รายงาน/ภาพกิจกรรมเดือนมกราคม 2554
เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2554 สมาคมดาราศาสตรไทยได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษในหัวขัอ "ชาวฟ้า ตามล่าหาดาวยูเรนัส" ข่าวดาราศาสตร์ และมีกิจกรรมการประกอบโมเดลดาวเสาร์ ที่หน้าห้องสมาคมดาราศาสตร์ไทยตอนกลางคืนตั้งกล้องโทรทรรศน์ดูดาวพฤหัสบดี และดูดาวยูเรนัส ที่บริเวณหน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ปากทางเข้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
เวลา 15.00 น. มีประชาชนทั่วไปและสมาชิกสมาคมฯ ได้ทยอยมาลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกกรรม ทั้งมาเป็นครอบครัวหลายครอบครัวพาบุตรหลานมาด้วย ทำให้มีเด็กๆ เยาวชนจำนวนมาก มีผู้มาร่วมกิจกรรมทั้งหมด 65 คน เป็นจำนวนที่มากที่สุดที่เคยจัดมา
เวลา 15.30 น. ท่านอาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้มากล่าวการต้อนรับและเปิดกิจกรรมการบรรยายพิเศษแก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปที่มาร่วมกิจกรรมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยครั้งนี้ ในหัวข้อบรรยายวันนี้ ชื่อ "ชาวฟ้า ตามล่าหาดาวยูเรนัส" ชาวฟ้าในที่นี้หมายถึง นักดูดาวสมัครเล่น หรือนักดูดาวที่ชำนาญแล้ว มาร่วมทำกิจกรรมดูดาวหรือมาเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้วิชาดาราศาสตร์ร่วมกัน ส่วนดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 3 รองจากดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ซึ่งตอนนี้ดาวยูเรนัส มาอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี (มุมมองเมื่อมองจากโลกเหมือนอยู่ใกล้กัน) และเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 7 ในระบบสุริยะ แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
เวลา 16.00 น. เข้าสู่การบรรยายเรื่อง "ดาวยูเรนัส ดาวเคราะห์ก๊าซดวงที่ 7 " วิทยากรบรรยายโดย นายณัฐนันท์ ตันติวัสดากร เป็นนักเรียนเหรียญทอง สอบแข่งขันฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ มาเป็นผู้บรรยาย ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของดาวยูเรนัส ชั้นบรรยากาศ องค์ประกอบทางเคมี การค้นพบวงแหวน และดวงจันทร์บริวาร โดยมีการฉายภาพประกอบขึ้นบนจอโปรเจ็กเตอร์ ได้มีการซักถามที่เกี่ยวกับดาวยูเรนัส มีเยาวชนตัวน้อยที่มาร่วมฟังการบรรยายตอบคำถามที่วิทยากรตั้งคำถาม ปรากฏกว่าตอบถูกด้วย เป็นการแสดงว่าเด็กๆ เยาวชนเหล่านี้มีความสนใจได้ค้นคว้าหาความรู้วิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ เยาวชนเมื่อเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในอนาคตจะเป็นนักดาราศาสตร์ของประเทศชาติ
เวลา 17.00 น. บรรยายเรื่อง "ZOONIVERSE" การแยกประเภทดาราจักร และค้นพบวัตถุประหลาดที่ไม่เคยพบเห็น วิทยากรบรรยายโดย นายวิษณุ เอื้อชูเกียรติ กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ก่อนจะเข้าสู่การบรรยาย วิทยากรได้นำภาพข่าวที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สถานที่ก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาค สำหรับประชาชน ฉะเชิงเทรา ณ หมู่ที่ 3 ตำบลวังเย็น อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2554 เวลา 09.00 น. มาให้ผู้เข้าร่วมได้ชมกันว่าในปี 2555 เราก็จะได้หอดูดาวแห่งใหม่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ท่านวิทยากรก็เข้าสู่การบรรยาย ZOONIVERSE คืออะไร ก็คือ
