ดาวหางนีต (C/2002 V1 NEAT)

ปรับปรุงเมื่อ : 19 กุมภาพันธ์ 2546 วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

นักดาราศาสตร์จากเจพีแอลของนาซา ได้รายงานว่าโครงการนีต (Near-Earth Asteroids Tracking - NEAT) ซึ่งเป็นโครงการค้นหาและติดตามดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ได้ค้นพบดาวหางดวงใหม่จากภาพถ่ายซีซีดีที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาด 1.2 เมตร เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 ขณะนั้นดาวหางมีอันดับความสว่างประมาณ 17 ผลการคำนวณวงโคจรในเวลาต่อมาพบว่า ดาวหางนีต (C/2002 V1 NEAT) จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ระยะห่างประมาณ 0.1 หน่วยดาราศาสตร์ (15 ล้านกิโลเมตร)

จากผลการวิเคราะห์โดยนักดาราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านดาวหาง คาดว่าดาวหางดวงนี้อาจมีขนาดเล็กเกินไปที่จะรอดพ้นจากการแตกสลายขณะผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด นักดาราศาสตร์คาดหมายอนาคตของดาวหางนีตออกเป็นสองทาง คือ ดาวหางนีตจะมีความสว่างมากขึ้น จนอาจมีโอกาสมองเห็นได้ในเวลากลางวัน หรือ ดาวหางนีตอาจแตกสลายและลดความสว่างลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวโน้มในขณะนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าดาวหางนีตจะแตกสลายไปก่อนที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ หากเป็นเช่นนั้น ดาวหางนีตจะมีความสว่างคงที่แล้วลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ความเคลื่อนไหวล่าสุด

24 มกราคม 2546

ขณะนี้ดาวหางนีตมีอันดับความสว่างประมาณ 6 และยังคงมีความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ แต่ก็่มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มของความสว่างลดลงจากปลายปีที่แล้ว หากดาวหางยังคงมีความสว่างเป็นไปตามสมการที่ใช้คำนวณในปัจจุบัน ดาวหางนีตอาจมีความสว่างที่อันดับความสว่าง 4 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะหายไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ อย่างไรก็ตาม หากดาวหางเกิดการแตกสลายก่อนหน้าที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางดวงนี้อาจมีความสว่างน้อยกว่าที่คาดไว้ได้

การดูดาวหางนีตในทางปฏิบัติในช่วงนี้ ค่อนข้างน่าผิดหวัง เพราะดาวหางดวงนี้มีหางที่มีความสว่างน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวดวง ดังนั้น ดาวหางนีตอาจปรากฏเป็นเพียงดวงฝ้า คล้ายกระจุกดาวทรงกลม ไม่สวยงามเหมือนกับดาวหางดวงอื่นๆที่มีหางยาวและสว่างกว่านี้

14 กุมภาพันธ์ 2546

ดาวหางนีตกำลังมีอันดับความสว่างประมาณ 2 มองไม่เห็นจากประเทศไทย เนื่องจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ช่วงที่นีตเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวเทียมโซโฮจะสามารถจับภาพของดาวหางดวงนี้ได้ เช่นเดียวกับที่เคยถ่ายภาพดาวหางคุโดะ-ฟุจิกะวะเมื่อปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดาวหางนีตยังคงมีโอกาสที่อาจจะแตกสลายได้ เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า วงโคจรที่ไม่เป็นพาราโบลาหรือไฮเปอร์โบลาเสียทีเดียวของดาวหางนีต อาจบอกว่านีตเคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มาก่อน จึงอาจรอดพ้นจากการแตกสลายของนิวเคลียสได้เช่นกัน

19 กุมภาพันธ์ 2546

ขณะนี้ดาวหางนีตโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ อุปกรณ์คอโรนากราฟซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบันทึกความเปลี่ยนแปลงภายในบรรยากาศชั้นคอโรนาของดวงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนดาวเทียมโซโฮ สามารถจับภาพของดาวหางนีตไว้ได้ ปัจจุบันดาวหางยังคงปรากฏในภาพถ่ายจากโซโฮ สามารถติดตามได้จาก เว็บไซต์ของโซโฮ หลังจากที่ดาวหางนีตผ่านใกล้ดวงอาทิตย์แล้ว ดาวหางจะปรากฏบนท้องฟ้ามองเห็นได้จากประเทศในซีกโลกใต้ แต่ประเทศไทยจะไม่สามารถมองเห็นได้

ข้อมูลพื้นฐาน

ชื่อ : นีต (C/2002 V1 NEAT)
ค้นพบโดย: โครงการนีต (Near-Earth Asteroid Tracking)
ค้นพบเมื่อ : 6 พฤศจิกายน 2545
วงโคจร : ดาวหางมีวงโคจรเป็นรูปวงรีเกือบเป็นพาราโบลา เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 ด้วยระยะห่าง 0.0993 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 15 ล้านกิโลเมตร เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2545 ด้วยระยะห่าง 0.7956 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 119 ล้านกิโลเมตร

ดูเพิ่ม