325 ปี จันทรุปราคาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
30 ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย
จันทรุปราคาบางส่วน วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553
ในช่วงพลบค่ำของวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติทางดาราศาสตร์ เป็นจันทรุปราคาบางส่วนเห็นได้ทั่วประเทศไทย ภูมิภาคที่มีโอกาสเห็นได้นานกว่าคือ ด้านตะวันออกของภาคอีสาน ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีโอกาสเห็นได้ประมาณหนึ่งชั่วโมง ขณะที่ดวงจันทร์เริ่มขึ้นขอบฟ้า ดวงจันทร์จะดวงโตพิเศษจะถูกเงาของโลกบังไปครึ่งดวงแล้ว ดวงจันทร์เริ่มถูกเงาของโลกบังเริ่มเวลา 17.17 น. ซึ่งประเทศไทยยังไม่เห็นดวงจันทร์เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า เวลา 18.38 น. เงาของโลกเข้าบังดวงจันทร์ลึกที่สุด ด้วยขนาดความลึก 54 % ของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์ จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดในเวลา 20.00 น. ซึ่งดวงจันทร์จะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง
จันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้นับเป็นจันทรุปราคาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นจันทรุปราคาสายตระกูลจันทรุปราคาซารอส 120 เดียวกัน ครั้งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (เข้าสู่เช้ามืดของวันที่ 11 ธันวาคม) ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงได้ทอดพระเนตรจันทรุปราคาบางส่วน ที่บริเวณระเบียงด้านทิศตะวันตกของพระตำหนักทะเลชุบศร เมืองละโว้ (พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือที่เรียกว่า พระที่นั่งเย็นทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี) พระองค์ทอดพระเนตรพร้อมกับคณะบาทหลวงเจซูอิต นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส นับเป็นเวลา 325 ปี ทางดาราศาสตร์ไทยอีกครั้งในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นการครบรอบ 30 ปี ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ก่อตั้งมา ซึ่งทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้นำภาพพิมพ์ประวัติศาสตร์ทางดาราศาสตร์ภาพแรก ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่ตำหนักทะเลชุบศร มาเป็นเครื่องหมายและตราของสมาคมดาราศาสตร์ไทยเป็นเวลาต่อมาจนถึง ณ ปัจจุบัน
ในโอกาสนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยร่วมกับชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมลพบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี โดยความสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี อบต. ทะเลชุบศร โรงเรียนเมืองใหม่ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์ และหน่วยงานบัญชาการสงครามพิเศษ ร่วมกันจัดกิจกรรม เฉลิมฉลอง 325 ปี จันทรุปราคาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ 30 ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย ขึ้นที่จังหวัดลพบุรี วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เพื่อ
- เทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์สยามพระองค์สำคัญที่สนพระทัยในวิชาดาราศาสตร์ คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- เผยแพร่ความสำคัญสถานที่ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์และเกียรติภูมิวิชาดาราศาสตร์ที่มีกำเนิดมายาวนานในแผ่นดินสยาม
- กระตุ้นให้สมาชิกในสังคมทุกวัยสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ (ดาราศาสตร์)
- ชี้ชวนให้มีการอนุรักษ์พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี
เช้าของวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2553 คณะของสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ออกเดินทางจากสำนักงานสมาคมดาราศาสตร์ไทย เวลา 06.35 น. ด้วยรถตู้ 2 คัน เราใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดลพบุรีประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เมื่อเข้าเขตจังหวัดลพบุรี คณะสมาคมฯ เดินทางมุ่งตรงไปที่พิพิธภัณฑ์สถานพระนารายณ์ราชนิเวศ เพื่อที่จะไปที่พระที่นั่งจันทรพิศาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะทำพิธีสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เวลา 10.12 น. ขบวนรถของท่านผู้หญิง ม.ร.ว. บุตรี วีระไวทยะ สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ประธานในพิธี เดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์สถานพระนารายณ์ราชนิเวศ มีนายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมลพบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย คอยต้อนรับ จากนั้นท่านผู้หญิง ม.ร.ว. บุตรี วีระไวทยะ เดินขึ้นพระที่นั่งจันทรพิศาล แล้วนั่งเก้าอี้ที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตีฆ้องเป่าสังข์ ท่านผู้หญิงฯ จุดเทียน ธูป ถวายพวงมาลาสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบ แล้วนั่งเก้าอี้
นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวรายงานว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่จะเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติทางดาราศาสตร์ เป็นจันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งเห็นได้ทั่วประเทศไทย และเป็นจันทรุปราคาสายตระกูลจันทรุปราคาซารอส 120 เดียวกันกับเมื่อครั้งเคยเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระองค์ทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่พระตำหนักทะเลชุบศร พร้อมด้วยคณะบาทหลวงเจซูอิต นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (เข้าเช้ามืดวันที่ 11 ธันวาคม) ล่วงเลยมาเป็นเวลา 325 ปี และเป็นวาระครบรอบ 30 ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ได้ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน และจากนั้นนายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้กล่าวว่าผลิตผลที่พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้ทรงวางรากฐานวิชาวิทยาศาสตร์ (ดาราศาสตร์) ขึ้นในแผ่นดินสยามได้มีการแข่งขันสอบคัดเลือกนักเรียนทั่วประเทศเป็นตัวแทนไปแข่งขันที่ต่างประเทศ จึงมีโครงการส่งนักเรียนที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ IOAA ซึ่งสอบแข่งขันกลับมาได้เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงมาทุกปี ในที่นี้ได้นำนักเรียนที่ไปสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ที่ได้เหรียญทองมารายงานตัวและปฏิญาณตนต่อพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานวิชาวิทยาศาสตร์ (ดาราศาสตร์) ให้เกิดขึ้นในแผ่นดินสยามประเทศทั้งสองพระองค์ นักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกที่ได้เหรียญมีดังนี้
- นายสุวรรณ สุวรรณรัตน์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้เหรียญทอง คะแนนรวมสูงสุด (ระดับโลก) แข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ปี พ.ศ. 2550 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก
- นายสมาพร ติญญนนท์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กรุงเทพฯ ได้เหรียญทอง คะแนนรวมสังเกตการณ์สูงสุด แข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ปี พ.ศ. 2551 ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย
- นายณัฐนันท์ ตันติวัสดาการ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้เหรียญทองอันดับ 2 คะแนนรวมวิเคราะข้อมูลสูงสุด แข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอิหร่าน
- นายธนวุฒิ ธนาธิบดี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ ได้เหรียญเงิน แข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ปี พ.ศ. 2552 ที่ประเทศอิหร่าน
- นายพชร วงศ์สุทธิโกศล โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ เป็นตัวแทนที่จะไปสอบแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA ปี พ.ศ. 2553 วันที่ 12 - 21 กันยายน 2553 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
เสร็จจากพิธีกล่าวปฏิญาณตนและถวายสักการะพวงมาลาพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย มอบของที่ระลึกแด่ ท่านผู้หญิง ม.ร.ว. บุตรี วีระไวทยะ และท่านผู้หญิงฯ มอบของที่ระลึกให้กับนายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมลพบุรี และนางสาวประพีร์ วิราพร อดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสมาคมดาราศาสตร์ไทย เป็นอันเสร็จพิธี
เวลา 11.00 น. ทัศนศึกษาภายในพระที่นั่งจันทรพิศาลที่สร้างขึ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนายภูธร ภูมะธน เป็นวิทยากรผู้บรรยายและนำนักเรียนชมวัตถุโบราณภายในพระที่นั่ง
เวลา 13.30 น. ออกเดินทางไปทัศนศึกษาโบราณสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย ที่วัดสันเปาโล ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างขึ้นให้คณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส เป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีหอคอยทรงแปดเหลี่ยม เป็นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์หรือหอดูดาว ปัจจุบันตัวอาคารได้พังไปแล้วคงเหลือซากของหอคอยแปดเหลี่ยมอยู่ปัจจุบันนี้ นับว่าเป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยนายอารี สวัสดี และท่านผู้หญิง ม.ร.ว. บุตรี วีระไวทยะ เป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์บรรยายโบราณสถานที่แห่งนี้
