ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส 2545
ฝนดาวตกกลุ่มนี้เป็นฝนดาวตกที่ติดกลุ่มในจำนวนฝนดาวตกที่น่าดูที่สุดในรอบปี เพราะมีปริมาณดาวตกค่อนข้างมาก ดาวหางที่ให้กำเนิดฝนดาวตกกลุ่มนี้คือ ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล ซึ่งเคยตกเป็นข่าวโด่งดังพอสมควรว่ามีโอกาสจะชนโลกในอีกกว่าศตวรรษข้างหน้า ช่วงที่ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิลกลับมาเยือนโลกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2535 ได้ทำให้เกิดฝนดาวตกเพอร์ซิอัสในปี 2534 และ2535 ด้วยจำนวนมากกว่า 400 ดวงต่อชั่วโมง ส่วนปี 2536 และ 2537 มีจำนวนลดลงเป็น 300 และ 220 ดวงต่อชั่วโมง ตามลำดับ หลังจากนั้นก็มีจำนวนดาวตกขณะที่มีอัตราสูงสุดอยู่ในราว 100-160 ดวงต่อชั่วโมง
สำหรับประเทศไทย สภาพท้องฟ้าขณะเกิดฝนดาวตกมากที่สุดในปีนี้ค่อนข้างดีเนื่องจากดวงจันทร์มีดิถีในช่วงข้างขึ้นทำให้ไม่เป็นอุปสรรค แต่อุปสรรคสำคัญน่าจะเกิดจากสภาพอากาศมากกว่า โดยคาดว่าหากสังเกตการณ์ในประเทศไทยจากสถานที่ที่ท้องฟ้าแจ่มใสและไม่มีแสงรบกวน น่าจะมีอัตราสูงสุดที่ประมาณ 80 ดวงต่อชั่วโมง ในช่วงก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 13 สิงหาคม (คืนวันที่ 12 สิงหาคม)
การสังเกตการณ์ดาวตกโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ใด ๆ เพียงใช้เก้าอี้พับหรือปูเสื่อนอนดูแล้วมองขึ้นไปบนท้องฟ้า หากบันทึกแนวเส้นทางของดาวตกแล้วลากเส้นย้อนกลับให้เลยออกไปจากแนวดาวตกที่มองเห็น จะพบว่าดาวตกส่วนใหญ่ลู่เข้าหาจุด ๆ หนึ่งในแผนที่ดาว จุดนั้นเรียกว่า "จุดกระจายดาวตก" หรือ "เรเดียนต์" ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีทิศทางของเรเดียนต์อยู่ในกลุ่มดาวชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่เห็นได้ชัดเจนกลุ่มหนึ่งบนท้องฟ้าทางเหนือ ขึ้นจากขอบฟ้าราวเที่ยงคืนและสูงที่สุดตอนเช้ามืด กลุ่มดาวนี้อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวแคสซิโอเปียและกระจุกดาวลูกไก่ อย่างไรก็ตามเราควรมองห่างจากเรเดียนต์ในเวลาที่สังเกตการณ์ เพราะดาวตกจะมีเส้นทางยาวกว่าการมองใกล้ ๆ กับเรเดียนต์
ปีนี้องค์การอุกกาบาตสากล (International Meteor Organisation) คำนวณว่าฝนดาวตกเพอร์ซิอัสจะมีอัตราสูงสุดในวันที่ 13 สิงหาคม 2545 เวลา 5.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าเราจะสามารถมองเห็นดาวตกได้ตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนของคืนวันที่ 12 ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 13 สิงหาคม โดยคาดว่าอัตราการเกิดดาวตกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยจนถี่มากที่สุดในช่วงก่อนเช้ามืด
ความเป็นมา
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเริ่มปรากฏในบันทึกของชาวจีน มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 36 นอกจากนี้ยังพบในบันทึกของญี่ปุ่นและเกาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 8, 9, 10 และ 11 จนกระทั่งปี 1835 จึงได้มีการค้นพบว่าเป็นดาวตกที่มีทิศทางพุ่งออกมาจากกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส จากการคำนวณของจิโอวานนี เชพพาเรลลี จึงพบว่าดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้มีวงโคจรใกล้เคียงกับดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล ซึ่งเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปี 1862 และอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงมีอัตราการเกิดดาวตกสูงมากในช่วงปี 1861-1863
