"Montree Jamkrajang" [montree@pesik.com]
ผมมีคำถามอยากจะรบกวนด้วย คือ ลูกสาวผมมาถามผมว่า "เราจะรู้ได้อย่างไรว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์จริง"
คือ เขาอยากที่จะพิสูจน์ด้วยตัวเองครับ ช่วยบอกวิธีให้ผมด้วยนะครับ
thaiastro
โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ หรือดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกนั้น จะว่าไปแล้วสองประโยคนี้ถูกทั้งคู่ครับ ที่ว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกถูก ก็เพราะถ้าเรายืนอยู่บนโลก เอาโลกเป็นจุดอ้างอิง เราก็เห็นดวงอาทิตย์มันหมุนรอบโลกจริง ๆ ใช่ไหมครับ ที่ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ก็ถูกอีก เพราะถ้าเอาดวงอาทิตย์เป็นจุดอ้างอิง ก็จะเห็นโลกหมุนไปรอบ ๆ เช่นกัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าคำพูดใดผิด
แล้วทำไมเราจึงรู้สึกกันว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ถูก และดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกผิด ลองพิจารณาคำถามอีกสึกนิด จะเห็นว่าคำถามนี้มีคำถามแฝงมาด้วยว่า "จะเอาดวงอาทิตย์เป็นจุดอ้างอิง หรือจะเอาโลกเป็นจุดอ้างอิง?" หรือขยายความอีกหน่อยก็จะเป็น "ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ หรือโลกเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ?" เห็นแล้วใช่ใหมครับ ตรงนี้นี่เองที่มีความแตกต่างถึงขั้นว่าคำพูดหนึ่งผิดและคำพูดหนึ่งถูก นั่นคือ "ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ใช่โลก" ตามที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ดังนั้น ก่อนจะอธิบายต่อไป ก็ต้องมาแปลงโจทย์เดิมหน่อยนะครับเป็น "เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจริง?" ก็ต้องมาพิสูจน์กัน
เราถือว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ก็เพราะว่า วัตถุทั้งหลายในระบบสุริยะ ล้วนแต่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์ทั้งเก้าดวง ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง รวมถึงฝุ่นต่าง ๆ ในอวกาศ นี่คือเหตุผลสำคัญที่สุด
ทีนี้เขาทราบได้อย่างไรว่าดาวเคราะห์ต่าง ๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์? มาพิสูจน์กันเลยครับ
การเคลื่อนที่และการเปลี่ยนรูปร่างของดาวพุธและดาวศุกร์ เป็นหลักฐานที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง เราทราบว่ามันเป็นสมาชิกในระบบสุริยะ เพราะเห็นว่ามีการเคลื่อนที่เร็ว และอยู่ใกล้ เคยเห็นดาวศุกร์หรือดาวพุธหรือเปล่าครับ เราจะเห็นดาวศุกร์และดาวพุธเฉพาะตอนเช้ามืดหรือตอนหัวค่ำเท่านั้น มันไม่เคยมาอยู่แถว ๆ ใกล้เหนือหัวเลย ถ้าสังเกตติดตามอย่างต่อเนื่องทุก ๆ วัน จะเห็นว่า มันจะปรากฏที่ฝั่งตะวันตกตอนหัวค่ำเป็นช่วงเวลาหนึ่ง (เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) จะค่อย ๆ ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ๆ จนสูงถึงแค่ระดับหนึ่งแล้วก็คล้อยตกลงไป หลังจากนั้นอีกสักไม่กี่สัปดาห์ ก็จะไปโผล่ทางตะวันออกแทนแต่โผล่ตอนเช้ามืด เช่นเดียวกัน ไต่ระดับสูงขึ้นทุก ๆ วันแล้วก็คล้อยตกลงไป แล้วก็กลับมาทางตะวันตกช่วงหัวค่ำอีก สลับกันอย่างนี้เรื่อยไป ทั้งดาวพุธและดาวศุกร์
