คุณากร ขัติศรี [koonwang@chaiyo.com]
ไอโอ คืออะไรครับอ่านแล้วงง คือผมสนใจเรื่องบนท้องฟ้า แต่มีประสบการณ์น้อย หวังว่าคงช่วยผมนะครับ
ขอบคุณครับ
จากเด็กมองฟ้า
thaiastro
ไอโอคือดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัสบดีครับ ไม่ทราบว่าคุณมาอ่านในเว็บสมาคมฯ แล้วงงหรือเปล่า
เนื่องจากเป็นดวงจันทร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี บางครั้งผู้เขียนมักละเลยการขยายความว่ามันคืออะไร
จึงอาจทำให้งงได้สำหรับผู้เริ่มอ่านใหม่ ๆ ผมเองก็ลืมบ่อย ๆ ต่อไปจะพยายามเขียนให้ละเอียดกว่านี้ครับ
ยินดีให้ความช่วยเหลือเสมอครับ
วิมุติ วสะหลาย
Sompop Khamsawat [s_khamsawat@hotmail.com]
เห็นว่าคุณตอบปัญหาเกี่ยวกับวงแหวนดาวเสาร์ ผมจึงมีปัญหามาถามดังนี้
* เหตุใดเส้นโหนดของวงแหวนดาวเสาร์จึงไม่หมุนครับ (เส้นโหนดในที่นี้คือระนาบวงโคจรวงแหวน
ตัดกับระนาบวงโคจรดาวเสาร์) เพราะเห็นว่าเส้นโหนดของดวงจันทร์ยังหมุนได้
ช่วยตอบกลับที่ s_khamsawat@hotmail.com
thaiastro
โนด (node) นั้นเป็นจุดครับ ไม่ใช่เป็นเส้น หมายถึงจุดตัดระหว่างระนาบของระบบสุริยะ ระนาบศูนย์สูตร
และทรงกลมท้องฟ้า คำถามของคุณจึงควรจะเป็น "เหตุใดระนาบของเส้นศูนย์สูตรของดาวเสาร์จึงไม่แกว่ง"
หรือจะให้ดีกว่าก็คือ "เหตุใดแกนของดาวเสาร์จึงไม่แกว่ง" การแกว่งของแกนหมุนเรียกอีกอย่างว่า พรีเซสชัน
ครับ อย่างไรก็ตาม แกนของดาวเสาร์มีการแกว่งตัวครับ ไม่ใช่คงที่อย่างที่คุณเข้าใจแต่อย่างใด
แทบจะไม่มีสิ่งใดที่คงที่ในอวกาศครับ ในทางตรงกันข้ามข้าม คงจะแปลกมาก ๆ
ถ้าแกนของดาวเสาร์หรือของดาวดวงใดก็ตามเป็นแกนคงที่ไม่มีการแกว่ง แกนของดาวเสาร์แกว่งไปปีละ 50.9
พิลิปดาครับ การที่คุณเข้าใจว่าแกนดาวเสาร์คงที่นั้น อาจเป็นไปได้ว่าแหล่งข้อมูลบางแห่งไม่ให้ไว้
หรืออาจให้ตัวเลขเป็นศูนย์ นั่นเป็นเพราะการตรวจวัดการแกว่งของดาวเสาร์ทำได้ยากมาก
จึงเพิ่งมาทราบเอาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ตัวเลขที่ผมให้มานั้น ก็เพิ่งได้มาเมื่อไม่กี่ปีนี้เองครับ
nancy@tei.or.th (Suwamarin Jugsujinda)
อยากสอบถามเรื่องการเกิดสุริยุปราคาในปี พ.ศ. 2489
คือคุณแม่สงสัยว่า คุณยายแจ้งเกิดไว้ในวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2489 แต่พี่สาวจำได้ว่าวันที่คุณแม่เกิดคือวันที่มีสุริยุปราคา ซึ่งน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน
ที่สงสัยก็คือว่าวันไหนกันแน่ที่เกิดสุริยุปราคา 24 หรือ 26
คุณแม่สงสัยมานานแล้ว จะหาคำตอบได้จากที่ไหนคะ
thaiastro
https://thaiastro.nectec.or.th/royal/rama9.html
ตามข้อมูลในเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย เป็นวันที่ 20 มิถุนายน 2498 นะครับ
พรชัย อมรศรีจิรทร
Suwamarin Jugsujinda
ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับคำตอบ
แต่คุณแม่เกิดปี พ.ศ. 2489 แน่ๆ
ในปีนั้น ไม่มีการเกิดสุริยุปราคาเลยหรือคะ
หรือว่าจะเป็นจันทรุปราคา
จำเป็นต้องเป็นแบบเต็มดวงไหม หรือแบบนิดๆ หน่อยๆ จะมีบันทึกไหมคะ
thaiastro
ปีนั้นมีจันทรุปราคาเต็มดวง
คืนวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2489 เวลา 23.44-3.34 น.
