ดาวหางลีเนียร์ (C/2000 WM1 LINEAR)
ดาวหางลีเนียร์ซึ่งถูกค้นพบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2543 (เป็นคนละดวงกับที่มาให้เห็นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่มีชื่อเหมือนกันเนื่องจากค้นพบโดยหน่วยงานเดียวกัน) จะมาปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ความสว่างที่คาดหมายสำหรับดาวหางลีเนียร์ดวงนี้ยังไม่แน่นอนเนื่องจากนับถึงเวลาที่เขียนบทความนี้ ดาวหางยังมีความสว่างน้อยและอันดับความสว่างที่มีรายงานนั้นค่อนข้างแปรผันมาก รายงานอันดับความสว่างในต้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ประมาณ 12 ซึ่งถ้าดูจากกราฟความสว่างแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ลีเนียร์อาจมีอันดับความสว่างประมาณ 5.5-6.5 อย่างไรก็ตามแนวโน้มอาจเป็นไปได้ทั้งสว่างมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ด้วยค่าหนึ่งอันดับ คืออยู่ในช่วง 4.5-7.5 ซึ่งยังอยู่ในช่วงความสว่างที่มองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา
หากดาวหางมีความสว่างเป็นไปตามผลการคำนวณล่าสุด ลีเนียร์จะมีอันดับความสว่างเป็นไปตามตารางนี้
อุปราคาและดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2549 |
วัน เดือน ปี |
ค่าที่ตีพิมพ์ใน วารสารทางช้างเผือก ฉบับ พ.ย. 44 |
ค่าที่ปรับปรุงใหม่ (23 พ.ย.) |
10 พ.ย. 2544 |
7.4 |
8.4 |
20 พ.ย. 2544 |
6.1 |
7.1 |
30 พ.ย. 2544 |
4.9 |
5.9 |
10 ธ.ค. 2544 |
4.6 |
5.6 |
20 ธ.ค. 2544 |
4.6 |
5.6 |
หมายเหตุ นักดาราศาสตร์มีวิธีในการกำหนดความสว่างของวัตถุท้องฟ้าทั้งหลายด้วยตัวเลขที่เรียกว่า "อันดับความสว่าง" หรือ "โชติมาตร" ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งสว่างมาก ค่าอันดับความสว่างที่น้อยกว่า 6.5 ลงมา เป็นความสว่างที่ดวงตาของเราจะมองเห็นได้ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท
ดาวหางลีเนียร์ในช่วงต่าง ๆ
1-15 พฤศจิกายน 2544
ต้นเดือนพฤศจิกายน ดาวหางลีเนียร์มีอันดับความสว่างประมาณ 9.4 และกำลังมีความสว่างที่เพิ่มขึ้น คาดว่ากลางเดือนนี้จะมีอันดับความสว่างประมาณ 7.8 สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ โดยดาวหางจะปรากฏคล้ายดาวฤกษ์ คือ มีใจกลางสว่าง แต่มีลักษณะเป็นฝ้ามัว ๆ โดยรอบ
แผนภาพแสดงตำแหน่งของดาวหางลีเนียร์ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส ระหว่างวันที่ 9-17 พฤศจิกายน 2544 ตัวเลขที่แสดงข้างดาวฤกษ์บางดวง แสดงอันดับความสว่างของดาวดวงนั้น
16-30 พฤศจิกายน 2544
ครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ดาวหางลีเนียร์จะเคลื่อนจากกลุ่มดาวเปอร์เซอุส เข้าสู่กลุ่มดาวแกะและกลุ่มดาวปลา ความสว่างของลีเนียร์จะเพิ่มขึ้นทุกวันประมาณวันละ 0.1 อันดับ คาดว่าปลายเดือนนี้จะมีอันดับความสว่างประมาณ 5.9 ซึ่งสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยกล้องสองตา อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้แสงจันทร์จะรบกวนการดูดาวหางได้โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ดาวหางจะยังคงปรากฏคล้ายดาวฤกษ์ หมอกของไฮโดรเจนรอบๆ นิวเคลียสของดาวหางยังคงทำให้ดาวหางมีลักษณะเป็นฝ้ามัวๆ โดยมีใจกลางสว่าง ซึ่งแตกต่างจากดาวฤกษ์ทั่วไป หางของดาวหางอาจยังไม่ปรากฏให้เห็นได้ง่ายนัก แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ว่าฝ้ามัวๆ รอบดาวหางไม่เป็นสมมาตรกัน คือด้านหนึ่งดูจะมีส่วนยืดออกไป
จากการสังเกตดาวหางลีเนียร์ด้วยกล้องสองตาขนาด 10x50 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2544 พบว่าสามารถพบดาวหางได้ง่าย หากทราบตำแหน่งที่แม่นยำของดาวหางแล้ว แต่หางของดาวหางยังคงไม่เด่นชัดนัก

แผนภาพแสดงตำแหน่งของดาวหางลีเนียร์ ระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2544 ดาราจักรอันโดรเมดาปรากฏอยู่ทางซ้ายด้านบนของแผนที่ ด้านล่างของแผนที่ คือกระจุกดาวลูกไก่ในกลุ่มดาววัว
1-15 ธันวาคม 2544
ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2544 ลีเนียร์มีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ดาวหางเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวเซตุส ความสว่างของลีเนียร์จะคงที่อยู่ที่อันดับความสว่างประมาณ 5-6 ซึ่งสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยกล้องสองตา

แผนภาพแสดงตำแหน่งของดาวหางลีเนียร์ ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2544 ตำแหน่งของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าดูได้จากแผนที่ฟ้าแบบหมุนของสมาคมดาราศาสตร์ไทย
16-31 ธันวาคม 2544
ครึ่งหลังของเดือน ลีเนียร์จะถูกรบกวนจากแสงของดวงจันทร์และอยู่ค่อนข้างต่ำใกล้ขอบฟ้าทางทิศใต้ ขณะนี้ดาวหางเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวนกกระเรียน โดยสามารถสังเกตตำแหน่งของดาวหางได้จากดาวสว่างสองดวง คือ โฟมาลโอท์และอะเคอร์นาร์ ห่างจากดาวหางออกไปทางขวามือคือดาวอังคาร (ไม่ได้แสดงในภาพ) ขณะที่ความสว่างของดาวหางค่อนข้างคงที่ๆ ประมาณ 5-6 ซึ่งสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยกล้องสองตา จากการสังเกตดาวหางเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่าหางของดาวหางปรากฏชัดเจนในทิศทางพุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ

แผนภาพแสดงตำแหน่งของดาวหางลีเนียร์ ระหว่างวันที่ 16-31 ธันวาคม 2544 ตำแหน่งของกลุ่มดาวบนท้องฟ้าดูได้จากแผนที่ฟ้าแบบหมุนของสมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดูเพิ่ม