จดหมายถึง thaiastro

"PoP" [ittayakorn@hotmail.com]

คงเป็นคำถามที่ง่ายที่สุดมั้งครับ แต่อยากทราบจริงๆ ว่า "การดูทิศ โดยการดูดาวมีกี่แบบ และดูอย่างไรครับ " ขอบคุณมากสำหรับคำตอบครับ

ittayakorn@hotmail.com

thaiastro

คำถามง่ายแบบนี้นี่แหละครับที่ผมกลัวที่สุด เพราะมันง่ายเฉพาะคนถาม แต่คำตอบยาว การดูทิศด้วยดาวคงจะบอกได้ลำบากว่ามีกี่แบบ โดยทั่วไปก็จะถือดาวเหนือเป็นหลัก คือถ้าหาดาวเหนือเจอก็บอกได้เลยว่านั่นคือทิศเหนือ เพราะดาวเหนือเป็นดาวที่อยู่ (เกือบ) คงที่ ๆ ทิศเหนือ
หากคุณอยู่กรุงเทพฯ หรือแถว ๆ ภาคกลาง จะเห็นดาวเหนืออยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 14 องศา ความสว่างปานกลาง ถ้าคุณพอจะรู้ทิศเหนือคร่าว ๆ อยู่แล้ว อย่างเช่นจำได้ว่าพระอาทิตย์เพิ่งตกไปทางไหน ก็จะง่ายขึ้นมากเพราะในละแวกใกล้เคียงดาวเหนือไม่มีดวงไหนที่สว่างเท่าดาวเหนือเลย
แต่ถ้าหากมองหาดาวเหนือไม่ได้ อาจจะเพราะภูเขาบัง ต้นไม้บัง เมฆบัง หรือไม่แน่ใจว่าดาวดวงไหนคือดาวเหนือ ก็ต้องใช้ดาวหรือกลุ่มดาวอื่นมาช่วยชี้แทน เช่น ดาวอัลฟา กับบีตา ของกลุ่มดาวหมีใหญ่ (ดูแผนที่ดาวประกอบด้วยครับ) ดาวซิริอัสกับดาวคาเพลลาก็ชี้ดาวเหนือเหมือนกัน ดาวสว่างต่าง ๆ ควรจะจำเอาไว้ให้ได้ มีแค่สิบกว่าดวงเท่านั้นครับ เพราะถ้าจำได้แล้วก็จะช่วยได้มาก จริง ๆ หากดูดาวชำนาญพอสมควรแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ดาวสว่างเหล่านี้ก็ได้ แค่เห็นดาวไม่กี่ดวงบนฟ้าก็บอกทิศได้แล้วครับ
ในที่นี้ผมอธิบายด้วยข้อความอย่างเดียวอาจยังนึกภาพลำบาก ลองหาซื้อหนังสือ "หลักการดูดาวขั้นต้น" ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร มาอ่านดูนะครับ จะมีภาพประกอบและคำอธิบายอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
ขออภัยครับที่เพิ่งว่างมาตอบ หวังว่าคุณคงยังไม่ลืมว่าเคยเขียนคำถามนี้มาถึงผมนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


"I.Pasakorn." [ipas@sra.cat.or.th]

