รายงาน/ภาพกิจกรรมเดือนพฤศจิกายน 2553
สมาคมดาราศาสตร์ไทย เป็นสมาคมทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมได้ตามใบอนุญาตเลขที่ ต.275/2523 ออกให้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 และได้จดทะเบียนกับสำนักงานจดทะเบียนกรุงเทพมหานคร กองตำรวจสันติบาล กรมตำรวจ เลขลำดับที่ จ.1781 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2524 โดยใช้ชื่อว่า "สมาคมนักดาราศาสตร์" ใช้รูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ เป็นตราสัญลักษณ์ของสมาคมฯ ซึ่งเป็นภาพจำลองจากภาพไม้แกะสลัก ฝีมือจิตรกรชาวฝรั่งเศส เป็นภาพขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา ที่พระที่นั่งเย็น ริมทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี
ภาพแกะสลักไม้โดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ ที่พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1685 |
สมาคมฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจ ร่วมกันก่อตั้งของบุคคลจำนวนหลายร้อยคนที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาดาราศาสตร์ ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ในระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน พ.ศ. 2521 ผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนั้นเป็นนักดาราศาสตร์ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับวิชาดาราศาสตร์จากหลายสถาบันทั่วประเทศ เช่น อาจารย์ผู้สอนวิชาดาราศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยครู อาจารย์ผู้สอนดาราศาสตร์ในโรงเรียนบางแห่งของกรมสามัญศึกษา นักวิทยาศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นายทหารจากกรมแผนที่ทหารและกรมอุทกศาสตร์ เป็นต้น ผู้เข้าสัมมนาทั้งหมดมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีสมาคมทางวิชาการด้านดาราศาสตร์เกิดขึ้นได้แล้ว จึงมีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อก่อตั้งสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวน 12 ท่านดังนี้
- นายระวี ภาวิไล ประธาน
- นายสมหวัง ตัณฑลักษณ์ รองประธาน
- นายนิพนธ์ ทรายเพชร เลขานุการ
- น.ส.ยุพา วานิชชัย ผู้ช่วยเลขานุการ
- นายประยูร ร่มโพธิ์
- นายขาว เหมือนวงศ์
- นายสุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์
- นายระวิ สงวนทรัพย์
- นายกนก จันทร์ขจร
- นายสุมิตร นิภารักษ์
- นายพรชัย ศรีวลีรัตน์
- นางกุหลาบ ลิบรัตนสกุล
สมาคมฯ ได้ร่างระเบียบมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ดังนี้
- ส่งเสริมการศึกษาทางดาราศาสตร์
- สนับสนุนการค้นคว้าและงานวิจัยทางดาราศาสตร์
- เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการดาราศาสตร์
- ให้ความร่วมมือและประสานงานทางดาราศาสตร์กับบุคคลและองค์การทั้งในและนอกประเทศ
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ภายหลังจากได้จดทะเบียนตั้งสมาคมนักดาราศาสตร์เรียบร้อยแล้ว จึงมีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ตามระเบียบข้อบังคับโดยมี นายกสมาคมบริหารงานสมัยละ 2 ปี
และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ในที่ประชุมสามัญประจำปี 2530 มีมติให้เปลี่ยนชื่อ สมาคมนักดาราศาสตร์ จากเดิม เป็น "สมาคมดาราศาสตร์ไทย" ใช้ชื่อย่อว่า "สดท" และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Thai Astronomical Society" อักษรย่อคือ "TAS" ส่วนตราสัญลักษณ์ของสมาคมฯ ให้ใช้ตราคงเดิมคือ รูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา
ตราสมาคมดาราศาสตร์ไทยปัจจุบัน |
จวบจนถึงปัจจุบันนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้ดำเนินการบริหารงานมามีอายุครบ 30 ปี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา มีนายกสมาคมบริหารงานมาตั้งแต่ ปี 2525-2553 ตามลำดับดังนี้