มองเห็นในประเทศไทย
ถ้าเป็นสุริยุปราคา เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2489
แต่เป็นสุริยุปราคาที่ "มองไม่เห็น" ในประเทศไทย และเป็นแบบ
บางส่วนด้วยครับ
จากปฏิทิน วันที่ 26 มิถุนายน 2489 เป็นวันพุธครับ
ไม่ใช่วันอังคาร ในช่วงนั้น ปี 2488 เป็นปีที่
วันที่ 26 มิ.ย. เป็นวันอังคาร และปีนั้นมีจันทรุปราคาบางส่วน
ในคืนวันที่ 25 ต่อเช้ามืดวันที่ 26 ด้วยครับ
รู้สึกว่า อันสุดท้ายนี้ดูจะเข้าข่ายมากที่สุดนะครับ
วรเชษฐ์ บุญปลอด
waewyupa charoenlertudom [waewwee@chula.com]
สวัสดีค่ะ
ดิฉันเป็นนิสิตจุฬา ปีที่ 4 ขณะนี้มีงานที่ต้องแปลเกี่ยวกับเรื่องดาวเคราะห์นอกสุริยจักรวาลและมีปัญหาอยากจะขอความกรุณาให้ท่านช่วยตอบดังนี้ค่ะ
1. radiotelescope คืออะไรคะ และสามารถช่วยในการค้นหาดาวเคราะห์นอกสุริยจักรวาลได้หรือไม่คะ
2. ดาว 51 เป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวม้าบินใช่หรือไม่คะ
3. จุดศูนย์กลางที่ดาวคู่โคจรรอบๆ เรียกว่าอะไรคะ 4. กลศาสตร์ท้องฟ้า หมายถึงอะไรคะ
5. คำว่า " astrophysicien " คือใครและมีหน้าที่ต่างจากนักดาราศาสตร์อย่างไรคะ
ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านเพื่อเป็นความรู้ในการนำไปแปลบทความ ขอบคุณค่ะ
แววยุพา
thaiastro
1. radio telescope คือกล้องโทรทรรศน์วิทยุครับ รูปร่างของกล้องจะเป็นจานเหมือนจานดาวเทียม
ทำงานในย่านความถี่วิทยุแทนที่จะเป็นแสงธรรมดา มีหลักการทำงานคล้ายจานรับสัญญาณดาวเทียมมากกว่ากล้องโทรทรรศน์แสงทั่วไป
กล้องโทรทรรศน์วิทยุสามารถช่วยในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราได้ดีเหมือนกับกล้องโทรทรรศน์ชนิดอื่นๆ ครับ
แต่การค้นหาจะต่างกัน
กล้องโทรทรรศน์แสงขาวธรรมดาอาจจะหาดาวเคราะห์โดยการวัดการเปลี่ยนแปลงสเปกตรัมที่วัดด้วยสเปกโทรมิเตอร์
ส่วนกล้องโทรทรรศน์วิทยุซึ่งสามารถส่องทะลุม่านฝุ่นในอวกาศได้ดี อาจนำไปใช้ในการสำรวจสภาพแวดล้อมรอบ ๆ
ดาวฤกษ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ หากพบสิ่งที่คล้ายกับระบบสุริยะยุคแรก เช่น จานฝุ่นรอบดาวฤกษ์ หรือวงแหวน
ก็เป็นหลักฐานว่าอาจมีดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ดวงนั้นได้ครับ
ที่ผ่านมาก็มีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นหลายดวงที่ค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
2. ถ้าบอกแค่ 51 อย่างเดียวระบุไม่ได้ครับ ระบบชื่อดาวที่ใช้ตัวเลขมีเหมือนกันครับ เรียกว่าระบบเฟลมสตีด
ตั้งชื่อโดยใช้ตัวเลขควบคู่กับชื่อกลุ่มดาวที่สังกัด เช่น 51 Peg, 61 Cygni, 51 Cen
ดังนั้นจึงมีดาวหลายดวงบนท้องฟ้าที่มีเลขเดียวกัน ลำพังตัวเลขจึงบอกกลุ่มดาวที่สังกัดไม่ได้
จะต้องดูที่ส่วนที่เป็นชื่อย่อของกลุ่มดาวครับ เช่นถ้าดาวนั้นมีชื่อว่า 51 Peg ก็แสดงว่าอยู่ในกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus)
