ดาวอังคารใกล้โลก ปี 2012
ชมขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์

พรชัย รังษีธนะไพศาล (กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย) 12 มีนาคม 2555

ค่ำคืนต้นเดือนมีนาคม 2555 ถ้าเรามองทางทิศตะวันออกสูงจากขอบฟ้าเป็นมุมเงย 20 องศา ของวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2555 จะเห็นดาวสีส้มอมชมพูสว่างเด่นชัดเจน ดาวดวงนั้นคือ ดาวอังคาร (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ดาวแดง” สาเหตุที่เราเห็นดาวอังคารสว่างเด่นชัดและเห็นได้ตลอดทั้งคืนในช่วงนี้นั้น ดาวอังคารกำลังเคลื่อนที่มาทำมุม 180 องศา กับดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันว่า อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ Opposition (ดวงอาทิตย์ โลก ดาวอังคาร) เมื่อมองจากโลก และอีก 2 วันต่อมาวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2555 เป็นช่วงที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 2 ปี

ดังนั้นทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย จึงได้จัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เรื่อง ดาวอังคารใกล้โลก ปี 2012 และชมขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ ให้กับสมาชิกสมาคมฯ และประชาชนทั่วไปที่สนใจดาราศาสตร์ขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2555 ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา หน้าห้องสมาคมดาราศาสตร์ไทย ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมี ท่านอาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เป็นวิทยากรบรรยาย และทีมวิทยากรสมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งกล้องโทรทรรศน์หลายกล้องให้ชม ก่อนเริ่มกิจกรรมบรรยายเวลา 15:30 น. มีสมาชิกฯ และผู้สนใจเดินทางมาลงทะเบียนร่วมกิจกรรมมากันมากขึ้น

เวลา 16:30 น. คุณพรชัย รังษีธนะไพศาล กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวการต้อนรับสมาชิกฯ ที่มาร่วมฟังบรรยายครั้งนี้และได้เรียนเชิญท่านอาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวเปิดการบรรยายเรื่อง ดาวอังคารใกล้โลก ปี 2012 และชมขั้วน้ำแข็งบนดาอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เวลาตั้งแต่หนึ่งทุ่ม (19:00 น.) หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกไปแล้ว เราจะเห็นดาวเคราะห์สว่างเด่นอยู่สองดวง ดาวสว่างที่สุดดวงล่างคือ ดาวศุกร์ (Venus) ดวงบนคือ ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงอยู่ระยะห่างเชิงมุมกัน 10 องศาบนท้องฟ้า อยู่สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเป็นมุมเงยระหว่าง 30-40 องศา ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวปลา (Pisces) ดาวพฤหัสบดี อยู่ในกลุ่มดาวแกะ (Aries) และจะเห็นดวงจันทร์ขึ้น 11 ค่ำ อยู่สูง 70 องศา ใกล้กลางศีรษะแล้ว เมื่อเราหันมามองทางทิศตะวันออกเราจะเห็นดาวเคราะห์ที่มีสีส้มอมชมพู นั่นคือ ดาวอังคาร

ในขณะนี้ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดของกลุ่มคือ ดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus) ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 ถัดจากโลก มีขนาดเล็กกว่าโลก (ดาวอังคารมีเส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวศูนย์สูตร 6,804.9 กิโลเมตร ส่วนโลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางตามแนวศูนย์สูตร 12,756.28 กิโลเมตร) ปกติดาวอังคารมองด้วยตาเปล่าก็ไม่ค่อยสว่างมากนักเพราะอยู่ห่างจากโลก ประกอบกับพื้นผิวดาวอังคารสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ไม่ได้ดีนัก ที่มีชั้นบรรยากาศที่เบาบาง พื้นผิวส่วนใหญ่เป็นหินและพื้นทรายที่เห็นเป็นสีส้มอมชมพูหรือสีแดงนั้น เกิดจากแร่ธาตุบนดาวอังคารเป็นออกไซด์ของเหล็ก ที่เรารู้จักกันคือ แร่เหล็ก หรือสนิมเหล็กนั่นเอง เป็นที่มาของฉายาดาวอังคารว่า “ดาวเคราะห์สีแดง” หรือดาวแดง

