ดาราศาสตร์โอลิมปิก ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปีการศึกษา 2549
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2550
จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา
ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
(มูลนิธิ สอวน.) และศูนย์ สอวน. สมาคมดาราศาสตร์ไทย
1. ความสำคัญและที่มาของโครงการ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงสนพระทัยทางด้านดาราศาสตร์และทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งในครั้งนั้นตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 นับเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สืบเนื่องต่อมาพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงสนพระทัยในทางดาราศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะประกาศใช้ทั่วประเทศในปี 2546 แล้วนั้น หลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์และอวกาศได้บรรจุสาระเนื้อหาวิชาในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นวิชาบังคับให้นักเรียนได้เรียนรู้ เพื่อให้ได้ระดับมาตรฐานของสากลในระดับนานาชาติ ดังนั้นมูลนิธิ สอวน. ตระหนักในความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนา ศักยภาพการเรียนรู้และความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอย่างยิ่ง ซึ่งทางมูลนิธิได้จัดโครงการโอลิมปิก วิชาการหลายสาขาต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา อาทิ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ฯลฯ
ดังนั้นมูลนิธิ สอวน.และสมาคมดาราศาสตร์ไทย จึงจัดโครงการ "ค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก" ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยรับผิดชอบโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ทั้งหมดประมาณ 1,300 โรงเรียน ซึ่งทางมูลนิธิ สอวน. และสมาคมดาราศาสตร์ไทยจะจัดโครงการ "ค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก" ในช่วงวันที่ 10 - 21 มีนาคม 2550
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก จำนวน 35 คน
- เพื่อจัดให้มีกิจกรรมแข่งขันความสามารถทางดาราศาสตร์ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
- เพื่อพัฒนาการศึกษาดาราศาสตร์ในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา
- เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดาราศาสตร์อันเป็นรากฐานของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21
- เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งมีการจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 1 ในประเทศไทย พ.ศ. 2550
3. เป้าหมายของโครงการ
- เมื่อนักเรียนสิ้นสุดจากการเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก จำนวน 35 คน แล้วจะจัดการสอบคัดเลือกนักเรียนในการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ประมาณเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2550
- คัดเลือกนักเรียนที่เป็นตัวแทนระดับชาติเข้าแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศต่อไป
- พัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถทางด้านดาราศาสตร์แก่เยาวชนของประเทศเข้าสู่มาตรฐานระดับนานาชาติ
- ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนดาราศาสตร์บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา
- พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับแผนการพัฒนาประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4. วิธีดำเนินการ
ศูนย์ สอวน. (สมาคมดาราศาสตร์ไทย) กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าค่าย ดาราศาสตร์โอลิมปิก ตามรายละเอียดดังนี้
4.1 นักเรียนที่เข้าค่ายระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 35 คน ซึ่งจะแบ่งการรับนักเรียนเป็น 2 ส่วนคือ
4.1.1 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ผ่านค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิก (ค่ายดาราศาสตร์ 2) จำนวน 20 คน
4.1.2 คัดเลือกจากนักเรียนที่เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาสาขาอื่นๆ หรือรับสมัครจากบุคคลทั่วไปโดยให้อิสระแต่ละศูนย์ในการคัดเลือกจำนวน 15 คน ในกรณีที่จำนวนนักเรียนในข้อ 4.1.1 มีไม่ถึง 20 คน ให้รับจนครบจำนวน 35 คน
4.1 จำนวนค่ายที่จัด เวลา สถานที่
- ในระหว่างวันที่ 10 - 21 มีนาคม 2550 นักเรียนเข้าค่ายจำนวน 35 คน จำนวน 12 วัน ณ สมาคมดาราศาสตร์ไทย กรุงเทพมหานคร
- เมื่อสิ้นค่ายจะสอบคัดเลือกผู้แทนศูนย์จำนวน 6 คน เพื่อเข้าแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2550 ณ ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าค่าย
