จดหมายถึง thaiastro

"Danai Sungying" [sungying@newmail.net]

ขอความกระจ่างด้วยนะครับ ผมมีข้อสงสัยว่านอกโลกที่ว่าเป็นอวกาศนั้นมีลักษณะอย่างไร ทำไม่ถึงเรียกว่าอวกาศ มันไม่มีออกซิเจน มันไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ใช่หรือไม่ อย่างไร แล้วทำไมมันไม่ดึงอากาศจากโลกออกไปหมด และเมื่อ คาร์บอนไดออกไซด์หรือออกซิเจนหลุดออกไปอยู่ในอวกาศจะมีลักษณะอย่างไร แตกตัวออกเป็นสารเดียว ๆ ใช่หรือไม่ช่วยตอบให้หายข้องใจด้วยนะครับ ขอบคุณ

thaiastro

อวกาศ ก็คือไม่มีอากาศ แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ถึงกับว่างเปล่าเสียทีเดียว แต่จะมีอนุภาคต่าง ๆ เช่น อิออน และอะตอม ก๊าซ นอกจากสสารต่าง ๆ แล้วก็ยังมีสนามแม่เหล็ก และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกย่านความถี่ที่เกิดมาจากสารพัดแหล่งซึมซ่านไปทั่วทุกหัวระแหงของอวกาศ
ถ้าเป็นอวกาศในบริเวณระบบสุริยะ อนุภาคส่วนใหญ่ในอวกาศจะมาจากลมสุริยะ และก็อาจจะมีฝุ่น ที่เกิดจากการกระทบกระแทกระหว่างดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ด้วยก็ได้ อวกาศบริเวณที่โลกโคจรอยู่นี้ คาดว่ามีความหนาแน่นประมาณ 8 อนุภาคต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
บริเวณที่ห่างไกลออกไปจากระบบสุริยะมาก ๆ ถึงแม้ว่าจะพ้นอาณาเขตของลมสุริยะไปแล้ว แต่ก็ยังมีอนุภาคกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปอยู่ดี โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ในระนาบของกาแล็กซี ส่วนใหญ่จะเป็นอะตอมหรืออิออนของไฮโดรเจน แต่ก็ยังมีฝุ่นหรือโมเลกุลของสารประกอบบางอย่างเช่นน้ำหรือแอมโมเนียในบางพื้นที่ปนด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่ก๊าซไม่แพร่กระจายสู่อวกาศหมด เพราะก๊าซจะถูกกักเอาไว้ด้วยแรงดึงดูดของโลก อย่างไรก็ตาม การแพร่ของก๊าซในบรรยากาศโลกสู่อวกาศนั้น อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ครับ นักดาราศาสตร์คาดว่าอะตอมไฮโดรเจนในบรรยากาศเบื้องสูงน่าจะไวและเบาพอที่จะหลุดออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่กรณีนี้ยังไม่มีพบหลักฐานจริง ๆ เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ส่วนก๊าซออกซิเจนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นโมเลกุลนั้นไม่สามารถจะลอยไปไหนได้ไกล มันคงจะถูกทำลายไปตั้งแต่ตอนที่อยู่ในบรรยากาศเบื้องสูงแล้วครับ ยิ่งเหนือชั้นบรรยากาศแล้วยิ่งยากที่จะคงสภาพของโมเลกุลอยู่ได้ เพราะจะถูกทำลายโดยอนุภาคพลังงานสูงจนหลุดเป็นอะตอมหรืออิออน ตามความเข้าใจของคุณ Danai ครับ

วิมุติ วสะหลาย


"ธนพงศ์ เลิศตระการสกุล" [tping@chaiyo.com]

อยากทราบว่าตอนนี้มีดาวหางอะไรใหม่ๆจะมาเยือนโลกบ้างครับ และมีรายละเอียดอะไรบ้างครับ มีข่าวเกี่ยวกับดาราศาสตร์อะไรที่น่าสนใจบ้างครับ ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าครับ

