สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สุริยุปราคา 19 มีนาคม 2550

สุริยุปราคา 19 มีนาคม 2550

16 มิถุนายน 2550
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 16 มิถุนายน 2565
โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
สองสัปดาห์หลังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อคืนวันมาฆบูชา เช้าวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2550 จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน มองเห็นได้ในประเทศไทย เอเชียใต้ บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก รวมทั้งบางส่วนของมลรัฐอะแลสกาในทวีปอเมริกาเหนือ

สุริยุปราคามีโอกาสเกิดขึ้นได้ในวันเดือนดับเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์พร้อมกับทอดเงาตกลงบนพื้นผิวโลก เงาดวงจันทร์มีสองส่วนคือเงามืดกับเงามัว คนบนพื้นโลกส่วนที่อยู่ใต้เงามัวจะมองเห็นดวงอาทิตย์แหว่ง แต่หากอยู่ใต้เงามืดจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงเรียกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง สำหรับประเทศไทยเคยเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2538

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน 19 มีนาคม 2550 (ภาพจาก US Naval Observatory) 

สุริยุปราคาที่จะเกิดในวันที่ 19 มีนาคม เป็นสุริยุปราคาบางส่วน หมายความว่าเงามืดของดวงจันทร์ไม่ได้ตกกระทบพื้นผิวโลก คงมีแต่เงามัวเท่านั้นที่พาดผ่านผิวโลก หากมองในภาพกว้างสุริยุปราคาครั้งนี้เริ่มต้นเวลา 7.38 น. ตามเวลาประเทศไทย เมื่อเงามัวของดวงจันทร์เริ่มแตะผิวโลกบริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย จากนั้นเกิดสุริยุปราคามองเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด (88%) ที่รัสเซียในเวลา 9.32 น. แล้วไปสิ้นสุดสุริยุปราคาในเวลา 11.25 น. อันเป็นจังหวะที่เงามัวหลุดออกจากผิวโลกในทะเลนอกชายฝั่งด้านทิศเหนือของอะแลสกา

สำหรับประเทศไทย สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้มองเห็นได้เกือบทั่วประเทศยกเว้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ บริเวณที่เห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดคือด้านตะวันตกเฉียงเหนือของภาคเหนือ ยิ่งอยู่ในละติจูดสูงมากเท่าใดก็ยิ่งเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากเท่านั้น ส่วนเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ เห็นตั้งแต่เวลา 7.47 8.57 น. ดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดในเวลา 8.21 น. ด้วยสัดส่วน 16% จังหวัดอื่น ๆ บางจังหวัดสามารถดูได้จากตาราง ส่วนจังหวัดที่ไม่แสดงในตารางอาจคาดคะเนได้จากข้อมูลของจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

ภาพจำลองดวงอาทิตย์ที่มองเห็นได้จากกรุงเทพฯ ในเวลา 8.21 น. ของวันที่ 19 มีนาคม 2550 ขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน
 


ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นได้จากที่ต่าง ๆ ขณะถูกบังมากที่สุด 