5.1 นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นนักเรียนที่สังกัด โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก
5.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เกิดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2531 โดยจะต้องมีอายุไม่เกิน 19 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 และอยู่ในระดับชั้นไม่เกินมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2549
6. หลักฐานการสมัคร
6.1 ใบสมัคร
6.2 รูปถ่ายชุดนักเรียน (หน้าตรง) ขนาด 2.5 X 3 เซนติเมตร ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 3 ใบ
7. ค่าธรรมเนียมการสมัคร
ค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 50.- บาท ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมการสมัครจะไม่คืนให้ในกรณีตรวจสอบพบว่าผู้สมัครสอบมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5
8. ขั้นตอนและวิธีการสมัคร
8.1 นักเรียนสามารถสมัครผ่านโรงเรียน หรือสมัครได้ด้วยตนเองโดยทางไปรษณีย์ ซึ่งสามารถใช้ใบสมัครถ่ายเอกสารได้หรือพิมพ์จาก website สมาคมดาราศาสตร์ไทย https://thaiastro.nectec.or.th
8.2 เมื่อนักเรียนกรอกข้อมูลตามแบบใบสมัครให้ติดรูปลงบนใบสมัคร และบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบพร้อมลงชื่อ ผู้สมัครให้ครบทั้ง 3 ส่วน
8.3 ให้นักเรียนส่งแบบใบสมัครสอบคัดเลือก (ส่วนที่ 1) และบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ (ส่วนที่ 2) ให้ทางโรงเรียนเพื่อจัดส่งให้สมาคมดาราศาสตร์ไทยต่อไป
8.4 ผู้อำนวยการโรงเรียนมีจดหมายส่งรายชื่อนักเรียนที่สมัครสอบคัดเลือกพร้อมใบสมัครมายังสมาคม ดาราศาสตร์ไทย
8.5 ทางโรงเรียนสามารถให้นักเรียนสมัครสอบคัดเลือกเข้าค่ายโดยไม่จำกัดจำนวน
8.6 หมดเขตรับสมัคร ภายในวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2550
หมายเหตุ : กรณีนักเรียนสมัครสอบคัดเลือกด้วยตัวเอง ให้นักเรียนส่งหลักฐานแบบใบสมัครทั้ง 2 ส่วนพร้อมกับถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวนักเรียนส่งมายังสมาคมดาราศาสตร์ไทยโดยตรง
9. การคัดเลือก
9.1 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยทดสอบความรู้พื้นฐานทางด้านดาราศาสตร์คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
9.2 สอบคัดเลือกในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 13.00 - 15.30 น.
9.3 สถานที่สอบ โรงเรียนปทุมคงคา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ (ข้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ)
9.4 แผนผังที่นั่งสอบและห้องสอบให้นักเรียนตรวจสอบได้ในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 ณ บริเวณสนามสอบ
9.5 ให้นักเรียนนำบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ (ส่วนที่ 3) มาแสดงในวันสอบ (ถ้านักเรียนไม่นำบัตรมาแสดงทางสมาคมฯไม่อนุญาตให้สอบ)
10. การประกาศผลสอบ
10.1 ประกาศผลการสอบคัดเลือกผู้สอบผ่านข้อเขียนจำนวน 50 คน ในวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 ทาง website สมาคมดาราศาสตร์ไทย https://thaiastro.nectec.or.th และที่สำนักงานสมาคมดาราศาสตร์ไทย โทรศัพท์ 0-2381-7409-10 โทรสาร 0-2381-7410
10.2 ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกข้อเขียนจำนวน 50 คน มาสอบสัมภาษณ์ในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2550 ณ ห้องสมาคมดาราศาสตร์ไทย ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.
10.3 ประกาศผลผู้ที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์จำนวน 15 คน ในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2550 ทาง website สมาคมดาราศาสตร์ไทย https://thaiastro.nectec.or.th และที่สำนักงานสมาคมดาราศาสตร์ไทย โทรศัพท์ 0-2381-7409-10 โทรสาร 0-2381-7410
11. ระยะเวลาและสถานที่เข้าค่าย
11.1 นักเรียนที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์มารายงานตัวเพื่อเข้าค่ายดาราศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2550 เวลา 08.00 น. ระยะเวลาเข้าค่าย วันเสาร์ที่ 10 - วันพุธที่ 21 มีนาคม 2550 (รวม 12 วัน)
11.2 สถานที่ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เลขที่ 928 ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 https://thaiastro.nectec.or.th E-Mail Address : thaiastro@hotmail.com โทรศัพท์ 0 - 2381 - 7409 - 10 โทรสาร. 0 - 2381 - 7410
12. ค่าใช้จ่าย (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
มูลนิธิ สอวน. จะเป็นผู้รับชอบ ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าจัดกิจกรรมอื่นๆ สำหรับนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าค่ายทุกคน