thaiastro

คุณธนพงศ์สามารถติดตามข่าวดาราศาสตร์ที่น่าสนใจได้ที่หน้าข่าวในโฮมเพจของสมาคม [https://thaiastro.nectec.or.th/news/blletin.html] ได้อยู่แล้วนะครับ ซึ่งข่าวที่ลงก็มักจะมีข่าวเด่น ๆ อยู่ตอนละ 1 ข่าวเป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว ช่วงนี้ข่าวที่ดังเป็นพิเศษก็คือ การพบร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร เป็นน้ำที่มีอยู่ ไม่ใช่น้ำในอดีตเป็นล้านปีก่อนอย่างที่เคยพบมานานแล้ว ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงตื่นเต้นกันมาก คาดว่า ข่าวดาราศาสตร์ในเว็บฉบับเดือนกรกฎาคมนี้อาจจะมีลงเป็นรายงาพิเศษก็ได้ครับ
ดาวหางใหม่ ๆ คุณสามารถดูได้จากเว็บดาวหางของนาซาโดยตรงครับ คือที่ http://encke.jpl.nasa.gov ในช่วงนี้ ดาวหางที่เด่นที่สุด ไม่มีใครเกินดาวหางลิเนียร์ คุณคงได้อ่านจากเพจ ปรากฏการณ์ท้องฟ้า [https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html] ของคุณวรเชษฐ์แล้วนะครับ มันจะสว่างที่สุดเดือนนี้ครับ
ขอเรียนตรง ๆ ว่าเพิ่งมีเวลามาสะสางจดหมายซึ่งมีหลายสิบฉบับ ขออภัยอย่างยิ่งครับที่ตอบช้ามาก ๆ

วิมุติ วสะหลาย


buranarak [buranarak@hotmail.com]

อยากทราบว่า ดาวคันไถ่อยู่ตรงทิศไหน สังเกตอย่างไร ตำแหน่งที่ผมอยู่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ขอบคุณครับ
บูรณะรักษ์ธรรม

thaiastro

ดาวคันไถ เป็นชื่อเรียกดาวสามดวง สว่างเอาการ สังเกตง่าย เรียงกันเป็นเส้นเกือบตรง เว้นช่องห่างเท่า ๆ กัน สว่างเท่า ๆ กัน ทั่วทั้งท้องฟ้ามีดาวเรียงกันเป็นรูปแบบนี้อยู่แห่งเดียวเท่านั้นครับ ดาวคันไถ อยู่ในกลุ่มดาวเต่า (ชื่อไทย) หรือกลุ่มดาวนายพราน (แบบฝรั่ง) ถ้าเป็นช่วงนี้จะเห็นยากหน่อยครับ คุณบูรณะจะเห็นดาวไถขึ้นทางขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย เวลาประมาณเกือบเช้ามืดใกล้สว่าง เอาไว้รอช่วงหน้าหนาวจะเห็นได้ทั้งคืนเลยทีเดียวครับ

วิมุติ วสะหลาย


suradech juntaduang [sura_quartz@yahoo.co.uk]

สวัสดีครับ
ผมได้เปิดหาดูข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อเขียนรายงาน และผมได้พบ e-mail ของท่านผมจึงอยากให้ท่านช่วยตอบคำถามให้ผมด้วย
คือเรื่องที่ผมเขียนเป็นเรื่องของดาวหาง และจะมีหัวข้อหนึ่งพูดถึง "ดงดาวหาง" ผมจึงอยากขอทราบข้อมูลของเรื่องนี้ครับ

ขอขอบคุณมาก

thaiastro

ดงดาวหาง หมายถึงบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิดของดาวหาง หรือวัตถุคล้าย ๆ กับดาวหางครับ
ปัจจุบัน มีดงดาวหางอยู่สองแห่งครับ คือ ดงดาวหางออร์ต (Oort's Cloud) หรือ เมฆออร์ต เป็นแหล่งกำเนิดของดาวหางคาบยาวต่าง ๆ หรือดาวหางที่มาครั้งเดียวแล้วไม่มาอีกเลย ดาวหางฮัลเลย์ ดาวหางเฮล-บอพพ์ ก็น่าจะมีแหล่งกำเนิดมาจากเมฆออร์ตนี้ครับ ดงดาวหางออร์ตนี้เชื่อว่าเป็นกลุ่มล้อมรอบระบบสุริยะเป็นทรงกลม อยู่ห่างจากโลกราว 1-2 ปีแสง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพบดงดาวหางออร์ตจริง ๆ เลยครับ แต่พบสิ่งที่คล้าย ๆ กับดงดาวหางออร์ตในดาวฤกษ์ใกล้เคียงดวงอื่นบ้างเหมือนกัน
ดงดางหางอีกชนิดคือ แถบไคเปอร์ (Kuiper belt) แถบไคเปอร์นี้มีการค้นพบแล้วครับ จนถึงเดี๋ยวนี้เขาพบวัตถุขนาดใหญ่ ๆ ในแถบนี้จำนวนหลายสิบดวงเลยทีเดียว อยู่ไม่ไกลจนเกินไปนัก คือบริเวณวงโคจรของดาวเนปจูนและเลยออกไปนิดหน่อยครับ เชื่อว่าแถบไคเปอร์นี้เป็นแหล่งกำเนิดดาวหางคาบสั้นต่าง ๆ
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า แต่เดิมนั้น วัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในดงดาวหางเหล่านี้ เคยอยู่ในบริเวณระบบสุริยะชั้นใน ๆ นี้เอง เช่นเดียวกับโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ฝุ่นก๊าซต่าง ๆ มีการรวมตัวกันเป็นวัตถุเล็กใหญ่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เหมือนกับแข่งกันสร้างเนื้อสร้างตัว วัตถุบางดวงใหญ่ บางดวงเล็ก ในยุคเริ่มแรกนั้น ดวงอาทิตย์ยังไม่มีลมสุริยะออกมาครับ รอบ ๆ ดวงอาทิตย์เต็มไปด้วยฝุ่นก๊าซและวัตถุที่กำลังจะกลายเป็นดาวเคราะห์จำนวนมาก แต่เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มสาดลมสุริยะออกมา วัตถุเล็ก ๆ จึงถูกพัดออกไปกองอยู่ไกล ๆ เป็นดงดาวหางที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนวัตถุชิ้นที่ใหญ่หน่อยก็อาจจะไม่ถูกพัดออกมา ยังคงอยู่ไม่ไกลจากตำแหน่งเดิมมากนัก ต่อมาวัตถุพวกนี้ก็กลายมาเป็นดาวเคราะห์นั่นเอง
หวังว่าพอจะเข้าใจบ้างนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


"mutita wutikumpoln" [mutita19@hotmail.com]

เรียนคุณวิมุติ
ก่อนอื่นดิฉันขอแนะนำตัวเองก่อนนะคะ ดิฉัน มุทิตา วุฒิกัมพล เป็นนิสิตปริญญาโทของสหสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันมีความสนใจในเรื่องพายุสุริยะ และได้มีโอกาสได้อ่าน "เรื่องจริงของพายุสุริยะ" ใน web site หนึ่ง และขณะนี้ดิฉันได้ลงเรียนวิชา atmosphere และคิดว่าบทความของคุณเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนของดิฉัน ดังนั้นดิฉันจึงอยากขอความกรุณาถามคำถาม นะคะ ผลกระทบของพายุสุริยะที่นอกจากการเกิดผลกับชั้นบรรยากาศที่ใช้ในการสะท้อนคลื่น ในการสื่อสารแล้ว ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอากาศภายในโลกไหมคะ อาทิ การ ก่อให้เกิดมลสาร มลภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฤดูกาล หรือทิศทางลม หรือ อย่างอื่น น่ะค่ะ
ขอความกรุณา ตอบคำถามมาที่ mutita19@hotmail.com นะคะ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ

มุทิตา วุฒิกัมพล

thaiastro

เรียน คุณมุทิตา
ตามที่เคยมีรายงานมา ผลกระทบจากพายุสุริยะมีเพียงผลกระทบกับดาวเทียมกับระบบไฟฟ้าเท่านั้น ส่วนผลกระทบด้านอื่นยังไม่มีเป็นที่ยืนยัน
ผลกระทบด้านบรรยากาศย่อมมีแน่ครับ เขาพบว่า การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบรรยากาศเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบนดวงอาทิตย์นั้น มีมากกว่าผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกเสียอีก นอกจากนี้ พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่กระทบบรรยากาศก็มีผลต่ออัตราส่วนขององค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศโลกอีกด้วย แต่ผลกระทบนี้ไม่ใช่ผลกระทบที่ร้ายแรงจนถึงขั้นที่เรียกว่ามลภาวะ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเสมอตลอดเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา จึงถือว่าเป็นเรื่องปรกติครับ
เคยมีผู้แสดงความกังวลว่า สนามแม่เหล็กโลกที่ปั่นป่วนเนื่องจากพายุสุริยะอาจทำให้สัตว์บางอย่างที่ใช้สนามแม่เหล็กโลกอย่างเช่น นก ช่วยในการบอกทิศจะหลงทางได้ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันแต่อย่างใด แม้แต่ประเด็นที่ว่านกสามารถตรวจวัดสนามแม่เหล็กโลกได้ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยัน เพราะจากการทดลองพบว่า นกใช้การสังเกตอย่างอื่น ไม่ใช่สนามแม่เหล็ก มีเพียงชนิดหรือสองชนิดเท่านั้น ที่มีการยืนยันว่าสามารถตรวจจับสนามแม่เหล็กโลกได้ แต่จะได้รับผลกระทบอย่างไรกับพายุสุริยะนั้นก็ยังไม่มีรายงานออกมาครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Rattana Buranarakdham" [buranarak@hotmail.com]

อยากทราบข้อมูลของดาวหางที่ค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีอิทธิพลกับโลกมากน้อยแค่ไหน

ขอบคุณครับ
บูรณะรักษ์ธรรม

thaiastro

ไม่ทราบว่าดาวหางดวงไหนหรือครับ คือดาวหางมีการพบใหม่อยู่เสมอ ๆ แต่ถ้าหมายถึงดวงที่กำลังดังอยู่คือ Linear S4 แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลด้านไหน ถ้าในด้านสังเกตการณ์ คุณวรเชษฐ์ได้เขียนไว้ละเอียดแล้วที่หน้า "ปรากฎการณ์ท้องฟ้า" [https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html] และลงในวารสารทางช้างเผือกฉบับกรกฎาคมนี้ด้วย แต่ถ้าอยากทราบรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ความสว่างที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน หรือเกี่ยวกับผู้คนพบ หรือพารามิเตอร์ของวงโคจรของดาวหาง ต้องตามไปดูที่เว็บของนาซาครับ คือ http://encke.jpl.nasa.gov
ส่วนอิทธิพลต่อโลกนั้น ก็ต้องแจงอีกทีครับว่า อิทธิพลในแง่ไหน ในแง่สังคม เศรษฐกิจ ก็มีครับ คือทำให้คนตื่นตัวเกี่ยวกับดาราศาสตร์มากขึ้น (จำนวนสมาชิกของสมาคมฯ กระเพื่อมสูงขึ้นทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ท้องฟ้า) แผนที่ฟ้าของสมาคมก็ขายดีขึ้น คนขายกล้องขายดีมากขึ้น คนแหงนดูท้องฟ้ากันมากขึ้น นักดาราศาสตร์สุขภาพทรุดลงเพราะอดนอน แต่ถ้าหมายถึงหายนะภัยทำนองนั้น ก็ตอบได้สั้น ๆ ว่า ไม่มีครับ ถ้ามันจะชนโลกก็ค่อยว่าไปอย่าง

วิมุติ วสะหลาย


Nantawan Poti [u3903108@cm.edu]

1. บนหน้าเว็บเพจไม่ทราบว่าทำไมตัวหนังสือบรรยายถึงตกขอบด้านขวาไป ทั้งๆ ที่ หน้าจอยังไม่มีที่ว่างเหลืออยู่มาก ทำให้อ่านได้ไม่ครบข้อความ ขาดรายละเอียดที่ จะช่วยให้เข้าใจอย่างสมบูรณ์ น่าเสียดายค่ะที่บางครั้งก็อ่านไม่เข้าใจ เช่น เรื่องฮัมมิงสำรวจดาวหาง
วิศวกรจากศูนย์วิจัยเอมส์ของนาซาได้เสนอแนวคิดในการสำรวจและ เก็บตัวอย่างจากดาวหางแบบใหม่โดยตั้งชื่อว่า ภารกิจวิเคราะห์นิวเคลี.(ตัวหนังสือที่หายไป)..
แนวคิดนี้จะให้ยานสำรวจเคลื่อนเข้าใกล้นิวเคลียส...............................
2. น่าจะมีการนำบทความที่ลงในวารสารทางช้างเผือกมาลงบนเว็บฯบ้าง เพราะบางเล่มหาซื้อไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้จัดพิมพ์ใหม่

นันทวัน จ.เชียงใหม่

thaiastro

ขอขอบคุณคุณนันทวันมากครับที่แจ้งปัญหาให้ทราบ การจัดหน้าของเว็บเพจของเราไม่น่าจะมีปัญหาครับเพราะมีการเว้นวรรคและยังแทรกเครื่องหมายตัดคำไว้สำหรับบราวเซอร์รุ่นเก่า ๆ ด้วย ผมขอสันนิษฐานว่าปัญหาที่คุณพบเกิดจากการใช้ Netscape Navigator 4.x ซึ่งจะมีปัญหามากในการแสดงผลภาษาไทยและมีการจัดกรอบของข้อความ ไม่พบวิธีแก้ไข แม้แต่เวอร์ชันล่าสุดคือ 4.7 แต่ถ้าใช้ Netscape 3.x จะแสดงผลได้ถูกต้องครับ ยิ่งถ้าใช้ Internet Explorer จะแสดงผลภาษาไทยได้ดีและตัดคำได้เองด้วย ไม่ทราบว่าคุณใช้บราวเซอร์ตัวไหนอ่านหรือครับ ถ้าใช้ Netscape 4.x ก็ขอแนะนำให้ใช้ตัวอื่นดีกว่าครับ
แนวคิดที่จะให้บทความเก่า ๆ มาลงในเว็บนั้นอยู่ความคิดเลยครับ มีบทความที่น่าสนใจหลายเรื่องเลยทีเดียวที่น่านำมาลงเว็บ ต้องขอเวลาสักนิดครับ เพราะจะต้องขออนุญาตจากผู้เขียนเสียก่อน

วิมุติ วสะหลาย


"Na Ritthironnayoot" [ronnarith@hotmail.com]

สวัสดีครับ
ตอนนี้ผมกำลังทำ Project CAI เกี่ยวกับเรื่องระบบสุริยะแต่ผมยังมีข้อมูลไม่เพียงพอครับ จึงอยากจะรบกวนให้คุณช่วยส่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุริยะและดาวเคราะห์มาให้ หรือช่วยแนะนำหนังสือที่เกียวกับพวกนี้ก็ได้ครับ

ขอบพระคุณมากครับ

thaiastro

ข้อมูลที่จะทำ CAI ได้ คงเป็นข้อมูลทั่ว ๆ ไปของดาวเคราะห์และดาวหางต่าง ๆ และรูปสวย ๆ ขอแนะนำ "แผนที่ความรู้อวกาศ" ถ้าจำไม่ผิด จะเป็นของของสำนักพิมพ์รักลูก แต่ตอนนี้หายากแล้วครับ อีกเล่มหนึ่ง เล็กหน่อย แต่ก็ดี คือ Space Fact เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ของ Dorling Kindersley หาได้ตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ ทั่วไป มีเล๋มแปลด้วยครับ แปลโดย อ.นิพนธ์ ทรายเพชร หรือจะลองไปดูที่ร้าน Kinokuniya ห้างเอ็มโพเรียม และร้าน Asiabook สาขาสุขุมวิทดูบ้างนะครับ มีอะไรดี ๆ มากทีเดียว

วิมุติ วสะหลาย


"Mr.Somsak" [sjpt2499@ksc.th.com]

ขอความกรุณาช่วยผมตอบคำถามลูกสาววัย ๙ ขวบ ว่าฟ้าทำไมถึงมีสีฟ้า? ผมจนปัญญาจริง ๆ ครับ ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

สมศักดิ์
e-mail sjpt2499@ksc.co.th

thaiastro

คุณสมศักดิ์มีลูกสาวช่างถามอยากรู้อยากเห็นอย่างนี้น่าชื่นใจจริง ๆ ครับ หลานผมอายุ 9 ขวบเหมือนกัน ไม่เคยถามเลยครับ อ่านการ์ตูนทั้งวัน
คือว่าแสงอาทิตย์ที่เราเห็นสีขาว ๆ นี่ ไม่ได้มีสีเดียว แต่ประกอบด้วยสีต่าง ๆ ตามที่เราเห็นในรุ้งกินน้ำนั่นแหละครับ ทีนี้พอแสงอาทิตย์ส่องมายังโลกจะต้องผ่านบรรยากาศ เมื่อแสงกระทบฝุ่นและก๊าซในบรรยากาศก็จะส่องผ่านไปได้เสียส่วนใหญ่ ยกเว้นสีฟ้า สีฟ้าที่อยู่ในแสงแดดจะกระเจิงออกไปทุกทิศทุกทาง จึงดูเหมือนกับว่า ในบรรยากาศของเรามีเม็ดอากาศสีฟ้าลอยฟ่องเต็มไปหมด เราจึงมองเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าครับ หากโลกไม่มีบรรยากาศแล้ว ท้องฟ้าเราจะมืดสนิทครับ แม้แต่ในตอนกลางวัน ก็จะเห็นดวงอาทิตย์สว่างไสวอยู่ในท้องฟ้าดำสนิท ไม่โสภาเลย อธิบายง่าย ๆ อย่างนี้ ลูกสาวคุณสมศักดิ์คงเข้าใจได้แน่ ๆ

วิมุติ วสะหลาย


"Tanapun Thamgrang" [dear_tanapun@hotmail.com]

วิทยุดาราศาสตร์มีหน้าที่อะไร?

thaiastro

วิทยุดาราศาสตร์ไม่เคยได้ยินครับ มีแต่ดาราศาสตร์วิทยุ (Radio Astronomy)
ดาราศาสตร์วิทยุก็คือสาขาหนึ่งของดาราศาสตร์ที่ศึกษาท้องฟ้าในย่านความถี่วิทยุ ความถี่วิทยุเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง แต่มีความยาวคลื่นมากกว่าแสงที่ตาเรามองเห็น คลื่นวิทยุมีย่านความที่ที่กว้างมาก และมีคุณสมบัติพิเศษหลายด้าน เช่น ทะลุเมฆได้ สำรวจอวกาศด้วยคลื่นวิทยุจึงไม่กลัวเมฆ แถมยังสำรวจได้ทั้งกลางวันและกลางคืน กล้องโทรทรรศน์วิทยุก็จะมีรูปร่างไม่เหมือนกล้องทรงกระบอกทั่ว ๆ ไป แต่จะเป็นแบบจานเรดาร์แทน ดาราศาสตร์วิทยุช่วยให้เราได้รู้อะไรมากมายทีเดียวครับ การได้รู้จัก ควอซาร์ การได้รู้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีรูปร่างอย่างไร ก็ด้วยการศึกษาทางด้านดาราศาสตร์วิทยุนี่เองครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Alongkorn" [yeen_@hotmail.com]

สวัสดีครับ ผมกำลังสนใจเกี่ยวกับการดูดาว ดาราศาสตร์ ผมเข้าไปที่ Link จากทางสมาคมเห็นมี Freeware เยอะมาก ผมขอคำแนะนำว่าสำหรับมือใหม่ควรจะเล่นตัวไหนดี (ผมสนใจมากกว่าการรู้ว่า ดาวดวงนี้ชื่ออะไร อยู่ทิศไหน)

ด้วยความนับถือ

thaiastro

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ทดลองใช้ซอฟแวร์หลายๆ ตัวที่มีให้ดาวน์โหลด ก็เลยขอแนะนำให้ลองใช้ 4 ตัว ซึ่งคัดจากตัวที่ผมเคยทดลองใช้แล้ว คือ
1. Earth Centered Universe (ECU)
2. CyberSky
3. SkyMap Pro 6
4. Distant Suns 4
โปรแกรมแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสีย วิธีการใช้งานแตกต่างกัน อาจต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับปุ่มใช้งานบ้าง แต่ถ้าใช้บ่อยๆ ก็จะคล่องไปเอง นอกจากโปรแกรม 4 ตัวนี้แล้วยังมีอีกหลายตัวที่น่าสนใจครับ บางตัวไม่ค่อยเหมาะสำหรับมือใหม่และบางตัว อย่างเช่น Starry Night Backyard ก็ดีมากแต่ว่าจำกัดเวลาใช้งาน ถ้าไม่รำคาญที่จะเปลี่ยนวันที่ก่อนใช้งานก็เป็นโปรแกรมที่น่าใช้ตัวหนึ่ง สำหรับตัวที่ผมใช้บ่อยที่สุดคือ SkyMap Pro ครับ เพราะว่ามีเครื่องมือใช้งานที่ดีและให้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้ ส่วน Distant Suns 4 นั้นตอนนี้กลายเป็น freeware แล้ว เป็นตัวที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ผมใช้ไม่บ่อยเท่าไหร่ จะใช้ในบางกรณีเท่านั้น

วรเชษฐ์ บุญปลอด


"Tanapun Thamgrang" [dear_tanapun@hotmail.com]

