สุริยุปราคา 11 มิถุนายน 2545

ปรับปรุงเมื่อ: 8 มิถุนายน 2545 วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

เช้าตรู่ของวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545 เงาของดวงจันทร์จะทาบผ่านผิวโลกก่อให้เกิดสุริยุปราคาวงแหวน มองเห็นได้ในพื้นที่บริเวณหมู่เกาะของอินโดนีเซีย มหาสมุทรแปซิฟิก และพื้นที่บางส่วนของเม็กซิโก ซึ่งจะมองเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏเป็นวงแหวนที่ขอบฟ้าก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตก บริเวณที่มองเห็นสุริยุปราคาบางส่วน คือ ดวงอาทิตย์แหว่งเว้าเนื่องจากถูกดวงจันทร์บังเพียงบางส่วนของดวง ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนของออสเตรเลีย ฮาวาย ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง

สำหรับประเทศไทย จะมีบางส่วนของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีโอกาสจะมองเห็นดวงอาทิตย์แหว่งขณะขึ้นจากขอบฟ้าในเวลาเช้าของวันที่ 11 มิถุนายน แต่มีโอกาสจะเกิดอุปสรรคจากเมฆฝนได้มากพอสมควร และดวงอาทิตย์จะถูกบังเป็นสัดส่วนไม่มากนักโดยจะเห็นขอบด้านล่างของตัวดวงแหว่งไปเล็กน้อยขณะกำลังขึ้นที่ขอบฟ้าด้านตะวันออกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย การดูสุริยุปราคาครั้งนี้ในกรณีที่ท้องฟ้าแจ่มใส จำเป็นต้องระวังอันตรายจากแสงอาทิตย์ ควรใช้แผ่นกรองแสงสำหรับส่องดู หรือหากมีเมฆบาง ๆ บดบังดวงอาทิตย์อยู่แล้วยังสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นกรองแสง แต่ต้องระลึกเสมอว่าหากเริ่มรู้สึกว่าดวงอาทิตย์สว่างจ้าเกินไปก็ไม่ควรดูโดยปราศจากแผ่นกรองแสงหรือแว่นสำหรับส่องดูสุริยุปราคา

ตารางต่อไปนี้แสดงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์สำหรับอำเภอเมืองของบางจังหวัด ที่มีโอกาสจะมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 11 มิถุนายน 2545

เวลาการเกิดสุริยุปราคา 11 มิถุนายน 2545
จังหวัด ดวงอาทิตย์ขึ้น สิ้นสุดสุริยุปราคา
เวลา สัดส่วนที่ดวงอาทิตย์ถูกบัง
ขณะกำลังขึ้นที่ขอบฟ้า
เวลา มุมเงย
กรุงเทพฯ 5:50 น. 14% 5:59 น. 1.3°
ขอนแก่น 5:36 น. 30% 6:00 น. 4.5°
จันทบุรี 5:45 น. 20% 5:59 น. 2.3°
เชียงใหม่ 5:46 น. 16% 5:59 น. 1.9°
นครนายก 5:46 น. 18% 5:59 น. 2.1°
นครราชสีมา 5:41 น. 25% 5:59 น. 3.2°
บุรีรัมย์ 5:37 น. 30% 5:59 น. 4.1°
พิษณุโลก 5:45 น. 19% 5:59 น. 2.3°
ระยอง 5:49 น. 15% 5:59 น. 1.5°
อุดรธานี 5:34 น. 31% 6:00 น. 4.8°
อุบลราชธานี 5:30 น. 38% 6:00 น. 5.8°

หมายเหตุ: สัดส่วนนี้หมายถึงสัดส่วนตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางดวงอาทิตย์ ไม่ใช่พื้นที่วงกลมของดวงอาทิตย์

จากตารางนี้แสดงว่าจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสที่จะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังได้ลึกที่สุด คือยิ่งไปทางตะวันออกมากขึ้นก็จะมองเห็นสุริยุปราคาได้ดีและนานกว่าคนที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้จะไม่มีโอกาสมองเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ นอกจากนี้หากท้องฟ้าแจ่มใสควรมองหาสถานที่ที่ขอบฟ้าตะวันออกเปิดโล่งไม่มีอะไรบดบัง เพราะดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากในขณะที่เกิดปรากฏการณ์

สุริยุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดวงอาทิตย์มีระยะห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ประมาณ 400 เท่า ในขณะเดียวกัน เป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่ขนาดของดวงอาทิตย์ ก็มีค่าประมาณ 400 เท่าของดวงจันทร์ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้าด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากระยะห่างนี้ไม่คงที่ ทำให้บางครั้งดวงจันทร์ก็ปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์หรือใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์จะทอดเงาลงมาบนพื้นโลก ผู้คนในพื้นที่บางส่วนบนพื้นผิวโลกที่อยู่ภายใต้เงานี้ จะมีโอกาสมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังได้

หากว่าเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลก ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์ได้หมดทั้งดวง เรียกว่าปรากฏการณ์ "สุริยุปราคาเต็มดวง" ในทางกลับกัน หากว่าดวงจันทร์อยู่ไกลโลก ดวงจันทร์จะไม่สามารถบังดวงอาทิตย์ได้หมดทั้งดวง ทำให้ดวงอาทิตย์ปรากฏคล้ายวงแหวน เรียกว่า "สุริยุปราคาวงแหวน" พื้นที่บนพื้นโลกที่มีโอกาสมองเห็นปรากฏการณ์สองอย่างข้างต้นนี้จะเป็นพื้นที่เพียงส่วนแคบ ๆ ลากเป็นทางยาวบนพื้นผิวโลก ส่วนพื้นที่ๆ อยู่นอกเขตของแถบดังกล่าวนี้ จะมีโอกาสมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังไปเพียงบางส่วน เรียกว่า "สุริยุปราคาบางส่วน"

ดูอย่างไรให้ปลอดภัย?

สิ่งสำคัญที่สุดในการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคา คือ หลีกเลี่ยงอันตรายอันเนื่องมาจากแสงสว่างของดวงอาทิตย์ อย่าดูดวงอาทิตย์โดยปราศจากแว่นหรือแผ่นกรองแสงที่ออกแบบมาสำหรับการส่องดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ แว่นกันแดดที่ขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดก็ไม่ควรใช้ หากไม่มีแว่นดูสุริยุปราคา วิธีที่ง่ายที่สุดและปลอดภัย คือ นำเทปกาวแบบทึบแสง มาเจาะรูด้วยมีดคัตเตอร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำไปติดกับกระจกขนาดเล็ก เวลาใช้งาน ให้สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ไปยังฉากรับภาพที่อยู่ไกลออกไป เช่น ผนังบ้านด้านที่ไม่ถูกแสงอาทิตย์ ภาพที่ปรากฏบนฉากจะเป็นภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์

ดูเพิ่ม