ทำไมต้องเป็น "ฟ้าสี่"
ดร.รักษ์ จิรา

"ผมเคยชอบดูดาวตั้งแต่เล็ก แต่ไม่มีโอกาสศึกษาให้เข้าใจจริงๆ…"
"ทำงานอยู่ต่างจังหวัด มีโอกาสเห็นดาวมากมายเลยอยากรู้จักมันอย่างจริงจัง…"
"อยากตั้งกล้องดูดาวเป็น…"
"อยากถ่ายรูปดาวสวย ๆ เหมือนที่เห็นในนิตยสาร…"
"เด็กที่บ้านว่า แก่ไปหรือเปล่าที่จะไปเข้าชั้นเรียนอีก? …"
หากเราได้ถามไถ่ถึงเหตุผลและแรงจูงใจกันในวันแรกของการเข้าร่วมโครงการ นักดาราศาสตร์ ในอนาคต รุ่นที่สี่ (Future Astronomers - 4) เราก็จะได้คำตอบเหล่านี้ และอีกหลาย ๆ คำตอบในลักษณะเดียวกันจากเพื่อน ๆ ชาว "ฟ้าสี่" เชื่อแน่ว่าความรู้สีกและความสนใจอย่างนี้คงมีอยู่ในใจคนอีกมากมาย ที่สำคัญก็คือ คนกลุ่มหนึ่งจำนวนสิบเจ็ดคน ไม่สามารถยับยั้งความต้องการเรียนรู้ ความหิวโหยวิชา และความท้าทาย ที่มีอยู่ในใจของพวกเขามาช้านาน พวกเขาบอกกับตัวเองว่า "เราพร้อมแล้วที่จะก้าวออกมาข้างหน้า เพื่อพบกับความท้าทาย เพื่อแก้ข้อข้องใจ และเพื่อสนอง ความไฝ่รู้ของเรา เราพร้อมสักเท่าใดหรือ? เราพร้อมขนาดยอมอุทิศ เวลาที่มีค่าสามสุดสัปดาห์ เพื่อกระโจนเข้าไปพบกับดาราศาสตร์อย่างเต็มตัว"

"ชาวฟ้าสี่" อย่างที่เราเรียกตัวเองนี้ ประกอบด้วยคนจากพื้นฐานที่หลากหลาย ทั้งชายและหญิง อายุอานามตั้งแต่เพิ่งจะยี่สิบขวบหมาด ๆ ไปจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาก ๆ ระดับนายพล และอธิบดีที่เกษียณแล้ว พื้นฐานการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนระดับปริญญาเอกวิศวกรรม ความหลากหลายนี้มิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นความไผ่รู้ ความรัก และความสนิทสนมที่ได้พัฒนาขึ้นตลอดระยะเวลาที่รับการอบรม ตรงกันข้าม กลับทำให้มีเรื่องน่าสนใจต่าง ๆ มากมายมาแลกเปลื่ยนกันจากประสบการณ์ที่ได้สะสมกันมา ทำให้วงสนทนา เข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระปนกับความสนุก ช่วยปรุงแต่งไม่ให้เครียดจนเกินไป ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ทัศนคติที่มีต่อดาราศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยความรักและหิวโหยความรู้ ประกอบกับความเคารพความยิ่งใหญ่ของจักรวาล ความรู้สึกถ่อมตนเมื่อเปรียบเทียบตนเองกับจักรวาล ในเวลาเดียวกันก็เกิดความอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก เพราะจากวันนี้ไป บรรดาดวงดาวบนผืนฟ้าสีดำที่เป็นครึ่งหนึ่งของมุมมองของเรา ไม่ใช่สิ่งเร้นลับสำหรับเราอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นทุกครั้งที่มองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็จะมีความรู้สึกเหมือนได้ทักทายกับเพื่อนของเรา เราได้ทราบมาจากสมาคมฯ ว่า "ฟ้าสี่" เกือบไม่ได้เกิดแล้ว เพราะจำนวนผู้สมัครไม่มากอย่างที่ทางสมาคมฯ คาดหวังไว้ เราจึงรู้สึกดีใจมากเป็นพิเศษว่าในที่สุดเรายังมีโอกาส "เกิด" ด้วยเหตนี้จึงทำให้เรายิ่งมุ่งมั่นขึ้นที่จะร่วมมือกับสมาคมฯ ในการนำความสุข และความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดต่อตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ

พวกเราไม่ได้ผิดหวังเลย เพราะเบื้องหน้าของเรา เป็นสามสุดสัปดาห์ที่ตื่นเต้น สามสุดสัปดาห์ที่เราได้ท่องเที่ยวไปในอวกาศ และควรแก่การจดจำไว้นานเท่านาน

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดอบรมวิชาดาราศาสตร์ให้แก่ผู้สนใจตามโครงการ นักดาราศาสตร์ในอนาคต (Future Astronomers) ในช่วงเวลาสามอาทิตย์ จากวันที่ 14-15 มีนาคม 21-22 มีนาคม และวันที่ 28-29 มีนาคมนี้ ได้มีการแบ่งสอนเนื้อหาทางดาราศาสตร์อย่างครบครัน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุด จนถึงระดับที่ลึกพอสมควร ดังจะเห็นได้จากตารางเรียน ที่มีความพิเศษแตกต่างจากหลักสูตรอบรมแบบเร่งรัดอื่น ๆ คือ การปฏิบัติภาคสนาม ในวันที่ 28-29 มีนาคม ช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของชั้นเรียน

ภาคทฤษฎีสี่วันแรกของการอบรม (14, 15, 21, 22 มีนาคม) ทำที่ห้อง "มหกรรม" บริเวณชั้นสอง อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ข้างท้องฟ้าจำลอง โดยมีเนื้อหาเข้มข้นตั้งแต่วันแรก ซึ่งอาจารย์อารี สวัสดี ได้ปูพื้นความรู้ทางดาราศาสตร์ ด้วยการดึงความสัมพันธ์ของ ดิน ฟ้า เวลา ดาว อันเป็นองค์ประกอบหลักในการเข้าใจโครงสร้างของจักรวาล ตั้งแต่สมัยอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเราก็ทำความรู้จักกับทรงกลมท้องฟ้า ชนิดที่ทำให้เราไม่หลงทิศเวลาดูดาวจริง ๆ เราได้ฝึกอ่านแผนที่ดาว และฝึกค้นหาดาวต่าง ๆ บนท้องฟ้าจากแผนที่ดาว โดยการประมาณระยะทางบนทรงกลมท้องฟ้า เปล่านะครับ! เราไม่ได้ใช้เครื่องวัดระยะแบบไฮเทคใด ๆ เราเพียงใช้แขน มือ และนิ้วมือของเรา กว่าจะจบการบรรยายในวันแรก ก็เป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้เวลาที่จะขึ้นดาดฟ้าชั้นบนของอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สมาคมดาราศาสตร์ไทย พวกอาจารย์และรุ่นพี่เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ได้กรุณาตั้งกล้องโทรทรรศน์ไว้ให้เราฝึกฝน และทดสอบความรู้ที่เพิ่งเรียนมาสด ๆ ร้อน ๆ พวกเรามีโอกาสที่จะอยู่คุยกันและดูดาวจนดึกพอสมควร

นอกจากความตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนใหม่บนท้องฟ้าที่โชคดีไม่ถูกเมฆบังแล้ว ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกอบอุ่นในการเอาใจใส่ดูแลจากบรรดา "อาจารย์" ที่ได้กรุณาช่วยสอน แนะนำ และตอบข้อซักถามต่าง ๆ ของพวกเรา แบบ "ยิ่ถงาม ก็ยิ่งมีคำถามเพิ่ม" คิดว่าพวก "อาจารย์" คงเข้าใจความหิวโหยของพวกเราได้ดี มีคนพูดกันว่า แค่เรียนวันแรกก็คุ้มค่าเล่าเรียนแล้ว คิดว่าคำพูดนี้คงไม่เกินความจริงจนเกินไป ขณะที่พวกเราแยกย้ายกันกลับบ้าน หลังจากวันแรกของการอบรม พวกเราแทบทุกคนคงรู้สึกเหมือน ถูกแปลงจากคนธรรมดาสิบเจ็ดคนเมื่อตอนเช้าก่อนการบรรยาย มาเป็น "ชาวฟ้า" ที่มองท้องฟ้าเวลากลางคืนด้วยสายตาที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง สงสัยพวกเราคงถูกมนต์สะกดของ "ดาราศาสตร์" เข้าแล้ว !

