loxinfo.co.th)

Thanks for the info. I would like to attend some meetings. I understand some thai but I will bring my Thai wife along as well. When can I get more info on the location and times of the gatherings? Also what are the fees to Join TAS?

Does K. Worawit have any Email address?

Thanks, John

thaiastro

The calendar for Thai Astronomical Society's activities should be posted on the website soon, but they will be in Thai. Star parties are usually advertised on the site about 1-2 months before the date.

To become a TAS member, you can choose to be a regular member where you pay a yearly fee of 250 Bahts, or to be a life member at a one time fee of 3,000 Bahts. You can get our news faster and more certainly if you are a member.

The next lecture starting at 13:00 or 13:30 on 28 March is about a lighter subject, the Blue Moon, which will come on 31 March. The talk will be held at the conference room, Science Museum building (next to the planetareum).

I think Khun Worawit has an e-mail address, but I cannot find it. I will ask him next time I see him.

Visanu E.


Prasit Wannakornkij

สวัสดีครับ
ผมกำลังจะซื้อกล้องดูดาวเพื่อดูวัตถุจำพวก เนบิวลา กาแล็กซี กระจุกดาว ผมควรจะเลือกกล้อง schmidt-cassegrain หรือกล้องประเภท Dobsonian ถ้าเป็นกล้อง schmidt ก็จะได้ประมาณ 8 นิ้ว f/10 ถ้าเป็นกล้อง dobsonian ก็ประมาณ 12-14 นิ้ว f ratio ประมาณ 4.5 ผมควรจะเลือกแบบไหนดีครับ และทั้ง 2 ประเภทผมสามารถเห็นสีสันของเนบิวลาและอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องใช้การถ่ายภาพเท่านั้น ถึงจะเห็น สีสันของวัตถุได้ (ผมไม่เน้นการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์) ช่วยแนะนำด้วยครับ ขอบคุณมาก

thaiastro

ถ้าไม่เน้นการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ และไม่เน้นกำลังขยายสูง ๆ ผมแนะนำ Dobsonian ครับ เพราะมีขนาดหน้ากล้องที่ใหญ่โตดี และน้ำหนักของขาตั้งเบาพอสมควร แต่ต้องระวังว่าหากซื้อขนาดใหญ่ๆ แล้ว เรื่องการขนย้ายกล้องจะเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

เรื่องสีสันลืมไปได้เลย กล้องขนาดใหญ่ประมาณ 12-16 นิ้ว เมื่อเล็งไปที่ M42 ก็แทบจะไม่เห็นสีอยู่แล้ว (เห็นเรือง ๆ เป็นสีสันพอสมควร แต่ถ้าวัตถุนั้นจางกว่า M42 จะเห็นนิดหน่อย และมีวัตถุไม่กี่อย่างหรอกครับที่จะสว่างเท่า ๆ กับ M42) จะต้องอาศัยการถ่ายภาพเท่านั้นครับ

คุณเน้นการส่องด้วยตาเปล่า ดังนั้นต้องซื้อกล้องที่มี f-ratio ต่ำ ๆ ครับ เพราะว่าจะได้ f-ที่ต่ำครับ และก็อย่าลืมพิจารณาเรื่อง Exit pupil ด้วยครับ ค่าที่ดีสำหรับเราคือ 7 มิลลิเมตร

ค่า Exit Pupil คือ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำแสงที่ออกมาจากเลนส์ตา ถ้าขนาดลำแสงออกมาโต ภาพที่ได้ก็สว่างครับ ถ้าเล็ก ภาพก็มืดครับ แต่ม่านตาคนเราเมื่อขยายโตสุด จะมีขนาดประมาณ 7 มิลลิเมตร ดังนั้นหาก Exit Pupil โตกว่า 7 มิลลิเมตร ก็ไม่มีประโยชน์ครับ

วิธีการคำนวณค่า Exit Pupil ให้เอาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง (ขนาดกระจกหลัก) หน่วยเป็นมิลลิเมตร หารด้วยกำลังขยายของกล้อง ก็จะได้ค่านี้ออกมา มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร

กล้องอย่างที่คุณว่า ทั้งหมดคงเป็นแบบ Fast Newtonian Telescope(FNT.) ก็ขอให้ระวังเรื่องกระจกหลักเคลื่อนเนื่องจากการขนย้ายด้วยครับ

Pornchai POP.