สวัสดีอีกครั้งครับคุณวิมุติ
อยากให้จัดทำตารางชื่อดาว หรือกลุ่มดาวไว้ในเว็ปไซท์ของสมาคมฯ บ้างน่ะครับ (ไม่ทราบว่ามีแล้วหรือยัง แต่เท่าที่ดูแล้วยังไม่พบนะครับ) โดยมีทั้งชื่อที่เป็นทางการในทางดาราศาสตร์ คนต่างชาติเรียกว่าอะไร ภาษาไทยเรียกว่าอะไร รวมถึงภาษาที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปด้วยครับ เช่น Orion ฝรั่งเรียกกลุ่มดาวนายพราน ภาษาไทยเรียกว่ากลุ่มดาวเต่า แล้วก็มี ลิงค์ไปยังภาพของ orion โดยมีภาพร่างของนายพรานรวมอยู่ด้วย ซึ่งถ้าหากสามารถทำตารางที่ว่า นี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์มากสำหรับการจดจำ รวมถึงกลอนบทที่ผมเคยถามมาครั้งหนึ่งนามมาแล้วด้วย ว่ากลุ่มดาวในบทกลอนนั้นมีชื่อเป็นอังกฤษ และไทยอะไรบ้าง เหตุที่แนะนำก็เพราะว่าเวลาท้องฟ้าโปร่ง ๆ ผมมักจะออกมานั่งดูท้องฟ้ากับลูกชาย (กำลังจะ 5 ขวบ) แล้วชี้ให้ดูว่าคือดาวนั่นดาวนี่นะ แต่เด็กก็คือ เด็กละครับ บอกว่าดาวเต่าหรือนายพรานจะรู้จักมากกว่า orion แต่ถ้าเมื่อแกโตขึ้นไปอีกพอจะเข้าใจภาษา อังกฤษได้ก็คงจะทำให้สามารถเข้าใจได้เร็วมากขึ้นว่า อ๋อ! orion เนี่ยดาวเต่า พ่อเคยบอก ทำนองนี้ละครับ
หวังว่าคำแนะนำนี้คงได้รับการพิจารณาจากทางสมาคมฯ นะครับ ขอบคุณมากครับ

ภาสกร เอี่ยมสำอางค์

thaiastro

ในเว็บของสมาคมยังไม่มีเพจนี้เลยครับ ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณภาสกรครับ จริง ๆ แล้วเพจนี้ผมได้เริ่มทำตั้งแต่ที่ thaiastro เกิด แต่ยังไม่เอาขึ้นเว็บเพราะยังไม่เสร็จดี มันเป็นตารางชื่อกลุ่มดาวบอกข้อมูลเบื้องต้นเฉย ๆ ไม่มีภาพหรือเรื่องนิยายต่าง ๆ ครับ เรื่องนิยายดาวที่เกี่ยวกับกลุ่มดาวต่าง ๆ คุณวิษณุกำลังเขียนอยู่ แต่ยังเขียนไม่ครบ เสร็จเมื่อไหร่ก็คงจะนำลงเมื่อนั้นครับ ขอบคุณมากที่แนะนำครับ

วิมุติ วสะหลาย


"chavalit suwanpradith" [ultrablues_a@hotmail.com]

ขอรบกวนด้วยครับ ผมต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการกำเนิดของโลกครับ เพื่อใช้ทำรายงาน ถ้ายังไงขอความกรุณาด้วยนะครับ ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

thaiastro

ข้อมูลในด้านนี้เรายังไม่มีครับ และไม่ทราบว่าคุณต้องการการกำเนิดในแง่มุมไหน ในด้านดาราศาสตร์ การกำเนิดของโลก มักจะกล่าวพร้อม ๆ กับเรื่องการกำเนิดของระบบสุริยะ จริง ๆ แล้วมีหนังสืออยู่หลายด้านที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ ผมลองไปหาดูในเว็บให้ พบบ้างบางส่วน เช่น
The Origin of the Solar System http://www.seds.org/nineplanets/nineplanets/origin.html
The Age of the Earth http://www.dc.peachnet.edu/~pgore/geology/geo102/age.htm
Origin of earth and moon http://www.soest.hawaii.edu/PSRdiscoveries/Dec98/OriginEarthMoon.html
THE ORIGIN OF THE EARTH - 1 http://www.pathlights.com/ce_encyclopedia/04earth1.htm
http://homepages.ihug.co.nz/~hardy/gcon.html
http://www.rog.nmm.ac.uk/leaflets/solar_system/section3.3.html
http://www.eas.slu.edu/People/CJAmmon/HTML/Classes/IntroQuakes/Notes/earth_origin_lecture.html
Earth - Origin of Life http://image.gsfc.nasa.gov/poetry//ask/alife.html (เป็นคำถาม-คำตอบ น่าสนใจ)
อย่างไรก็ตาม ในวารสาร Earth ฉบับ กุมภาพันธ์ 2541 เป็นฉบับพิเศษเกี่ยวกับการกำเนิดโลกโดยเฉพาะ ครอบคลุมแทบทุกด้าน น่าสนใจมากทีเดียว ซึ่งผมก็ตามหาซื้อฉบับนี้มานานแล้วแต่ก็ยังไม่ได้สักที ถ้าคุณมีโอกาสก็น่าจะลองหาดู
ข้อมูลทั้งหมดที่พูดถึงนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดครับ ยังไม่เคยเห็นแหล่งข้อมูลเรื่องนี้เป็นภาษาไทยเลย
ขออภัยครับถ้าผมตอบจดหมายช้าไป