แน่นอน สันนิษฐานว่าชื่อดาว 51 ที่คุณถามมานั้นให้มาไม่ครบ แต่ขอเดาว่าคุณคงหมายถึง 51 Peg แน่ๆ
เพราะดาวดวงนี้เป็นดาวดัง และเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นด้วยครับ
3. เข้าใจว่าหมายถึง "จุดศูนย์กลางมวล" นะครับ เป็นจุดที่มีสนามความโน้มถ่วงจากดาวทั้งสองดวงในระบบสมดุลกัน
อยู่ระหว่างทั้งสอง เนื่องจากบางครั้งจุดศูนย์กลางมวลนี้ก็อาจไม่ได้อยู่นอกดวงดาว
แต่อาจอยู่ภายในดาวของดาวดวงที่หนักกว่าเลยทีเดียว จึงรู้สึกขัด ๆ ปากที่จะบอกว่าเป็นจุดศูนย์กลางที่ดาวคู่โคจรรอบ
4. กลศาสตร์ท้องฟ้า มาจากภาษาอังกฤษว่า celestial mechanics
คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้าโดยเน้นที่ผลจากแรงโน้มถ่วงเป็นสำคัญ
5. astrophysician ไม่มีครับ มีแต่ astrophysicist แปลกจริง ๆ มีคนถามมาหลายคนแล้ว ศัพท์คำนี้
astrophysicist แปลเป็นไทย ๆ ได้ว่า นักดาราฟิสิกส์
หมายถึงนักฟิสิกส์ที่ศึกษาฟิสิกส์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ครับ
จะแปลว่าครึ่งนักฟิสิกส์ครึ่งนักดาราศาสตร์ก็ได้ครับ ถ้าถามว่าต่างจากนักดาราศาสตร์อย่างไรก็คงตอบยาก
เพราะดาราฟิสิกส์ก็เป็นสาขาแยกย่อยมาจากดาราศาสตร์อีกทีหนึ่งครับ
เกี่ยวกับเรื่องที่คุณกำลังแปลนี้ ผมมีข้อเสนอเล็กน้อยครับ คำว่า extrasolar planet นั้น เป็นคำใหม่
จึงยังไม่มีในพจนานุกรม และราชบัณฑิตยสถานก็ยังไม่ได้บัญญัติออกมาครับ
ที่ผ่านมามีความพยายามใช้คำไทยจากคนเขียนหลายคนแตกต่างกันไป
แม้แต่ในเว็บของสมาคมดาราศาสตร์ไทยโดยเฉพาะหน้าข่าวก็ยังมีใช้หลายอย่างตามเวลาที่เปลี่ยนไป แต่เดิมผมใช้คำว่า
"ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ" ซึ่งถอดความตรง ๆ มาจากคำในภาษาอังกฤษ แต่ความหมายไม่ถูกต้องนัก
เพราะอาจเข้าใจว่าเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่โดยอิสระ ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด ซึ่งผิดความหมาย
แล้วดาวเคราะห์ที่อยู่อย่างอิสระก็มีอยู่จริง ๆ ด้วย ซึ่งมีชื่อเรียกอยู่แล้วว่า free-floating planet (ผมใช้คำว่า
"ดาวเคราะห์อิสระ") ดังนั้นคำว่า "ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ" จึงไม่ถูกนัก เห็นนักเขียนทางค่ายซีเอ็ดหลายท่านใช้คำว่า
"ดาวเคราะห์นอกระบบ" ซึ่งผมก็คิดว่ายังให้ความหมายไม่ตรงนักและกลับกำกวมขึ้น ผมจึงคิดหาใช้คำใหม่เป็น
"ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น" ซึ่งความหมายตรงที่สุด แม้จะยาวมากก็ตาม ผมเคยพยายามเขียนใหม่ให้สั้นลงเป็น
"ดาวเคราะห์สุริยะอื่น" แต่ก็เปลี่ยนกลับไปเป็น "ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น" เหมือนเดิม ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้คำนี้
ขอเรียนว่านี่ไม่ได้เป็นการขอให้คุณใช้ตามผมหรือตามใครนะครับ เพียงแต่เล่าให้ฟังพอเป็นแนวทางเท่านั้น
คุณแววยุพาจะบัญญัติใหม่ก็ได้ครับ ถ้าคิดว่ามีคำที่ดีกว่านี้มาบอกกันบ้างก็ดีครับ
วิมุติ วสะหลาย
|