- พ.ศ. 2525-2526 ดร.ระวี ภาวิไล
- พ.ศ. 2527-2528 ดร.ระวี ภาวิไล
- พ.ศ. 2529-2530 นายสิงห์โต ปุกหุต
- พ.ศ. 2531-2532 นายสิงห์โต ปุกหุต
- พ.ศ. 2533-2534 นายนิพนธ์ ทรายเพชร
- พ.ศ. 2535-2536 นายนิพนธ์ ทรายเพชร
- พ.ศ. 2537-2538 ศ.ดร.ระวี ภาวิไล
- พ.ศ. 2539-2540 นายนิพนธ์ ทรายเพชร
- พ.ศ. 2541-2542 นายนิพนธ์ ทรายเพชร
- พ.ศ. 2543-2544 น.ส.ประพีร์ วิราพร
- พ.ศ. 2545-2546 น.ส.ประพีร์ วิราพร
- พ.ศ. 2547-2548 นายอารี สวัสดี
- พ.ศ. 2549-2550 นายอารี สวัสดี
- พ.ศ. 2551-2552 น.ส.ประพีร์ วิราพร
- พ.ศ. 2553-2554 นายอารี สวัสดี
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2553 สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษรายเดือนให้กับสมาชิกสมาคมฯ และผู้สนใจดาราศาสตร์มาร่วมกิจกรรม กิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า "30 ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย รวมพลคนรักดวงดาว" ตั้งแต่เวลา 15.30 น. ถึง 20.00 น. ที่ลานหน้าห้องสมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ถนนสุขุมวิท คลองเตย กรุงเทพฯ
เวลา 15.00 น. ได้มีสมาชิกฯ และผู้สนใจที่ได้ทราบข่าวกิจกรรมทางเว็บไซต์สมาคมฯ มาลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม และทยอยมากันมากขึ้น มีทั้งผู้ปกครองพาลูกมาร่วมกิจกรรมด้วย มีนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 42 ท่าน ก่อนที่จะเริ่มการบรรยาย เวลา 16.00 น. ท่านอาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขานุการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เป็นตัวแทน ท่านอาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ที่ติดภารกิจเดินทางไปจังหวัดเชียงราย ได้มากล่าวการต้อนรับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมว่า กิจกรรมรวมพลรักดาวนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวาระที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้บริหารงานด้านดาราศาสตร์มาครบรอบ 30 ปีที่ก่อตั้งมา ทางสมาคมได้มีกิจกรรมการบริการทางดาราศาสตร์ให้กับประชาชนและหน่วยงาน โรงเรียน สถาบันการศึกษา, การบริการประชาชนให้ความรู้และตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์, สมาคมได้จัดดาราศาสตร์สัญจรไปดูดาวนอกสถานที่, โครงการอบรมสร้างกล้องโทรทรรศน์อย่างง่าย, โครงการอบรมนักดาราศาสตร์ในอนาคต (Future Astronomy) หรือชาวฟ้า (FA), โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ดาราศาสตร์และอวกาศสำหรับครู, โครงการสอบแข่งขันฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก เพื่อคัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนไปสอบแข่งขันฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ผลของการแข่งขัน เด็กนักเรียนที่อยู่ศูนย์สมาคมฯ ได้รับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ทุกปีและทุกรุ่น
เวลา 16.20 น. เข้าสู่การบรรยายเรื่อง "เตรียมตัวก่อนไปดูดาวหน้าหนาว" วิทยากรบรรยายโดย นายพรชัย รังษีธนะไพศาล กรรมการบริการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ฝ่ายประชาสัมพันธ์
การเตรียมตัวก่อนไปดูดาวหน้าหนาวนั้นต้องเตรียมอย่างไร
- เตรียมเสื้อผ้าที่หนาให้ความอบอุ่นกันอากาศหนาว
- หาหมวกไหมพรมหรือหมวกที่กันน้ำค้างได้
- หาถุงมือ , ถุงนอน
- หาสถานที่ดูดาวที่ไม่มีแสงไฟรบกวน และสถานที่นั้นต้องมีความปลอดภัย
- หาวันข้างแรม 14 -15 ค่ำ ไม่มีแสงจันทร์รบกวน หรือข้างขึ้น 1-5 ค่ำ ดูพื้นผิวดวงจันทร์
- มีแผนที่ฟ้าหรือแผนที่ดาว, มีไฟฉายที่มีแสงสีแดงสำหรับส่องดูแผนที่ในเวลากลางคืน
- มีสมุดโน้ต, ดินสอ, ยางลบ ไว้สำหรับวาด จดบันทึกกลุ่มดาวคืนที่เราสังเกต