From: kab dulha (kabdulha@yahoo.com)

ผมกำลังทำรายงานเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เกี่ยวกับจังหวัดในภาคใต้ ชึ่งผมต้องรบกวนพี่ คืออยากทราบพิกัด เพื่อประกอบรายงานของผม ณ อำเภอเมืองของจังหวัดดังนี้
1. พัทลุง
2. ปัตตานี
3. ยะลา
4. นราธิวาส
5. สงขลา
6. สตูล
ผมขอขอบคุณล่วงหน้า

ด้วยความนับถือ
นายสมพร คงสว่าง
น.ศ.วิทยาลัยครูจังหวัดยะลา

thaiastro

จดหมายฉบับนี้ผมทำหายไปครับ เพิ่งค้นพบวันนี้เอง ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ พิกัดของจังหวัดหามาให้แล้วครับ

พัทลุง 07 30' 00" N 100 05' 00" E
ปัตตานี 06 52' 00" N 101 16' 00" E
ยะลา 06 30' 00" N 101 16' 00" E
นราธิวาส 06 24' 00" N 101 53' 00" E
สงขลา 06 50' 00" N 100 40' 00" E

พิกัดนี้เป็นของอำเภอเมืองครับ

วิมุติ วสะหลาย


From: ohlek@udon.ksc.co.th

ผมอยากได้กล้องดูดาวสักตัว เราจะซื้อหรือทำเอาดีครับถ้าซื้อจะดูอย่างไร

thaiastro

ถ้าจะเอาคุณภาพก็ต้องซื้อเอาแน่นอนครับ เรื่องซื้อกล้องดูดาวดูอย่างไรนั้น มีผู้ถามมาหลายคนแล้ว ลองดูที่หน้า จดหมายถึง thaiastro ดูนะครับ ที่ https://thaiastro.nectec.or.th/letters/letters.html หน้าเดือนธันวาคม 2541 มีคำถามคล้าย ๆ กันนี้ คุณพรชัยได้ตอบไว้ชัดเจนดีแล้วครับ

หากคุณ ohlex สนใจที่จะทำกล้องเอง สมาคมมีการจัดกิจกรรมอมรมเชิงปฏิบัติการสร้างกล้องดูดาวอย่างง่ายอยู่เนือง ๆ เป็นการสร้างกล้องดูดาวแบบหักเหแสง เน้นประหยัดและคุณภาพพอตัว แต่ถ้าคุณอยากทำกล้องแบบดี ๆ อย่างที่เห็นในวารสารต่างประเทศ ในเมืองไทยจะลำบากเพราะหาซื้ออุปกรณ์ไม่ได้ ต้องสั่งเข้าซึ่งราคาแพงมาก ลองหาข้อมูลที่ เพจ Amateur Telescope Making Link ของ Sky & Telescope ดูนะครับ ที่ http://www.skypub.com/resources/links/links.html#atm ภายในมีลิงก์ที่เกี่ยวกับการสร้างกล้องดูดาวอีกมาก

วิมุติ วสะหลาย


Suchada Chairat (suchada@onec.go.th)

สวัสดีค่ะ คุณวิมุติ
ไม่พบกันนานเลย แวะมาเยี่ยมเยียน พร้อมฝากคำถามไว้สักเรื่องนะคะ คุณศราวุธเธอถามเกี่ยวกับดาราศาสตร์ในกระทู้ห้องสมุดของ pantip.com จึงแนะนำให้ดูเว็บสมาคมดาราศาสตร์ไทย และถามคุณวิมุติ แต่ copy คำถามส่งมาก่อนค่ะ

ขอบพระคุณ
*^.^*
สุชาดา

Date: Mon, 1 Mar 1999 01:27:53 +0700
From: "sarawoot" (sarawoot@geocities.com)
To: "suchada chairat" (suchada@onec.go.th)

ถ้าอยากทราบเกี่ยวกับการสร้างกล้องดูดาวแบบละเอียด จะหาอ่านได้จากที่ไหนครับ เป็นภาษาอังกฤษก็ได้ครับ เพราะผมอยากลองสร้างกล้องเองดูว่าจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะอันเก่าที่เคยสร้างใช้การได้ไม่คอยดีเท่าไหร่ครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับผม

sarawoot@geocities.com หรือ ecliptiga@usa.net

thaiastro

คุณสุชาดาฝากจดหมายของคุณ sarawoot มาให้ตอบตั้งเดือนหนึ่งแล้ว เพิ่งมีเวลามาดูครับ ขออภัยที่ล่าช้า เรื่องการสร้างกล้องดูดาวลองไปดูที่ http://www.skypub.com/resources/links/links.html#atm สิครับ เป็นภาษาอังกฤษครับ รับรองจะติดใจ

