ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14
2012 ดีเอ 14 (2012 DA14) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่จะเฉียดใกล้โลกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ชื่อของดาวเคราะห์น้อยมาจากปีที่ค้นพบ ตามด้วยตัวอักษรและตัวเลข ซึ่งบ่งบอกถึงลำดับการค้นพบในปีนั้น 2012 ดีเอ 14 อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดวงโคจรของโลก นักดาราศาสตร์เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของวัตถุเหล่านี้ เพื่อคำนวณว่ามันจะเข้าใกล้โลกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นเมื่อใด และมีโอกาสชนหรือไม่
2012ดีเอ 14 มีขนาดราว 44 เมตร (ยังไม่ทราบขนาดที่แน่นอน คาดว่าอยู่ในช่วง 25-75 เมตร) ค้นพบเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ที่หอดูดาวลาซากรา (La Sagra) ในสเปน ปัจจุบันโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีด้วยคาบ 366.2 วัน ใกล้เคียงกับคาบการโคจรของโลก และวงโคจรเอียงทำมุม 10° กับระนาบวงโคจรโลก (คาบและวงโคจรจะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากผ่านใกล้โลก)
การคำนวณย้อนไปพบว่าดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 ได้ผ่านใกล้โลกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 (ก่อนค้นพบหนึ่งสัปดาห์) ที่ระยะห่าง 2.6 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 6.5 เท่าของระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลก-ดวงจันทร์ 2012 ดีเอ 14 จะใกล้โลกอีกครั้งในปี 2556 แต่เฉียดใกล้กว่าปี 2555 คาดว่าขณะใกล้ที่สุดจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลกเพียง 35,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางราว 28,600 กิโลเมตร จากผิวโลก ใกล้กว่าความสูงของดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งเป็นดาวเทียมที่มีคาบการโคจรเท่ากับคาบการหมุนของโลก
ข้อมูลณ ต้นเดือนมกราคม 2556 จากเว็บไซต์ขององค์การนาซา (JPL Solar System Dynamics - http://ssd.jpl.nasa.gov/) ระบุว่าขณะที่ 2012 ดีเอ 14 ผ่านใกล้โลกที่สุด มันน่าจะอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลก 35,000 กิโลเมตร แต่เมื่อคำนึงถึงความไม่แน่นอนของวงโคจร มันอาจใกล้กว่านี้ที่ระยะ 27,100 กิโลเมตร หรือไกลกว่านี้ที่ระยะ 52,900 กิโลเมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบกับดาวเทียมค้างฟ้า ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางโลก 42,160 กิโลเมตร (จากผิวโลก 35,780 กิโลเมตร) เราจะพบมีโอกาสที่ 2012 ดีเอ 14 อาจชนกับดาวเทียม แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะน้อยมากจนกล่าวได้ว่าแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น [ดูข้อมูลปรับปรุงล่าสุดท้ายบทความ]
หมายเหตุ: ดาวเทียมจีพีเอส (GPS) ซึ่งมีอยู่หลายดวง อยู่ห่างจากศูนย์กลางโลกที่ระยะทางเฉลี่ย 26,560 กิโลเมตร ดาวเคราะห์น้อย 2012 ดีเอ 14 จึงไม่มีโอกาสชนดาวเทียมจีพีเอส
2012 ดีเอ 14 ขณะผ่านใกล้โลกในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2556 ตามเวลาประเทศไทย (ในมุมมองจากดาวเคราะห์น้อย) สีเหลืองคือวงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 5 ซึ่งเป็นดาวเทียมค้างฟ้า แสดงไว้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ (มุมบนซ้ายแสดงระยะห่างของดาวเคราะห์น้อยจากผิวโลก มุมบนขวาแสดงเวลาประเทศไทย)
การเข้าใกล้โลกครั้งนี้สามารถสังเกตได้ดีจากประเทศในแถบยุโรปแอฟริกา และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชีย โดยเฉพาะทางด้านตะวันตก รวมทั้งประเทศไทย ขณะสว่างที่สุด ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจสว่างถึงระดับที่สังเกตเห็นได้ด้วยกล้องสองตาภายใต้ท้องฟ้ามืด โดยคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับดาวเนปจูน หรืออาจสว่างกว่าเล็กน้อย ปรากฏเป็นจุดคล้ายดาว เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วจากซีกฟ้าใต้ไปซีกฟ้าเหนือ (ขนาดปรากฏเล็กมาก ราว 0.3 พิลิปดา) เดิมคาดว่าหลังจากใกล้โลกที่สุดได้ไม่นาน มันจะผ่านเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกนานประมาณ 18 นาที แต่วงโคจรล่าสุด (ปรับปรุงเมื่อ 13 พ.ค. 2555) พบว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น