- กล้องสองตา หรือกล้องส่องทางไกลควรมีขนาดกำลังขยาย 7-10 เท่า (7x50) (10x50)
- หนังสือรอบรู้ดูดาว คู่มือชมฟ้าสำหรับคนไทย ภายในเล่มมีแผนที่ดาวอย่างละเอียดใช้สำหรับหาวัตถุท้องฟ้าในกลุ่มดาวด้วยกล้องสองตา
บรรยายเรื่อง "กลุ่มดาวหน้าหนาว"
กลุ่มดาวหน้าหนาวเด่น ๆ ที่จะปรากฏให้เราเห็นยามค่ำคืนตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี กลุ่มดาวเด่นคือ กลุ่มดาวนายพราน (Orion) มีดาวฤกษ์สว่างชื่อ ดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) ที่คนไทยเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า กลุ่มดาวเต่า ยังมีกลุ่มดาวคันไถ อยู่ตรงตำแหน่งเข็มขัดนายพราน กลุ่มดาวที่อยู่บริเวณนี้มี กลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) มีดาวฤกษ์สว่างชื่อดาวซิริอัส (Sirius) กลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minor) มีดาวฤกษ์สว่างชื่อดาวโพรซิออน (Procyon) เมื่อเราลากเส้นเชื่อมดาวฤกษ์สว่างทั้ง 3 ดวง จะเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่าเราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า "สามเหลี่ยมหน้าหนาว" (Winter Triangle) และยังมีกลุ่มดาววัว (Taurus) กลุ่มดาวสารถี (Auriga) กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ขึ้นทางทิศตะวันออก
เวลา 17.00 น. บรรยาย ข่าวดาราศาสตร์
วิทยากรบรรยายโดย นายปุณณวิช คงพิทักษ์สกุล นักเรียนเหรียญทองฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ข่าวแรกเรื่อง "นาซ่าเผยภาพถ่ายนิวเคลียสของดาวหางฮาร์ตลีย์ 2"
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 เวลา 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ยาน EPOXIในโครงการสำรวจดาวหางขององค์การนาซ่าที่เดินทางไปสำรวจดาวหาง Temple 1 ที่รู้จักในนาม Deep Impact ที่ทำการชนดาวหาง ได้บินผ่านเข้าใกล้ดาวหางฮาร์ตลีย์ 2 (Comet 103P/Hartley 2) ห่างกันเพียง 700 กิโลเมตร ได้ ถ่ายภาพดาวหางแบบใกล้ชิดที่สุดพร้อมกับถ่ายทอดสดการสังเกตการณ์ดังกล่าวไปยังศูนย์ควบคุมที่ Jet Propulsion Laboratory ผ่านทางเว็บไซต์ของนาซ่าด้วย ภาพถ่ายที่ยาน EPOXI ถ่ายได้ แสดงให้เห็นพื้นผิวส่วนที่ใหญ่ที่ขรุขระและมีผิวเรียบเฉพาะตรงกลาง อีกทั้งเป็นดาวหางที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เคยพบและที่น่าสนใจ คือ มันพ่นไอออกมาอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าการฟุ้งกระจายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ออกมาจากนิวเคลียสของดาวหาง เมื่อขยายดูเข้าไปใกล้มากขึ้นก็พบว่า มีพื้นที่หนึ่งบนดาวหางที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งแห้งจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการฟุ้งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมานั่นเอง เมื่อดาวหางโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ถูกพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ทำให้เกิดการระเหิดเป็นไอออกมาเป็นทางยาว
ข้อมูลจาก http://antwrp.gsfc.nasa.gov/apod/ap101108.html
ภาพถ่ายระยะใกล้ของนิวเคลียสดาวหางฮาร์ตลีย์ 2 ระยะห่าง 700 กิโลเมตรจากยาน EPOXI |
ภาพวาดยาน EPOXI ที่โคจรผ่านเข้าใกล้ดาวหางฮาร์ตลีย์ 2 |
การสังเกตดาวหางฮาร์ตลีย์ 2
- ช่วงนี้เราสามารถเห็นดาวหางในโชติมาตร 6 มีโอกาสสังเกตดาวหางฮาร์ตลีย์ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ได้ เพราะกำลังสิ้นสุดฤดูฝนแล้วเข้าสู่ฤดูหนาวในประเทศไทย
- เมื่อใกล้สิ้นเดือนดาวหางฮาร์ตลีย์เข้าสู่กลุ่มดาวท้ายเรือ
- คืนวันที่ 28 พฤศจิกายน ดาวหางมีตำแหน่งอยู่ตรงกลางระหว่างกระจุกดาวเอ็ม 46 กับเอ็ม 47 ซึ่งมีโชติมาตร 6.1 และ 6.9 ตามลำดับกระจุกดาว 2 กระจุกนี้อยู่ห่างกัน 1.3 องศา
- เมื่อถึงเดือนธันวาคม ดาวหางน่าจะจางกว่าโชติมาตร 7
