<< ตุลาคม | จดหมายถึง Thaiastro | ธันวาคม >>

พฤศจิกายน 2541

jatuporn (b3931296@kkucc1.kku.ac.th)

อยากทราบว่าจะถ่ายภาพฝนดาวตกอย่างไร และต้องเตรียมตัวและอุปกรณ์อะไรบ้าง?

thaiastro

ไม่ยากนักครับ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ตั้งขาตั้งกล้องเปิดหน้ากล้องค้างไว้ (ชัตเตอร์ B) ตั้งหน้ากล้องให้กว้าง ๆ เข้าไว้ หันหน้ากล้องไปบริเวณที่คาดว่าจะมีดาวตกพุ่งผ่าน อย่างฝนดาวตกสิงโตนี่ สุ่ม ๆ ตั้งไปบริเวณไหนก็ได้ที่ไม่ใช่บริเวณตะวันตก เปิดหน้ากล้องค้างไว้ประมาณ 5, 10 หรือ 20 นาที แล้วแต่ หากมีดาวตกผ่านหน้ากล้อง ก็จะได้ภาพดวงดาวเป็นแถบ ๆ ขนาดกัน แล้วก็มีดาวตกพาดผ่าน เรื่องการถ่ายรูปดาวตกนี้ ขึ้นอยู่กับโชคค่อนข้างมากครับ ควรใช้เลนส์มุมกว้าง 19-35 มม.จะสวย ผมเห็นภาพถ่ายฝนดาวตกหลายภาพที่ถ่ายโดยเลนส์ตาปลา เขาหันหน้ากล้องขึ้นเหนือหัวเลย แล้วจะเห็นตำแหน่งทิศทางของดาวตกชัดเจน สวยงามมาก ควรใช้ฟิล์มไวแสงครับ ISO 400 ขึ้นไปจะดีมาก อย่าเป็นห่วงในเรื่องเม็ดเกรนมากเกินไป ฟิล์มเดี๋ยวนี้มีความละเอียดมากกว่าแต่ก่อนมากแล้ว โดยเฉพาะฟิล์มสไลด์ วิธีที่กล่าวมานี้ใช้อุปกรณ์น้อยมาก มีเพียง 1. กล้อง 2. ขาตั้งกล้อง 3. สายลั่นชัตเตอร์แบบล็อกได้ เท่านั้นเอง

หากไม่ชอบที่จะให้ภาพดาวเป็นขีด ๆ อยากให้เป็นจุด ๆ อันนี้งานหนัก เพราะจะต้องใช้ฐานตั้งกล้องที่มีระบบตามติดตามดาว ซึ่งมักจะใช้กับกล้องดูดาว มีราคาแพงมาก ถ้าจะซื้อมาเพื่อถ่ายงานนี้งานเดียวไม่คุ้มแน่ครับ เราอาจใช้วิธีเปิดหน้ากล้องให้สั้นลง แล้วใช้ฟิลม์ความไวสูงเพื่อชดเชยแสงที่เสียไป เช่น ใช้เลนส์ 20 mm f/2.8 ฟิล์ม ISO 400 ถ่ายท้องฟ้าบริเวณใกล้ ๆ ขั้วฟ้าเหนือ หรือใกล้ ๆ ขั้วฟ้าใต้ (เพราะบริเวณนี้ดาวจะเคลื่อนที่ช้ากว่าบริเวณอื่น) เปิดหน้ากล้องสัก 1-2 นาที ก็พอที่จะเห็นดาวฤกษ์ชัดเจนและไม่เป็นขีดครับ ถ้ามีดาวตกพุ่งผ่านหน้าเลนส์สักสองสามดวงก็เยี่ยมเลย

วิมุติ วสะหลาย


Chakkrit (chakkrit@geocities.com)

สวัสดีครับ
ถามเลยนะครับ
1) แผนที่ที่ใช้ดูตำแหน่งดาว (กลมๆ หมุนได้ เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้สิ แหะๆ) ใช้ได้เฉพาะปีหรือเปล่าครับ แบบว่าหมดปีนี้แล้ว ปีหน้าต้องซื้ออันใหม่? มีแบบเป็น www ให้เข้าไปดูแล้วเอามาพิมพ์แล้วมาเจาะรูทากาวเองมั้ยครับ เหมือนแผนที่ฝนดาวตกที่ทางสมาคมทำไว้บน www น่ะครับ (ผมงกมั้ยเนี่ยะ)

2) เมื่อคืนนี้ตอนสักตี 2 ท้องฟ้าสุดยอดจะโปร่งเลยครับ เลยนึกสนุกเอากล้อง สองตาขนาด 5x35 มาส่องดวงจันทร์ดู ก็เห็นชัดดีครับ ติดตรงที่มือไม่นิ่งครับ เห็นดาวหลาย ๆ (ทุก) ดวง มันกะพริบ ๆ แล้วเข้าใจว่าสีของดาวเวลากะพริบ จะสลับเหมือนรุ้งด้วย (ผมเห็นแบบนั้นจริง แต่ผมสายตาสั้น+เอียงครับ เลยดู ได้ไม่ชัด)

2.1 ) ผมเลยจะถามว่าที่ผมเห็นว่าสีมันสลับไปเรื่อยเหมือนสีรุ้ง(เหมือนแสงหักเห) นั้นถูกต้องใหมครับ (เมื่อคืนตอนตี 2 ฟ้าโปร่งมาก ๆ ดวงจันทร์สว่างจ้ามาก ๆ) แล้วสาเหตุมาจากที่แสงมันผ่านชั้นบรรยากาศก่อนถึงตาผมหรือเปล่าครับ น่าจะใช่(?) แต่อย่างไรขอคำอธิบายแบบวิชาการหน่อยก็ดีครับ

2.2) ในสภาพท้องฟ้าที่โปร่งขนาดนั้น (เมื่อคืน) เป็นไปได้มั้ยครับที่ผมจะอุตริ มองเห็นดาวเทียมหรือยานอวกาศบนฟ้าได้ด้วยตาเปล่า หรือ กล้องสองตา ขนาดที่ผมใช้น่ะครับ (รู้สึกว่าขนาดมันน้อยกว่าที่แนะนำให้ใช้ดูดาวครับ)

2.3) ต่อเนื่องจาก 2.2) นะครับ จะถามต่อว่าผมมีสิทธิที่จะมองเห็นธงชาติอเมริกันที่ปักไว้บนดวงจันทร์ด้วยกล้องสองตามั้ยครับ (คิดว่าคงเล็กมากจนไม่เห็น) แล้วมีอะไรอย่างอื่นนอกจากธงชาติมั้ยครับ ที่พวกนักบินทิ้งไว้หรือทำไว้บนนั้น จะได้ลุ้นมั่งครับ :-)

มีคำถามแค่นี้แหละครับ เดี๋ยววันนี้ถ้านอนดึกอีกจะออกไปดูดาวหลังบ้านอีกครับ อ๋อ ผมเปล่าบอกให้ตอบเดี๋ยวนี้นะครับ แค่บอกว่าอาจจะออกไปดูดาวอีกแค่นั้น เอง จะตอบเลยหรือจะเก็บไว้ตอบรวมกับคำถามอื่นบน www ก็ได้นะครับ ยังไงขอคำตอบแบบชาวบ้านหรือคร่าว ๆ ก่อนก็ดีครับ (อ้าว เร่งให้ตอบจนได้สิ)

ขอบคุณครับที่อ่าน
จักรกฤษณ์

thaiastro

1. เรียกว่าแผนที่ฟ้า หรือแผนที่ดาวครับ ซื้อแล้วใช้ตลอดชีพเลยครับ ไม่ต้องซื้อใหม่ทุกปี เพราะตำแหน่งดาวฤกษ์ทุก ๆ ปีจะเหมือนกันครับ แต่ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยจะมีแผนที่ดาวรุ่นพิเศษออกมาอยู่เสมอ เช่น รุ่มีเส้นทางเดินของดาวหางบางดวง หรือย่างตอนนี้ก็มีรุ่นที่บอกแนวฝนดาวตกสิงโต เป็นต้น คุณนี่ไม่ค่อยงกเท่าไหรเลยนะเนี่ย ซื้อเอาเถอะครับ 60 บาทเอง

2. ปกติดาวฤกษ์ก็มีการกะพริบพลิ้วไหวและเปลี่ยนสีสันตลอดเวลาอยู่แล้ว พอคุณเอากล้องส่อง มันก็เลยกะพริบรุนแรงขึ้นไปอีก สวยใช่ไหมหล่ะ

2.1 ใช่แล้วครับ คำตอบอยู่ในคำถามอยู่แล้วครับ

2.2 ปกติเราก็สามารถมองเห็นดาวเทียม กระสวยอวกาศ หรือสถานีอวกาศได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้วครับ ไม่จำเป็นต้องอุตริก็เห็นครับ แต่จะเห็นในช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืดเท่านั้นครับ

2.3 หมดสิทธิครับ มืดแปดด้าน แม้แต่กล้องฮับเบิลหรือยานอวกาศที่โคจรสำรวจดวงจันทร์อยู่ใกล้ ๆ ยังมองไม่เห็นเลยครับ

วิมุติ วสะหลาย


Krisadawut. Nuchpiren (jungle@thaimail.com)