วิมุติ วสะหลาย


From: "prateep" (prateep@sittipol.com)

1.ในเบื้องต้นที่ผมจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับดาวบนท้องฟ้า เมื่อผมเงยหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้าในทิศเหนือผมจะทราบได้อย่างไรว่า ดาวดวงไหนชื่อดาวอะไร อยู่ตำแหน่งและลักษณะเช่นไร เพราะช่วงนี้ผมเริ่มใช้เวลาในการพักผ่อนหลังการทำงานด้วยการให้ความสนใจเกี่ยวกับดวงดาวและท้องฟ้า ผมอยากให้ตัวผมเองได้เกิดความสนุกกับการค้นคว้าและศึกษา
2.อุปกรณ์ในการส่องดูดวงดาว ที่จะแนะนำให้เบื้องต้นมีอะไรบ้างที่ราคาไม่แพงมากนัก
3.หนังสือหรือคู่มือที่น่าสนใจ ที่จะแนะนำสำหรับ มือใหม่อย่างผมด้วย
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าอย่างสูงที่ได้เอื้ออำนวยข้อสงสัยเพื่อคนที่สนใจอยากรู้ คำตอบท่านสามารถส่งได้ที่ e-mail prateep@sittipol.com ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

thaiastro

ถ้าอยากทราบชื่อของดาวและกลุ่มดาว คุณจะต้องมีแผนที่ฟ้าสักหนึ่งอันครับ เพราะจะทำให้คุณรู้จักกลุ่มดาวได้เกือบทั้งหมดบนท้องฟ้าและชื่อของดาวสว่างหลายสิบดวง ทำให้ทราบถึงเวลาขึ้น-ตกที่แน่นอน และยังช่วยให้เข้าใจทรงกลมท้องฟ้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย แผนที่ฟ้าของสมาคมฯ อันละ 60 บาทเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการดูดาว ในขั้นต้นยังไม่ต้องหาซื้อกล้องดูดาวหรอกนะครับ ให้เริ่มที่ตาเปล่ากับแผนที่ฟ้านี่แหละครับ ควรทำความเข้าใจกับท้องฟ้าและสนุกกับกลุ่มดาวและดาวสว่างต่าง ๆ สังเกตสีและการกะพริบของดาว แค่นี้ก็เพลินเป็นเดือน ๆ แล้วครับ กล้องตัวแรกที่ควรมีไม่ใช่กล้องโทรทรรศน์ หากแต่เป็นกล้องสองตา กรุณาอ่านที่หน้า "กล้องสองตา คู่หูของนักดูดาว" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/binocwld.html) ของสมาคมฯ ดูก่อนครับ

หนังสือที่ดีสำหรับมือใหม่ดูดาวช่วงนี้เห็นมีอยู่สองสามเล่มครับ ที่เห็นบ่อยที่สุดคือ "หลักการดูดาวขั้นต้น" ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร นายกสมาคมฯ ตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ อย่างศูนย์หนังสือจุฬาฯ ดวงกมล มีแน่นอนครับ วารสารที่มีเรื่องของดาวที่เข้าใจได้ไม่ยากก็มี "Update" ของซีเอ็ด และ "สารคดี" ของวิริยะธุรกิจ ขอแนะนำให้ซื้อไว้เช่นกันครับ และที่แน่นอนขาดไม่ได้คือ "ทางช้างเผือก" ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งจะแจกให้กับสมาชิกสมาคมและวางขายที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เดิม) ถ้าคุณ prateep ยังไม่เป็นสมาชิกก็ขอแนะนำให้สมัครจะดีกว่าครับ ดูรายละเอียดได้ที่หน้า "สมาชิก" (https://thaiastro.nectec.or.th/member.html) ครับ ส่วนถ้าจะดูว่า "ทางช้างเผือก" มีอะไรน่าสนใจบ้างก็ลองดูที่ https://thaiastro.nectec.or.th/mlky/mlkyjnl.html นะครับ

ขณะนี้ผมกำลังเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเริ่มต้นดูดาวอยู่ คาดว่าจะตั้งชื่อเป็น "สำหรับมือใหม่" คงจะเสร็จเร็ว ๆ นี้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


From: "Chaiyut Anawatthara" (parakij@asiaaccess.net.th)