ขั้นตอนการเกิดสุริยุปราคาบางส่วน 19 มีนาคม 2550
สถานที่เริ่มเกิดบังลึกที่สุดสิ้นสุด
เวลาสัดส่วนที่บังมุมเงย
กรุงเทพฯ7.48 น.8.21 น.16%28°8.57 น.
กระบี่7.55 น.8.12 น.4%25°8.30 น.
กาญจนบุรี7.46 น.8.21 น.17%27°8.58 น.
กาฬสินธุ์7.50 น.8.28 น.19%32°9.07 น.
กำแพงเพชร7.46 น.8.25 น.23%27°9.07 น.
ขอนแก่น7.49 น.8.27 น.19%31°9.07 น.
จันทบุรี7.51 น.8.21 น.12%29°8.52 น.
ฉะเชิงเทรา7.48 น.8.22 น.15%28°8.57 น.
ชลบุรี7.48 น.8.21 น.15%28°8.55 น.
ชัยนาท7.46 น.8.24 น.19%28°9.03 น.
ชัยภูมิ7.48 น.8.26 น.19%30°9.05 น.
ชุมพร7.50 น.8.16 น.10%26°8.43 น.
เชียงราย7.46 น.8.31 น.29%28°9.16 น.
เชียงใหม่7.45 น.8.29 น.28%27°9.15 น.
ตรัง7.59 น.8.12 น.2%25°8.25 น.
ตราด7.52 น.8.20 น.11%30°8.50 น.
ตาก7.45 น.8.26 น.24%27°9.08 น.
นครนายก7.48 น.8.23 น.16%29°8.59 น.
นครปฐม7.47 น.8.21 น.16%27°8.57 น.
นครพนม7.52 น.8.30 น.19%33°9.10 น.
นครราชสีมา7.49 น.8.24 น.17%30°9.01 น.
นครศรีธรรมราช7.56 น.8.13 น.4%26°8.31 น.
นครสวรรค์7.46 น.8.24 น.20%28°9.04 น.
นนทบุรี7.48 น.8.22 น.16%28°8.57 น.
น่าน7.47 น.8.30 น.26%29°9.15 น.
บุรีรัมย์7.50 น.8.25 น.16%31°9.01 น.
ปทุมธานี7.47 น.8.22 น.16%28°8.58 น.
ประจวบคีรีขันธ์7.48 น.8.18 น.12%27°8.49 น.
ปราจีนบุรี7.48 น.8.22 น.16%29°8.58 น.
พระนครศรีอยุธยา7.47 น.8.22 น.17%28°8.59 น.
พะเยา7.46 น.8.30 น.28%28°9.16 น.
พังงา7.53 น.8.13 น.5%24°8.33 น.
พัทลุง8.00 น.8.12 น.2%26°8.24 น.
พิจิตร7.46 น.8.26 น.22%28°9.07 น.
พิษณุโลก7.46 น.8.26 น.23%28°9.08 น.
เพชรบุรี7.47 น.8.20 น.15%27°8.55 น.
เพชรบูรณ์7.47 น.8.26 น.21%29°9.07 น.
แพร่7.46 น.8.28 น.25%28°9.13 น.
ภูเก็ต7.55 น.8.12 น.4%24°8.29 น.
มหาสารคาม7.50 น.8.27 น.18%31°9.06 น.
มุกดาหาร7.52 น.8.29 น.18%33°9.07 น.
แม่ฮ่องสอน7.45 น.8.29 น.30%26°9.16 น.
ยโสธร7.51 น.8.27 น.17%32°9.04 น.
ร้อยเอ็ด7.50 น.8.27 น.18%32°9.05 น.
ระนอง7.50 น.8.15 น.9%25°8.41 น.
ระยอง7.49 น.8.20 น.13%28°8.52 น.
ราชบุรี7.47 น.8.21 น.16%27°8.56 น.
ลพบุรี7.47 น.8.23 น.18%28°9.01 น.
ลำปาง7.46 น.8.28 น.26%28°9.13 น.
ลำพูน7.45 น.8.28 น.27%27°9.14 น.
เลย7.48 น.8.28 น.23%30°9.11 น.
ศรีสะเกษ7.52 น.8.26 น.15%32°9.02 น.
สกลนคร7.51 น.8.29 น.19%32°9.10 น.
สงขลา8.07 น.8.12 น.00.3%26°8.17 น.
สมุทรปราการ7.48 น.8.21 น.15%28°8.56 น.
สมุทรสงคราม7.47 น.8.21 น.15%27°8.56 น.
สมุทรสาคร7.47 น.8.21 น.15%27°8.56 น.
สระแก้ว7.49 น.8.22 น.14%30°8.57 น.
สระบุรี7.48 น.8.23 น.17%28°9.00 น.
สิงห์บุรี7.47 น.8.23 น.18%28°9.01 น.
สุโขทัย7.46 น.8.26 น.23%28°9.09 น.
สุพรรณบุรี7.47 น.8.22 น.18%28°9.00 น.
สุราษฎร์ธานี7.53 น.8.14 น.6%25°8.36 น.
สุรินทร์7.51 น.8.25 น.15%31°9.01 น.
หนองคาย7.49 น.8.29 น.22%31°9.12 น.
หนองบัวลำภู7.49 น.8.28 น.21%31°9.10 น.
อ่างทอง7.47 น.8.23 น.18%28°9.00 น.
อำนาจเจริญ7.52 น.8.27 น.16%33°9.05 น.
อุดรธานี7.49 น.8.29 น.21%31°9.11 น.
อุตรดิตถ์7.46 น.8.27 น.24%28°9.11 น.
อุทัยธานี7.46 น.8.24 น.20%28°9.03 น.
อุบลราชธานี7.52 น.8.26 น.15%33°9.02 น.