สวัสดีครับ ผมเคยเป็นสมาชิกสมาคมดาราศาสตร์ แต่หมดอายุยังไม่มีเวลาไปต่อ ขอรบกวนถามข้อสงสัยบางประการครับ
ตอนนี้ผมได้เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมีวิชาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ผมสนใจ ที่จะทำเรื่องทางดาราศาสตร์ เรื่องดาวหางและวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ แต่มีข้อมูลไม่มากนัก ที่เป็นความรู้ติดตัวก็มีพอสมควร แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นเนื้อหาได้ และที่สำคัญ ไม่มีรูปที่จะใช้ทำ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมาก ไม่ทราบว่าทางสมาคม พอจะมีหนังสือเกี่ยวกับ เรื่องข้างต้นจำหน่ายหรือไม่ ถ้ามีจะสามารถสั่งซื้อทาง e-mail ได้หรือไม่ และอยากจะขอ แนะนำให้ทางสมาคมได้ใส่ลงในโฮมเพจเพื่อให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้าไปดู ก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจดาราศาสตร์ได้อีกทางหนึ่งครับ

ขอบคุณล่วงหน้าครับ
กฤษฎาวุฒิ นุชภิเรนทร์
วท.บ. 4.2 วิทยาการคอมพิวเตอร์
สถาบันราชภัฏนครราชสีมา 30000

thaiastro

เรียน คุณกฤษฎาวุฒิ
เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่คุณสนใจจะทำสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทางด้านดาราศาสตร์ สมาคมดาราศาสตร์ไทยก็มีโครงการจะจัดทำสื่อในลักษณะนี้เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจริง ๆ จัง เรื่องเว็บเพจที่ว่าด้วยเรื่องของดาวหางหรือวัตถุท้องฟ้าโดยตรงนั้น ยังมีไม่มากนัก ลองดูที่หน้า "ห้องสมุดดาราศาสตร์" (https://thaiastro.nectec.or.th/librarylibrary.html) นะครับ มีเรื่องเกี่ยวกับดาวหางอยู่พอสมควร แต่เรื่องของวัตถุท้องฟ้ายังไม่มีเลยครับ คงต้องรอไปก่อน มีเว็บเพจต่างประเทศที่มีเรื่องเกี่ยวกับวัตถุท้องฟ้าอย่างละเอียดอยู่หลายแห่ง เช่นที่ SEDS The Messier Catalog (http://www.seds.org/messier/Messier.html) กับที่ The Interactive NGC Catalog Online (http://www.seds.org/~spider/ngc/ngc.html) นอกจากนั้นลองดูที่หน้าลิงก์ของสมาคม (https://thaiastro.nectec.or.th/library/astrowww.html) ในหมวด Data Center/FAQs/Facts ครับ

วิมุติ วสะหลาย


kolasak luangvilaiwan (kolasak@hotmail.com)

ขอขอบพระคุณสำหรับข้อมูลเป็นอย่างสูง แต่ที่ผมยังข้องใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ คืนวันที่ 17 พ.ย. ตอนตี 2-3 หมายถึงตอนกลางคืนวันที่ 17 เช้าวันที่ 18 ใช่หรือไม่ครับ เพราะผมเริ่มสับสนกับการให้ข้อมูลเรื่องเวลามาตั้งแต่ช่วงบอลโลก
ขอขอบพระคุณล่วงหน้าอีกครั้ง

thaiastro

ใช่ครับ เข้าใจได้ถูกต้องแล้ว วัน เริ่มต้นเมื่อเวลาเที่ยงคืนครับ

วิมุติ วสะหลาย


damri (damri@sd01.med.cmu.ac.th)

Sorry, I have some problem of fixing my Thai font, I therefore have to write in English. I am writing to ask you as a webmaster what is wrong with Thaiastro Web. I have not been able to access our Thaiastro www for about 3 days, even though I tried it at an odd hour like 02:00 a.m. Is your system down? Or is my site having defects?
I have found a big Leonid Page at www.cmnet.co.th. I wonder whether you are involved in it too.

Regards,
Damri

thaiastro

Yes, the thaiastro server is down by some unkown reasons. Our staff is fixing the problem. It's the first time I have heard of www.cmnet.co.th. I'll visit it. Thank you very much.

Regards,
Wimut Wasalai.


Supachok Jantarapatin (NECTEC) (peng@nectec.or.th)

หวัดดี ครับคุณ พรชัย
ไม่ทราบว่าฝนดาวตก ที่จะไปดูวันที่ 14 จะมากเท่ากับ วันที่ 17-18 หรือเปล่าครับ หรือเหมือนๆ กัน ครับ ? อยากรู้ นะครับ

regards
PEng
Mr. Supachok Jantarapatin
Research Assistant
ICQ UIN : 8057268 http://www.nectec.or.th/~peng
Network Technology Lab (NTL)
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)

thaiastro

โดยทางทฤษฎีแล้ว จะไม่มากเท่ากับวันที่ 17 พ.ย. แน่นอนครับ แต่ว่าวันที่ 17 เป็นการคาดการณ์โดยการคำนวณครับ วันที่ Peak อาจจะไม่ใช่วันที่ 17 จริงๆ ก็ได้ และก็เคยมีการบันทึกไว้เช่นกันว่า มันไม่ได้มากในวันที่ 17 ทุกครั้งหรอกครับ ทางที่ดีคือ ควรจะดูเป็นช่วงเวลาครับ คือตั้งแต่วันที่ 14 - 20 ครับ โดยคอยสังเกตดวงจันทร์ด้วย ว่ามันจะรบกาวนหรือเปล่า ซึ่งในปีนี้ วันที่ 17 พ.ย. เป็นวันจันทร์ดับพอดี (ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเลย) จึงเป็นวันที่น่าสนใจมากๆ แต่ว่าวันที่ 17 อาจจะมีเมฆก็ได้ ดังนั้นเราจึงควรสังเกตไว้หลายวัน ไม่ควรสังเกตวันที่ 17 วันเดียวครับ

สาเหตุที่ สมาคมฯ จัดกิจกรรมวันที่ 14-15 เพราะว่าเป็นวันหยุดที่ใกล้เคียงกับ 17 พ.ย. ครับ ไม่จัด 17 เพราะว่าเป็นวันทำงาน Staff ของสมาคม มีงานประจำอยู่ ก็เลยไม่สามารถมาจัดกิจกรรมได้ครับ

ขอบคุณมากสำหรับการดูแลเป็นอย่างดีเกี่ยวกับ Thaiastro Web server ครับ หากคุณศุภโชคมีอะไรสงสัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ก็ถามมาได้เลยครับ ยินดีครับ

ขอบคุณครับ
พรชัย อมรศรีจิรทร


Surayose Sricharone (surayose@asiaaccess.net.th)

สวัสดีครับ ผมต้องการข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องพายุฝนดาวตกครับ ต้องการด่วนเพราะต้องรีบส่ง ข้อมูลให้อาจารย์ แล้วผม copy ตัวอักษรไม่ได้ พิมพ์ก็ออกมาแต่ภาพ ผมต้องใช้ในวันพรุ่งนี้ครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูง
สุรยศ ศรีเจริญ

thaiastro

ตอนนี้โฮมเพจของสมาคมดาราศาสตร์ไทยกลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง คุณสามารถเข้าไปดูได้แล้ว แต่เพื่อความรวดเร็ว ผมจึงแนบไฟล์ที่เป็นบทความเกี่ยวกับฝนดาวตกเลย มี 3 ไฟล์ คือ leosat.html
faqshowr.html
leonids.html
เอาบราวเซอร์อ่านได้เลยครับ

วิมุติ วสะหลาย


วิริยา แก่นแก้ว (tatsurat@samart.co.th)

เรียน นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
ขอทราบว่าจังหวัดสุราษฏร์ธานี สามารถดูฝนดาวตกได้ชัดเจนหรือไม่ และบริเวณใดที่สามารถดูได้ชัดเจน

ขอแสดงความนับถือ
วิริยา แก่นแก้ว

thaiastro

เนื่องจากจดหมายเขียนมาถึงผมโดยตรง จึงขออนุญาตตอบแทนท่านนายกสมาคมครับ เพื่อความรวดเร็ว

ไม่ว่าที่ไหน ๆ ในประเทศไทยก็สามารถเห็นฝนดาวตกได้ทั้งสิ้นครับ ขอเพียงให้

1. ไม่มีเมฆหมอกบดบัง
2. ขอบฟ้ากว้าง

ที่สุราษฎร์มีที่มืด ๆ มากมาย ดังนั้นย่อมหาทำเลเหมาะ ๆ ได้ไม่ยาก แต่จะติดตรงที่ว่าปักษ์ใต้ฝนชุก ผมได้ยินมาว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนก็ยังตกไม่หยุด ดูทางปักษ์ใต้จึงค่อนข้างเสี่ยงหน่อยครับ อ่านรายละเอียดได้ที่หน้า สารพันคำถามเกี่ยวกับฝนดาวตก (https://thaiastro.nectec.or.th/library/faqshowr.html) ครับ

วิมุติ วสะหลาย


nchantar@notes.nectec.or.th

Dear K. Wimut,
I have read about the Milky Way Magazine and I'm interested in it. I haven't read it before, I would like to know the total number of issues of that have been published. Do you have all of them? If I want to buy all, where can I buy them? Can I order via website or e-mail, or should I go to buy at any shops?