วิมุติ วสะหลาย


"Kasem Asawasirisap" [boykung@ksc.th.com]

หนูอยากได้รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงเพื่อไปประกอบรายงานคะ

ขอบคุณคะ

thaiastro

เรื่องนี้ไม่น่าจะยาวนัก ในบทความเรื่อง "เมื่อดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน" [https://thaiastro.nectec.or.th/library/grncnj.html] ของ อ.นิพนธ์ ทรายเพชร มีกล่าวถึงเรื่องนี้พอสมควร คิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอที่จะเข้าใจแล้วครับ

วิมุติ วสะหลาย


nutthiyak@yahoo.com

เรียน คุณวิมุติ วสะหลาย
ดิฉันนางสาวณัฐิญา คาโส นักศึกษาปริญญาตรี โปรแกรมวิชาฟิสิกส์ สถาบันราชภัฏสงขลาในนามของตัวแทนกลุ่มการวิจัย เรื่อง "การศึกษาผลของแรง ไทดัล ที่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะส่งมากระทำต่อโลกเทียบกับดวงอาทิตย์ ณ วันที่ 5 พฤษภา 2543" มีควาประสงค์ที่จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงไทดัล จึงใค่รขอความกรุณาจาก คุณวิมุติ วสะหลาย ในการให้ความเอื้อเฟื้อข้อมูลในครั้งนี้

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
ด้วยความเคารพ
นางสาวณัฐิญา คาโส

thaiastro

ในบทความ "เมื่อดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน" [https://thaiastro.nectec.or.th/library/grncnj.html] กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรงครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Isaraya Tungchotika" [gu_gu97@hotmail.com]

สวัสดีค่ะ คุณวิมุติ วสะหลาย
ดิฉัน นางสาวอิศรายา ตั้งโชฏิกะ เป็นนักศึกษาคณะวิทนาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เนื่อจากในหลักสูตรการเรียนการสอน มีวิชา สัมมนา ซึ่งเป็นการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องที่ตนเองสนใจและออกมาอภิปรายหน้าชั้น ซึ่ง ดิฉันนั้นได้ พบเรื่องตามล่าละอองดาว ของท่านใน อิเตอร์เน็ต และมีความสนใจเป็นอันมาก จึงตัดสินใจเลือกหัวข้อนี้เป็นหัวข้อในการสัมมนา
แต่จากการค้นคว้าแล้ว ดิฉันไม่ค่อยเข้าใจข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษมากนัก จึงใคร่ขอความกรุณา ท่านช่วยส่งรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของยาน stardust รวมไปถึงรายละเอียดของส่วนประกอบและการทำงาน และรายละเอียดของ aerogels หรือบอกแหล่งข้อมูลที่ดิฉันจะสามารถหาได้ จะเป็นคความกรุณามากค่ะ
หากข้อความในจดหมายฉบับนี้ มีที่ใดที่ทำให้ท่านไม่พอใจ หรือ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี กรุณาให้อภัยดิฉันด้วย และได้โปรด รับฟังความต้องการความช่วยเหลือของดิฉันด้วยนะคะ เพราะดิฉันกำลังอยู่ในภาวะเดือดร้อนมากค่ะ หากดิฉันไม่มีความรู้อย่างแท้จิงในเรื่องนี้ นั่นก็จะทำให้ดิฉันไม่ผ่านการสัมนา และหมายถึง ดิฉันไม่สามารถเรียนจบ ปริญาตรีภายในภาคการ เรียนนี้ได้
สุดท้ายนี้ดิฉันขอขอบคุณที่ท่านได้อ่านจดหมายของดิฉัน และโปรดให้ความช่วยเลหือแก่ดิฉันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ด้วยความเคคารพอย่างสูง
อิศรายา ตั้งโชฏิกะ