นี่แสดงว่าดาวศุกร์และดาวพุธจะไม่เคยอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์เลย ซ้ายทีขวาที โคจรรอบหรือเปล่า หรือว่าแค่วิ่งส่ายไปส่ายมาอยู่ข้างหน้าเฉย ๆ ตอนนี้ยังไม่รู้ครับ ต้องดูต่อ
คราวนี้ต้องใช้กล้องแล้ว ใช้กล้องสองตาก็ได้ครับ หรือถ้าได้กล้องโทรทรรศน์ก็ดี ส่องดูดาวศุกร์ สังเกตรูปร่าง ของมัน จะเห็นว่ามันไม่ได้เป็นดวงกลมป๊อกเสียทีเดียว แต่จะเว้า ๆ แหว่ง ๆ เหมือนพระจันทร์ แถมถ้าติดตามดูทุกวันทุกสัปดาห์ จะเห็นว่ารูปร่างและขนาดมีการเปลี่ยนแปลงไปเสียอีก คือถ้าช่วงที่ดาวศุกร์ปรากฏในช่วงหัวค่ำ ช่วงแรก ๆ ที่เพิ่งไต่ระดับขึ้นมา มันจะมีขนาดเล็ก และค่อนข้างกลม ดูต่อไปเรื่อย ๆ ทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ จะเห็นว่ารูปร่างจะค่อย ๆ แหว่งขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันเหมือนพระจันทร์ข้างแรม ในขณะเดียวกันขนาดก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
พอถึงช่วงที่ดาวศุกร์ไปปรากฏในช่วงเช้ามืดทิศตะวันออก ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเหมือนกัน แต่ลำดับการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดาวศุกร์จะตรงข้ามกัน คือจะเริ่มจากการแหว่งเป็นเสี้ยวบางและดวงใหญ่ในช่วงแรก และจะค่อย ๆ กลมขึ้นพร้อมกับลดขนาดลงไป
นี่เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงชัดว่า ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ได้โคจรรอบโลก และหากสังเกตกับดาวดาวพุธก็จะให้ผลทำนองเดียวกัน แต่จะสังเกตยากเพราะดวงเล็กกว่ามาก
ทีนี้ลองมาดูดาวเคราะห์ที่เหลือกันบ้าง ดูตาเปล่านี่แหละครับ หากเราสังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวเคราะห์เช่น ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ มันจะเปลี่ยนตำแหน่งไปอย่างช้า ๆ จากซีกตะวันออกไปซีกตะวันตก ทุก ๆ วัน แต่การเคลื่อนที่จะไม่ได้วิ่งเป็นแนวเฉย ๆ ครับ ในช่วงที่ดาวเคราะห์ อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์จะมีการเคลื่อนที่กลับถอยหลังช่วงหนึ่ง และในช่วงเคลื่อนที่ถอยหลังนี้ก็จะสว่างกว่า และใหญ่กว่า ช่วงอื่น ๆ ด้วย หลังจากนั้นก็จะกลับไปเดินหน้าต่อ เป็นอย่างนี้ทุก ๆ ปี ช่วงนี้ดาวอังคารกำลังพิสูจน์ให้ดูอยู่พอดีเลยครับ ดาวอังคารจะเริ่มเคลื่อนที่ถอยหลังในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ช่วงเคลื่อนที่ถอยหลังจะเคลื่อนที่เร็วมาก ทำให้สังเกตได้ชัดเจนและสนุกสนาน โอกาสเหมาะมากครับ