หมายเหตุ ตารางด้านบนสำหรับอำเภอเมืองของจังหวัด อำเภออื่นจะต่างจากนี้เล็กน้อย บริเวณที่ไม่เห็นปรากฏการณ์ได้แก่ พื้นที่ทางใต้ของจังหวัดสงขลา พัทลุง และสตูล รวมไปถึงทั้งหมดของ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ห้ามดูด้วยตาเปล่า ต้องมีแว่นกรองแสงหรือแผ่นกรองแสงที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับส่องดูดวงอาทิตย์และอาจใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีแผ่นกรองแสงปิดบังหน้ากล้อง นอกจากนี้เรายังสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงอาทิตย์โดยสังเกตปรากฏการณ์ด้วยวิธีทางอ้อม เช่น ฉายภาพดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงบนฉากรับภาพ แล้วดูดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนฉาก ควรเฝ้าระวังอย่าให้เด็กหรือผู้ที่ไม่รู้มองเข้าไปในกล้อง


วัสดุกรองแสงที่ไม่ปลอดภัยและควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กระจกรมควัน แว่นกันแดด กระดาษห่อลูกอม แผ่นดิสเก็ตต์ ฟิล์มเอกซ์เรย์ ฟิล์มถ่ายรูป ฯลฯ อย่านำมาใช้ดูดวงอาทิตย์ แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะมีความสามารถในการกรองแสงย่านแสงขาว แต่รังสีอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านได้และจะเป็นอันตรายต่อดวงตา

สำหรับผู้ที่ไม่มีแผ่นกรองแสงหรือทัศนูปกรณ์อื่น อาจใช้วัสดุง่าย ๆ ในบ้านมาช่วยในการสังเกตสุริยุปราคาโดยใช้หลักการของกล้องรูเข็ม สิ่งที่ต้องมีคือกระจกเงาบานเล็ก กระดาษขนาดใหญ่กว่ากระจก มีดคัตเตอร์หรือกรรไกร และเทปกาว

วิธีทำคือ นำกระดาษมาเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด เซนติเมตร (อาจใช้มีดกรีดโดยตรงหรือพับกระดาษแล้วใช้กรรไกรตัด) จากนั้นนำไปประกบกับบานกระจกด้วยเทปกาว เวลาใช้งานให้นำกระจกเงาดังกล่าวไปสะท้อนแสงอาทิตย์ให้แสงตกบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ภายในบ้าน ภาพที่เห็นบนฉากจะเป็นดวงกลมซึ่งเป็นภาพสะท้อนของดวงอาทิตย์


เมื่อเกิดสุริยุปราคา ดวงกลมที่เห็นบนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ขนาดของดวงอาทิตย์บนฉากแปรผันตามระยะห่างระหว่างกระจกกับฉากรับภาพ โดยที่ระยะหนึ่งเมตรจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดประมาณ มิลลิเมตร ดังนั้นที่ระยะห่าง 10 เมตร จะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาด เซนติเมตร วิธีนี้ทำให้เราสามารถสังเกตสุริยุปราคาได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อดวงตา แต่พึงระวังอย่าให้ใครที่เดินผ่านไปมามีโอกาสหันมามองแสงอาทิตย์ที่สะท้อนออกมาจากกระจก

หลังจากปีนี้ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนอีกครั้งในเย็นวันศุกร์ที่ สิงหาคม 2551 ซึ่งจะเกิดในเวลาไม่นานก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า

อันตรายจากแสงอาทิตย์

สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาและทำความรู้จักกับธรรมชาติของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ อย่างไรก็ตามการดูดวงอาทิตย์ด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะรังสีจากดวงอาทิตย์สามารถทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ของจอตาทำให้ตาบอด เร่งการเสื่อมสภาพของกระจกตา และเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคต้อกระจก

หากจ้องดูดวงอาทิตย์โดยปราศจากสิ่งป้องกัน แสงอาทิตย์จะไปรวมกันที่จอตา ทำลายเซลล์จนทำให้เกิดอาการตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ ที่สำคัญกว่านั้น คือ ขณะที่จอตาถูกแสงอาทิตย์เผาเราไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะในนั้นไม่มีเซลล์ประสาทสำหรับรับความรู้สึก ดังนั้นทุกคนจึงควรตระหนักว่าการสังเกตสุริยุปราคาที่ถูกต้อง คือ อย่าดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือดูจากภาพสะท้อนบนฉากที่ฉายออกมาจากอุปกรณ์