เนื้อหาในวันต่อๆมาไม่ได้ลดความเข้มข้นลงเลย เราโชคดีได้ฟังการบรรยายของอาจารย์ชั้นนำในวงการดาราศาสตร์ไทย ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจชนิดที่ทำให้เราทึ่งว่าเรากำลังอยู่ในกรุงเทพฯ หรือนี่ ในวันที่สองของการบรรยายภาคทฤษฎี ท่านอาจารย์ขาว เหมือนวงศ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นบรรยายในหัวข้อ หัวใจการพัฒนาทางดาราศาสตร์ : การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นความพยายามของนักดารา ศาสตร์ในการทำความเข้าใจวงจรชีวิตของดาว ซึ่งเนื้อหาได้รับการตอกย้ำ โดย รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันที่สี่ของการบรรยาย ในหัวข้อ ธรรมชาติของดวงดาว ซึ่งนำเสนอวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ตั้งแต่ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ดาวฤกษ์ ไปจน กาแล็กซี ตลอดจน ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวัตถุท้องฟ้าเหล่านี้ นอกจากนั้นเรายังได้ฟังการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ระบบสุริยะ ฝนดาวตก ฯลฯ โดยอาจารย์นิพนธ์ ทรายเพชร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เราได้พบและฟังการบรรยายประสบการณ์การถ่ายภาพดาวโดย คุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักถ่ายภาพดาวคนไทยที่มีผลงานระดับนานาชาติ การใช้กล้องโทรทรรศน์ สารสนเทศดาราศาสตร์ไทย และหัวข้อที่น่าสนใจอีกมากจากอาจารย์ประจำของสมาคมฯ พอสิ้นสุดการบรรยายภาคทฤษฎีในวันที่ 22 มีนาคม พวกเราชาวฟ้าสี่ทุกคนมีอาการสมองล้น เดินหัวหนักคอเอียงไปตาม ๆ กัน

ภาคปฏิบัติในหลักสูตรการอบรมนี้เป็นจุดเด่นอันหนึ่งที่ทำให้การอบรมได้ผลสูง เนื่องจากการดูดาวจากหนังสือ จากวีดิโอเทป หรือการฟังการบรรยาย ดูจะเป็นเรื่องง่าย ๆ เพราะทุกอย่างดูพร้อมสรรพไปหมด "สถาปนาขั้วฟ้าเหนือ" โดยสังเกต หมู่ดาวจระเข้ ลากแขนต่อไปประมาณ ยี่สิบแปดองศา ก็จะพบดาวเหนือ" ทว่าในการดูดาวจริงนั้น สำหรับคนไม่ชำนาญแล้ว เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะมันมืดไปหมดรอบตัว ท้องฟ้าก็กว้าง ถ้าโชคดีดาวก็จะเต็มท้องฟ้าไปหมด ไม่เห็นมีเส้นเชื่อมกลุ่มดาวให้จำกันได้เลย ถ้าโชคไม่ค่อยดีมีเมฆก็อาจเห็นดาวเพียงบางดวง ในกลุ่มดาวไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเป็นกลุ่มดาวอะไร ดังนั้นจึงมักเกิดอาการหลง และไม่แน่ใจ การออกฝึกภาคปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ในการอบรมครั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านอาจารย์แดง สำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคีรีวัน จังหวัดนครราชสีมา ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในวันที่ 28 และ 29 มีนาคม หลายท่านคงจำได้ว่า ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังเกิดไฟป่าหลายแห่งในประเทศไทย โดยบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นบริเวณหนึ่งที่ถูกไฟป่าทำลายอย่างกว้างขวาง อาจารย์แดงเล่าว่า สำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคีรีวันนี้ เป็นศูนย์กำกับการของหน่วยปฏิบัติการดับไฟป่า และเพิ่งสามารถควบคุมไฟป่าได้ไม่กี่วันก่อนที่คณะของเราจะเดินทางไปถึง เรายังสามารถเห็นร่องรอยจากไฟป่าแผ่กินบริเวณค่อนข้างกว้าง และได้ลุกลามมาจนติดเขตสำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคีรีวันเลย ท่านอาจารย์แดงเป็นผู้สนใจในเรื่องดาราศาสตร์ และได้พยายามศึกษาจนมีความรู้ดีขนาดเป็นอาจารย์สอนได้เลย ท่านอาจารย์จึงให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างมากโดยเอื้อเฟื้อสถานที่ และให้ลูกศิษย์ลูกหามาช่วยอำนวยความสะดวกเต็มที่ โดยเฉพาะเจ้าแซม สุนัขแสนรู้ประจำสำนักฯ ซึ่งมักมาตรวจตราในชั้นอบรมเป็นประจำ เราได้ใช้เวลาช่วงเย็นเรียนการอ่านแผนที่ดาวอย่างละเอียด และพวกเราทุกคนมีโอกาสลองตั้งกล้องดูดาวเอง

