สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จีนอ้าง ยังควบคุมเทียนกง-1 ได้อยู่ รับรองไม่ตกใส่หัวใคร

จีนอ้าง ยังควบคุมเทียนกง-1 ได้อยู่ รับรองไม่ตกใส่หัวใคร

14 ม.ค. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานีหนัก ตันแห่งนี้จะตกลงสู่โลกในเดือนมีนาคมนี้

สถานีเทียนกง-1 เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน เดิมมีกำหนดจะสิ้นสุดภารกิจในปี 2556 แต่องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ได้ยืดภารกิจออกมาอีกจนถึงปี 2559 

การที่ดาวเทียมหรือสถานีอวกาศจะตกสู่โลกไม่ใช่เรื่องแปลก และจะไม่ใช่เรื่องอันตรายหากเป็นการตกอย่างมีการควบคุม ในกรณีของเทียนกง-1 นี้ จู คงเผิง วิศวกรระดับสูงจากไชนาแอโรสเปซไซนซ์แอนด์เทคโนโลยีคอร์ปอเรชันแถลงข่าวว่า จีนยังควบคุมเทียนกงได้อยู่ ข่าวที่มีการนำเสนอก่อนหน้านี้ว่าเทียนกง-1 จะตกลงสู่โลกแบบไร้การควบคุมนั้นกล่าวเกินจริง

"การตกของเทียนกง-1 จะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน" จูยืนยัน

โดยปกติ ในการควบคุมดาวเทียมหมดอายุให้ตกลงสู่โลกอย่างปลอดภัย ศูนย์ควบคุมจะสั่งให้ดาวเทียมตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ซึ่งในทางการบินอวกาศถือว่าเป็น "สุสานดาวเทียม" สถานีอวกาศมีร์ ยานโปรเกรสของรัสเซีย และหอสังเกตการณ์รังสีแกมมาคอมป์ตัน ก็มีจุดจบแบบเดียวกัน

จากรายงานการติดตามตำแหน่งของเทียนกงล่าสุด ซึ่งสำรวจในช่วงวันที่ 17-24 ธันวาคม 2560 เทียนกง-1 อยู่สูงจากพื้นโลกเฉลี่ย 286.5 กิโลเมตร ระดับวงโคจรกำลังลดลงเรื่อย ๆ และคาดว่าจะตกลงสู่โลกในเดือนมีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของจูยังเป็นที่คลางแคลงใจของหลายคน เนื่องจากรายงานก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ปิดภารกิจ ไม่มีการกล่าวถึงการควบคุมเทียนกง-1 เลย 

เทียนกง-1 มีระนาบวงโคจรเอียง 42 องศากับเส้นศูนย์สูตร ดังนั้น พื้นที่ระหว่างละติจูด +42 องศาถึง -42 องศา มีโอกาสที่เทียนกง-1 จะตกใส่ทั้งสิ้น 

แม้จะยังไม่มั่นใจนักว่าจีนจะควบคุมการตกของเทียนกง-1 ได้จริงหรือไม่ แต่โอกาสที่การตกจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ก็น้อยมาก นับจากยุคอวกาศเริ่มต้นเป็นต้นมา มีมนุษย์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกชิ้นส่วนดาวเทียมตกใส่ แต่ก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใดเนื่องจากชิ้นส่วนนั้นเบามาก

สรุปว่ารอลุ้นกันต่อไป
สถานีอวกาศเทียนกง-1

สถานีอวกาศเทียนกง-1 (จาก China Manned Space Agency)

พื้นที่สีเขียว (ละติจูด +42 ถึง -42 องศา) คือบริเวณที่เทียนกง-1 มีโอกาสตกใส่

ที่มา: