จดหมายถึง thaiastro

สุวรรณ นาคเกษม (nakkasam@thaimail.com)

สวัสดีครับ
ผมมีปัญหามาถามมากมายครับ คือ
1. คำว่า "ผ่านแนวเมอริเดียน" หมายความว่าอะไร?
2. ดาวฤกษ์ดวงใดใหญ่ที่สุด?
3. ดาวเหนือในอนาคตคืออะไร?
4. เมือดวงอาทิตย์ดับ โลกจะเป็นอย่างไร?
5. ตัวอักษร M, NGC, IC หมายถึงอะไร?
6. อันดับความสว่างใดที่ตาเปล่ามองไม่เห็น?
7. กลุ่มดาวมีการเปลี่ยนรูปร่างหรือไม่?
8. จะเป็นสมาชิกในชมรมได้อย่างไร?
9. จะเข้าทำงานในสมาคมได้อย่างไร

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ขอตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
1. เมอริเดียน หมายถึงแนวที่ลากตั้งแต่ทิศเหนือ ผ่านจุดกลางศีรษระ ไปจนถึงทิศใต้ครับ เมื่อวัตถุใดผ่านแนวเมอริเดียนก็หมายความว่า วัตถุนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุดครับ
2. ดาวฤกษ์ดวงใหญ่ที่สุด จะเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในช่วงเป็นดาวยักษ์แดงครับ เช่น ดาวบีเทลจุส ดาวปาริชาต เป็นต้น เรื่องขนาดของดาวเหล่านี้มักไม่แน่นอนครับ ตัวเลขจากแต่ละตำราแต่ละสำนักแตกต่างกันมาก
3. แกนโลกของเรามีการแกว่งตัวเป็นมุม 23.5 องศา ซึ่งจะแกว่งครบหนึ่งรอบทุก ๆ 26,000 ปี ดังนั้นดาวฤกษ์ดวงใดก็ตามที่อยู่ในแนวที่ขั้วเหนือจะพาดผ่าน ก็มีสิทธิเป็นดาวเหนือทั้งนั้น ดวงที่เด่น ๆ คือ ดาวทูบัน และดาววีก้าครับ
4. ข้อนี้ตอบได้หลายอย่างครับ เพราะไม่แน่นักว่า ตอนที่ดวงอาทิตย์ดับ จะยังมีโลกเหลืออยู่อีกหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้าที่ดวงอาทิตย์จะดับไปเป็นดาวแคระดำ ดวงอาทิตย์จะพองตัวใหญ่ขึ้นหลายร้อยเท่า น้ำบนโลกจะระเหยหมด สิ่งมีชีวิตบนโลก (ถ้ายังมีอยู่) ก็จะตายไม่เหลือ ดาวพุธกับดาวศุกร์ และอาจจะรวมถึงโลกด้วย จะถูกดวงอาทิตย์กลืนไป หรืออาจจะผลักโลกออกมาสู่ระบบสุริยะชั้นนอกก็ได้ ถ้าโลกถูกดวงอาทิตย์กลืนไป ก็น่าจะถือว่า โลกได้อวสานไปตั้งแต่ตอนนี้ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะหดตัวลงไปเป็นดาวแคระขาวและหลังจากนั้นอีกหลายหมื่นล้านปีจึงจะดับลงอย่างสมบูรณ์เป็นดาวแคระดำ
5. ตัวย่อทั้ง M, NGC และ IC เป็นชื่อเรียกรายชื่อของวัตถุท้องฟ้าครับ มีการเรียกชื่อแบบเดียวกันคือ ใช้อักษรชื่อของรายชื่อตามด้วยเลขลำดับ เช่น M1, M5, NGC 5128, IC 433 เป็นต้น M คือแคตาล็อกเมสสิเยร์ เป็นเป็นแคตาล็อกที่ไม่ใช้ในทางวิชาการ แต่เป็นที่นิยมแพร่หลายที่สุด ส่วน NGC (New General Catalog) เป็นแคตาล็อกที่เรียบเรียงขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ เจ.แอล.อี เดรเยอร์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1888 วัตถุท้องฟ้าในแคตาล็อก NGC อาจซ้ำกับวัตถุในแคตาล็อกเมสสิเยร์ก็ได้ เช่น เนบิวลานายพราน มีชื่อว่า NGC 1976 หรือ M42 ต่อมาเดรเยอร์ได้เรียบเรียงรายชื่อวัตถุท้องฟ้าเพิ่มเติมขึ้นมาอีก โดยตั้งเป็นแคตาล็อกใหม่ในชื่อว่า IC (Index Catalog) ซึ่งวัตถุใน IC กับ NGC จะไม่ซ้ำกัน
6. โดยทั่วไป คนสายตาปกติจะมองเห็นดาวที่จางที่สุดที่อันดับความสว่าง 6 ครับ ดังนั้นดาวที่มีอันดับความสว่างมากกว่า 6 (จางกว่า) ก็จะมองไม่เห็น แต่จริง ๆ แล้วก็มีคนสายตาดีหลายคนที่สามารถมองเห็นดาวที่จางกว่าอันดับความสว่าง 6 ได้
7. เนื่องจากดาวฤกษ์ทุกดวงมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา และแต่ละดวงก็มักจะเคลื่อนที่กันไปคนละทิศคนละทาง ดังนั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปนาน ๆ กลุ่มดาวจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างครับ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนี้ช้ามาก การจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลานานนับหมื่นปีขึ้นไป ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ภายในชั่วอายุคน ดังนั้นในบางครั้งเราอาจถือว่ารูปร่างของกลุ่มดาวและตำแหน่งดาวไม่มีการเคลื่อนที่ได้เหมือนกัน
8. โปรดอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ที่หน้า "สมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ไทย" (https://thaiastro.nectec.or.th/member.html) ครับ
9. การเข้าทำงานในสมาคมดาราศาสตร์ไทย หากหมายถึงเป็นพนักงานประจำนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าสมาคมดาราศาสตร์ไทยไม่มีพนักงานจำนวนมาก ๆ อย่างสำนักงานอื่น ๆ จริง ๆ แล้วสำนักงานของสมาคมฯ ดูไม่ค่อยเหมือนสำนักงานด้วยซ้ำไป ปัจจุบันนี้สมาคมฯ มีเจ้าหน้าที่ประจำเพียงหนึ่งคนเท่านั้น และขณะนี้ยังไม่มีการรับเพิ่มเติมครับ คนส่วนใหญ่ที่ทำงานให้กับสมาคมฯ จะเป็นการทำงานแบบอาสาสมัครครับ ซึงมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคมฯ เขียน/แปลบทความ หรือข่าว มายังวารสารทางช้างเผือก หรือโฮมเพจสมาคมฯ บางคนเริ่มต้นด้วยการสมัครเข้าร่วมโครงการดาราศาสตร์สัญจรหรือโครงการอื่น ฯ แล้วก็ช่วยเหลืองานต่าง ๆ จะช่วยด้วยความเวทนาที่เห็นว่าสมาคมขาดกำลังคนหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อช่วยทำงานแล้วเกิดความสุขและสนุกกับการทำงานเพื่อส่วนรวม จึงเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมเรื่อยมาจนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในทีมงานในที่สุด คนที่เข้ามารูปแบบนี้มีหลายคน และมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในความสำเร็จต่าง ๆ ของกิจกรรมที่ผ่านมาของสมาคมฯ ตัวผมเองก็เข้ามาทำงานให้กับสมาคมฯ ด้วยรูปแบบนี้ครับ

วิมุติ วสะหลาย


jarin thaikham (thaiufo@hotmail.com)