- หลังจากปีนี้ดาวหางฮาร์ตลีย์จะเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์อีกครั้งในเดือน เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งมันจะจางมากและมีตำแหน่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้จากโลก
ข่าวที่สองเรื่อง "พบโครงสร้างใหม่บนกาแล็กซีทางช้างเผือก"
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา องค์การนาซ่าได้รายงานว่า กล้องโทรทรรศน์ Fermi Gamma - ray Space Telescope ที่ใช้สังเกตการณ์รังสีแกมมา ได้เปิดเผยโครงสร้างของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นแสงรังสีแกมมาที่เกิดระเบิดออกมาทั้งสองข้างทั้งด้านบนและด้านล่างของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยมีรูปร่างคล้ายฟองอากาศหรือลูกโป่งสองลูกผูกอยู่ติดกัน ระยะทางประมาณ 50,000 ปีแสงหรือยาวด้านละ 25,000 ปีแสงของกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยโครงสร้างนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่าล้านปี รูปร่างของมันบ่งบอกให้ทราบเกิดการปลดปล่อยพลังงานมหาศาลอย่างฉับพลันที่ทำปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคที่วิ่งเร็วใกล้ความเร็วแสงกับแก๊สในอวกาศ มองเห็นได้จากกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) และกลุ่มดาวนกกระเรียน (Grus)
ข้อมูลจาก http://www.nasa.gov/mission_pages/GLAST/news/new-structure.html
ภาพรูปร่างฟองอากาศหรือลูกโป่งซึ่งเกิดจากการระเบิดรังสีแกมมา ภ่ายจากกล้องจากกล้องสองกล้องคือ ROSAT ย่านรังสีเอกซ์ (สีน้ำเงิน) และ Fermi ย่านรังสีแกมมา (สีม่วง) |
ภาพโครงสร้างรังสีแกมมาที่ได้จากกล้อง Fermi วัด พลังงานช่วง 1-10 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ แสดงรังสีแกมมาเข้มข้นที่พุ่งออกจากตรงกลางไปทางข้างบนและข้างล่างของกาแล็กซีทางช้างเผือก |
ข่าวที่สามเรื่อง "ตามหาดาวเคราะห์ดวงใหม่นอกระบบสุริยะ"
- มีดาวมากกว่าสองแสนล้านดวงที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา ซึ่งในนั้นคือ ดวงอาทิตย์
- ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางระบบสุริยะมีดาวเคราะห์อยู่ 8 ดวง หนึ่งในนั้นคือ โลก ดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
- แล้วดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่นอกระบบสุริยะล่ะ มีดาวเคราะห์เหมือนโลกเราหรือไม่
- ดาวเคราะห์บางดวงรู้จักกันดีตั้งแต่สมัยโบราณ จากมนุษย์ในอดีตที่เคยสังเกตท้องฟ้ายามค่ำคืน
- ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสสองท่านได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะรอบดาว 51 Pegasi อยู่ห่างออกไป 48 ปีแสง อยู่ในกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus)
- นักล่าดาวเคราะห์ใช้กล้องโทรทรรศน์และคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงในการค้นหา
- นักวิทยาศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์ดอปเพลอร์เพื่อวัดผลของดาวเคราะห์ต่อดาวฤกษ์
กลไกการทำงาน คือ
- ดาวเคราะห์และดาวฤกษ์หมุนรอบจุดรวมมวล จึงมีทั้งช่วงวิ่งเข้าวิ่งออก
- จากสเปกตรัมของดาวฤกษ์ เส้นสเปกตรัมจะเลื่อนไปทางสีแดงเมื่อดาวฤกษ์วิ่งออกจากเรา และเลื่อนไปทางสีน้ำเงินเมื่อดาวฤกษ์วิ่งเข้าหาเรา
- นักดาราศาสตร์วัดได้จากเส้นแถบมืดของสเปกตรัมดังกล่าวอย่างละเอียด
- การค้นพบส่วนใหญ่ค้นพบ "ดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่" ที่คล้ายกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มากกว่า และมีตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
- ดาวเคราะห์จำนวนมากร้อนหรือหนาวเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต ส่วนใหญ่มีวงโคจรรีมาก บางช่วงใกล้ดาวแม่มาก บางช่วงไกลมาก