thaiastro

สวัสดีครับ
จริง ๆ แล้วบทความ "ตามล่าละอองดาว" ของคุณพวงร้อยให้ข้อมูลเบื้องต้นดีพอสมควรแล้วนะครับ เพจภาษาไทยที่เกี่ยวกับสตาร์ดัสต์ผมไม่เคยเห็นที่อื่นอีก และเพจนี้ได้ให้ลิงก์ที่ท้ายบทความสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติมเอาไว้แล้วด้วย เว็บที่น่าจะเข้าไปดูที่สุดก็เห็นจะเป็นเว็บของโครงการสตาร์ดัสต์เองที่ http://stardust.jpl.nasa.gov/ โดยเฉพาะในหัวข้อ Spacecraft ที่มีข้อมูลมากและไม่ยากจนเกินไป ไม่ทราบว่าคุณเข้ามาดูที่เว็บนี้แล้วหรือยังครับ เห็นคุณบอกว่าไม่เข้าใจในส่วนภาษาอังกฤษ ผมคงจะไม่สามารถหาข้อมูลที่อื่นมาให้ได้อีก เพราะข้อมูลต่าง ๆ นั้นก็ล้วนแต่อยู่ในเว็บทั้งสิ้น ซึ่งคุณก็สามารถเข้าถึงได้เช่นเดียวกับผม แม้แต่ในวารสารทางดาราศาสตร์ของฝรั่งที่ผมมีอยู่ก็มีข้อมูลน้อยกว่าในเว็บเสียอีก ถ้าหากคุณเข้าในเว็บเหล่านี้แล้วไม่เข้าใจส่วนใดก็เขียนมาถามได้ครับ อย่างนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด อีกคนหนึ่งที่ถามได้ก็คือที่คุณพวงร้อย เจ้าของบทความ "ตามล่าละอองดาว" นั้น ซึ่งได้ให้อีเมลไว้แล้ว คุณพวงร้อยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศตัวฉกาจทีเดียวครับ
ขอให้คุณประสบความสำเร็จในการสัมมนาครับ

วิมุติ วสะหลาย


สิริมา ผลจันทร์ [fongfun@thaimail.com]

เรียน ผู้อำนวยการสมาคมดาราศาสตร์
เรื่อง ขอข้อมูลปฎิทินดาว
อยากทราบว่าถ้าจะซื้อปฎิทินดาวชื่อ 1. the astronomical almanac 2. the apparent place of fundamental star ปี 1999 หรือ ปี 2000 จะสามารถหาซื้อหรือขอข้อมูลได้จากที่ใดบ้าง

thaiastro

สมาคมดาราศาสตร์ไทยไม่มีผู้อำนวยการครับ มีแต่นายกสมาคม ในที่นี้ผมขออนุญาตตอบแทนท่านนายกฯ ดังนี้
ที่ร้าน Kinokuniya ในห้างเอ็มโพเรียม หรือเอเชียบุ๊กส์ สุขุมวิท อาจพอหาได้ เท่าที่ทราบมีเพียงสองร้านนี้เท่านั้นที่สั่งหนังสือจำพวกนี้มาขาย หรือไม่เช่นนั้นคุณก็ต้องสั่งซื้อเอาเอง ตามเว็บที่ขายหนังสือต่างประเทศก็มีหลายแห่งครับ เช่น booksonline.com, amazon.com, bn.com เป็นต้น

วิมุติ วสะหลาย


"Piyamas Manaprasert" [pmanaprasert@hotmail.com]

กำลังเรียนเรื่องฤดูกาลค่ะ อยากทราบว่าจะค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับฤดูกาลได้ที่เว็บไหนคะ ขอบคุณค่ะ.....