อยากทราบ WEB SITE ต่างประเทศที่เสนอข่าวดาราศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่สุด ขอบคุณครับ

thaiufo@hotmail.com

ถ้าเป็นข่าวดาราศาสตร์ ก็น่าจะเป็น NASA Science News (http://science.nasa.gov/) ครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเว็บอื่น ๆ ไม่น่าเชื่อถือนะครับ ส่วนใหญ่ที่เป็นเว็บของนาซาหรือเว็บของมหาวิทยาลัยก็ถือว่าน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานอยู่แล้วครับ ข่าวดาราศาสตร์ที่อยู่ในโฮมเพจของสมาคมดาราศาสตร์ได้ มักจะแปลมาจาก www.spaceviews.com เป็นข่าวที่คัดมาจากหลายแหล่ง และเรียบเรียงมาไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป

วิมุติ วสะหลาย


u4001167@student2.mahidol.ac.th

ไม่ทราบว่า เมนูใด ที่จะหาข่าวดาราศาสตร์ปัจจุบัน หรือความคืบหน้าเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ขอบคุณครับ

JEABSI@HOTMAIL.COM

ถ้าหมายถึงข่าวในโฮมเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทย ก็อยู่ที่ https://thaiastro.nectec.or.th/news/blletin.html ครับ มีลิงก์อยู่ที่หน้าหลักตรงที่ซ้ายบน สีน้ำเงินเห็นชัด ๆ ครับ แต่ถ้าหมายถึงข่าวจากต่างประเทศก็ลองดูลิงก์ที่อยู่ด้านล่างของหน้าข่าวนี้อีกทีครับ

วิมุติ วสะหลาย


ทรงพล

ถามปัญหาดาราศาสตร์ว่าดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกกี่ปีแสง?

ทรงพล

0.0000158 ปีแสง หรือ 8.3 นาทีแสงครับ

วิมุติ วสะหลาย


weerapon sudchada (roadway2000@hotmail.com)

สวัสดีครับ
คือผมมีความสนใจในดาราศาสตร์มาก ถ้าผมจะเป็นสมาชิกของสมาคมดาราศาสตร์ไทยต้องทำอย่างไรบ้างครับ

Procion

รายละเอียดอยู่ในหน้า "สมาชิก" (https://thaiastro.nectec.or.th/member.html) ครับ

วิมุติ วสะหลาย


สุวรรณ นาคเกษม (nakkasam@thaimail.com)

สวัสดีครับ ขอบคุณเป็นอย่างมากครับที่ตอบจดหมายผม ผมก็ต้องรบกวนพี่เป็นประจำ (ขออนุญาติเรียกพี่นะครับ) ผมติดตามเว็บ ขอทางสมาคมมานาน และผมก็ชอบเรื่องดาราศาสตร์มาก เห็นทางสมาคมบอกว่ามีการอบรมเรื่องทางดาราศาสตร์ ผมก็อยากไป แต่ผมอยู่ต่างจังหวัด ทั้งยังเรียนอยู่ครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ

นับถือ
นายสุวรรณ นาคเกษม (LEONIDE / CQ.)

เรื่องการอบรมทางดาราศาสตร์รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ เกือบทุกครับจะจัดในวันหยุดสุดสัปดาห์ครับ การที่คุณอยู่ต่างจังหวัดและเรียนอยู่ก็ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก ผู้ร่วมกิจกรรมที่ผ่านมาของสมาคมฯ หลายคนก็เดินทางมาจากต่างจังหวัดครับ

วิมุติ วสะหลาย


defaultuser@domain.com

คือผมเคยเห็นทางสมาคมดาราศาสตร์ได้สอนการทำกล้องดูดาวอย่างง่ายที่ใช้ท่อพีวีซีน่ะครับ แต่ตอนนั้นไม่ได้จดไว้ ขอความกรุณาช่วยบอกแหล่งหรือวิธีทำแบบคร่าว ๆ หน่อยนะครับ