Please let me know. Thank you very much.

Natthinee

thaiastro

The Milky Way Journal has been published for many years. Most issues are sold out and we do not provide reprints. Only those seen in the Milky Way Journal webpage (https://thaiastro.nectec.or.th/mlky/mlkyjnl.html) are available. I have every issue since 1991. You can order the available issues by either sending money order to TAS or purchase directly at Spectrum store, near Bangkok Planetarium. See more details in the MWJ page.

Regards,
Wimut Wasalai.


Autjaree (autjaree@sdc.co.th)

May I ask you somthing? I would like to know when the Dao-hang will occur besides 17,18 Nov. 1998. Please tell me.

Thank you very much
Autjaree

thaiastro

The comet has been gone since early this year. We will not see any comet during November 17/18. We will just pass the comet Tempel-Tuttle's debris.

Regards,
Wimut Wasalai


LugkanaS@bot.or.th (LugkanaS@bot.or.th)

รายละเอียดของรายการดาราศาสตร์สัญจรวันที่ 14-15 พ.ย. นี้ ในกรณีที่ไปเองไปเจอคณะที่สำนักปฏิบัติธรรมมกุฏคีรีวันเลย ต้องทำอย่างไรบ้าง? และคณะฯ จะไปถึงและเริ่มรายการบรรยายเวลาอะไร? เนื่องจากดิฉันมีบ้านพักอยู่ใกล้สำนักปฏิบัติธรรม อยากเข้าร่วมรายการครั้งนี้ด้วย พยายามโทรศัพท์ถามรายละเอียดที่เบอร์สมาคม สายไม่เคยว่างเลย

ขอบคุณมาก
ลักขณา ศิริวรรณ

thaiastro

เรียนคุณ ลักขณา ศิริวรรณ
สำหรับการเดินทางไปที่สำนักปฏิบัติธรรมและเข้าร่วมกิจกรรมกับทางสมาคมฯ ด้วยตนเองนั้น คุณลักขณา สามารถขับรถไปเองได้ครับ โดยสมาคมฯ มีอัตราค่าลงทะเบียนสำหรับผู้เดินทางไปเองในราคาลดลงจากราคาตั้ง 300 บาทครับ กล่าวคือ อัตราค่าลงทะเบียนท่านละ 1950 สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิก และ 2250 สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก
สมาคมฯ ต้องขออภัยคุณลักขณาที่สายโทรศัพท์ของสมาคมฯ ไม่ว่างเลย เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจโทรศัพท์สอบถามมาทางสมาคมฯ เป็นจำนวนมาก กอรปกับสมาคมฯ มีคู่สายโทรศัพท์เพียง 2 เบอร์ ซึ่งไม่เพียงพอหากมีการโทรเข้ามาพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก หากคุณลักขณาต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ สามารถโทรศัพท์สอบถามทางอาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ที่เบอร์ 02-4341238 เวลา 21.00-23.00 น.

ขอบคุณมากครับ
พรชัย อมรศรีจิรทร


Kornkan@wcrs.co.th

สวัสดีค่ะ
ข้อมูลจาก https://thaiastro.nectec.or.th/library/planets.html มีประโยชน์มาก แต่อยากทราบเพิ่มเติมเหลือเกินว่า ถ้าเราจะดูดาวเคราะห์เหล่านั้น ควรจะดูอย่างไรบ้าง อยู่ตำแหน่งใดของท้องฟ้า สามารถดูด้วยกล้องสองตาหรือไม่ วิธีหาตำแหน่งและสังเกตด้วยตาเปล่า

กำลังจะไปชมฝนดาวตกค่ะจึงอยากทราบวิธีดูดาวเคราะห์ด้วย เพราะไม่มีโอกาสได้เพลิดเพลินอย่างนี้บ่อยนัก

อีกข้อหนึ่งซึ่งต้องการความช่วยเหลือก็คือ คิดจะซื้อกล้องสองตา และสนใจกล้องของไทยยี่ห้อ TESCO ขนาด 10 * 50 และ 16 * 60 (ไม่แน่ใจค่ะ) ซึ่งราคาประมาณ 3,000 กว่าบาท ได้ลองทดสอบในร้านก็รู้สึก ค่อนข้างพอใจทั้ง ความชัด นํ้าหนัก ความสว่าง แต่ไม่เห็นมีรูให้ยึดกับขาตั้งกล้องเลย!!!

จึงอยากขอคำแนะนำจากคุณ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันเป็นมือสมัครเล่นแต่หลงรักดาวเอามาก ๆ อยากพัฒนา ตัวเองเท่าที่จะทำได้ งบประมาณไม่มากนัก แต่ก็ไม่ต้องการของที่ถูกแล้วด้อยคุณภาพค่ะ : )

จะเป็นพระคูณมากหากคุณวิมุติสามารถตอบได้ภายใน วันศุกร์ที่ 13 พ.ย. นี้ หรือตอบเป็นการส่วนตัวหาก Update Web ไม่ทัน ต้องขออภัยที่ด่วนเหลือเกิน พยายามเข้า Site แต่ว่า เพิ่งจะ Connect ได้เมื่อคืนนี้เอง

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

Stardust.

thaiastro

เว็บไซต์ของสมาคมฯ เกิดป่วยกระทันหันไปสองสามวัน ตอนนี้ใช้ได้ดีแล้วครับ

รูยึดกับขาตั้งกล้องไม่มีไม่เป็นไรครับ ดัดแปลงเอาได้

กล้องสองตานี้ สามารถมองเห็นดาวเคราะห์ได้ 6 ดวง คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวยูเรนัส ปกติตาเปล่าของเราก็มองเห็นได้ตั้ง 5 ดวงแล้ว (ยกเว้นยูเรนัส) บางคนที่ตาดี ๆ เขาก็มองเห็นดาวยูเรนัสเหมือนกัน แต่ยากมาก ถ้ามีกล้องสองตาก็จะช่วยให้ง่ายขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ยังค่อนข้างยากอยู่ดีครับ ดาวเคราะห์เหล่านี้จะมองเห็นเป็นอยา่งไร คุณคงได้อ่านมาแล้วในหน้า "กล้องสองตา คู่หูของนักดูดาว" (https://thaiastro.nectec.or.th/library/binocwld.html) เรื่องต่อไปที่ควรทราบก็คือ ในเวลาไหนมันจะอยู่ตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้ดูได้จากหน้า "ปรากฏการณ์ท้องฟ้า" (https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/skyevnt.html) ครับ

ขอบคุณครับที่อุตสาห์ติดตาม จริง ๆ แล้วการดูดาวนั้น ใช้งบประมาณน้อยครับ มีเพียงกล้องสองตาหนึ่งอันกับแผนที่ดาวอีกอันหนึ่งก็พอแล้ว ดูดาวได้เป็นปี ๆ เลยครับ กล้องราคา 3,000 บาทก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กล้องสองตาของผมราคาถูกกว่านี้เสียอีก ขอให้สนุกกับการดูดาวตกและดาวเคราะห์ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Amm (sawanya@wnet.co.th)

มีคำถามที่เพื่อน ๆ อยากทราบ ฝากมาถามค่ะ รบกวนช่วยตอบให้หายข้องใจด้วยนะคะ
1. อยากทราบว่าเราจะไปดูฝนดาวตกได้ที่ไหน ที่จะชัดเจน ในกรุงเทพฯ ดูได้ไหมคะ? จังหวัดไหนน่าจะดูชัดที่สุด?
2. ลีโอนิดส์ จะเกิดวันที่เท่าไหร่แน่? เวลาเท่าไหร่? ช่วงวันที่ 11-21 จะมีฝนดาวตกกี่ชนิดคะ?
3. ถ้าพลาดโอกาสดูเดือนนี้ จะมีอีกเมื่อไหร่คะ?

thaiastro

1. ที่ไหนก็ได้ครับ ขอให้มืดและมีขอบฟ้าที่กว้างพอ ระวังเรื่องเมฆอย่างเดียวเป็นพอ
2. ฝนดาวตกสิงโต หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะตกสูงสุดประมาณ ตี 2 - ตี 4 ของเช้าวันที่ 18 ครับ ฝนดาวตกที่ตกในช่วงตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 21 พฤศจิกายนมีสองฝนครับ คือนอกจากฝนดาวตกสิงโตแล้ว ก็ยังมีฝนดาวตก Alpha Monocerotids อีกชุดหนึ่ง ตกสูงสุดประมาณวันที่ 21 เป็นดาวตกที่ไม่ค่อยน่าสนใจมากนัก
3. ถ้าหมายถึงเฉพาะพายุฝนดาวตกสิงโตละก้อ หากพลาดคราวนี้ ปีหน้ายังมีครับ แต่ไม่ใช่เมืองไทยแล้ว เพราะช่วงที่ตกสูงสุดของปีหน้าจะเป็นตอนเช้าของเมืองไทย เรามองไม่เห็นครับ ต้องถ่อไปดูถึงแอฟริกาตะวันออก ตะวันออกกลาง หรือยุโรปโน่นแน่ะครับ ถ้าปีหน้าพลาดอีก ก็ต้องรอไปอีกประมาณ 33 หรือ 34 ปี ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Veerathep Sataratanakul (jeab3881@hotmail.com)