"Surasak indhurabanlue" [rangnamsai@hotmail.com]

หลานสาวกำลังเรียนเกี่ยวกับฤดูกาล ผมจะหารายละเอียดได้จากที่ไหนครับ ... ขอคุณครับ ... สุรศักดิ์ รางน้ำใส

thaiastro

เรื่องฤดูกาลในเว็บของสมาคมนั้น ไม่มีเว็บที่เอ่ยถึงตรง ๆ แต่มีพาดพิงถึงหลายจุด พอที่จะใช้อ้างอิงได้พอสมควร เช่นที่หน้า
"เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับดาราศาสตร์" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/error.html) เพจ
"เมื่อดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/grncnj.html)
ที่เว็บ "FA4 ดูฟ้าดูดาว ไม่เหงาหัวใจ" (http://members.nbci.com/_XMCM/fa4/sky05.html) ก็มีเอ่ยถึงบ้างเล็กน้อย
ผมได้ลองหาในเว็บอื่น ๆ ด้วย search engine หลายครั้งแต่ไม่พบว่าที่ไหนมีเหมือนกันครับ แต่ถ้าเป็นเว็บภาษาอังกฤษก็มีมากมายเลยทีเดียว ที่พบมามีหลายแห่งน่าสนใจ เช่น http://www.usatoday.com/weather/askjack/wfaqsson.htm เป็นเว็บคำถามคำตอบเกี่ยวกับฤดูกาลและซอลสติซ น่าสนใจทีเดียว คิดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนของคุณครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Ittayakorn Ruanglek" [ittayakorn@hotmail.com]

ขอขอบคุณเป็นอย่างมากครับ ตอนที่ผมถามไปนั้นเพิ่งสนใจดูดาวแต่ตอนนี้พอมีความรู้ขึ้นมาบ้าง โดยผมอาศัยโปรแกรม Skymap ครับ ลอง Download มาใช้ดูสิครับดีมากเลย ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าที่ www.skymap.com ครับ ขอบคุณอีกครั้งสำหรับคำตอบครับ

ร.อ.อิทธยากร เรืองเล็ก

thaiastro

คราวนี้ตอบเร็วครับ ผมใช้ skymap อยู่เนือง ๆ ครับ เป็นโปรแกรมแผนที่ดาวที่ดีมากอันหนึ่งทีเดียว จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่โปรแกรมสำหรับผู้เริ่มต้นดูดาว แต่การที่คุณเริ่มต้นศึกษาการดูดาวจากโปรแกรมนี้ได้ นับว่า "ฝีมือ" มากครับ

วิมุติ วสะหลาย


k.klippel@unsw.edu.au

I will be visiting Thailand during September and am interested in checking out the stars
Do you know of a web site where I can get good star maps for Thailand ?

Ken Klippel

thaiastro

Dear Mr. Klippel,
Usually, September is not a nice month for skywatching in Thailand because this is the period of monsoon season. There are only a few days and places when/where the sky is good. If you want to know what will the night sky look like as seen here. I would like to invite you to visit a satellite-sighting prediction web site at http://www.heavens-above.com/ There, you can set a place anywhere on earth and you will find one option to display sky chart and other options may serve for your interest.