ขอบคุณครับ
วิทยา ประสมทอง
wittaya@mut.ac.th

เรื่องการสร้างกล้องดูดาวอย่างง่ายเคยมีติพิมพ์ในวารสารทางช้างเผือกฉบับ มกราคม-มีนาคม 2538 และ เมษายน-มิถุนายน 2538 ครับ นอกจากนี้ทางสมาคมยังมีกิจกรรมอบรมการสร้างกล้องดูดาวอยางง่ายอยู่เสมอ ลองโทรสอบถามที่สมาคมได้โดยตรงครับว่ารุ่นต่อไปจะจัดเมื่อใด ผู้เข้าร่วมอบรมนอกจากจะได้ลงมือประกอบกล้องและได้กล้องกลับบ้านไปหนึ่งอันแล้ว ยังจะได้เรียนรู้เรื่องทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับกล้องดูดาว และรู้จักกับกล้องดูดาวชนิดต่าง ๆ อีกด้วยครับ

ผมเคยอธิบายหลักการการสร้างกล้องอย่างคร่าว ๆ ไปแล้วในจดหมายของคุณ pjew เมื่อเดือนมกราคม 2541 ลองดูที่หน้า "จดหมายถึง thaiastro" (https://thaiastro.nectec.or.th/letters/letters.html) นะครับ

วิมุติ วสะหลาย


SORNNARIN TOPPARAT (sornnarin@usa.net)

สวัสดีครับ คุณวรเชษฐ์
ตอนนี้เครื่องของผมได้ลง Netscape 4.51 ไว้นะครับ ผมเปิด page ของคุณวรเชษฐ์ดูแล้วพบว่า ที่คุณวรเชษฐ์ใส่ <WBR> ไว้มันใช้กับ Netscape 4.51 ไม่ได้ครับ การตัดคำถูกต้องแล้ว (ผมดูที่ source) แต่ Netscape แสดงผลผิดครับ ผมจึงใช้โปรแกรมของ Nectec ใส่ <WBR> อีกครั้งดู ผลปรากฎว่า เหมือนกันคือ Netscape ก็ยังแสดงผิดอยู่ดี เมื่อผมทดลองกับ IE 4 นั้นแสดงผลถูกต้องครับ ไม่ทราบว่า Netscape เวอร์ชันเก่ายังแสดงได้ถูกต้องหรือเปล่าครับผม
ผมอยากทราบว่าเซิฟเวอร์ที่ thaiastro อยู่นี้อยู่บนระบบ Unix, Windows NT, หรือ Linux ครับ? บางทีผมอาจเขียน Webboard ให้ได้ครับ (เพิ่งเริ่มศึกษานะครับ) จะได้เป็นที่แลกเปลี่ยนข่าวสาร สำหรับสมาชิกได้เร็วขึ้นนะครับ

ศรนรินทร์ ตพรัตน์
สช.478

สวัสดีครับ
เรื่องการใส่ <WBR> ผมไม่ทราบมาก่อนว่าการแสดงผลใน Netscape เวอร์ชันใหม่มีปัญหา แต่สำหรับเวอร์ชั่นเก่าที่ผมใช้ คือ Netscape 3.04 ไม่มีปัญหาครับ เรื่องเซิฟเวอร์ ผมขอส่งต่อให้คุณวิมุติ ตอบนะครับ เพราะผมไม่ใช่คนดูแลระบบ ส่วนเรื่อง webboard ถ้ามีก็น่าจะดีครับ ให้คุณวิมุติตอบ เรื่องนี้ด้วยก็แล้วกันครับ

วรเชษฐ์


จดหมายฉบับนี้คุณวรเชษฐ์ส่งต่อมาให้ผมช่วยตอบครับ
ปกติผมใช้แต่ Netscape 3.04 กว่าผมจะตอบจดหมายนี้ได้ต้องไปหา Netscape 4.51 มาติดและทดลองเสียก่อน จึงเสียเวลาไปบ้าง ขออภัยครับ จากการทดลองอ่านเว็บของสมาคมด้วย Netscape 4.51 พบว่าแสดงผลได้ถูกต้องครับ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด การปรับตั้งบราวเซอร์ของคุณคงมีปัญหากระมังครับ
เซิฟเวอร์ของสมาคมใช้ WindowsNT + IIS 4.0 ครับ ทางเราก็มีความคิดที่จะใส่เว็บบอร์ดลงไปเหมือนกันครับ ซึ่งช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองอยู่ครับ ขอบคุณคณศรนรินทร์มากครับที่เสนอความช่วยเหลือ สมาคมดาราศาสตร์ไทยเปิดกว้างเสมอสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะช่วยเหลือกิจกรรม หากคุณศรนรินทร์มีข้อคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเว็บหรือกิจกรรมอื่น ๆ กระผมและสมาคมฯ ยินดีอย่างยิ่งครับ