สาเหตุของการเคลื่อนที่ถอยหลังของดาวอังคารนี้ ทำให้เราตั้งสมมติฐานได้ว่า เพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และดาวอังคารก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยวงที่ใหญ่กว่าและช้ากว่า ตรงนี้อธิบายยากสักหน่อย ดูรูปประกอบดีกว่าครับ เส้นสีขาวยึกยือข้างบนคือเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวอังคารที่เราจะเห็นจริง ๆ บนท้องฟ้าตลอดเวลาหลายเดือนของการสังเกตการณ์ ส่วนข้างล่างคือแบบจำลองที่แสดงการโคจรของโลกที่เราสร้างขึ้นมาโดยการตีความการเคลื่อนที่ของดาวอังคารดังกล่าว
เมื่อทดลองในลักษณะเดียวกันกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ คือ ดาวพฤหัสบดี และดาดวเสาร์ ก็จะให้ผลในทำนองเดียวกัน แต่จะเคลื่อนที่ช้ากว่าดาวอังคาร
ถึงตอนนี้เราจึงสามารถสร้างแบบจำลองของระบบสุริยะได้ว่า ระบบสุริยะมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งโลก โคจรไปรอบ ๆ ในทิศทางเดียวกัน มีดาวพุธและดาวศุกร์โคจรอยู่ในวงโคจรของโลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ โคจรบอยู่รอบนอก ซึ่งแบบจำลองนี้สามารถอธิบายผลการทดลองต่าง ๆ ข้างต้นได้ทั้งหมด ในขณะที่แบบจำลองที่มีโลกเป็นศูนย์กลางไม่สามารถอธิบายได้ เราจึงสรุปได้ว่า ดวงอาทิตย์ เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ไม่ใช่โลก
หวังว่าลูกสาวคุณมนตรีคงจะเข้าใจนะครับ ถ้าตรงไหนไม่กระจ่างก็เขียนมาถามใหม่ได้ครับ ผมเขียนตอบคำถามนี้ด้วยความสนุกและมีความสุขพอสมควรจึงยาวเป็นพิเศษ ถึงขั้นทำรูปประกอบซึ่งไม่เคยทำมากก่อน ใจหนึ่งก็ชื่นชมในความช่างถามของลูกสาวคุณมนตรีด้วย อยากให้หลานผมรู้จักถามอะไรอย่างนี้บ้างจริง ๆ ครับ วัน ๆ มันเล่นแต่เกมกับดูการ์ตูน เป็นไปได้ว่าอาจจะนำเรื่องนี้ไปขยายความต่อเป็นบทความสั้น ๆ ก็ได้ครับ
วารสารทางช้างเผือกฉบับ พฤษภาคม 2543 มีบทความสั้น ๆ เรื่อง "นักปฏิวัติดาราศาสตร์" ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางความคิดของ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส ที่เป็นคนแรกที่อาจหาญกล่าวว่า ดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ น่าสนใจเหมือนกันครับ
วิมุติ วสะหลาย
"อิทธิพล พรชื่น" [jpop@thaimail.com]
ผมอยากให้ทางสมาคมมีหนังสือเกี่ยวกับการทำกล้องดูดาวมาจำหน่าย
ผมเห็นในเว็บที่อเมริกาเขามีหนังสือเกี่ยวกับการทำกล้องดูดาว
แล้วที่ประเทศเขาก็มีร้านจำหน่ายอุปกรณ์ในการทำกล้องทุกชนิดเลย
ถ้าประเทศเราสามรถทำได้แบบนั้นผมว่าต้องมีคนจำนวนมากที่สนใจเพราะผมก็สนใจเกี่ยวกับการทำกล้องดูดาวมาก
thaiastro