ในช่วงนี้หากดูดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงหน่อย จะเห็นพื้นน้ำแข็งปกคลุมบริเวณขั้วเหนือบนดาวอังคาร การที่เราเห็นดาวอังคารสว่างใหญ่กว่าปกติเป็นเพราะดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) พอดี อยู่ห่างจากโลก 100..8 ล้านกิโลเมตร ดาวอังคารมีความสว่างปรากฏโชติมาตรบนท้องฟ้า – 1.23 (มีความสว่างใกล้เคียงกับดาวฤกษ์ชื่อ ดาวซีรีอัส (Sirius) หรือดาวโจร -1.4 ในกลุ่มดาวหมาใหญ่) เวลา 20:04 น. UT หรือเวลาในประเทศไทย 00:04 น. ดาวอังคารโคจรผ่านตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์นี้เฉลี่ยทุกๆ 780 วัน หรือประมาณ 2 ปี 2 เดือน แต่การที่วงโคจรของดาวอังคารรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้การเข้าใกล้กันในแต่ละครั้ง ดาวอังคารมีระยะห่างจากโลกไม่เท่ากัน อย่างเช่นคืนในวันเสาร์ที่ 3 ต่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2555 เวลา 20:04 น(UT) หรือตามเวลาในประเทศไทย 00:04 น.ของวันที่ 4 มีนาคม ดาวอังคารอยู่ห่างจากโลก 100.8 ล้านกิโลเมตร หากช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่บริเวณจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวอังคารจะมีขนาดใหญ่และสว่างกว่าช่วงที่อยู่บริเวณจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุด

กรณีแรกเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2546 เป็นช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกมากจนสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี ครั้งถัดไปที่จะเกิดเหตุการณ์คล้ายกันนี้คือในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และอีกสองวันต่อมา คืนวันจันทร์ที่ 5 ถึงเช้าวันอังคารที่ 6 มีนาคม 2555 ดาวอังคารจะใกล้โลกที่สุด สาเหตุที่สองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เป็นเพราะวงโคจรที่ไม่เป็นวงกลมของทั้งโลกและดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม การสังเกตในช่วง 2-3 วันดังกล่าว อาจไม่เห็นความแตกต่างในแง่ของขนาด หลังจากผ่านช่วงนี้ไปแล้ว ดาวอังคารจะมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ เคลื่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาหัวค่ำของทุกวัน จากนั้นอยู่เหนือศีรษะในเวลาหัวค่ำของเดือนมิถุนายน แล้วย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในช่วงที่เหลือของปี พร้อมกับเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกของตำแหน่งปัจจุบัน โดยในกลางเดือนสิงหาคม 2555 ดาวอังคารจะปรากฏอยู่ระหว่างดาวเสาร์กับดาวรวงข้าว ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวหญิงสาว

เวลา 17:30 น. มีการบรรยายพิเศษเรื่อง ชื่อไทยบนดาวอังคาร วิทยากรบรรยายโดย คุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวถึงชื่อบ้านเมืองในประเทศไทยกับคำภาษาไทยไปยังนอกโลก ไปมีชื่ออยู่บนดาวเคราะห์และดวงจันทร์ในระบบสุริยะของเรานั้น มีกำหนดขึ้นมามากกว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งแต่มีการเรียกชื่อหลุม ชื่อทะเล บนดวงจันทร์ เริ่มจากงานของนักดาราศาสตร์ไม่กี่คนที่ต่างคนต่างสังเกตการณ์ บันทึก และตั้งชื่อกันเอาเอง มาจนยุคของอนุกรรมการแห่งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ในปี 1907 การประชุมใหญ่สามัญของสภาสมาคมวิชาการสากลซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อสะสางเรื่องชื่อภูมิสถานบนดวงจันทร์ที่ใช้กันอย่างสับสนในขณะนั้น ดังนั้น เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลตั้งคณะอนุกรรมการตั้งชื่อสำหรับดวงจันทร์และดาวอังคารขึ้น ในคราวเดียวกับการประชุมสถาปนาสหพันธ์ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ในปี 1919 งานตั้งชื่อก็ทำต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะความต่อเนื่องของบุคลากรจากอนุกรรมการชุดก่อนหน้าซึ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามาในอนุกรรมการชุดใหม่นี้ จึงมีชื่อภูมิประเทศของไทยภาษาไทยเป็นชื่อของหลุมอุกกาบาตบนพื้นผิวดาวอังคาร อย่างเช่น อำเภอกันตัง (ตรัง) Kantang มีขนาดกว้าง 52.44 กิโลเมตร, อำเภอจัตุรัส (ชัยภูมิ) Chatturat มีขนาดกว้าง 7.84 กิโลเมตร, จังหวัดน่าน Nan มีขนาดกว้าง 2.29 กิโลเมตร, อำเภอพล (ขอนแก่น) Phon มีขนาดกว้าง 10.02 กิโลเมตร, จังหวัดตาก Tak มีขนาดกว้าง 5.21 กิโลเมตร, อำเภอนาทม (นครพนม) Thom มีขนาดกว้าง 22.06 กิโลเมตร, จังหวัดยะลา Yala มีขนาดกว้าง 19.65 กิโลเมตร เป็นต้น และยังมีชื่อไทยที่เป็นหุบเขาอีกหุบหนึ่งชื่อ หุบเขาดาว Dao Vallis มีความลึก 794 กิโลเมตรได้ฉายภาพของหลุมอุกกาบาตและหุบเขาที่มีชื่อไทยบนดาวอังคารมาให้ชมกันด้วยครับ