วิมุติ วสะหลาย


Dr.Kitti Kledmanee (kitti@bma.go.th)

ทำไมตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา จึงไม่มีกิจกรรมประจำเดือนเลย ผมเคยไปรอที่ท้องฟ้าจำลองในบ่ายวันอาทิตย์ปลายเดือน ต้องไปถามคุณลุงที่ร้านขายของหน้าท้องฟ้าจำลอง ทราบว่าไม่มี กิจกรรมดาราศาสตร์สัญจรยังคงมีอยู่อีกหรือไม่ ผมเลยไม่มีโอกาสได้ต่อสมาชิกภาพ

กิตติ

กิจกรรมบรรยายพิเศษจะเริ่มอีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคมครับ ดาราศาสตร์สัญจรติดฝน จึงไม่มีกิจกรรม ครั้งหน้าจะมีออกไปดู ฝนดาวตกเพอเซอิดส์ ราว ๆ วันที่ 13 สิงหาคม
ผมขอขอบคุณคุณกิตติ ที่ติดตามกิจกรรมของสมาคมฯ มาตลอด และขออภัยที่สมาคมฯ ขาดการติดต่อกับสมาชิกไปนานมาก

วิษณุ


SORNNARIN TOPPARAT (sornnarin@usa.net)

ขอบคุณมากครับที่ช่วยผมตรวจสอบเรื่อง WBR ให้ ผมคงต้องทดลองตรวจสอบจากที่อื่นบ้าง เนื่องจากปกติผมจะผ่าน Proxy ของ ม.เกษตรออกไปที่ www ต่าง ๆ แล้วผมจะทดลองให้ครับ ส่วนเรื่อง webboard นั้นยินดีช่วยเหลือครับ มือใหม่ครับ

ขอบคุณมากครับ
ศรนรินทร์


maphrao ja (maphrao@yahoo.com)

กล้องสองตาสำหรับนักดูดาวมือใหม่ ควรใช้กำลังขยายเท่าไรดีครับ? ตอบสั้น ๆ จากประสบการณ์ที่ใช้ ไม่ต้องมีข้อมูลวิชาการก็ได้ครับ (มีเยอะแล้วผมงง) แล้วก็ราคาโดยประมาณด้วยครับ

ขอบคุณครับ
maphrao@yahoo.com

กำลังขยายที่เหมาะสำหรับดูดาวโดยถือด้วยมือเปล่าคือประมาณ 7 - 10 เท่าครับ ไม่ควรเลือกกำลังขยายมากกว่านี้เพราะจะทำให้ภาพสั่นมาก แต่ถ้าต้องการใช้ขาตั้งกล้องด้วยก็อาจเลือกตัวที่กำลังขยายมากกว่านี้ได้ นอกจากนี้ขนาดหน้ากล้องก็สำคัญเหมือนกันครับ เพราะขนาดหน้ากล้องใหญ่ ๆ จะทำให้รวมแสงได้มากและมักทำให้มุมรับภาพกว้างกว่าด้วย หน้ากล้องยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่ราคาก็จะใหญ่ตามไปด้วย โดยทั่วไปกล้องสองตาที่เหมาะสำหรับการดูดาวคือ 7 x 42, 7 x 50, 10 x 50 ครับ

วิมุติ วสะหลาย


ChulaBoy 6996 (chulaboy6996@hotmail.com)