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อัตราการเกิดดาวตกลดลงอย่างมาก ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในปี 1920, 1931 และ 1945 ระหว่างปี 1973 ไบรอัน มาร์สเดน ได้พยากรณ์ว่าดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล จะกลับมาในปี 1981 โดยให้ค่าความคลาดเคลื่อนไว้ที่ 1 ปี หลังจากนั้นอัตราการเกิดดาวตกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 1976-1983 แม้ว่าจะไม่มีการค้นพบดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิลตามการพยากรณ์ของมาร์สเดน
ต้นทศวรรษ 1990 มาร์สเดนได้ตีพิมพ์ผลการคำนวณครั้งใหม่ โดยพยากรณ์ว่าหากดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล เป็นดาวหางดวงเดียวกับที่เคกเลอร์มองเห็นในปี 1737 ดาวหางดวงนี้น่าจะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในเดือนธันวาคม 1992 ซึ่งปรากฏว่าได้มีการค้นพบดาวหางดวงนี้อีกครั้งเมื่อปลายฤดูร้อนของปีนั้น ปีถัดมาปรากฏว่าฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีอัตราการเกิดสูงถึง 200-500 ดวงต่อชั่วโมง โดยมองเห็นได้ในยุโรป
ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล
เลวิส สวิฟต์ ค้นพบดาวหางดวงนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1862 แต่เขาคิดว่าเป็นดาวหางชมิดต์ซึ่งถูกค้นพบก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ต่อมาภายหลัง ฮอเรซ ทัตเทิล ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม และประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการ ทำให้สวิฟต์รู้ว่าดาวหางที่เขาได้เห็นก่อนหน้านี้เป็นดาวหางดวงใหม่ การคำนวณวงโคจรในเวลาต่อมาพบว่าดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล มีคาบการโคจรเกือบ 120 ปี ซึ่งทำให้เกี่ยวโยงไปถึงดาวหางเคกเลอร์ซึ่งมาปรากฏเมื่อปี 1737 และดาวหางวอร์เจนทินในปี 1750
ไบรอัน มาร์สเดน ได้ใช้ตำแหน่งของดาวหางที่สังเกตการณ์ได้ในช่วงนั้น คำนวณได้ว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาในปี 1981 แต่ต่อมาได้ประกาศออกมาอีกครั้งว่าหากสวิฟต์-ทัตเทิลเป็นดาวหางดวงเดียวกับเคกเลอร์ ดาวหางดวงนี้จะกลับมาในปี 1992 ซึ่งนำไปสู่การค้นพบดาวหางอีกครั้งในเดือนกันยายน 1992 โดยนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่น หลังจากที่ดาวหางหายหน้าไปกว่าศตวรรษ
การกลับมาของดาวหางในปี 1992 ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าในครั้งต่อไป ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิลจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2126 ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย ความคลาดเคลื่อนนี้เองทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบว่ามันมีโอกาสพุ่งชนโลกในวันที่ 14 สิงหาคม ของปีนั้น อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะชนกันนั้นมีไม่มาก ผลการคำนวณวงโคจรที่แม่นยำยิ่งขึ้นแสดงให้เห็นว่าดาวหางดวงนี้จะไม่ชนโลก แต่จะเฉียดเข้าใกล้ด้วยระยะทาง 22 ล้านกิโลเมตร
ข้อมูลเพิ่มเติม
- ดาวตกจากฝนดาวตกเพอร์ซิอัสส่วนใหญ่มีสีขาว-เหลือง และสามารถพบลูกไฟได้เกือบครึ่งหนึ่งของดาวตกทั้งหมด
- ดาวตกจากฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีอัตราเร็วประมาณ 59 กิโลเมตรต่อวินาที ช้ากว่าฝนดาวตกสิงโตซึ่งมีอัตราเร็ว 71 กิโลเมตรต่อวินาที