สวัสดีครับคุณวิมุติ
ผมมีปัญหาอยากจะถามเกี่ยวกับการถ่ายรูปภาพฝนดาวตกในวันที่ 17-18 พ.ย. นี้ ในวันนั้นผมจะไปดูฝนดาวตกที่โคราช ผมอยากจะถ่ายรูปปรากฏการณ์นี้ไว้ ผมใช้กล้องนิคอน ขนาดเลนส์ 35-70 มม. f3.3 และฟิลม์ความไวแสง 400 ผมอยากทราบว่าควรเปิดหน้ากล้องนานเท่าไร (โดยประมาณ)

ขอบคุณครับ
วีระเทพ สัตรัตนกุล

thaiastro

ควรตั้งโฟกัสไว้ที่กว้างสุดนะครับ แล้วก็เปิดหน้ากล้องอย่างน้อยสัก 1-2 นาทีครับ คุณอาจเปิดหน้ากล้องนานกว่านั้นเป็น 5 หรือ 10 นาทีก็ได้นะครับ ดาวก็จะเป็นขีดยาวมากขึ้นด้วย บางคนอาจมองว่าสวยดี แต่บางคนกลับไม่ชอบ อันนี้แล้วแต่คนมองครับ ขอแนะนำให้ถ่ายไว้หลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ช่วงครับ

วิมุติ วสะหลาย


Chakkrit Wanaphan (chakkrit@geocities.com)

ขอบคุณครับที่ตอบ
> 2. ปกติดาวฤกษ์ก็มีการกะพริบพลิ้วไหวและเปลี่ยนสีสันตลอดเวลาอยู่แล้ว
> พอคุณเอากล้องส่อง มันก็เลยกะพริบรุนแรงขึ้นไปอีก สวยใช่ไหมหล่ะ

ครับ สวยดีเหมือนกัน

> 2.2 ปกติเราก็สามารถมองเห็นดาวเทียม กระสวยอวกาศ
> หรือสถานีอวกาศได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้วครับ
> ไม่จำเป็นต้องอุตริก็เห็นครับ
> แต่จะเห็นในช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืดเท่านั้นครับ
ผมเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าดาวเทียมส่วนใหญ่ ต้องใช้พลังงานจาก ดวงอาทิตย์ จึงต้องลอยอยู่ได้ไม่เกินกว่าบริเวณครึ่งซีกของโลกที่หันเข้าหา ดวงอาทิตย์ ส่วนที่เห็นได้เฉพาะช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืด เพราะแสงอาทิตย์ใน ช่วงนั้นมันอ่อนมาก
เอ แล้วพวกดาวเทียมสื่อสารล่ะครับ อย่างไทยคมที่ UBC ใช้ส่งสัญญาณน่ะครับ มันต้องโคจรมาตามประเทศไทยนี่ครับ ตอนกลางคืนก็ต้องใช้พลังงานในตัว มันเองใช่มั้ยครับ ส่วนที่ว่าแล้วทำไมถึงมองไม่เห็น ก็คงเพราะโดนโลกบัง แสงอาทิตย์จนไม่มีแสงสะท้อนเลย ทั้งหมดนี่ถูกต้องมั้ยครับ

ขอบคุณอีกทีครับ
จักรกฤษณ์ วรรณพันธ์

thaiastro

อันนี้ผิดถนัดครับ ดาวเทียมจะมีแหล่งพลังงานมากกว่าหนึ่งแหล่งเสมอ เวลาที่ดาวเทียมโคจรอ้อมโลก ไม่ถูกแสงอาทิตย์ มันก็จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จเอาไว้ครับ หรืออาจใช้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบอื่น ๆ ก็ได้ มืดก็ไม่กลัวครับ
สาเหตุที่เรามองเห็นดาวเทียมเฉพาะหัวค่ำหรือเช้ามืดนั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ท้องฟ้ามืดโดยที่วัตถุที่ลอยอยู่บนฟ้าสูง ๆ ยังโดนแสงแดดอยู่ เนื่องจากความโค้งของโลก ในขณะที่ตอนดึก ๆ ทั้งพื้นดินทั้งดาวเทียมก็ถูกโลกบังหมด ไม่ถูกแสงแดดเลย เราจึงมองไม่เห็นดาวเทียมตอนดึกครับ ส่วนดาวเทียมไทยคมนั้น เป็นดาวเทียมที่โคจรในระดับสูงมาก ร่วม ๆ 30,000 กิโลเมตร ไกลเกินกว่าจะเห็นครับ

วิมุติ วสะหลาย


Autjaree (autjaree@sdc.co.th)

I don't believe that. Everyone is going forward to see comet at that time. Why don't you put up a notice to inform that we will not see any comet during Nov.17/18. Please tell me. Thanks so much.

thaiastro

Ok.
The comet Tempel-Tuttle, which produces debris for Leonid shower, enter Earth's vicinity around early this year. The closest approach to Earth was March 8th. Now it is several million kilometers away from us. The comet's great distance and its darkness make it impossible to be seen with normal instruments. Forget Tempel-Tuttle.

In facts, comets are never absent from our sky. There are several comets currently in the inner solar system and may be seen with a telescope. You can see the information about these comets at NASA's Comet Observation Page (http://encke.jpl.nasa.gov). Note that none of them are brighter than 10th magnitude. Viewing a mag-10 comet is very difficult. You may need at least a 10-inch telescope to see them. Therefore, comets are absolutely not the prime targets for November 17/18.

Wimut Wasalai


aeybl@hotmail.com

สวัสดีครับ คุณวิมุติ
ผมต้องขอรบกวนหน่อย ผมรู้มาว่าศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาที่อยุธยาและนครสวรรค์ มีจัดกิจกรรมดูฝนดาวตก ไม่ทราบว่าคุณวิมุติพอจะรู้รายละเอียด และที่ติดต่อทาง e-mail รึเปล่าครับ หรือที่ไหนก็ได้ที่มีจัดกิจกรรมอย่างนี้ ถ้าไม่รู้ก็ช่วยบอกสถานที่ใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ที่คิดว่าฟ้าโปร่งเห็นแน่ ๆ ให้หน่อยครับ อยากไปดูมาก แล้วคุณวิมุติไปดูที่ไหนครับ ผมตามไปด้วยได้รึเปล่า?
รบกวนมาก ๆ เลยครับ

aeybl@hotmail.com

thaiastro

เรื่องที่อยู่หรือเบอร์โทรของศูนย์วิทย์ฯ อยุธยากับนครสวรรค์ ขออภัยครับ ไม่ทราบเลยครับ ลองหาข้อมูลในโฮมเพจของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาดูสิครับ ที่ http://www.sci-educ.nfe.go.th/homepage.htm ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็จัดกิจกรรมไปดูดาวตกวันที่ 14-15 นี้ ลองโทรถามรายละเอียดได้ที่ 3817409-10 ดูครับ มีบริษัททัวร์ท่องเที่ยวหลายแห่งมากที่จัดกิจกรรมดูดาวตกในครั้งนี้ รวมทั้งท้องฟ้าจำลองด้วย สถานที่ใกล้กรุงเทพฯ มีหลายแห่งครับ ทางบางปะอินทร์ หนองจอก ลาดกระบัง ฯลฯ ที่ว่างเต็มไปหมดครับ ผมอยู่ระยอง คงดูแถว ๆ นี้แหละครับ

วิมุติ วสะหลาย


Autjaree (autjaree@sdc.co.th)

As you said Leonid shower will not occur in November, why media say about it ?

Thank you very much.
autjaree @^-^@

thaiastro

You must be misunderstanding something. I did not say the leonid shower would not occur. I said the comet would not occur. Please don't be confuse between COMET and METEOR SHOWER. Please repeat my message.

Wimut Wasalai


Suchada Chairat (suchada@onec.go.th)

สวัสดีค่ะ ได้อ่านเรื่องฝนดาวตก และได้ชักชวนเพื่อน ๆ อ่านกันด้วย ได้ความรู้มากมายค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ
สุชาดา

thaiastro

ขอบคุณที่ใช้บริการครับ

วิมุติ วสะหลาย


Suchada Chairat (suchada@onec.go.th)

สวัสดีค่ะ
ยังนั่งดูเว็บอยู่เลยค่ะ รับทราบเมล์เร็วเหมือนฝนดาวตก ค่ะ หรือตั้งเป็นอัตโนมัติคะ แปลกใจ ??