เวลา 14.35 น. เดินทางมาทัศนศึกษาที่พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือ พระตำหนักทะเลชุบศร เมื่อเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่ อบต.ทะเลชุบศร และประชาชนชุมชน นักเรียน นักศึกษามาต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ได้จัดบริเวณที่จะมีการเสวนา และจัดซุ้มขายของที่ระลึกผลิตผล OTOP ของชุมชนมาจำหน่าย การเสวนาเรื่อง เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่พระตำหนักทะเลชุบศร สถานที่แห่งนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1685 พร้อมด้วยเหล่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส โดยมีนายภูธร ภูมะธน และนายอารี สวัสดี เป็นวิทยากรบรรยาย และหลังจากนั้น นายอารี สวัสดี ได้แนะนำนักเรียนดาราศาสตร์โอลิมปิกที่ไปสอบแข่งขันดาราศาสตร์ได้เหรียญทองให้กับนักเรียนและประชาชนที่มาร่วมฟังการเสวนา
เวลา 16.00 น. ออกเดินทางจากพระตำหนักทะเลชุบศรไปยังหอประชุมโรงเรียนเมืองใหม่ชลอราษฎร์รังสฤษฏ์ ซึ่งอยู่ติดกับวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เวลา 16.30 น. ฟังการเสวนาวิชาการเรื่อง 325 ปี จันทรุปราคาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีวิทยากรที่จะบรรยายดังนี้
- นายอารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
- นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์วัตถุโบราญสถานและสิ่งแวดล้อมลพบุรี
- นายวรพล ไม้สน มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์
- นายตระกล จันทสุนทร โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาเป็นนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังบรรยาย และนักเรียนได้สอบถามสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเตรียมตัวสอบแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิก ที่จะให้ได้เหรียญทอง
ส่วนหนึ่งคณะทีมสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้เตรียมนำกล้องโทรทรรศน์ที่นำมาจำนวน 5 กล้อง ไปติดตั้งที่บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้มีกล้องโทรทรรศน์ที่มาติดตั้งอยู่ก่อนแล้วของมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล้องโทรทรรศน์ของชมรมดาราศาสตร์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยลพบุรี รวมมีกล้องโทรทรรศน์ทั้งหมด 10 กล้อง มาตั้งบริการให้กับประชาชนชาวลพบุรีได้ร่วมสังเกตจันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้
เวลา 17.20 น. เป็นเวลาที่ดวงจันทร์เริ่มแหว่งแล้ว แต่ก็ยังมองไม่เห็นพระดวงจันทร์เพราะยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า ท้องฟ้ายังสว่างอยู่เลยเพราะดวงอาทิตย์ยังไม่ตกลับขอบฟ้า แต่ดูเหมือนว่าวันนี้จะมีอุปสรรคท้องฟ้าไม่เป็นใจ ทั้งที่ตอนเช้า กลางวันท้องฟ้าแจ่มใสมาก ตกตอนใกล้พลบค่ำท้องฟ้ากลับมีเมฆมาก ประชาชนเริ่มทยอยมาสังเกตอยู่ที่กล้องโทรทรรศน์มากขึ้น
เวลา 18.50 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกเข้าบังกึ่งกลางด้วยความลึก 54 % เข้าไปแล้ว แต่ประชาชนที่อยู่ ณ ที่นี้ก็ยังมองไม่เห็นดวงจันทร์โผล่ขึ้นมาเลย และแล้วได้มีเสียงหนึ่งบอกว่านั่นดาวศุกร์ใช่ไหม และก็มีเสียงหนึ่งตอบไปว่า นั่นคือ ดาวศุกร์ เมื่อมองดวงจันทร์ไม่เห็นกล้องทุกกล้องก็หันไปที่ดาวศุกร์ทันที ทำให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และเด็กเล็กที่ผู้ปกครองพามาดูด้วยที่มาสังเกตการณ์อยู่นั้นได้เห็นดาวศุกร์กัน ซึ่งดาวศุกร์ที่มองเห็นผ่านกล้องเป็นดาวศุกร์ครึ่งเสี้ยว
เวลาผ่านไปก็ยังไม่มีวี่แววของดวงจันทร์โผล่มาให้เห็น จนใกล้เวลา 20.00 น. ที่จะสิ้นสุดจันทรุปราคา ท้องฟ้าก็ยังปิดสนิท มองไม่เห็นดวงดาว และแสงของดวงจันทร์ ดูแหมือนว่าจะหมดโอกาสที่จะได้เห็นจันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้แล้ว แต่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาที่มาร่วมกันสังเกตการณ์ครั้งนี้ยังไม่ถอยกลับไปไหน ก่อนจะสิ้นสุดปรากฏการณ์สังเกตการณ์จันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เป่าสังข์ ต่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระนารายณ์มหาราช 3 ครั้ง เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมในค่ำคืนนี้
ถึงแม้ว่าประชาชนชาวจังหวัดลพบุรีและนักเรียนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้กลับไปอย่างผิดหวัง แต่เชื่อว่าผู้ที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เช้าจนถึงเวลานี้ จะได้ความรู้ประวัติศาสตร์ทางโบราณสถานทางดาราศาสตร์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ผู้ทรงได้วางรากฐานวิชาดาราศาสตร์ให้เกิดขึ้นในแผ่นดินสยามประเทศ ไปอีกนานเท่านาน