สวัสดีครับ
ผมชนินทร์ ละลิ่ว คนที่เคยทักท้วงความหมายของคำว่า perihelion กับคำว่า aphelion ไงครับ หวังว่ายังคงจำผมได้นะครับ เมื่อกี้ผมเข้าไปเยี่ยมชมโฮมเพจของสมาคมดาราศาสตร์ไทยมาอีกรอบ ก็อยากจะแสดงความเห็นอะไรบางอย่างน่ะครับ คือ

๑. ในหน้า"ผู้ทรงคุณวุฒิ"
๑.๑ คำว่า "กิติมศักดิ์" ควรเขียนว่า "กิตติมศักดิ์" จึงจะถูกครับ
๑.๒ "ม.ร.ว. บุตรี วีระไวทยะ" ควรเปลี่ยนเป็น "ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ" เพราะว่า คุณหญิง (ม.ร.ว.) บุตรี ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เมื่อวันฉัตรมงคลเมื่อปีที่แล้ว จึงมีคำนำหน้านามอย่างเป็นทางการว่า "ท่านผู้หญิง" นับตั้งแต่บัดนั้นมาครับ (เปรียบเหมือนกับพลเอกที่ได้รับเลื่อนยศเป็นจอมพล เราก็ควรจะให้เกียรติเรียกชื่อยศเขาให้ถูกต้องใช่ไหมครับ)
๒.ในหน้า"ปทานุกรมดาราศาสตร์"
๒.๑ คำว่า "เควซาร์" (quasar) [แต่ตัวผมเองชอบอ่านออกเสียงว่า "ควอซาร์" มากกว่า เพราะว่าคำนี้มาจากคำว่า "quasi" ซึ่งมักอ่านว่า "ควอซาย" (หรือ "ควอซี่") บวกกับคำว่า "stellar" กลายเป็น "ควอซาย-สเตลลาร์" เพราะฉะนั้นเวลากร่อนจึงเป็น "ควอซาร์"] ผมขอฝากเสนอต่อที่ประชุมสมาคมฯ ว่าน่าจะบัญญัติศัพท์คำนี้เป็นภาษาไทยว่า "อิวดารา" (อ่านว่า อิ-วะ-ดา-รา) ดีมั้ยครับ? เพราะคำว่า "quasi-" นั้นบัญญัติเป็นภาษาไทยไปแล้วว่า "อิว-" แปลว่า กึ่ง เสมือน คล้าย ส่วนคำว่า "stellar" ก็บัญญัติว่า "ดารา" แปลว่า ดาว ดวงดาว เพราะฉะนั้นคำว่า "quasi-stellar" จะบัญญัติเป็นไทย ๆ ว่า "อิวดารา" ก็ฟังดูเข้าทีนะครับ ผมว่า
๒.๒ คำว่า "พสุสงกรานต์เหนือ(ใต้)" ในหน้าปทานุกรมแปลไว้ว่า "พระอาทิตย์โคจรไปถึงจุดใกล้(ไกล)โลกที่สุด..." ผมว่าน่าจะแปลว่า "โลกโคจรไปถึงจุดใกล้(ไกล)ดวงอาทิตย์ที่สุด..." มากกว่านะครับ เพราะจริง ๆ แล้วโลกครับที่เป็นตัวโคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์โคจรรอบโลก ใช่ไหมครับ
ขอบคุณครับที่จะรับสิ่งที่ผมเสนอแนะมานี้ไว้พิจารณา

ด้วยความนับถือ
ชนินทร์ ละลิ่ว
บัณฑิตศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐมินเนโซต้า
สหรัฐอเมริกา