ขอบพระคุณค่ะ
สุชาดา

thaiastro

บังเอิญกำลังนั่งชำระจดหมายเก่าอยู่ เห็นจดหมายนี้เข้ามาแล้วตอบง่ายดี ก็เลยตอบให้ก่อนครับ

วิมุติ วสะหลาย


Veerathep Sataratanakul (jeab3881@hotmail.com)

สวัสดีอีกครั้งครับ
จากที่คุณวิมุติตอบมา ผมอยากทราบว่าระหว่างฟิลม์ negative หรือ slide อย่างไหนจะให้คุณภาพที่ดีกว่ากัน หรือเหมาะสมกว่าในการถ่ายภาพดาว

ขอบคุณครับ
วีระเทพ สัตรัตนกุล

thaiastro

ฟิล์มสองอย่างนี้มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ฟิล์มสไลด์จะดีกว่าในเรื่องของความละเอียด ความอิ่มตัว และความแม่นยำในเรื่องของแสง แต่มีโอกาสสีเพี้ยนมากเวลาล้าง ฟิล์มเนกาทีฟก็สะดวกในด้านการอัด ความยืดหยุ่นของช่วงรับแสง นักถ่ายภาพดาวก็มีทั้งคนที่เลือกใช้ฟิล์มสไลด์และฟิล์มเนกาทีฟ ถ้าเป็นผม ผมใช้สไลด์ครับ

วิมุติ วสะหลาย


Wunwipa Sunthara (wunwipa@hotmail.com)

อยากจะขอถามคำถามดังนี้ค่ะ
1. ดวงจันทร์หันด้านเดียวให้โลกเสมอหรือเปล่าคะ? ทำไมจึงมองเห็นดวงจันทร์เหมือนกันตลอดเวลา? ที่เราเห็นว่าเหมือนรูปกระต่ายน่ะค่ะ
2. ที่เขาพูดว่า ดวงจันทร์ไม่ใช่บริวารของโลก แต่เป็นดาวคู่แฝด อยากทราบว่าการที่จะบอกว่าอะไรเป็นบริวารของอะไรมีหลักการอย่างไร?
3. ดาวหางมีวงโคจรรอบอะไร? หรือว่ารอบระบบสุริยะอื่นคะ? ยังมีคำถามอีกมากมาย แล้วจะถามมาใหม่นะคะ อ่าน homepage แล้วรู้สึกโลกเรานี้เล็กนิดเดียวเองเมื่อเทียบกับนอกโลก เขามีการสอนดาราศาสตร์กันที่ไหนบ้างคะ? อยากไปเรียนรู้บ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ
วรรณวิภา

thaiastro

1. จริงครับ
2. การจะแยกว่าเป็นบริวารหรือเป็นระบบดาวเคราะห์คู่นั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวครับ เหตุที่กล่าวว่า ดวงจันทร์กับโลกเป็นดาวคู่แฝดกัน เพราะว่าดวงจันทร์กับโลกมีขนาดต่างกันไม่มาก ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าโลก 4 เท่า เปรียบเทียบประมาณลูกบาสเก็ตบอลกับลูกเทนนิส
ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เช่น ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ จะมีขนาดใหญ่กว่าบริวารของมากมายหลายสิบเท่า จึงเรียกได้เต็มปากว่า "บริวาร"
นอกจากโลกกับดวงจันทร์แล้ว ดาวพลูโตกับชารอนก็มีผู้เรียกว่าเป็นดาวคู่แฝดเช่นกัน พลูโตมีขนาดใหญ่กว่าชารอนเพียงสองเท่าเท่านั้น
3. โดยปกติแล้ว ดาวหางจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครับ แต่บางครั้ง หากมันเข้าใกล้ดาวเคราะห์ยักษ์ ๆ อย่างดาวพฤหัสบดี ก็อาจจะรบกวนวงโคจรของดาวหางจนหันมาโคจรรอบดาวพฤหัสเองก็ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9
ในระบบสุริยะอื่น ๆ นั้น นักดาราศาสตร์ก็เชื่อว่าน่าจะมีระบบดาวเคราะห์และดาวหางบ้างเหมือนกัน เคยมีรายงานการค้นพบสิ่งที่เชื่อว่าอาจเป็นเมฆออร์ตซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดาวหางในดาวฤกษ์ดวงอื่นด้วย

เรื่องดาราศาสตร์เป็นเรื่องน่าสนใจเสมอครับ และศึกษาได้ทั้งในระดับชาวบ้านหรือระดับวิชาการ สำหรับประชาชนทั่วไป สมาคมดาราศาสตร์ไทยมีโครงการอบรมนักดาราศาสตร์ในอนาคต ซึ่งจัดทุก ๆ ปี รุ่นต่อไปจะเปิดประมาณต้นปีหน้าครับ โปรดติดตามทางโฮมเพจสมาคม ฯ ครับ

วิมุติ วสะหลาย


SOMPHON VORRAVUTTHIYANON (tongarleo@hotmail.com)

Sawadde Krub, Mr Wimut. This time I will disurb you with a few questions. This weekend 14-15 Nov I plan to watch the meteor shower at the Science Natinal Park (WAKOR) Prachuab Province,
- but I don't know where is it, and
- wheter we can get into that place at night and
- can we see this phenomenon on that day and clearly ?
So we need your advice for the best place to see it. I would like to have the phone number of WAKOR. I missed the star party. Please reply if you have time, but if it is inconvenient for you it doesn't matter.

Thank You Very Much
Adult Member S.41/114

thaiastro

Sorry for the delay. I don't have any information about the park. Please contact Science Center for Education at http://www.sci-educ.nfe.go.th/homepage.htm.

Wimut Wasalai


Kornkan@wcrs.co.th

เรียนคุณวิมุติอีกครั้งค่ะ ดิฉันพบไซต์ ที่บอกรายละเอียดเรื่องตำแหน่งดาวเคราะห์แล้วค่ะ แต่ยังอยากทราบเรื่องโอกาสในการมองเห็นด้วยตาเปล่าและ
กล้องสองตา และอยากถามถึงตัวเลขที่ระบุในกล้องสองตาเกี่ยวกับระยะขนาดเป็น mm และ m และ yard หมายถึงอะไรคะ

ขอบคุณค่ะ
Stardust.

thaiastro

ตัว mm หมายถึงขนาดเส้นผ่านศูนยกลางหน้ากล้องครับ ส่วน yard มักจะมาพร้อมกับ foot สองตัวนี้จะบอกมุมของภาพครับ เช่น ถ้ากล้องบอกว่า x yard, y feet มุมของภาพจะเท่ากับมุมยอดของสามเหลี่ยมที่มีความสูงเท่ากับ x หลา และมีฐานกว้าง y ฟุตครับ

วิมุติ วสะหลาย


makawan changoho (makawan@siamhost.siamu.ac.th)

สวัสดีครับ
ผมและเพื่อนขออนุญาตเรียนถามถึงสถานที่ๆเหมาะสมสำหรับการเฝ้าดูกลุ่มฝนดาวตก Leonids ผมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และมีรถส่วนตัว

ขอบคุณครับ
มัฆวาน จันทร์กอฮอ

thaiastro

การพิจารณาสถานที่ดูดาวตกนั้น ให้ดูสองอย่างครับ คือมืด ไม่ไม่แสงรบกวน และเป็นที่ ๆ มีขอบฟ้ากว้างมากพอ ส่วนจำนวนฝนดาวตกที่จะเกิดนั้น ไม่แตกต่างกันเลย สถานที่ ๆ เข้าลักษณะดังกล่าวมีหลายจุดใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ลาดกระบัง เขาเขียว บางปะอิน สระบุรี หนองจอก เต็มไปหมดครับ ยิ่งคุณมีรถส่วนตัวอยู่แล้ว สะดวกมากครับ
ถ้าคุณเลือกใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ไม่ควรเลือกทางตะวันตกของกรุงเทพ เพราะเวลามองดาวตกเราหันหน้ามาทางตะวันออก เราจะต้องมองผ่านน่านฟ้ากรุงเทพฯ ซึ่งสว่างมาก จะรบกวนภาพดาวตกได้ครับ
กรุณาอ่านรายละเอียดที่หน้า สารพันคำถามเกี่ยวกับฝนดาวตก (https://thaiastro.nectec.or.th/library/faqshowr.html) ประกอบด้วยครับ

วิมุติ วสะหลาย


seub (seub@internet.ksc.net.th)

ผมทราบว่าจะมีคนไปดูฝนดาวตกในพื้นที่ป่า เช่น อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกรมป่าไม้ไม่ยอมควบคุมปริมาณคน จึงอยากจะขอฝากไว้ว่า จำนวนคนที่ไปคงเกินความสามารถที่พื้นที่ป่าบางแห่งจะรับไหว ดังนั้นนอกจากจะกรุณาอย่าทำตัวให้เกิดผลกระทบต่อป่ามากเกินไปนัก จะต้องดูแลเพื่อนฝูง และคนอื่น ๆ ให้ดีด้วยนะครับจะเป็นพระคุณมาก เช่น ขยะ เอาไปเท่าไหร่ ก็เอากลับมาเท่านั้น
ที่สำคัญ ปรากฏการณ์ฝนดาวตกจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ป่าหลายชนิดออกหากิน ดังนั้นโปรดอย่าส่งเสียงดัง เล่นดนตรี หรือส่งเสียงดีใจ ปลื้มใจกับฝนดาวตกกันเกินเหตุ ซึ่งในช่วงกลางคืนเสียงสามารถไปได้ไกล อันจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่ไม่ได้ดูดาวตกกับคุณด้วย หรือหากจะให้ดีไม่ต้องไปในพื้นที่ป่าได้ก็ดี เพราะที่อื่นมากมายก็สามารถดูได้ หรืออย่างน้อยก็ลดจำนวนคนไปหนึ่งคน
ขอรบกวนสมาคมช่วยแจ้งสมาชิกด้วยจะเป็นประโยชน์ยิ่ง

ขอคุณมากครับ ขอให้ดูดาวอย่างมีความสุข
ณรงค์ ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 5612469-70

thaiastro

ผมได้อัปเดตเรื่องของฝนดาวตกลงในโฮมเพจสมาคมดาราศาสตร์ไทยแล้ว และได้ใส่เรื่องนี้ลงไปด้วย คุณสามารถดูได้ที่ https://thaiastro.nectec.or.th/library/faqshowr.html และที่หน้าหลักครับ