- เป็นกลุ่มโครงการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้กำลังอาสาสมัครจากทั่วโลก
- เริ่มจากโครงการ Galaxy Zoo (ก.ค. 50) รูปดาราจักร 60 ล้านรูปจาก Sloan Digital Sky Survey
- ผลงาน และการร่วมมือ ที่ดีเกินคาด
- กลายเป็น Zooniverse ที่หลากหลาย
เวลา 17.30 น. เป็นกิจกรรมการประกอบโมเดลดาวเสาร์ วิทยากรผู้สอนโดย นายพรชัย รังษีธนะไพศาล กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย วิทยากรได้นำโมเดลกระดาษดาวเสาร์มาช่วยกันประกอบเมื่อประกอบเสร็จแล้วนำกลับ ไปได้เลย ไปประดับไว้ที่ห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นก็ดูสวยงาม ผู้ช่วยวิทยากรได้แจกอุปกรณ์ให้ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม วิทยากรได้แนะนำวิธีการประกอบเป็นภาพขึ้นบนจอโปรเจ็กเตอร์เป็นขั้นตอนประกอบ คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกมาก็ร่วมด้วยช่วยกันตัดๆ ทากาว ประกอบ กันอย่างสนุกสนาน บางท่านที่ยังทำไม่ถูกก็มาสอบถามวิทยากร บางท่านที่ชำนาญแล้วก็ประกอบเสร็จก่อนก็มาช่วยท่านอื่นที่ยังทำไม่เสร็จ เป็นภาพที่น่าประทับใจที่เห็นมีความสามัคคีที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่มา ต่างสถานที่ก็มาร่วมกันทำกิจกรรมดีๆ อย่างนี้เพื่อที่จะทำให้สังคมมีความสามัคคีต่อกัน เมื่อทำเสร็จกันเรียบร้อยแล้วเด็กๆ ได้มาถ่ายภาพร่วมกันกับผลงานที่ได้ประกอบโมเดลกระดาษรูปดาวเสาร์ถือเอาไว้ เป็นที่ระลึก ผู้ปกครองคุณพ่อและคุณแม่ก็มาถ่ายภาพร่วมกัน
เวลา 18.00 น. เป็นเวลาที่ทุกคนรอคอยที่จะได้ดูดาวกลางกรุงเทพฯ ทางสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้นำกล้องโทรทรรศน์มาตั้งให้ดูดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร 4 ดาวใหญ่ เช่น ดวงจันทร์ไอโอ ดวงจันทร์ยูโรปา ดวงจันทร์คัลลิสโต และดวงจันทร์แกนีมีด และทางสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้นำกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่สุดที่สมาคมฯ มี เป็นกล้องชนิดสะท้อนแสงขนาดหน้ากล้อง 14 นิ้ว เป็นระบบตามดาวมาตั้งให้ชมกัน ซึ่งกล้องนี้ไม่ค่อยนำออกมาตั้งให้ชมกันบ่อยนัก วันนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมจะได้ชมดาวพฤหัสบดี และล่าดาวยูเรนัสกันด้วยกล้องนี้ แต่ที่น่าเสียดายที่จะได้เห็นดาวยูเรนัสกันกลับไม่ได้ดู ทั้งที่กล้องตัวนี้ส่องไปที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสแล้วแต่กับมองไม่เห็น เป็นเพราะว่าตำแหน่งที่ตั้งกล้องหน้ากล้องหันไปทางทิศตะวันตกเป็นมุมเงย 30 องศา ซึ่งบริเวณที่อยู่หน้ากล้องเป็นสนามกีฬาสระว่ายน้ำด้านหน้าเป็นสนามฟุตบอล ได้เปิดไฟสปอตไลต์สว่างมาก ทำให้แสงมาเข้าที่หน้ากล้องสว่างมองไม่เห็นดาวยูเรนัสเลย จนถึงเวลา 20.00 น. เป็นการปิดกิจกรรม ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมก็ได้เห็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะกันแล้ว ได้ความรู้ทางดาราศาสตร์ และยังได้โมเดลดาวเสาร์เป็นของที่ระลึกจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยกลับไปด้วย ทุกท่านคงมีความสุขสนุกสนานที่มาร่วมกิจกรรมที่ดีๆ มีประโยชน์กับบุตรหลานและตัวท่านเอง กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะมาบริการให้กับท่านทุกๆ เดือนครับ แล้วพบกันใหม่กับกิจกรรมบรรยายพิเศษรายเดือนต่อไป