สมาคมดาราศาสตร์ไทย

หาทิศจากหลักไม้และแสงแดดด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เข็มทิศ

หาทิศจากหลักไม้และแสงแดดด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เข็มทิศ - จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว

27 สิงหาคม 2567 โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 30 สิงหาคม 2567
ในเฟซบุ๊กมีผู้แชร์เคล็ดลับในการหาทิศโดยไม่ใช้เข็มทิศ ใช้เพียงการสังเกตเงาของแท่งไม้ก็รู้ทิศได้ มีคนแชร์ต่อไปหลายพันคนและคนกดถูกใจอีกเกือบหมื่น ตามไปดูได้ที่ ที่นี่

เนื้อหามีดังนี้


วิธีทำเข็มทิศ  
1. ปักกิ่งไม้สูงประมาณ 90 ซม. บนพื้น และวางก้อนหินเล็ก ๆ ไว้ตรงจุดที่ปลายเงาตกถึง  
2. รอประมาณสิบถึงสิบห้านาที แล้ววางก้อนหินที่สองไว้ที่จุดที่ปลายเงาเคลื่อนไปถึง  
3. ลากเส้นระหว่างสองจุดนี้ นี่คือเส้นตะวันออก-ตะวันตก  
4. วางปลายเท้าซ้ายของคุณบนก้อนหินก้อนแรก และปลายเท้าขวาของคุณบนก้อนหินก้อนที่สอง ตอนนี้คุณจะหันหน้าไปทางทิศเหนือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็ตาม จุดเงาแรกจะหันไปทางทิศตะวันตกและจุดเงาที่สองจะหันไปทางทิศตะวันออก  
เครดิต: Hermanos de armas Recargado



โพสนี้เป็นการแปลมาจากโพสต้นทางโดย Hermanos de armas Recargado ซึ่งต้นฉบับเขียนเป็นภาษาสเปน เฟซบุ๊กแปลเป็นอังกฤษมาแบบนี้


How to Make COMPASS
1- Place stick of 90 cm. on the floor and place small rock where the tip of the shadow falls.
2- Wait ten to fifteen minutes and place second stone at the point where the tip of the shadow has also moved.
3- Draw line between the two dots. This is an east-west line.
4- Place the tip of your left foot on the first rock and the tip of your right foot on the second rock; now you will be looking north.
Anywhere on earth, the first shadow mark is west, the second east.



ตามไปดูโพสต้นทางของคุณ Hermanos de armas Recargado ได้ที่นี่

การแปลอังกฤษเป็นไทยของโพสข้างต้นถูกต้องทุกบรรทัด โพสนี้น่าจะเป็นประโยชน์มาก เป็นความรู้รอบตัวที่ควรจดจำเพราะอาจได้ใช้จริงเข้าสักวันหนึ่ง เช่นในวันที่หลงทางกลางป่า ต้องการหาทิศแต่เข็มทิศไม่มี 

ว่าแต่ วิธีนี้ใช้ได้จริงหรือ เรื่องนี้ จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว?

การสังเกตทิศโดยใช้แสงแดด อาศัยหลักธรรมชาติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ถ้าเข้าใจการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ก็จะเข้าใจหลักการหาทิศด้วยแสงแดดได้



แต่ละวัน ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก เงาของเสาไม้ก็จะทอดลงบนพื้นดินและเคลื่อนที่สวนทางกับดวงอาทิตย์ โดยกวาดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออก ปลายของเงาก็จะเคลื่อนที่เป็นแนวตะวันตก-ตะวันออกด้วย

แต่การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์มีความซับซ้อนมากกว่าแค่เคลื่อนที่จากตะวันออกไปตะวันตกตรง ๆ เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งตำแหน่งของผู้สังเกต (ละติจูด/ลองจิจูด) และฤดูกาลที่สังเกต ตำแหน่งของปลายเงาไม้จึงเปลี่ยนแปลงตามแนวเหนือใต้ด้วย ซึ่งอาจทำให้แนวการเคลื่อนที่ของเงาปลายไม้เบี่ยงเบนไปจากแนวตะวันตก-ตะวันออกด้วย

เงาของหลักไม้ที่ทอดลงบนพื้นดิน ณ เวลาต่าง ๆ กัน แสดงเฉพาะวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกลงที่ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกพอดี  

เมื่อคำนวณหาตำแหน่งของดวงอาทิตย์เพื่อหาทิศทางและความยาวของเงาไม้ในแต่ละเวลาที่วันที่ต่าง ๆ จะได้ผลดังรูปข้างล่างนี้

แผนภูมิแสดงทิศของเงาที่ทอดลงบนพื้นวางเทียบกับทิศจริง ภาพบนแสดงเงาของวันที่ 21 มีนาคม (สารทวิษุวัต) ภาพกลาง แสดงเงาของวันที่ 22 ธันวาคม (เหมายัน) และภาพล่าง แสดงเงาของวันที่ 21 มิถุนายน (ครีษมายัน) 

จะเห็นว่าปลายของเงาไม่ได้เคลื่อนที่ไปในทิศตะวันตก-ตะวันออกเสมอไป ในวันวิษุวัต (ประมาณ 21 มีนาคม และ 23 กันยายน) แนวปลายหลักเงาจะเคลื่อนที่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกจริง ส่วนวันอื่น มีเพียงช่วงเวลาใกล้เที่ยงวันเท่านั้นที่เป็นจริง แต่ในช่วงเวลาอื่นของวันจะเบี่ยงเบนไปมาก ความเบี่ยงเบนนี้จะยิ่งมากขึ้นหากผู้สังเกตอยู่ที่ละติจูดสูงขึ้น

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า วิธีหาทิศด้วยหลักเงาของคุณ Hermanos de armas Recargado ใช้ได้ผลจริงเฉพาะวันวิษุวัตซึ่งมีสองวันในแต่ละปี ส่วนวันอื่นก็จะใช้ได้เฉพาะช่วงเวลาใกล้เที่ยงวันเท่านั้น หากใช้ในเวลาอื่นทิศที่ได้จะเบี่ยงเบนไปจากทิศจริง แม้จะไม่มากนักก็ตาม

อย่างไรก็ตาม โพสข้างต้นก็ไม่ถือว่าไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะมีวิธีปฏิบัติที่ดี ใช้ในการทำความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ได้ ครูสอนลูกเสือก็อาจเอาไปสอนลูกศิษย์ในการหาทิศก็พอได้ แต่ต้องย้ำเตือนถึงเงื่อนไขการใช้งานด้วย