หลุมกันตัง หุบเขาดาว

และช่วงเวลา 18:00 น. ก่อนที่เราจะออกไปดูพื้นผิวดวงจันทร์ ดาวเคราะห์เช่น ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งบริการให้ดูกัน ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้นำคลิปภาพยนตร์ภาพพื้นผิวดาวอังคารจริงเป็นระบบ 3D (3 มิติ) ฉายขึ้นจอโปรเจ็คเตอร์ให้ผู้ที่มาร่วมฝังบรรยายได้ชมกัน แต่ต้องสวมแว่นตา 3 มิติ ที่ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยทำขึ้นแจกให้กับสมาชิกฯ และผู้ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้เห็นภาพพื้นผิวดาวอังคารเสมือนจริงที่มีมิติสูงต่ำของภูเขา หลุมอุกกาบาต ก้อนหินบนดาวอังคาร ภาพทั้งหมดนี้ที่ NASA ได้ส่งรถหุ่นยนต์ลงพื้นผิวสำรวจดาวอังคาร 2 ลำคือ ยานมาร์ส เอ็กซ์พลอเรชั่น โรเวอร์ (Mars Exploration Rovers) หรือ MERs ขึ้นสู่อวกาศไปยังดาวอังคารเมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2547) หรือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว รถหุ่นยนต์ลำแรกชื่อ Spirit หรือ MER-A และรถหุ่นยนต์ลำที่สองชื่อ Opportunity หรือ MER-B ภารกิจนี้เป็นไปตามโครงการ NASA’s Mars Exploration Program โครงการสำรวจ ดาวอังคารระยะยาว โดยใช้หุ่นยนต์ ควบคุมปฎิบัติการโดย Jet Propulsion Laboratory สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย

ยานทั้ง 2 ลำเข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวอังคารและลงสัมผัสพื้นดาวอังคารเมื่อ วันที่ 4 มกราคม 2548 ได้เป็นผลสำเร็จ ได้เคลื่อนที่และถ่ายภาพสภาพพื้นผิวโดยรอบเก็บข้อมูลสภาพอากาศ วิเคราะห์ชั้นหินหาที่มาว่ามีสิ่งมีชีวิตและน้ำหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ราว 100 คนใช้เวลากว่าสองปีในการศึกษาพื้นที่เด่น ๆ จำนวน 155 แห่งเพื่อกำหนดตำแหน่งในการสำรวจครั้งนี้โดยคำนึงถึงปัจจัยความปลอดภัยของยานในขณะร่อนลง ได้แก่ความแรงของกระแสลม ภูมิประเทศที่ราบเรียบ ซึ่งนอกจากยานจะปลอดภัยแล้ว รถหุ่นยนต์ก็จะเคลื่อนที่ได้สะดวก และพื้นที่สำรวจ ต้องได้รับแสงอาทิตย์มากพอด้วย เนื่องจากรถหุ่นยนต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกพื้นที่สองแห่ง แห่งแรกคือบริเวณที่เรียกว่า Meridani Planum หรือ Hematile Region ที่ 2 องศาใต้เส้นศูนย์สูตร เป็นบริเวณที่มีแร่ Hematile และเป็นพื้นที่ที่มีทั้งตะกอนดิน สภาพพื้นผิวที่เกิดจากภูเขาไฟ และรอยแตก อีกแห่งคือบริเวณที่เรียกว่า Gusev Crater ที่ 15 องศาใต้เส้นศูนย์สูตร นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจบริเวณนี้มากที่สุด เพราะจากภาพถ่ายจากยานมาร์ส โกลบอล เซอร์เวเยอร์ทำให้เชื่อว่า มันเคยเป็นทะเลสาบในอดีตกาล นั่นหมายถึงการสำรวจ มีโอกาสที่จะพบร่องรอยหรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่นี่อีกด้วย บรรยายโดย คุณพรชัย รังษีธนะไพศาล กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย ท่านสมาชิกฯ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้ชมภาพพื้นผิวดาวอังคารระบบ 3 มิติ ที่ได้นำมาฉายนี้ ต่างตื่นเต้นที่ได้ชมภาพพื้นผิวดาวอังคารเสมือนอยู่บนดาวอังคารจริง ๆ ใช้เวลาฉายประมาณ 20 นาที