ขอขอบคุณคุณชนินทร์เป็นอย่างสูงครับ ที่ช่วยท้วงติงข้อผิดพลาดมาหลายครั้ง ผมได้แก้ไขจุดเหล่านั้นให้ถูกต้องแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาตอบจดหมายคุณชนินทร์วันนี้เอง
เรื่องคำว่า quasar นั้น ผมเคยใชัคำว่า "ควอซาร์" มาก่อน แต่มาได้ยินฝรั่งสองสามคนพูดว่า "เควซาร์" จึงทำให้ผมชักไขว้เขวมาเขียนตามปากฝรั่งไปว่า "เควซาร์" ซึ่งในขณะที่เขียนคำนี้ก็รู้สึกแปลก ๆ ตาเหมือนกันครับ ผมหาโอกาสเปลี่ยนกลับมาเป็น "ควอซาร์" หลายครั้งแล้ว แต่ก็ลังเลและผลัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา พอดีคุณศรนรินทร์ท้วงมา ผมจึงถือโอกาสเปลี่ยนเป็น "ควอซาร์" เสียทันทีเลย
คำว่า "อิวดารา" ของคุณชนินทร์ฟังดูเข้าท่ามากทีเดียว ตอนนี้สมาคมดาราศาสตร์ไทยกำลังจัดทำพจนานุกรมดาราศาสตร์ได้อยู่พอดี ผมจะเอาคำนี้ไปเสนอให้คณะกรรมการเรียบเรียงพิจารณาดูครับ
เรื่องคำอธิบายของคำว่า "พสุสงกรานต์เหนือ/ใต้" นั้น มันควรจะเป็นอย่างที่คุณบอกมาจริง ๆ ขอยอมรับผิดครับ

วิมุติ วสะหลาย


ksplastic (ksplas@asiaaccess.net.th)

หาพายุสุริยะไม่เจอ ช่วยบอกวิธีเข้า (ทุกขั้นตอน) ให้ด้วยค่ะ ขอบคุณมากคะ

คำถามสั้นจนไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ถ้าผมเดาไม่ผิด คุณคงต้องการหานิยามของคำว่า "พายุสุริยะ" ในหน้า "ปทานุกรมดาราศาสตร์" แต่หาไม่พบใช่ไหมครับ คำนี้ไม่ได้ซ่อนอยู่ที่ไหน แต่อยู่ในรูปของคำอื่น คือคำว่า "ลมสุริยะ" ครับ ลองหาดูคำนี้ในปทานุกรมอีกครั้งนะครับ มีแน่ ๆ พายุสุริยะผมเพิ่งได้ยินมาในช่วงนี้เอง เขาหมายถึงลมสุริยะที่รุนแรงกว่าปกติครับ

หากผมเดาคำถามของคุณผิด กรุณาเขียนมาบอกอีกทีนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


KHEMATAT SUWANPAKDEE-HOHO (400090@ptt.or.th)

เรียนคุณกฤษดา
กระผมใคร่ขอความกรุณาขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องพายุสุริยะของดวงอาทิตย์ ไม่ทราบว่าจะหาอ่านได้ที่แหล่งข้อมูลไหน และ website ของท้องฟ้าจำลองมี URL อะไร ขอบคุณมากครับ

เขมธัช สุวรรณภักดี
วิศวกร
ส่วนระบบและบริการสื่อสาร ศูนย์ระบบสารสนเทศ
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

สวัสดีครับ
ในการหาข้อมูลเกี่ยวกับพายุสุริยะนี้สามารถหาได้ตาม web site ต่าง ๆ มากมาย เราสามารถหาโดยการ search ผ่าน search engine ต่าง ๆ เช่น infoseek.com หรือ yahoo.com ก็ได้ โดยใช้คำสำคัญว่า "solar wind" เพราะว่าพายุสุริยะก็คือ ลมสุริยะที่แรง ๆ นั้นเอง web site ที่หน้าสนใจเกี่ยวกับ solar wind ได้แก่ http://fusedweb.pppl.gov/CPEP/Chart_pages/5.Plasmas/SolarWind.html http://imagine.gsfc.nasa.gov/docs/science/know_l1/sun.html

ส่วน web site ของท้องฟ้าจำลองอยู่ในโฮมเพจของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ที่ http://www.sci-educ.nfe.go.th/homepage.htm ถ้ามีอะไรสงสัยอีกก็เขียน email มาอีกก็แล้วกันนะครับ

กฤษดา