สมาคมได้ริเริ่มโครงการจัดทำหนังสือมาเมื่อปีกว่าที่ผ่านมา คิดว่าหนังสือที่คุณต้องการอาจจะได้ออกมาให้ยลโฉมในเร็ว ๆ นี้ คาดว่าอาจจะอีกนานพอสมควรเพราะตอนนี้สมาคมทุ่มเทให้กับพจนานุกรมดาราศาสตร์อยู่ แต่ผมคิดว่าอาจจะมาในรูปของบทความในวารสาร "ทางช้างเผือก" มากกว่าครับ หวังว่าคงไม่นานเกินรอ ขอบคุณที่แนะนำครับ
วิมุติ วสะหลาย
"Kiatkajorn Chaisangsookkul" [centroid@thaimail.com]
ผมได้เห็นมีประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ
หอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่สุดในประเทศไทยที่เชียงใหม่
จึงอยากเรียนถามว่าจะหาข้อมูลเกี่ยวกับหอดูดาวนี้ได้ในเว็บที่ไหนบ้างครับ
เพราะอยากไปเยี่ยมชม (ไม่ทราบว่าเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้าไปศึกษา
หรือปล่าวครับ)
ขอขอบคุณมาล่วงหน้าด้วยครับ
thaiastro
ทาง ม.เชียงใหม่แจ้งมาว่า เว็บเพจของหอดูดาวสิรินธรยังอยู่ระหว่างการจัดทำ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์นักครับ แต่ก็มีข้อมูลให้ค้นคว้าพอสมควรแล้ว อยู่ที่ www.science.cmu.ac.th ครับ
วิมุติ วสะหลาย
ngc2001@space.com
สวัสดีครับ
ผมทำเว็บไซต์ชื่อ thaiufo.com
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อ
และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการค้นหา
สิ่งมีชีวิตต่างดาว และการพบเห็นวัตถุ
แปลกปลอมที่พิสูจน์ไม่ได้
นอกจากนั้น ยังพยายามเผยแพร่ความรู้
เกี่ยวกับดาราศาสตร์กับผู้ที่เข้ามาที่ thaiufo.com ด้วย
ในการนี้จึงรบกวนขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วน
ใน thaiastro.nectec.or.th
ที่เกี่ยวกับการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ทางดารารศาสตร์
ข่าวดาราศาสตร์
หรือเรื่องอาจจะเกี่ยวเนื่องกับ
การค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว มาเผยแพร่บน thaiufo.com
และจะ linkมาที่ thaiastro.nectec.or.th/index.html
ทุกข้อมูลที่นำมาเผยแพร่
เพื่อเป็นประโยชน์ ความรู้และแหล่งข้อมูลกับคนไทยทุก ๆ คน
จึงเรียนมาเพื่อขออนุญาต
กรุณาตอบให้ทราบด้วยนะครับ
จะเป็นพระคุณยิ่ง
จรินทร์ ต่ายคำ
webmaster@thaiufo.com
http://www.thaiufo.com
ขอขอบพระคุณอย่างสูง
thaiastro
ผมได้เข้าไปดูที่ thaiufo.com แล้ว ทำได้ดีน่าสนใจครับ
ถึงแม้ว่าเรื่อง ufo จะไม่ค่อยเกี่ยวกับดาราศาสตร์มากนัก แต่สมาคมฯ ยินดีที่ทาง thaiufo.com จะนำข้อมูลด้านดาราศาสตร์จากสมาคมฯ ไปเผยแพร่ในเว็บครับ
วิมุติ วสะหลาย
chantra.h@shs.co.th
หวัดดีค่ะ..คุณวิษณุ
คือจะรบกวนถามว่า หนังสือ A Walk through the Heavens
(Second edition) ที่คุณวิษณุแนะนำในหนังสือทางช้างเผือก
ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2544
มีแบบที่แปลเป็นภาษาไทยไหมคะ..แล้วถ้าไม่มีแปลไว้
คุณวิษณุพอจะมีหนังสือเล่มไหน(ที่เป็นภาษาไทย)
ที่มีเนื้อหาเหมือนกันแนะนำได้ไหมคะ..รบกวนบอกชื่อหนังสือ ราคา
ร้าน ด้วยค่ะ...
ขอบคุณมากค่ะ...