ดาราจักรใดที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด

thaiastro

ดาราจักรที่ชื่อว่า Sagitarius Dwarf (น่าจะเรียกเป็นไทย ๆ ว่า ดาราจักรแคระคนยิงธนู) เป็นกาแล็กซีแบบวงกลม อยู่ห่างจากใจกลางดาราจักรทางช้างเผือกประมาณ 50,000 ปีแสงเท่านั้นเอง หรือเรียกได้ว่าอยู่ที่ขอบดาราจักรทางช้างเผือกพอดีเลยครับ ถ้าคุณ Tanapun ไปค้นในหนังสือดูอาจไม่พบชื่อนี้ เพราะดาราจักรนี้เขาเพิ่งค้นพบเมื่อราว ๆ ปี 38 นี้เองครับ

วิมุติ วสะหลาย


"Thanipat Niyamanont" [love_icetea@hotmail.com]

สวัสดีครับ
ผมต้องการรบกวนขอข้อมูลเกี่ยวกับ "เวลาและตำแหน่งขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ตลอดปี" ต้องการเอาไปทำรายงายครับ หรือไม่ก็บอกหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ผมทราบก้ได้ครับ ผมขอก่อนวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 จะสะดวกไหมครับ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรน่ะครับ ขอบคุณครับ

ด้วยความเคารพ
นายธนิภัทท์ นิยมานนท์

thaiastro

ไปที่นี่เลยครับ http://aa.usno.navy.mil/AA/data/ ละเอียดดีมาก

วิมุติ วสะหลาย


Nopporn Manoppong [m_nopporn@hotmail.com]

thanks for the red squirrel. hope to see more about environmental news,especailly in thailand or thai traditions vs astronomers/ astrologists. i'm nopporn old member n0 37 . bye now.

thaiastro

Thank you for your response. It is great to hear from a reader. I intend to write in that column anything that has relevance to astronomy, however small that may be. The next ones are about lost constellations and about stars in the paintings. I will keep in mind your suggested topics too.

Visanu E.


"Jack" [jack@siam2you.com]

สวัสดีครับ Webmaster Thaiastro.nectec.or.th
ผม ปรีชา คุณธรรมสถิต ผู้ช่วยฝ่าย Directory บริษัท สยามทูยู จำกัด http://www.siam2you.com มีความประสงค์จะขออนุญาต ใช้ข้อมูล และรูปภาพ เกี่ยวกับ ดาวหางลิเนียร์ เพื่อใช้ประกอบ หน้าเว็บเพจ ที่ทางส่วน Directory ต้องการจะนำเสนอให้กับผู้เข้าชม ได้ทราบถึง ประวัติความเป็นมา การค้นพบ และวิธีการดูดาวหางอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถ เกี่ยวกับเรื่องดาวหางอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัท สยามทูยู จึงขอความอนุเคราะห์ท่าน โปรดอนุญาต ให้เรานำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง ดาวหางลิเนียร์ มาเผยแพร่ ในเว็บไซต์ของเรา ซึ่งทางเราต้องขอความกรุณาท่าน โปรดทำหนังสือ ตอบรับและยินยอม ตอบกลับมากลับจดหมายฉบับนี้

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า
ด้วยความเคารพอย่างสูง
Preecha Khunatamstit
Assistant to Directory Channel Director

thaiastro

เรียนคุณ Preecha Khunatamstit
โดยทางนโยบายของสมาคมดาราศาสตร์ไทยแล้ว สมาคมดาราศาสตร์ไทยยินดีที่จะเผยแพร่ข้อมูลทางด้านความรู้ให้กับประชาชนอยู่แล้ว โดยทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้นำเสนอข้อมูลผ่านสื่อ 3 รูปแบบคือ 1. ทางเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทยที่ https://thaiastro.nectec.or.th 2. ทางวารสารทางช้างเผือก ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนขนาด A4 4สี+ขาวดำ ซึ่งจัดส่งให้กับสมาชิกของสมาคมฯ และ3. จัดกิจกรรมนอกสถานที่เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับสมาชิก และประชาชนตามจังหวัดต่าง ๆ
ดังนั้นหากทาง siam2you.com มีความประสงค์เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ของทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยไปเผยแพร่โดยไม่หวังผลกำไร ทางสมาคมฯ ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ทาง Siam2you ติดต่อมาครั้งนี้
อนึ่ง ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย จะจัดส่งวารสารทางช้างเผือกเล่มปัจจุบันให้ทาง Siam2you.com เพื่อลองอ่านดูอีกทางหนึ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ
พรชัย อมรศรีจิรทร