และช่วงเวลา 19:30 น. ทางทีมตั้งกล้องโทรทรรศน์ได้นำกล้องโทรทรรศน์ของสมาคมฯ ออกไปตั้งที่ลานด้านหน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจำนวน 4 กล้อง คือ กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง (Reflecting telescope) แบบดอบโซเนียน เทเลสโคป (Dobsonian Telescope) ระบบฐานอัลตาซิมุท จำนวน 2 กล้องมี Orion SkyQuest XT6 ขนาดหน้ากล้องกว้าง 6 นิ้ว (106 ม.ม.) ความยาวโฟกัส 1,200 มิลลิเมตร f/8 1 กล้อง Orion SkayQuest XT8 ขนาดหน้ากล้องกว้าง 8 นิ้ว (203 ม.ม.) ความยาวโฟกัส 1,200 มิลลิเมตร f/5.9 1 กล้อง มีกล้องพระราชทานชนิดสะท้อนแสง (Reflecting telescope) มีขาตั้งกล้องระบบอีเควโทเรียลชมิดต์แคสซิเกรนพร้อมมอเตอร์ตามดาว 2 แกน ขนาดหน้ากล้องกว้าง 8 นิ้ว (203 ม.ม.) ความยาวโฟกัส 2,032 มิลลิเมตร 1 กล้อง และมีกล้องโทรทรรศน์ชนิดหักแหแสงกาลิเลโอ (Galileoscope) ที่ผลิตขึ้นมาเลียนแบบกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปี 1 กล้อง และมีสมาชิกฯ ที่ได้นำกล้องโทรทรรศน์มาร่วมตั้งให้ชมกันอีก 2 กล้อง คือ กล้องโทรทรรศน์ขนิดสะท้อนแสง แบบดอบโซเนียน เทเลสโคป Orion SkyQuest XT8g Computerized GoTo Dobsonian Telescope เป็นระบบตามดาวด้วย GPS มีขนาดหน้ากล้อง 8 นิ้ว ความยาวโฟกัส 1,200 มิลลิเมตร 1 กล้อง

ต้องขอขอบคุณ คุณ เชิดพงศ์ วิสารทานนท์ (คุณต้น) เจ้าของบริษัท คลาสสิโค เวิลด์ จำกัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่ 2 ท่าน คือ คุณพรพรรณ และคุณสุรกิจ นำกล้องตัวนี้มาตั้งบริการให้กับสมาชิกได้ชมกัน และขอขอบคุณท่านสมาชิกอีกท่านหนึ่งที่ไม่ทราบชื่อ ได้นำกล้องโทรทรรศน์ชนิดหักเหแสง Orion AstroView ขนาดหน้ากล้องกว้าง 5 นิ้ว ความยาวโฟกัส 1200 มิลลิเมตร ตั้งบนขาตั้งระบบอีเควโทเรียลชมิดต์แคสซิเกรนพร้อมมอเตอร์ตามดาว 2 แกน มาร่วมตั้งให้ชมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย โดยมีกล้องโทรทรรศน์บริการตั้งให้ชมอยู่ทั้งหมด 6 กล้อง เริ่มต้นเรามาส่องดูดาวเคราะห์ 2 ดวงกันก่อน คือ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ทางทิศตะวันตก และส่องดูพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วย ส่วนดาวอังคารนั้นยังมองไม่เห็นเพราะทางทิศตะวันออกมีต้นไม้และอาคารโรงหนังเมเจอร์สาขาเอกมัยบังอยู่ บางกล้องก็ส่องไปดูที่ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี หรือดวงจันทร์