หนิงค่ะ..(รหัสสมาชิก 203997)
thaiastro
สวัสดีครับคุณหนิง
A Walk through the Heavens ไม่มีฉบับแปลครับ
ที่จริงภาษาของเขาก็อ่านไม่ยากนักนะครับ และถึงอ่านได้ไม่หมด
ภาพประกอบที่ลากเส้นให้ดูนั้นก็เข้าใจได้ง่ายอยู่แล้วครับ
ข้อที่อาจจะขัดข้องคือราคาแพงและหายาก
หนังสือ การดูดาวขั้นต้น ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร
เพิ่งพิมพ์ใหม่ปีที่แล้ว หาซื้อได้ง่าย และมีคำแนะนำ
การดูดาวในแนวเดียวกับ A Walk through the Heavens
ถึงจะไม่มาก เท่าแต่ว่ามีข้อมูลความรู้อื่นอีกมาก ลองหาดูสิครับ
- A Walk through the Heavens ราคา 497 บาท
เคยซื้อที่ร้าน Kinokuniya ใน Emporium
- การดูดาวขั้นต้น ราคา 245 บาท มีขายทั่วไป
ที่ร้าน SE-ED สาขาใหญ่ๆ น่าจะมีทุกแห่ง
วิษณุ
"dgd gdsg" [thaiufo@hotmail.com]
เนื่องจากผมพบ การ post ข้อความถามในจดหมายถึงสมาคม เดือน มิถุนายน 42 ที่ถามคุณวิมุต (ผม copy มาให้ดูข้างล่างครับ)
มันผิดปกติครับ คือ ผู้ post เป็น ชื่อและนามสกุลผม คือ jarin thaikham แต่นามสกุลผมไม่เคยใช้ตัว i ครับตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
และที่สำคัญ e-mail ที่ผมใช้คือ thaiufo@hotmail.com ผมเพิ่ง regist และใช้ที่ hotmail.com เมื่อเมษายน 2544 นี่เอง
และผมไม่เคยถามคำถามนี้เลย ผมจำได้แน่นอน เพราะครั้งแรกที่ผม mailมาที่สมาคมคือครั้งที่ผมขออนุเคราะห์ข้อมูล
มาถึงคุณวิมุต (ผมเป็น webmaster ของ thaiufo.com) ซึ่งคุณวิมุตก็ตอบตกลงมาแล้วด้วย
ผมงงหมดแล้วครับ อยากจะรบกวนคุณวิมุต หรือ webmaster หรือ programmer ใน web ก็ได้ครับ
ช่วยหาวันและเวลาหรือ IP ให้หน่อยเถอะครับว่ามันเป็นไปได้ยังไง
นี่ผมกะว่าจะ mail ไปทาง hotmail ด้วยว่า e-mail อันนี้มันเป็นมายังไง
ผมอยากรู้จริง ๆ ครับ
ขอบคุณมากครับ
Jarin Thaykham
thaiufo@hotmail.com
---------------------------+++++++++++++++++++++++++++
ข้อความในจดหมายถึงสมาคม เมื่อ มิถุนายน 2542 ผม copy มาให้ดู มีดังนี้ครับ
....
jarin thaikham (thaiufo@hotmail.com)
อยากทราบ WEB SITE ต่างประเทศที่เสนอข่าวดาราศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่สุด ขอบคุณครับ
thaiufo@hotmail.com
ถ้าเป็นข่าวดาราศาสตร์ ก็น่าจะเป็น NASA Science News (http://science.nasa.gov/) ครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเว็บอื่น ๆ ไม่น่าเชื่อถือนะครับ
ส่วนใหญ่ที่เป็นเว็บของนาซาหรือเว็บของมหาวิทยาลัยก็ถือว่าน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานอยู่แล้วครับ ข่าวดาราศาสตร์ที่อยู่ในโฮมเพจของสมาคมดาราศาสตร์ได้
มักจะแปลมาจาก www.spaceviews.com เป็นข่าวที่คัดมาจากหลายแหล่ง และเรียบเรียงมาไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป
วิมุติ วสะหลาย
--------------------
thaiastro
เรียน คุณ Jarin Thaykham