สวัสดีครับ
เวลาถ่ายรูปดาว ถ้าเราเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ภาพที่ได้จะเป็นเส้นยาว ๆ
1. ถ้าจะใช้เครื่องตามดาวราคาประมาณเท่าไร?
2. หลักการทำงานของเครื่องตามดาวเป็นอย่างไร?
3. ถ้าผมจะสร้างใว้ใช้เองอยากทราบว่าจะหาสูตรในการคำนวณได้ที่ไหน
หรือถ้าทราบช่วยอธิบายได้ไหม จะเป็นพระคุณยิ่ง
ขอบคุณมากครับ

ไชยยุทธ อนวัชธารา

thaiastro

เรียนคุณ ชัยยุทธ
ตอบเป็นข้อ ๆ นะครับ
1. ราคามีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ลูกเล่น แล้วก็ความสามารถในการรับน้ำหนักกล้องครับ ราคาขาตั้งกล้องแบบนี้ จะต้องเป็นขาตั้งกล้องแบบอิเควตอเรียล (equatorial mount) สำหรับในเมืองไทย หรือประเทศที่มีละติจูดประมาณประเทศไทย จะต้องใช้ขาตั้งกลั้องอิเควตอเรียลแบบ German Equatorial ครับ สนนราคารวมมอเตอร์ตามดาวแกนเดียว จะเริ่มต้นที่ประมาณ $500 - $600 ครับ ถ้าแพงกว่านี้ก็มีถึงหลาย ๆ พัน หลาย ๆ หมื่นดอลลาร์ครับ

2. หลักการทำงานของขาตั้งกล้องประเภทนี้ ตัวขาตั้งกล้องจะต้องมีแกนที่หมุนได้ 2 แกน แกนหนึ่งเรียกว่าแกนไรต์แอสเซนชัน (Right Ascension; RA.) ซึ่งแกนนี้จะขนานกับแกนโลก แต่จะหมุนแกนทวนกับแกนหมุนของโลกในอัตราเร็วเท่ากับโลกเมื่อหมุนใน 1 รอบครับ ส่วนอีกแกนหนึ่ง เรียกว่าแกนเดคลิเนชัน (Declination; DEC.; Decl.) เป็นแกนที่อยู่ตั้งฉากกับแกน RA. ครับ

3. หลักการคำนวณไม่ยากครับ แต่ทำยากครับ หลักง่าย ๆ คือ คุณต้องรู้จักระบบ Equatorial ให้ดีก่อนครับ จึงจะสามารถทำได้ ผมคิดว่าถ้าผมอธิบายไปตอนนี้คุณอาจจะยังไม่เข้าใจ คุณน่าจะหาหนังสือเรื่องทรงกลมท้องฟ้า หรืออะไรทำนองนี้มาอ่านประกอบเพื่อทำความเข้าใจครับ อย่างไรก็ดี ผมจะอธิบายย่อ ๆ นะครับ คุณจะต้องทำให้แกน RA. สามารถขนานกับแกนโลกให้ได้ แล้วทำให้แกนนี้หมุนให้ได้ความเร็วเท่ากับที่โลกหมุนใน 1 รอบ ซึ่งมีค่าประมาณ 24 ชั่วโมงต่อ 1 รอบ (ค่าจริง ๆ จะต้องละเอียดกว่านี้มาก) หลักการที่ว่ามาไม่ยากเลยครับ แต่ว่าจะทำนี่สิ ยากกว่าครับ เพราะว่าคุณจะต้องใช้เฟืองตัวหนอน ร่วมกับเกลียวตัวหนอน เพื่อทดเฟืองให้ได้อัตราเร็วดังกล่าว ซึ่งการกัดเฟืองตามที่ว่านี้จะต้องคำนวณครับ คำนวณคงไม่ยากเท่ารไร แต่จะทำให้ได้ตามแบบที่คำนวณอาจจะยากสำหรับในเมืองไทย เพราะว่าเครื่องกัดเฟืองที่จะได้ความละเอียดขนาดนี้ โดยมากเค้าจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กัดเฟืองครับ โดยเราจะเขียนโปรแกรมเข้าไปควบคุม เราเรียกเครื่องกลึง/กัดนี้ว่าเครื่อง CNC เมื่อคุณได้เฟืองขนาดนี้แล้ว คุณจะต้องหามอเตอร์ที่สามารถไปขับเฟืองให้ได้อัตราเร็วที่คุณคำนวณครับ แต่โดยมาก เราจะหามอเตอร์ให้ได้ก่อน แล้วค่อยคำนวณอัตราทดของเฟืองครับ มอเตอร์ที่นิยมใช้คือมอเตอร์แบบลำดับขั้นหรือ stepping motor ครับ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายครับ

ผมคิดว่าสิ่งที่เล่าให้ฟังคงจะเป็นไอเดียให้คุณชัยยุทธได้ไปคิดออกแบบนะครับ จริง ๆ แล้วผมก็อยากให้มีคนไทยได้ออกแบบสิ่งเหล่านี้ เพื่อคนไทยจะได้สามารถหาซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าของเมืองนอกครับ จะเอาใจช่วยนะครับ
สวัสดีครับ

พรชัย อมรศรีจิรทร


To: "jirapong chintanet" (chang_chintanet@hotmail.com)

สวัสดีครับ
ผมมีเรื่องจะรบกวนคุณวิมุติหน่อยครับ อาของผมซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ที่ต่างจังหวัด (สุราษฎร์ฯ) เขาจะมีการสอนนักเรียนดูดาวนอกสถานที่ ในวันที่ 2 เมษายน เขาจึงอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับ ปรากฎการณ์ในเดือนเมษายน เพื่อที่จะนำไปสอนนักเรียน ผมจึงอยากจะรบกวนว่าพอจะมีข้อมูลของท้องฟ้าในเดือนเมษาหรือ update ข้อมูลใน homepage ก่อนเดือนเมษาได้หรือเปล่าครับ หรือจะ mail มาให้ข้อมูลก็จักเป็นพระคุณยิ่งครับ ตอนนี้ก็ซื้อแผนที่ดาวไปสิบอันและ print ข้อมูลใน homepage บางส่วนไปให้แล้ว ขาดแต่ขอ้มูลของเดือนเมษาเท่านั้นเอง ขอรบกวนหน่อยน่ะครับ ขอบคุณมากครับ

จิรพงษ์ ชินธเนศ

thaiastro

สวัสดีครับ
โดยปกติ หากไม่มีเหตุขัดข้อง คุณวรเชษฐ์จะส่งเพจปรากฏการณ์รายเดือนมาถึงผมล่วงหน้าก่อนถึงเดือนนั้นเล็กน้อยครับ ดังนั้นเพจปรากฏการณ์เดือนเมษายน 2542 น่าจะนำลงโฮมเพจประมาณวันที่ 28 - 30 ครับ หวังว่าคงไม่กระชั้นชิดเกินไป ในช่วงนี้หากคุณจิรพงษ์อยากจะอ่านเสียแต่เนิ่น ๆ อาจไปดูเพจของต่างประเทศได้ครับ เช่นที่ http://www.skypub.com/sights/sights.shtml หรือ http://www2.astronomy.com/astro/ ครับ

วิมุติ วสะหลาย


From: Nipon Gasiprong (nipon@ast.man.ac.uk)

Dear Kun. Wimut,
The Thai Astonomical Society members can observe Iridium Flares in Thailand. For more information take a look at

http://www2.gsoc.dlr.de/scripts/satvis/satvis.asp?lat=53.4667&lng=-2.2332&loc=&TZ=GMT
or
http://www2.gsoc.dlr.de/scripts/satvis/iridium.asp?lat=13.8333&lng=100.4833&loc=Bangkok&TZ=UCTm7&Dur=7

Regards,
nipon

 ********************************************************
 Search Period Start: 
                    00:17, Saturday, 13 February, 1999 
  Search Period End: 
                    00:17, Saturday, 20 February, 1999 
  Observer's Location: 
                    Bangkok ( 13.8333 N, 100.4833 E)
  Local Time: 
                    Universal Coordinated Time -7 (GMT + 7:00) 


  Date    Local Intensity Elev.  Azimuth  Distance to  Inten.at  
Satellite
           Time    (Mag.)Degree  Degree   flare centre flare 
                                                       centre
                                                       (Mag.)
 15Feb 19:20:49    -2      42    174(S )  16.7 km (W)   -9       
Iridium 2
 17Feb 06:22:32    -2      58    357(N )  18.7 km (W)   -8       
Iridium 8
 18Feb 06:16:33    -8      57    359(N )   3.1 km (E)   -8       
Iridium 61
 18Feb 20:00:43    -5      30    161(S )   9.4 km (W)   -7       
Iridium 14
 18Feb 20:01:41    -1      30    162(S )  29.6 km (W)   -7       
Iridium 13
 19Feb 06:10:32    -1      55      0(N )  24.9 km (E)   -8       
Iridium 37       
 19Feb 19:55:32    -3      31    161(S )  14.8 km (E)   -7       
Iridium 53

thaiastro

Dear sir,
It was interesting. Chasing the satellites is a fascinating activity. We have overlooked this kind of observation for a long time. Though I did not observe Iridium this time, it made me re-think about this. Thank you very much sir.