ข้อมูลจากนาซาระบุว่าดาวเคราะห์น้อย2012 ดีเอ 14 จะใกล้โลกที่สุดในเวลา 02:25 น. (± 2 นาที) ตามเวลาประเทศไทย ด้วยความเร็วสัมพัทธ์ 7.8 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อสังเกตจากพื้นโลกคาดว่าจะสว่างที่สุดราวโชติมาตร 7-8 และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วปรากฏสูงสุดราว 1 ลิปดาต่อวินาที หรือระยะพอ ๆ กับขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในเวลาเพียงครึ่งนาที
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ดีเนื่องจากช่วงที่ใกล้โลกที่สุด ดาวเคราะห์น้อยจะอยู่สูงที่มุมเงยประมาณ 60° และมีเส้นทางปรากฏเคลื่อนผ่านเหนือศีรษะในเวลาประมาณตี 3 จำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำที่มีฐานยึดกับขาตั้ง สามารถปรับหมุนตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยได้ และควรสังเกตจากชานเมือง หรือสถานที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ หากถ่ายภาพโดยเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้ ภาพที่ได้ก็จะเห็นดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เป็นทางโดยมีดาวฤกษ์เป็นฉากหลัง
เมื่อสังเกตจากประเทศไทย2012 ดีเอ 14 จะปรากฏบนท้องฟ้าในคืนวันศุกร์ที่ 15 เข้าสู่เช้ามืดวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 โดยขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง สว่างที่โชติมาตร 9-10 อยู่บริเวณใกล้กลุ่มดาวกางเขนใต้ จากนั้นเคลื่อนที่ขึ้นมาทางทิศเหนือ ผ่านกลุ่มดาวสิงโตในเวลาประมาณตี 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สว่างที่สุดราวโชติมาตร 7.1 จากนั้นผ่านกลุ่มดาวหมีใหญ่ในเวลาประมาณตี 4 โดยความสว่างลดลงไปที่โชติมาตร 8.6 (ขณะนี้บอกได้เพียงเส้นทางคร่าว ๆ เพราะมีโอกาสคลาดเคลื่อนไปจากนี้) สภาพท้องฟ้าโดยทั่วไปเป็นคืนเดือนมืด ดวงจันทร์อยู่ในช่วงครึ่งแรกของข้างขึ้น ตกลับขอบฟ้าก่อน 5 ทุ่มเล็กน้อย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการสังเกตการณ์
วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ระดับหนึ่งจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากแนวเส้นทางที่คาดหมาย เป็นเหตุให้ขณะที่เขียนบทความนี้ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งบนท้องฟ้าอย่างแม่นยำได้ เมื่อใกล้วันที่ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก คาดว่าจะมีการสังเกตการณ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากหอดูดาวในซีกโลกใต้ ซึ่งน่าจะช่วยให้วงโคจรของ 2012 ดีเอ 14 ได้รับการปรับปรุง และสามารถคำนวณเส้นทางการเคลื่อนที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คาดว่าจะทราบตำแหน่งที่แน่นอนเมื่อถึงเวลานั้น
ช่วงปี2555 ได้มีการเสนอข่าวที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า 2012 ดีเอ 14 มีโอกาสชนโลกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556 อย่างไรก็ตาม
ขนาดและวงโคจร
2012
การเข้าใกล้โลก
การคำนวณย้อนไป
ข้อมูล
หมายเหตุ
การเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อย
การสังเกตจากพื้นโลก
การเข้าใกล้โลกครั้งนี้สามารถสังเกตได้ดีจากประเทศในแถบยุโรป
ข้อมูลจากนาซาระบุว่าดาวเคราะห์น้อย
การสังเกตจากประเทศไทย
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ดี
เมื่อสังเกตจากประเทศไทย
วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ระดับหนึ่ง
ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริง
ช่วงปี