- ดาวเคราะห์ที่ค้นพบมักมีมวลประมาณดาวพฤหัสบดี
ภาพจำลองแสดงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแบบดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ภายในระบบดาวฤกษ์อันไกลโพ้น |
เวลา 18.30 น. ตั้งกล้องโทรทรรศน์ดูดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ขึ้น 7 ค่ำ
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้นำกล้องโทรทรรศน์ จำนวน 3 กล้อง มีชนิดกล้องสะท้อนแสง, หักเหแสง, แบบผสม และยังนำกล้องสองตา มาให้ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมได้ใช้สัมผัสกับกล้องโทรทรรศน์โดยมีวิทยากรให้คำแนะนำในการใช้งาน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่มาด้วย ตื่นเต้นกับการที่ได้เห็นดาวพฤหัสบดี ริ้วแถบชั้นบรรยากาศด้วย และดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงใหญ่ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และเห็นพื้นผิวของดวงจันทร์เสี้ยวขึ้น 7 ค่ำเป็นหลุมบ่อที่ถูกอุกกาบาตพุ่งชน ได้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันดูแต่ละกล้องและได้มีผู้ที่เดินทางผ่านไปมาขอร่วมสังเกตการณ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศคึกคักที่มาดูดาวกลางกรุงเทพฯ ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทุกท่านได้รับของที่ระลึกครบรอบ 30 ปี สมาคมดาราศาสตร์ไทย ในกิจกรรม รวมพลคนรักดวงดาว ท่านละสองอย่าง คือ แว่นสุริยะ และพวงกุญแจรูปดาวยิ้ม โดยเฉพาะแว่นสุริยะ เป็นแว่นที่ทางสมาคมฯ ได้ผลิตขึ้นใช้ฟิล์มสำหรับดูดวงอาทิตย์โดยตรงจากต่างประเทศ ไม่มีวางขายทั่วไป กิจกรรมเลิกบริการเวลาประมาณ 20.20 น. กิจกรรมบรรยายพิเศษรายเดือนครั้งต่อไป เดือนธันวาคม 2553 จะจัดขึ้นในวันที่มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 วันไหน เวลาเท่าไร คอยติดตามได้ทางเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย
อาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวการต้อนรับผู้มาร่วมกิจกรรม |
สมาชิกและผู้สนใจที่พาลูกมาร่วมกิจกรรมด้วย |
นายปุณณวิช คงพิทักษ์สกุล วิทยากรบรรยายข่าวดาราศาสตร์ |
ทางสมาคมนำโมเดลทางดาราศาสตร์มาตั้งโชว์ให้ชมด้วยที่ทำจากกระดาษ |
วิทยากรหนุ่มเหรียญทอง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก |
นายปุณณวิช คงพิทักษ์สกุล กำลังบรรยายเรื่อง พบโครงสร้างใหม่บนกาแล็กซีทางช้างเผือก |
ผู้สนใจตัวน้อยอยู่ชั้น ป.5 ชวนคุณแม่มาร่วมฟังบรรยายอย่างสนใจ |
ช่วงเวลา 18.30 น. บริการตั้งกล้องโทรทรรศน์ที่ลานหน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา |
ผู้สนใจและสมาชิกกำลังดูดาวพฤหัสบดี และพื้นผิวดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ |
มีผู้สนใจที่ทราบข่าวเดินทางมาร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น |
นายพรชัย รังษีธนะไพศาล วิทยากรสมาคมนำกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงกาลิเลโอ มาให้ผู้ร่วมกิจกรรมทดสอบดูด้วย |
บรรยากาศบริการตั้งกล้องโทรทรรศน์ |
เยาวชนตัวน้อยกำลังขอดูดาวพฤหัสบดีที่กล้องสะท้อนแสง หน้ากล้อง 8 นิ้ว |
"หนูเห็นหลุมบนดวงจันทร์ด้วย" ผ่านกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงกาลิเลโอ โดยมีอาจารย์ประพีร์ วิราพร ให้คำแนะนำการใช้กล้องอยู่ข้างๆ |
นักกีฬาฟุตบอลสนใจมาขอร่วมกิจกรรมกำลังสอบถามวิทยากรที่มาสมทบคุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ กรรมการวิชาการสมาคมฯ |
เยาวชนตัวน้อยกำลังจะขอถ่ายภาพผิวดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ |
"ผมถ่ายภาพผิวดวงจันทร์ได้แล้ว" โดยมีพี่ ๆ ช่วยลุ้นอยู่ข้าง ๆ มีวิวฉากหลังเป็นโดมโรงภาพยนตร์เมเจอร์ฝั่งตรงข้าม |
ของที่ระลึกสมาคมฯ ครบรอบ 30 ปี ที่มอบให้กับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ครับ |