Regards,
Wimut Wasalai


"SIRISAK PUTTARATKITTI" (artnarak@asiaaccess.net.th)

สวัสดีครับ
คือผมอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์ครับ คืออยากทราบว่าหากต้องการถ่ายภาพเก็บไว้ แต่เลนส์ของกล้องผมซูมได้ระยะไกลเพียงแค่ 105 เอง จะเห็นชัดเจนหรือไม่ครับ แล้วผมอยู่ในกรุงเทพเกือบนอกชานเมืองครับ จะต้องหันหน้ากล้องไปทิศไหนถึงจะดูได้อย่างดีชัดเจนครับ แล้วจะสังเกตยังไงตอนที่บังครับ ต้องสังเกตแบบไหนครับถึงจะรู้ว่ากำลังบังอยู่ครับ แล้วเขตบางนานี่เวลาไหนถึงจะชัดเจนและดีที่สุดครับ ทั้งหมดนี้ช่วยกรุณาตอบกลับมาด้วยนะครับ เพราะว่าอยากทราบรายละเอียดนี้เป็นอย่างมากครับ ช่วยหน่อยนะครับที่ artnarak@asiaaccess.net.th ครับช่วยเมลมาบอกด้วยนะครับ แล้วสุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับขอบคุณครับ

thaiastro

ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงครับ ที่ผมมาเปิดจดหมายเอาหลังจากที่ปรากฏการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะตอบคำถามของคุณ artnarak เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตปรากฏการณ์การบังดาวของดวงจันทร์ในครั้งต่อ ๆ ไป

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวหัวใจสิงห์นั้น เป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ง่ายและสามารถมองด้วยตาเปล่า เพราะทั้งดวงจันทร์และดาวหัวใจสิงห์ก็มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในภาวะปกติอยู่แล้ว ความน่าตื่นเต้นของการบังกันจะอยู่ในช่วงที่กำลังบัง เพราะดาวหัวใจสิงห์จะหายวับไปในส่วนมืดของดวงจันทร์อย่างทันที

เลนส์ 105 มม. สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ได้ครับ แต่อาจจะต้องเปิดหน้ากล้องนานหลายวินาทีถ้าต้องการให้ถ่ายติดดาวหัวใจสิงห์ด้วย อย่าลืมว่าดวงจันทร์สว่างกว่าดาวหัวใจสิงห์มาก ถ้าเราถ่ายให้ติดดาวหัวใจสิงห์ หากเลนส์คุณภาพไม่ดีพอ ภาพของดวงจันทร์จะสว่างมากจนขาวโพลนไปหมด แสงดวงจันทร์จะทำให้เกิดการฟุ้งจนกลบจุดดาวหัวใจสิงห์ไปจนหมด โดยทั่วไปการถ่ายภาพการบังดาวเช่นนี้ เขานิยมถ่ายด้วยกำลังขยายสูงมาก ๆ เพื่อให้เห็นรายละเอียดของผิวดวงจันทร์บ้าง หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้เลนส์มุมกว้างไปเลยเพื่อให้ติดภาพฉากหน้า หากใช้เลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ธรรมดาอาจไม่ค่อยเหมาะนัก เพราะไม่เห็นทั้งฉากหน้าและรายละเอียดระยะใกล้

แน่นอนครับ ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ เราก็ต้องมองไปที่ดวงจันทร์ครับ หาง่ายอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเวลาการเกิดในแต่ละสถานที่นั้น คุณวรเชษฐ์จะให้รายละเอียดในเรื่องนี้อย่างชัดเจนอยู่แล้วครับในหน้า "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" (https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html)

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวนั้น เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ และอาจเกิดปีละหลายครั้ง ดังนั้นคุณ artnarak ยังมีโอกาสสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทำนองนี้อีกหลายครั้ง ทางสมาคมฯ จะแจ้งให้ทราบและให้รายละเอียดล่วงหน้าทางโฮมเพจของสมาคมฯ ครับ

วิมุติ วสะหลาย