ถ้าส่องดูดวงศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยวเหมือนดวงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ มีสีเหลืองอ่อน ความสว่างปรากฏโชติมาตร -4.16 ถ้าส่องดูดาวพฤหัสบดี จะเห็นแถบชั้นบรรยากาศพาดผ่านบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารดาวพฤหัสบดีเห็นแค่ 3 ดวงเท่านั้นคือ ดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) ดวงจันทร์คัลลิสโต (Callisto) และดวงจันทร์แกนีมีด (Ganymede) ส่วนดวงจันทร์ไอโอ (Io) นั้นมองไม่เห็น ดาวพฤหัสบดีมีความสว่างปรากฏโชติมาตร -1.75 บนท้องฟ้า ถ้าดูดวงจันทร์บริวาร 1 เดียวของโลกเราจะเห็นพื้นผิวดวงจันทร์เป็นหลุมบ่อที่ถูกลูกอุกกาบาตพุ่งชนเป็นจำนวนมากมีขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างแล้วแต่ขนาดของลูกอุกกาบาต

จนถึงเวลา 20:30 น. มีสมาชิกฯ ท่านหนึ่งได้บอกว่าพร้อมกับชี้มือไปทางทิศตะวันออก นั่นดาวอังคารใช่หรือเปล่าครับ ทุกคนต่างก็หันไปมองที่สมาชิกท่านนั้นชี้ให้ดูโดยพร้อมเพรียงกัน ใช่แล้วครับ นั่นคือดาวอังคาร ที่ขึ้นสูงพ้นยอดต้นไม้และอาคารโรงหนังเมเจอร์สาขาเอกมัย เป็นมุมเงยสูง 30 องศา กล้องทุกตัวหันไปส่องที่ดาวสีส้มอมชมพู ดาวอังคารที่สว่างเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ถ้ามองผ่านกล้องโทรทรรศน์เราจะเห็นตัวดวงดาวอังคารมีสีส้มอมชมพูและมีสีดำบางๆบนผิวดวงและที่สำคัญเห็นสีขาวๆ อยู่ใกล้ขอบดวงของดาวอังคารด้านล่างนั้นคือ พื้นผิวน้ำแข็งที่ขั้วเหนือของดาวอังคาร ถ้าดูจากกล้องโทรทรรศน์พระราชทานที่มีขาตั้งเป็นระบบตามดาว ที่เพิ่มกำลังขยายเป็น 200 เท่า จะเห็นดาวอังคารมีขนาดใหญ่และขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารได้ไม่ชัดเท่าไรนัก เพราะในช่วงที่เราตั้งกล้องโทรทรรศน์เวลานั้นมีกระแสลมที่พัดแรงทำให้การมองภาพดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ในคืนวันนั้นเห็นภาพดาวอังคารสั่นไหวไปมาจากกระแสลมที่แรงนั่นเอง เราดูกันจนถึงเวลา 21:30 น.(3 ทุ่มครึ่ง) สมาชิกเริ่มทยอยเดินทางกลับบ้านกันแล้ว จึงปิดกิจกรรมครั้งนี้

กิจกรรมการบรรยายพิเศษครั้งนี้ผ่านพ้นไปด้วยดีต้องขอขอบคุณท่านสมาชิกฯ และท่านผู้สนใจทั้งเก่าและใหม่ที่พาบุตรหลานมาร่วมกิจกรรมดูดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ ผู้ที่พลาดโอกาสไม่ได้มาร่วมกิจกรรมการบรรยายพิเศษ ดาวอังคารใกล้โลก ปี 2012 และร่วมชมขั้วน้ำแข็งบนดาวอังคารผ่านกล้องโทรทรรศน์ในครั้งนี้ ต้องรอไปอีกถึงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ดาวอังคารจะมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์อีกครั้งและดาวอังคารจะใกล้โลกด้วย และมาร่วมกิจกรรมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยกันใหม่นะครับ แล้วพบกันอีก 2 ปีข้างหน้านะครับ