Worachate Boonplod


(ไม่เปิดเผยชื่อ)

สวัสดีครับ
ผมมีข้อสงสัยอย่างหนึ่งครับว่า วงแหวนของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรานี้ มีเพียงดาวเสาร์หรึอครับ เนื่องจากว่าผมเคยอ่านพบในหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่ง นานมาแล้ว ว่ามีดาวเคราะห์ดวงอื่นอีกที่มี แต่อาจจะ มีขนาดเล็กมาก กว่าดาวเสาร์ เท่าที่พอจำได้น่าจะเป็น ดาวอังคาร หรือดาวพฤหัส ดวงใดดวงหนื่งครับ ใช่หรือไม่ครับ ถ้าใช่ พอจะหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อการอ้างอิง ได้ไหมครับ

ขอบคุณครับ

thaiastro

สวัสดีครับ
ไม่ใช่ครับ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเรามีถึง 4 ดวงที่มีวงแหวน คือ เสาร์ พฤหัสบดี ยูเรนัส และเนปจูนครับ และเป็นความจริงครับที่วงแหวนของดาวเสาร์ใหญ่กว่าวงแหวนของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ข้อมูลด้านนี้พบได้ทั่วไปครับ ที่หน้า "ข้อมูลดาวเคราะห์" [https://thaiastro.nectec.or.th/library/planets.html] ก็มีเรื่องนี้ หรือจะไปดูที่ The Nine Planets [http://www.seds.org/billa/tnp/] ก็ได้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Thawatchai" [tw113@yahoo.com]

ผมได้ซื้อกล้องชุดคิทของสมาคมมา ได้พยายามมองดาวเคราะห์ ในช่วงเดือน พย. 43 ( 9-14 พย.) ดูดาวพฤหัส ผมพยายามสังเกตดูดวงจันทร์ของดาวพฤหัส ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ มันเคลื่อนที่เร็วมาก ดวงจันทร์ที่สามารถมองเห็นได้เคลื่อนที่หรือไม่ และจะอยู่ตรงไหน ชื่ออะไรบ้าง
ดาวเสาร์ ผมยังมองไม่เห็นวงแหวนเลย มองเห็นเป็นรูปกลม ๆ เท่านั้น ไม่ทราบว่าเกิดความผิดพลาด หรืออย่างไร
อนึ่ง ในปรากฏการณ์ท้องฟ้า ประจำเดือน ถ้าหากเป็นไปได้ช่วยกรุณาบอกด้วยว่า จะมองเห็นดวงจันทร์บริวารดาวพฤหัส ดาวเสาร์ และที่เห็นได้ชื่ออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าหากมีภาพประกอบด้วย จะเป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้ที่สนใจ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ธวัชชัย

thaiastro

น่าจะใช่ครับ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเคลื่อนที่เร็วมาก โดยเฉพาะดวงจันทร์ไอโอ ถ้าคุณสังเกตในภายในเวลาสองสามชั่วโมง ก็สามารถตรวจจับการเปลี่ยนตำแหน่งได้แล้วครับ ส่วนดวงไหนชื่ออะไรนั้น ต้องดูแผนที่ครับ ตอนนี้ในเว็บของสมาคมและวารสารทางช้างเผือกยังไม่ได้บอกไว้ ผมจะไปพิจารณาอีกทีว่าจะนำลงแสดงไว้ในวารสารหรือเว็บหรือไม่ ขอบคุณที่แนะนำครับ
วงแหวนดาวเสาร์ไม่ใช่จะมองเห็นได้ง่าย ๆ ด้วยกล้องสองตา กล้องสองตาจะต้องคุณภาพดีพอสมควร กำลังขยายควรจะเป็น 10 เท่าขึ้นไป และการจับกล้องก็ต้องนิ่งด้วย วงแหวนที่เห็นจะใกล้กับตัวดาวเสาร์มาก บางครั้งอาจแยกไม่ออกว่าเป็นวงแหวน แต่พอสังเกตได้ว่าดาวเสาร์เป็นวงรีเหมือนลูกรักบี้ จริง ๆ แล้วส่วนรี ๆ นั่นก็คือวงแหวนของมันนั่นเอง

วิมุติ วสะหลาย