หลังอาหารเย็น พอฟ้ามืด บรรดานักล่าดาวชาวฟ้าสี่ ก็เริ่มออกปฏิบัติการ พวกเราจะเตรียมไฟฉายปิดแผ่นฟิล์มสีแดงเพื่อไม่รบกวนประสาทตาเวลาส่องดูแผนที่ดาว กล้องสองตา และไฟฉายกำลังสูงเพื่อใช้ชี้บ่งวัตถุบนท้องฟ้า เราเริ่มโดยการหาดาวเหนือ ซึ่งเห็นได้ยากมากเนื่องจากมีความสว่างน้อย และอยู่สูงจากขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย เราได้ดูกลุ่มดาวต่าง ๆ เช่น กลุ่มดาวจระเข้ กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสิงโต ฯลฯ ยังไม่ทันจะได้ดูจุใจเลยก็ต้องยกกองวิ่งหนีฝนและลม ที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ให้โอกาสเตรียมเนื้อเตรียมตัว เราต้องหลบฝนในศาลาอยู่นานพอสมควร รอจนฝนหยุดจึงออกมาล่าดาวต่อ สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือ นักดาราศาสตร์ต้องอดทน ใจเย็น และวิ่งเร็ว เราใช้เวลาช่วงหัวค่ำดูกลุ่มดาวต่าง ๆ อย่างเพลิดเพลิน

ส่วนเวลาช่วงดึกหลังเที่ยงคืน เป็นเวลาของวัตถุจักรวาลที่ไกลและมองเห็นได้ยาก เช่น M13 ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส M6 และ M7 ในกลุ่มดาวแมงป่อง เป็นต้น พอช่วงใกล้รุ่ง ประมาณตีสามถึงตีสี่ ท้องฟ้าก็เปิดพอที่เราจะได้เห็นทางช้างเผือกอย่างชัดเจน ช่างเป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ได้เคยเห็นเป็นครั้งแรกอย่างตัวผู้เขียน เราใช้เวลาช่วงใกล้รุ่ง คุยกันพลาง มองดูดาวเทียมโคจรข้ามฟ้าไปพลาง และดูความเปลี่ยนแปลงของแสงบนท้องฟ้าเมื่อดวงอาทิตย์ค่อย ๆ โผล่ขึ้นมาจากขอบฟ้า บัดนี้เรารู้สึกเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของจักรวาลอย่างแท้จริงแล้ว ท้องฟ้าและจักรวาลไม่เป็นสิ่งลึกลับสำหรับเราอีกต่อไป พวกเราทุกคนรู้สึกขอบคุณในความกรุณาของเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ที่ได้พาพวกเรามาแนะนำให้รู้จักกับจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราก็ช่วยกันทำความสะอาด และเก็บกวาดสำนักฯ ตามหน้าที่ผู้มาเยือนที่ดี และบอกลาท่านอาจารย์แดง เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยได้แวะเยี่ยมหอดูดาวของคุณวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต อันมีชื่อเสียงในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อศึกษาคุณสมบัติสำคัญของนักดาราศาสตร์ ไม่ใช่สถานศึกษา ไม่ใช่ปริญญาบัตร แต่คือ ความรัก ความทุ่มเท และความอดทน

พวกเรากลับถึงกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2541 ด้วยร่างกายที่อ่อนเพลีย แต่ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความประทับใจ และความรู้สึกอบอุ่น ทุกครั้งที่เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าผืนนั้น มันจะไม่ใช่ท้องฟ้าที่ว่างเปล่าผืนเดิมอีกต่อไป


1 ธันวาคม 2541
[BACK TO REPORT PAGE]รายงานกิจกรรม
[หน้าแรก]
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)