วิมุติ วสะหลาย


takumiya@hotmail.com

สวัสดี ครับ
ผมเข้าไปดูเพจของพวกพี่แล้ว สวยดีน่ะครับ ผมได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาเยอะเลยฮะ อันที่จริงก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ผมชอบเรื่อง ใช้กล้อง ส่อง ทางไกลมาดูดาวน่ะฮะ ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะใช้ดูได้จริง ๆ ถ้าพวกพี่ ๆ ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในเพจ ผมก็คงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกล้องผมอย่างเต็มที่แน่ ๆ เลยครับ เพราะผมใช้ internet ทุกวันเลยครับ
ผมขอรบกวนพี่เท่านี้ล่ะครับ ขอให้พี่ ทำเพจสวย ๆ มีความรู้เยอะ ๆ ต่อไป นาน ๆ นะครับ ผมจะแวะเข้ามาดูทุกวันเลย

ผมมีเรื่องรบกวนถามพี่น่ะครับ เรื่อง ฝนดาวตกน่ะครับ ผมจะออกไปดูที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะสามารถมองเห็น รึเปล่าครับ แล้ว จะเห็นเยอะมั้ยครับ ผมเคยไปอ่านจดหมายที่พี่ตอบ น่ะครับ พี่บอกว่า สามารถ มองเห้นได้ทุด ที่แต่ต้อง มืด ๆ หน่อยใช่มั้ยครับ แล้วก็มองขึ้นไปตรงกลางท้องฟ้าใช่มั้ยครับ ผมจะไปดูที่ สวนสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ไม่ทราบว่าจะมองเห้นได้จากจุดนี้หรือเปล่าครับ (พี่รู้จักรึเปล่าครับสวนสมเด็จน่ะ) ผมขอรบกวนพี่เท่านี้ล่ะครับ ขอให้พี่ทำเพจสวย ๆ มีความรู้เยอะ ๆ ต่อไป นาน ๆ นะครับ ผมจะแวะเข้ามาดูทุกวันเลย

นันทวุฒิ บุญมาก

thaiastro

เรื่องฝนดาวตกสิงโต น้องนันทวุฒิเข้าใจได้ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่แล้วครับ แต่เรื่องการมองนั้น ก็ไม่เชิง มองตรงกลางฟ้านะครับ แต่ให้มองไปกว้าง ๆ ไม่ต้องเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่ง อาจจะแถว ๆ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ กลางศรีษระ ไม่จำเพาะเจาะจงหรอกครับ ส่วนสถานที่ดูฝนดาวตก ผมยืนยันไว้ตรงนี้เลยว่า ขอให้ฟ้ามืดและไม่มีเมฆ เห็นแน่นอนครับ ขอขอบคุณน้องนันทวุฒิมากครับ ที่มาเยี่ยมชมโฮมเพจสมาคมอยู่เสมอ หากมีข้อแนะนำติชมประการใด ก็ไม่ต้องเกรงใจครับ

วิมุติ วสะหลาย


Apichart Chantanisr (asnchan@asiaaccess.net.th)

คือผมต้องการที่จะถ่ายรูปฝนดาวตกน่ะครับ ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นการตั้งองศากล้อง ความไวชัตเตอร์ ฟิล์มที่ใช้ แล้วก้ออื่นๆด้วยครับ ขอให้คุณช่วยตอบด้วยนะครับ

ขอแสดงความนับถือ อภิชาติ จันทนิสร์ ม.6 รร.พรตพิทยพยัต

thaiastro

ควรตั้งโฟกัสไว้ที่กว้างสุดนะครับ แล้วก็เปิดหน้ากล้องอย่างน้อยสัก 1-2 นาทีครับ คุณอาจเปิดหน้ากล้องนานกว่านั้นเป็น 5 หรือ 10 นาทีก็ได้นะครับ ดาวก็จะเป็นขีดยาวมากขึ้นด้วย บางคนอาจมองว่าสวยดี แต่บางคนกลับไม่ชอบ อันนี้แล้วแต่คนมองครับ ขอแนะนำให้ถ่ายไว้หลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ช่วงครับ

วิมุติ วสะหลาย


surapa@mail.ams.cmu.ac.th

สวัสดีค่ะ ดิฉันได้อ่านคำแนะนำที่คุณวิมุติได้แนะนำในการดูฝนดาวตก และจะต้องมีประโยชน์อย่างแน่นอน จึงขอขอบคุณมากค่ะ ผลเป็นอย่างไรจะได้เล่าให้ ทราบค่ะ

สุรภา

thaiastro

ขอบคุณครับ หากได้ภาพสวย ๆ หรือเรื่องดี ๆ ลองส่งมาที่สมาคม ฯ ก็ได้นะครับ

วิมุติ วสะหลาย


surasak (surasak@ocirink.rink.ac.th)

ข้าพเจ้าอยากทราบ ระติจูด และลองติจูด ของบึงบรเพ็ด จ.นครสวรรค์ เพื่อใช้ในการตั้งกล้อง ดูฝนดาวตก Leonids ในคืนวันที่ 17-18 พ.ย. 41 ( กล้อง Celetron 12 นิ้ว ควบคุมด้วยเครื่อง Computer ) และขอคำแนะนำในการถ่ายภาพกลุ่มฝนดาวตกนี้ด้วย

ขอบคุณครับ นาย วศิน รำพึงกิจ (นักศึกษา)

thaiastro

การถ่ายภาพฝนดาวตกไม่ยากครับ ยิ่งคุณมีกล้องและขาตั้งที่ดีอยู่แล้ว เพียงใช้กล้องถ่ายภาพธรรมดา ติดเลนส์มุมกว้าง หรือค่อนข้างกว้าง แล้วขี่บนกล้องโทรทรรศน์อีกทีหนึ่ง กล้องยี่ห้อที่คุณใช้จะมีส่วนที่ทำให้ติดกับกล้องได้อยู่แล้ว เปิดมอเตอร์ตามดาวตามปกติ ฟิล์มที่ใช้ ไม่ควรต่ำกว่า ISO 400 เพื่อที่จะได้ถ่ายติดได้ง่าย ๆ เปิดชัตเตอร์ B ส่วนเวลานั้นแล้วแต่จะประมาณเอาครับ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 1 นาที ถ้าเปิดนานกว่านั้นมาก ๆ ก็ยิ่งดี ไม่ค่อยมีปัญหามากนักหรอกครับหากถ่ายด้วยระบบตามดาวอย่างนี้ ส่วนพิกัดของบึงบอระเพ็ดนั้น ไม่มีประโยชน์สำหรับการตั้งกล้องเพื่อการถ่ายภาพดาวหรอกครับ ต้องใช้วิธีเล็งอย่างอื่น กรุณาอ่านจดหมายจากคุณ piak ที่หน้าจดหมายถึง thaiastro (https://thaiastro.nectec.or.th/letters/letters.html) เดือนพฤษภาคม 2541 ดูครับ ยาวมาก

วิมุติ วสะหลาย


pornpat nilwong (patble@hotmail.com)

อยากจะทราบว่า บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก สามารถที่จะมองเห็นฝนดาวตกได้หรือเปล่าคะ กรุณาช่วยตอบด่วนด้วยนะคะ ขอบคุณคะ

thaiastro

น่าจะดีครับ ทีมงานของสมาคมดาราศาสตร์ไทยก็ไปที่นั่นครับ แต่เรื่องพายุก็น่ากลัวเหมือนกันครับ เรื่องของ "ที่ไหนดี?" นี้ ขอให้อ่านที่หน้า สารพันคำถามเกี่ยวกับฝนดาวตก (https://thaiastro.nectec.or.th/library/faqshowr.htm) ประกอบครับ

วิมุติ วสะหลาย


Olivier Staiger (olivier.staiger@span.ch)

hello again, I have a question: while I will be staying in Thailand in mid-november to observe the Leonid meteors, I will need internet access. Do you know where I could have free internet account for about 12 days in Thailand? Or maybe you could kindly allow me to use your password and username on the same dialup number as you do ? this would be very confidential of course . As you have seen I have linked to your website from the bottom of http://eclipse.span.ch/leonid.htm but if you would allow me to use your Internet access account then I would mention you as a sponsor on the top of all my leonids-related pages. If this is not possible, maybe you could kindly ask your own internet access provider if they could offer me a free access for 2 weeks in midnovember ?
Also: do you know if there's an astronomical society in ChiangMai and Khorat ?
looking forward to hearing from you soon.

thanks a lot
Olivier

thaiastro

We will let you know about the Internet account usage later.
The Physics department of Chiangmai University has a very strong astronomy team. They may open their observatory ground to the public during the Leonid week. You can contact Prof. Boonraksa Soonthorntham, head of the department, at his e-mail address: -- boonraks@cmu.chiangmai.ac.th

Visanu E.