ปกติเมลที่ได้รับมาผมจะเก็บไว้ทุกฉบับ จึงไปตรวจสอบดู แล้วพบว่า จดหมายฉบับดังกล่าวมีส่วนหัวดังนี้ครับ
From: jarin thaikham <thaiufo@hotmail.com>
To: wimut@hotmail.com
Subject: ufo
Date: Fri, 04 Jun 1999 12:55:03 +0700
แต่ผมไม่ได้เก็บรายละเอียดส่วนอื่นไว้ จึงไม่ทราบจะตรวจสอบต่อไปอย่างไร ปกติชื่อ e-mail ถ้าคนขอจาก hotmail แล้วไม่ได้เข้าไปอ่านติดกันเป็นเวลาเกิน
6 เดือน เขาจะตัดไปเลย หากมีใครไปขอชื่อนี้อีกก็จะได้ไป ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า คุณ jarin thaikham ได้เคยใช้อีเมลนี้จริง แต่เลิกใช้ไปจึงถูกตัด
แล้วต่อมาคุณไปลงทะเบียนกับ hotmail เมื่อต้นปีนี้จึงได้มา ซึ่งเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม
ชื่อจริงและนามสกุลจริงที่คล้ายกันมากก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่ก็จนปัญญาจะตรวจสอบให้ได้ครับ
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดของคุณเคยขอแอดเดรสนี้ให้คุณมาก่อน อาจจะด้วยความปรารถนาดีหรือไม่ดีก็ตาม
แต่คุณไม่ได้ไปใช้แล้วเขาก็ยืมไปใช้โดยไม่ได้บอกคุณ ผมเคยได้ยินกรณีนี้มาเหมือนกันครบ
วิมุติ วสะหลาย
pitchayanin intasotti [mailto:pitchayanin@chaiyo.com]
สวัสดีค่ะ
หนูเป็นคนหนึ่งที่ชอบเรื่องดาราศาสตร์มาก และก็ชอบติดตามเรื่องยานอวกาศหรือที่เรียกว่า U.F.O
อีกด้วย แต่ก็มีข้อข้องใจอยู่ คือจากที่หนูได้อ่านหนังสือพวกนี้ ได้มีผู้ที่พบเห็น U.F.O
และถ่ายภาพได้ด้วย จึงอยากทราบว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าจะมีมนุษย์ต่างดาวจริงๆ
เพียงแต่พวกเขาอยู่ห่างไกลกับโลกของเรามาก ยังไงก็ช่วยตอบกลับด้วย ถ้าไม่ทราบก้ไม่เป็นอะไรค่ะ
เพราะหนูเชื่อว่าถ้าวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปอีก
อาจรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่มาจากนอกโลกนั้นอีกก็ได้
ขอขอบคุณอย่างสูง
(แล้ววันหลังจะหาสิ่งที่ไม่เขาใจไปให้ตอบอีกนะคะ)
thaiastro
คำถามที่ว่า UFO มีจริงหรือไม่
ส่วนตัวผม ผมเชื่อว่ามี แต่ว่ายังไม่ได้เห็นกันจริงๆ เท่านั้น หรือบางครั้งอาจมีผู้พบเห็นจริง
แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้นเอง
การพบเห็นที่มีบันทึก อาจจะเป็นการกุเรื่องขึ้นมาเองเพื่อเป็นข่าว ลองสังเกตดังนี้
- มีชาติที่พบเห็นน้อยมาก เพียงไม่กี่เมืองในโลก
- มนุษย์ต่างดาวไม่เปิดเผยตัวในชุมชนใหญ่
- การพบเห็นมีเพียงครั้งละ 1 - 2 คนเท่านั้น
- ผู้มีอารยธรรมคงไม่มาแบบผลุบๆ โผล่ๆ
- ยาน UFO มีรูปทรงหลายแบบมาก ซึ่งน่าจะมีเพียงแบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
จากแหล่งอารยธรรมเดียว ถ้ามีหลายแบบอาจจะมาจากหลายแหล่ง ... เป็นไปได้หรือ ที่จะมาพร้อมกัน
วิทยา ศรีชัย
"janthima jedsadajitpattana" [sierra_224@hotmail.com]
อยากจะเรียนถามว่า
"ดาวเคราะห์ กับ ดาวพระเคราะห์ แตกต่างกันอย่างไร"
รบกวนช่วยตอบให้ด้วยนะคะ
ขอบคุณมากค่ะ
thaiastro
