ดาวเสาร์ใกล้โลก 2545

วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

หลังจากดวงอาทิตย์ตกในเดือนธันวาคมนี้ จะเห็นดาวเสาร์ขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และจะสามารถมองเห็นดาวเสาร์ต่อเนื่องได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้ามืด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี หรือพูดอีกอย่างว่าโลกมีตำแหน่งอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเสาร์ นอกจากนั้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ดาวเสาร์ยังจะมีระยะห่างที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 27 ปี ตลอดเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดาวเสาร์เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกในบริเวณกลุ่มดาวนายพราน จากนั้นจะเริ่มเคลื่อนที่ถอยหลังกลับมายังกลุ่มดาววัว

วันที่ดาวเสาร์และดวงอาทิตย์อยู่ตรงข้ามกัน ดาวเสาร์จะขึ้นทางทิศตะวันออกขณะที่ดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก ด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวเสาร์สุกสว่างเปล่งแสงสีทองโดดเด่นชัดเจนอยู่บนท้องฟ้าตะวันออกในเวลาหัวค่ำ เมื่อมองดูดาวเคราะห์ผ่านใกล้โทรทรรศน์ ดาวเสาร์จัดว่าเป็นดาวเคราะห์ที่สวยงามที่สุด เนื่องจากวงแหวนที่ล้อมรอบตัวดวง ในช่วงที่ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดจะอยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 1,205 ล้านกิโลเมตร ปรากฏบนท้องฟ้าด้วยอันดับความสว่าง –0.5 สว่างกว่าดาวฤกษ์ดวงใดในบริเวณนี้ ยกเว้นดาวซิริอัส มีขนาดเชิงมุมของตัวดวงตามแนวศูนย์สูตรเท่ากับ 21 พิลิปดา และวงแหวนที่แผ่ออกไปด้วยขนาดเชิงมุม 47 พิลิปดา

สัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ จะเห็นดาวเสาร์เข้าไปใกล้กับเนบิวลาปูในกลุ่มดาววัว และจะผ่านหน้าเนบิวลาแห่งนี้ในคืนวันที่ 4 และ 5 มกราคม 2546 ไททันเป็นดวงจันทร์ดวงที่สว่างที่สุดของดาวเสาร์ มีอันดับความสว่างประมาณ 8 มองเห็นได้ไม่ยากแม้ดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก และนับเป็นดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ ยานอวกาศแคสซีนีซึ่งเป็นความร่วมมือของนาซา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศอิตาลี จะเดินทางไปถึงดาวเสาร์และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเสาร์ในเดือนกรกฎาคม 2547 พร้อมทั้งส่งยานลูกลงไปยังไททันในเดือนมกราคม 2548

ดูเพิ่ม