Jack (s9460004@student.rit.ac.th)

กระผมเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เรียนวิชาสิ่งแวดล้อม ทางอาจารย์ได้ให้พวกกระผมทำพรีเซ็นเตชั่นในหัวข้อเรื่องฝนดาวตก ถ้าทางพวกพี่ ๆ จะกรุณาให้ข้อมูลหรือแนะนำแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ผมต้องขอขอบคุณพี่ล่วงหน้ามานะที่นี้ด้วย s9460025@student.rit.ac.th หรือ

e3925025@cc.en.rit.ac.th

thaiastro

ที่หน้า "ฝนดาวตกที่น่าสนใจในเดือนพฤศจิกายน 2541" (https://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/mete1198.html) มีลิงก์มากมายที่ชี้ไปยังเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับฝนดาวตก ลองดูนะครับ

วิมุติ วสะหลาย


ChulaBoy 6996 (chulaboy6996@hotmail.com)

สวัสดีครับ,
ผม นายชนินทร์ ละลิ่ว เป็นนักศึกษาปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ University of Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผมเพิ่งจะได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโฮมเพจของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ในวันนี้เองเพราะสนใจอยากเข้าไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับ"พายุฝนดาวตกลีโอนิดส์" (Leonid meteor storm) ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
ขอชมครับว่าโฮมเพจสร้างได้สวยมากและเต็มไปด้วยสาระน่ารู้น่าสนใจมากมาย แต่ที่ผมเขียนมาในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการทักท้วงจุดคลาดเคลื่อนตรงคำอธิบายศัพท์ คำหนึ่งในหน้าปทานุกรมดาราศาสตร์ คือ คำว่า "อะฟีเลียน"(Aphelion) ซึ่งที่จริงแล้ว หมายถึง จุดหรือตำแหน่งที่ดาวเคราะห์หรือเทหวัตถุฟากฟ้าใดๆ โคจรอยู่"ไกล"ดวงอาทิตย์มากที่สุด แต่ในปทานุกรมฯ หน้า https://thaiastro.nectec.or.th/ency/index.html เขียนเป็น จุด"ใกล้"สุด... ซึ่งผมเห็นว่าเป็นความผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประชาชนให้ความสนใจกับปรากฎการณ์ "พายุฝนดาวตกลีโอนิดส์"อยู่อย่างในขณะนี้
อนึ่ง คำว่า perihelion และ คำว่า aphelion นั้น ได้มีคำศัพท์บัญญัติเป็นภาษาไทยใช้แล้ว ผมจึงเห็นว่าน่าจะใส่คำศัพท์บัญญัติสำหรับสองคำนี้ไว้ ในปทานุกรมดาราศาสตร์ด้วย คือ perihelion แปลว่า "พสุสงกรานต์เหนือ" หมายถึง จุดหรือตำแหน่ง ที่ดาวเคราะห์หรือเทหวัตถุฟากฟ้าใดๆ โคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ส่วน aphelion แปลว่า "พสุสงกรานต์ใต้" หมายถึง จุดหรือตำแหน่ง ที่ดาวเคราะห์หรือเทหวัตถุฟากฟ้าใดๆ โคจรอยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด
ดังนั้นผมจึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ดำเนินการแก้ไข และโปรดพิจารณา

ด้วยความนับถือ
ชนินทร์ ละลิ่ว
Chanin Laliew, Ph.D. Student
High-speed Electronics and Opto-electronics
Department of Electrical Engineering
University of Minnesota
Minneapolis, MInnesota, USA
Homepage : http://www.tc.umn.edu/nlhome/g016/thaisa

thaiastro

ครับ ผิดอย่างที่แจ้งมาจริง ๆ ผมได้แก้ที่ผิดไปตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งแล้ว แต่เพิ่งมามีเวลาตอบคุณชนินทร์วันนี้เองครับ ส่วนคำว่า perihelion และ aphelion นั้น ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า มีคำไทยสำหรับสองคำนี้ เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่ามีจริง ๆ ผมจะนำลงไปเร็ว ๆ นี้ครับ ขอขอบคุณมากที่ชี้แจงมา

วิมุติ วสะหลาย


ecedsn@email.egat.or.th

ใคร่ขอทราบด่วนเนื่องจากลูกถามว่ากลุ่มฝนดาวตกนี้อยู่ห่างจากโลกประมาณเท่าใดค่ะ

ดุษณี

thaiastro

โดยปกติ ดาวตกที่มากับฝนดาวตกจะส่องสว่างและระเหิดหายไปที่ระดับ ความสูงกว่า 100 กิโลเมตรจากพื้นโลกขึ้นไปครับ

วิมุติ วสะหลาย
สมาคมดาราศาตร์ไทย


Wissawa Kanistasawadi (wissawa@hotmail.com)

หมายเหตุเพิ่มเติม กล้องนี้เป้นกล้อง refractor ผมเจอข้อมูลที่ http://www.astronomics.com/content/prices/astro/cel_tele.htm#refract ครับ

วิศว

thaiastro

สวัสดีครับคุณวิศว
กล้องตัวนี้ราคาไม่แพงนะครับ 169 เหรียญ รุ่นนี้ถ้าซื้อในเมืองไทยก็หายสตางค์อยู่ครับ ประมาณ 12000 บาท ครับ เท่าที่ฟังคุณวิศววะคุยแล้ว ดูเหมือนว่าคุณวิศวะไม่ต้องการกล้องนี้เพื่อดูดาวอย่างเดียว แต่ต้องการดูอย่างอื่นๆ ด้วย เช่น วิว หรือว่าส่องดูนกเป็นต้น คุณต้องการภาพหัวกลับ ก็ต้องซื้อ prism แบบที่เรียกว่า Porror Prism ซึ่งสามารถกลับภาพได้ prism แบบนี้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในกล้องสองตาครับ ราคาไม่ทราบเหมือนกันครับว่าเท่าไร คุณลองถามทางร้านค้าเค้าดูนะครับ กล้องรุ่นนี้ข้อดีคือ ใช้ง่าย แต่ข้อเสียคือ ขนาดเล็กไปหน่อย สิ่งที่ผมจะแนะนำนะครับสำหรับงบประมาณขนาดนี้คือ ลด spec จากขาแบบ Equatorial ให้เป็นขาแบบ Altazimuth(Part #FS60A) แต่ว่าสามารถปรับละเอียดได้ทั้ง 2 แกน ราคาจะถูกลงครับ เพราะผมคิดว่าถึงคุณจะซื้อขาแบบ Equatorial ไป คุณก็ยังต้องใช้การปรับละเอียดแบบ Manual อยู่ดี เพราะว่าถ้าจะปรับอัตโนมัติ จะต้องเสียอีกหลายตังค์ เพื่อซื้อมอเตอร์ และ Controller แต่จากรูปที่ผมดูใน URL ที่คุณส่งให้ผม ผมลองดูแบบ ขา Altazimuth Part #FS60Aสามารถปรับละเอียดได้แกนเดียว ก็ OK นะครับ ใช้ได้ครับ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว กล้องรุ่นนี้จะได้กำลังขยายที่ดีมากที่สุดประมาณไม่เกิน 150 เท่า ซึ่งสามารถใช้ได้ดีกับขารุ่นนี้ครับ ที่สำคัญถูกลงมาอีกเยอะครับ(136 us dollars) คุณว่าไหมครับ ถ้ามีอะไรสงสัยก็อีเมลล์มาถามได้นะครับ

สวัสดีครับ
พรชัย


ChulaBoy 6996 (chulaboy6996@hotmail.com)

ขอบคุณมากครับสำหรับ e-mail ที่คุณกรุณาตอบกลับมา ผมทราบข่าวว่าหลายคนผิดหวังกับเหตุการณ์ฝนดาวตกในครั้งนี้ เพราะจริงๆแล้วไม่ได้ตกมาถี่ราวกับสายฝนอย่างที่หลายๆคนจินตนาการ แต่ก็ยังดีกว่าผมครับที่ในชีวิตนี้ยังมีโอกาสได้เห็นดาวตก คนละดวงสองดวงก็ยังดี แต่ผมนี่เกิดมาตั้ง 27 ปีแล้วยังไม่มีโอกาสได้เห็นเลยสักดวง (สรรพคราสที่เกิดเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วผมก็อดดูเพราะตอนนั้นผมอยู่ในอเมริกา) หวังว่าปีหน้าผมคงจะมีโอกาสได้เห็นดาวตกกับเค้าบ้างนะครับ
ขอให้สมาคมดาราศาสตร์ไทยจงเจริญ

ด้วยความนับถือ
ชนินทร์ ละลิ่ว

thaiastro

ท้องฟ้าที่อเมริกาคงจะดีกว่าเมืองไทยกระมังครับ พื้นที่ก็กว้างขวางใหญ่โต คุณชนินทร์น่าจะมีโอกาสดูปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากกว่าคนในเมืองไทย สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่ผ่านมานั้น ที่เมืองไทยมีทั้งคนบ่นและมีทั้งคนชื่นชอบครับ สำหรับผมแล้ว เรียกว่า "ผิดคาด แต่ไม่ผิดหวัง" ครับ เพราะดาวตกชุดนี้สวยกว่าชุดอื่น ๆ ที่เคยเห็นมา ตอนนี้ผมกำลังสาละวนอยู่กับการตอบคำถามว่า ทำไม ฝนดาวตกจึงน้อยนัก จากหลาย ๆ คน ตอบกันเหนื่อยทีเดียวครับ

ขอให้คำอวยพรของคุณชนินทร์จงเป็นความจริง

วิมุติ วสะหลาย


tawetong (tawetong@cdc.moph.go.th)