เหมือนกันทุกประการครับ ในปัจจุบันทางดาราศาสตร์ใช้คำว่า "ดาวเคราะห์" เพียงอย่างเดียว ส่วนคำว่า "ดาวพระเคราะห์" เป็นคำเก่ากว่า และค่อนข้างมีความหมายไปในเชิงอิทธิพลต่อจิตใจ ความเคารพยำเกรงที่คนมีต่อดวงดาว และคาดว่ามีความหมายในทางโหรด้วย อย่างไรก็ตาม ในความคิดของผม ถ้าจะใช้คำว่า "ดาวพระเคราะห์" ในทางดาราศาสตร์ก็ไม่ผิดอะไร
วิมุติ วสะหลาย
"dgd gdsg" [thaiufo@hotmail.com]
ขอบคุณมากครับคุณวิมุต
อาจเป็นไปได้อย่างที่คุณวิมุตบอกมา แต่ผมก็มั่นใจว่า ผมไม่เคยขอชื่อนี้มาก่อน เพราะคำว่า
thaiufo ผมคิดขึ้นมาได้เมื่อ มิย. 43 มั่นใจมากครับ
แต่ไม่เป็นไรครับ แล้วก็แล้วไป ผมกลัวอย่างเดียวว่า มันจะเสียหายต่อตัวผมและทางสมาคมถ้า post อะไรไม่ดีออกไป
ขอบคุณมากนะครับ และขอบคุณสมาคมด้วยที่ถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์กับคนไทยด้วยภาษาไทย
ขณะนี้มีที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นแหละครับที่ข้อมูลครบครันเกือบทุกอย่าง ขอให้ update บ่อย ๆ ก็แล้วกันครับ
แล้วแวะมาเยี่ยมที่ thaiufo.com บ้างนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ
jarin thaykham
Thanoo2000@aol.com
หนึ่ง ปี แสง ใกล เท่า ไหร่ ครับ
thaiastro
1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางในเวลา 1 ปี หรือประมาณ 9,500 ล้านล้านกิโลเมตรครับ
วิมุติ วสะหลาย
วิชัย ชลสายพันธ์ [mailto:naiwichai@se-ed.net]
เรียนบรรณาธิการ วารสารทางช้างเผือก
ผมเป็นสมาชิกใหม่ได้ ๓ เดือนด้วยเหตุที่มีความสนใจเรื่องดวงดาว
โดยเฉพาะต้องการจะฝึกดูดาวบนท้องฟ้าจึงมีข้อเสนอแนะอยากให้ปรับปรุงเพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษาและหัดดูดาวด้วยตนเอง
ในสารของสมาคมฯจะมีเรื่อง "ปรากฏการณ์ท้องฟ้าประจำเดือน" ผมเห็นว่ามีประโยชน์อย่างมากและน่าสนใจอย่างยิ่ง
เพียงแต่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ประจำเดือนเดียวกับของวารสาร ซึ่งกว่าสมาชิกจะได้รับวารสารก็ล่วงไปปลายเดือนแล้ว
จึงไม่มีโอกาสได้ฝึกดูดาวตามที่นำเสนอในแผนที่ท้องฟ้าได้ตลอดทั้งเดือน เป็นเรื่องน่าเสียดายจริงๆ
หากไม่ขัดข้องอย่างไรผมใคร่ขอให้กองบรรณาธิการพิจารณาให้เสนอปรากฏการณ์ท้องฟ้าล่วงหน้าหนึ่งเดือน จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ด้วยความนับถือ
วิชัย ชลสายพันธ์
thaiastro
เรียนคุณวิชัยครับ
เนื่องจากผมเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของคอลัมน์ปรากฏการณ์ท้องฟ้า จึงขอเรียนชี้แจงว่าทางสมาคมฯ
มีความเห็นตรงกันกับข้อเสนอของคุณวิชัยครับ
ดังนั้นวารสารทางช้างเผือกในฉบับเดือนมิถุนายนจึงควบปรากฏการณ์ของเดือนกรกฎาคมลงไปด้วย
เพื่อให้หน้าปรากฏการณ์ท้องฟ้าสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะครับ หากว่าคุณวิชัยมีข้อเสนอแนะอื่นๆ
ที่เป็นประโยชน์ ผมและทีมงานยินดีรับฟังเสมอครับ
ด้วยความนับถือ
วรเชษฐ์ บุญปลอด
honark@hotmail.com
อยากทราบว่า ตะวันอ้อมข้าว คืออะไร (ใช่เกี่ยวกับพระอาทิตย์หรือไม่)
มีวิธีวงโคจรอย่างไร แผนที่การเดินทางเป็นอย่างไร
และมีผลกระทบอะไรกับมนุษย์หรือไม่ค่ะ? ขอบพระคุณทุกท่านค่ะ
thaiastro
ตามพจนานุกรม มีนิยามไว้ดังนี้ :
ตะวันอ้อมข้าว ก. ลักษณะที่ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าทาง
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ โคจรอ้อมลงสู่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใน
ฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
คืออะไร -- ทางขึ้นและตก ของดวงอาทิตย์ ที่อยู่ค่อนไปทางทิศใต้
การโคจรของตะวันอ้อมข้าว ขอให้ดูในภาพที่ส่งมาด้วย
ดวงอาทิตย์โคจรจากตะวันออกไปตะวันตกเสมอ
แต่ในฤดูร้อน จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือ
และจะไปอยู่เหนือสุดในวันกลางฤดูร้อน (ครีษมายัน - summer solstice)
ตกประมาณวันที่ 21-24 มิถุนายน ซึ่งในภาพจะเป็นเส้นแดง-เหลืองซ้ายสุด
ที่เขียนว่า แนวสำหรับฤดูร้อน
เมื่อไปเหนือสุดแล้ว หลังจากนั้นก็จะเริ่มขยับมาทางใต้
ทีละน้อย จนขึ้นทางตะวันออก และตกทางตะวันตกเป๊ะ
ในภาพคือเส้นตรงกลาง
พอเข้าฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกค่อนไปทางใต้
จนใต้สุดในราวปลายเดือนธันวาคม (เหมายัน - winter solstice)
ในภาพจะเป็นเส้นขวาสุด ที่เขียนว่า แนวสำหรับฤดูหนาว
* * * ช่วงนี้แหละ ที่เรียกว่า ตะวันอ้อมข้าว * * *
เหตุที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกแบบนี้ เป็นเหตุเดียวกับที่ทำให้เกิดฤดูกาล
นั่นคือ แกนหมุนของโลกเอียงประมาณ 23
องศาจากระนาบที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์
ฤดูหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ในตำแหน่งที่หันออกจากดวงอาทิตย์ในช่วงหนึ่ง
ของปี ประเทศไทยซึ่งอยู่ในซีกโลกเหนือมีฤตูหนาวตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน
ถึงกุมภาพันธ์ ในช่วงนี้ของปี ความเอียงของแกนหมุนของโลกจะทำให้
ซีกเหนือของโลกตีตัวออกห่างจากแสงอาทิตย์ ประเทศไทยก็เช่นกัน
ที่หันด้านเหนือของตนออกจากดวงอาทิตย์
เพราะได้แสงอาทิตย์น้อยลง อากาศจึงเย็นกลายเป็นฤดูหนาว
และเพราะหันด้านเหนือออกจากดวงอาทิตย์
ด้านใต้จึงใกล้ดวงอาทิตย์กว่า เราบนโลกซีกเหนือจึงมองเห็น
พระอาทิตย์ขึ้นและตกค่อนไปทางใต้
ผลกระทบต่อมนุษย์ ก็คือฤดูกาล คนที่อยู่ซีกโลกเหนือ เช่นชาวไทย
ถ้าเห็นตะวันอ้อมข้าว ก็แปลว่าเข้าสู่ฤดูหนาว เกี่ยวข้าวได้แล้ว
ไม่ใช่อาเพศแต่ประการใด
วิษณุ เอื้อชูเกียรติ
หมายเหตุ - ภาพประกอบมาจากบทความของ อ. อนิวรรต สุขสวัสดิ์
ที่เขียนลงในหนังสือ Advance Thailand Geographic เมื่อต้นปีนี้
RaselAstronomie@aol.com
Hello, I send greetings from germany. You have a very nice and
interesting website! Good job!
Everytime clear skies! Best regards Thomas.
www.people.freenet.de/CCD-Astrofotografie
|