ขอบคุณมากครับสำหรับคำอธิบายที่ชัดเจนเรื่องฝนดาวตก ต้องขอชมเชยครับว่าอธิบายได้เข้าใจง่าย

นพ.ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ใหญ่ กรมควบคุมโรคติดต่อ tawetong@cdc.moph.go.th

thaiastro

ขอบคุณครับ

วิมุติ วสะหลาย


Anothai S (anothai0@loxinfo.co.th)

ฝนดาวตกก็คือสะเก็ดดาวใช่มั้ยคะ แล้วจะมีอันตรายกับคนบนพื้นโลกหรือไม่ ถ้าเผื่อว่าเป็นสะเก็ดดาวใหญ่เผาใหม้ไม่หมด

ขอบคุณค่ะ
อโณทัย

thaiastro

ฝนดาวตกคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดดาวตกจำนวนมากกว่าปกติครับ ส่วนสะเก็ดดาวคือวัตถุขนาดเล็กที่ลอยล่องอยู่ในอวกาศครับ หากสะเก็ดดาวเข้าสู่บรรยากาศโลกก็จะทำให้เกิดดาวตกครับ สะเก็ดดาวส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกแล้ว ก็จะถูกเผาไหม้หมดไปอย่างรวดเร็วก่อนจะตกถึงพื้นโลก โอกาสที่จะเหลือชิ้นส่วนถึงพื้นโลกเป็นอุกกาบาตชนหัวเรานั้น น้อยมากครับ นับตั้งแต่อดีตมา เคยมีคนเดียวเท่านั้นที่โชคร้ายโดดอุกกาบาตตกใส่เฉี่ยวสีข้างไหม้ไปแถบหนึ่ง นอกนั้นก็มีชนรถบ้าง ลงหลังคาบ้านบ้าง ไม่มากนัก แต่ไม่ต้องกลัวเกินเหตุนะครับ เพราะโอกาสน้อยจริง ๆ โดยเฉพาะฝุ่นอุกกาบาตที่มากับฝนดาวตกมักจะเล็กและเผาไหม้ได้ง่ายกว่ากรณีปกติเสียอีกครับ

วิมุติ วสะหลาย


ie06003@kmitnb.ac.th

Chokchai kalput wrote: เรียน คุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ
ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ที่จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกจำนวนมากอีกครั้ง ในวันที่ 14 ธันวาคม 2541

ขอบคุณมากครับ

thaiastro

จริงครับ วันที่ 13-14 ธันวาคม จะมีฝนดาวตกอีกครั้งหนึ่ง เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นทุกปีเช่นเดียวกับลีโอนิดส์ แต่ไม่เคยปรากฏคราวละมาก ๆ อย่างลีโอนิดส์ ฝนดาวตกชุดที่จะเกิดขึ้นนี้เรียกว่าเจมินิดส์ เพราะดูเหมือน พุ่งออกมาจากกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) อัตราการตกในช่วงที่ มีดาวตกมากที่สุดจะอยู่ประมาณ 60-100 ดวงต่อชั่วโมง

วิษณุ เอื้อชูเกียรติ


sakda (sakda@rajdamnern.ac.th)

สวัสดีครับ
ผมกำลังศึกษาเรื่องระบบสุริยะ เริ่มมีความสนจนทางด้านนี้เป็นอย่างมาก ผมอยากจะขอรบกวนหน่อยครับ
ถ้าหากผมต้องการดูภาพจากกล้องโทรทรรศน์ที่มีอยู่บนโลก โดยการเฝ้าสังเกตการณ์ ไม่ทราบว่ามี เวปไซท์ไหนที่เขาเปิดโอกาศให้ คนทั่วไปเข้าไปดูภาพที่มาจากกล้องโทรทรรศน์บ้างไหมครับ พอดีผมได้อ่านข่าวว่า มีบางหน่วยงานที่เขาเปิดโอกาสให้ บุคคลทั่วไปเข้าไปฟัง หรือ เฝ้าสังเกตการณ์ จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แต่หนังสือพิมพ์ไม่ได้ลงที่อยู่ และรายละเอียดเอาไว้ อ้อแล้วในประเทศไทยของเรามี แบบนี้หรือเปล่าวครับ

ขอแสดงความนับถือ
ศักดิ์ดา ศิริไพบูลย์

thaiastro

ลองดูในเว็บของ Sky and Telescope ต่อไปนี้ ว่ามีแห่งไหนที่คุณสนใจหรือไม่นะครับ http://www.skypub.com/resources/links/links.html

วิษณุ


surapa decha (surapa@mail.ams.cmu.ac.th)

สวัสดีค่ะคุณวิมุติ
เมื่อคืนนี้ ดิฉันได้เฝ้ามองได้เห็นดาวตก เมื่อเวลา ก่อนตีหนึ่ง ชัดเจน หนึ่งลูกมาจากทางทิศเหนือ ขนาดใหญ่ สีเขียวสว่างผ่านเป็นแนวเหนือใต้ด้วยความรวดเร็ว หลังจากนั้น ก็ไม่เห็นลักษณะเช่นนี้อีก มีเพียงดาวตกขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น จากด้านบนลงล่าง แต่ไม่มีสีสวย รออย่างไรต่อก็ไม่เห็นอีกเลยจนเกือบตี ห้า มีฝนปรอยๆก็เข้านอนค่ะ
รู้สึกผิดหวังไม่เหมือนที่ว่าจะมีมาก ๆ เหมือนฝนตามที่นักวิชาการให้ข้อมูลนัก หรือว่า มีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปร แต่ก็ดีใจที่ได้เห็นตามที่เล่า จะเป็นเลโอนิดส์หรือไม่คะตามที่ดิฉันได้เล่ามานี้ เพราะเห็นก่อนตีสองมาก ขอเล่าให้ทราบเท่านี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะที่ให้โอกาส
สุรภา เดชะ

thaiastro

ฝนดาวตกสิงโตปีนี้มาผิดคาดเล็กน้อยครับ เพราะว่าช่วงที่ตกสูงสุดไม่ใช่ตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะมันมาก่อนหน้านั้นตั้ง 15 ชั่วโมง ผู้ที่เห็นของดีจริง ๆ กลับกลายเป็นคนแถว ๆ ยุโรปและอเมริกาไป ส่วนในเมืองไทยก็จะเห็นมากในคืน 16/17 แทนที่จะเป็น 17/18 คนที่ได้ดูคืน 16/17 บอกว่ามีมากจริง ๆ ครับ มากกว่าคืนต่อมาหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ฝนดาวตกสิงโตปีหน้าก็ไม่ควรพลาดครับ อย่างน้อยที่สุด มันก็จะมากเท่า ๆ กับของปีนี้ จะไม่แย่ไปกว่าปีนี้ครับ และอีกฝนหนึ่งก็คือ ฝนดาวตกคนคู่ในคืนวันที่ 13/14 ธันวาคม 2541 นี้ก็ไม่ควรพลาดครับ เชื่อว่าจะตกไม่มากเท่าฝนดาวตกสิงโต แต่มันก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันครับ

วิมุติ วสะหลาย


SGM (bnacmm@samart.co.th)

เรียนผู้ดูแลเว็บ
ผมสนใจในเรื่องปรากฎการณ์ฝนดาวตกแต่อาจไม่มีเวลาที่จะดูการถ่ายทอด แบบสด บน Internet ไม่ทราบว่าจะมีการเก็บไว้ให้เข้ามาชมในภายหลังได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ
ภควันต์

thaiastro

ขออภัยที่เพิ่งมาตอบครับ เพราะคิวจดหมายยาวมาก เรื่องข้อมูลฝนดาวตกไม่ต้องห่วงครับ เพราะจะไม่มีการลบของเก่าอยู่แล้ว มีแต่จะเพิ่มครับ

วิมุติ วสะหลาย


Autjaree (autjaree@sdc.co.th)

I would like to asked you a little. Do you advise me about web site to show constellation.

Thank you very much.
AUTJAREE @^-^@

thaiastro

Please try http://www.geocities.com/Eureka/Park/1476/starpark.html for Thai or http://www.astro.wisc.edu/~dolan/constellations/ for English.

Hope this helps,
Wimut Wasalai


Kornkan@wcrs.co.th

สวัสดีค่ะ
จะไปดูฝนดาวคนคู่อีก ศึกษาตารางข้อมูลของสมาคมฯแล้วมีข้อสงสัยคือชื่อที่อยู่ ใต้ชื่อฝนดาวหมายถึงอะไร?
Geminids            Dec 07-Dec 17  Dec 14   112 (07h28m) +33  35  120  GEM
Coma Berenicids?     Dec 12-Jan 23  Dec 20   175 (11h40m) +25  65    5  COM
Ursids?              Dec 17-Dec 26  Dec 22   217 (14h28m) +76  33   10  URS

ขอจบเท่านี้ก่อนนะคะขอบคุณค่ะ

Stardust

thaiastro

ชื่อในคอลัมน์แรกเป็นชื่อของฝนดาวตกทั้งนั้นครับ อย่าง Coma Bereniceds ก็คือฝนดาวตกที่มีเรเดียนต์อยู่ที่กลุ่มดาว ผมของเบเรนิส (Coma Berenices) Ursids ก็คือฝนดาวตกที่มีเรเดียนต์มาจากกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) ครับ

วิมุติ วสะหลาย