รายงาน/ภาพกิจกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2554
รวมพลชาวฟ้า เสวนาดวงจันทร์ หันไปหาดาวคู่
วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554
เป็นอีกวันหนึ่งที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้จัดการบรรยายพิเศษให้กับสมาชิกสมาคมฯ และประชาชนทั่วไปที่ชอบดาราศาสตร์มาร่วมกิจกรรมของเดือนกุมภาพันธ์เป็นครั้งที่ 2 ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้ให้การบริการบรรยายดาราศาสตร์และอวกาศ เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 ที่บริเวณหน้าห้องสมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร วันนี้มีผู้ให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมการบรรยายครั้งนี้ 31 ท่าน มีทั้งเยาวชนเด็ก ๆ ที่เคยมาร่วมกิจกรรมครั้งที่แล้วที่มากันทั้งครอบครัว สมาชิกเดิมและผู้สนใจหน้าใหม่ ๆ กิจกรรมวันนี้ให้ชื่อว่า "รวมพลชาวฟ้า เสวนาดวงจันทร์ หันไปหาดาวคู่"
ก่อนที่จะถึงเวลาการบรรยาย เวลา 15.30 น. มีสมาชิกและผู้สนใจที่มาร่วมฟังการบรรยายทยอยเดินทางกันมาลงทะเบียนกันมากขึ้น ท่านอาจารย์ประพีร์ วิราพร เลขาธิการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้มากล่าวต้อนรับสมาชิกและผู้สนใจที่ได้สละเวลามีค่าของท่านมาร่วมการจัดกิจกรรมการบรรยายพิเศษที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย และได้กล่าวเปิดการบรรยาย
เวลา 16.00 น. เป็นการบรรยายเรื่อง "ดวงจันทร์" วิทยากรผู้บรรยายโดย คุณวิษณุ เอื้อชูเกียรติ เป็นกรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งวันนี้เป็นวันข้างขึ้น 9 ค่ำเดือน 3 ดวงจันทร์เสี้ยวครึ่งดวงจึงได้หยิบยกเอาวันนี้มาบรรยายเรื่อง ดวงจันทร์ ในที่นี้จะพูดถึงดวงจันทร์ที่เป็นดาวบริวารของโลกเรา จะดูดวงจันทร์อย่างไร ? ดูเพื่ออะไร ?
ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารหนึ่งเดียวของโลกเรา ที่สันนิษฐานตามทฤษฎีที่ยอมรับกันมากที่สุด คือ เมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว ดวงจันทร์เกิดขึ้นพร้อมกับโลก ที่มีวัตถุขนาดใหญ่เท่ากับดาวอังคารลอยมาชนกับโลก (ซึ่งในขณะนั้นโลกของเรากำลังก่อตัวเป็นโลกที่ยังไม่เย็นตัว) ทำให้ส่วนหนึ่งของเปลือกโลกที่ปลิวกระเด็นออกไปในอวกาศเนื่องจากการถูกชนจะลอยวนอยู่รอบโลกภายใต้อิทธิพลความโน้มถ่วงของโลก และต่อมาเศษซากเหล่านั้นก็ลอยมารวมตัวกันเป็นดวงจันทร์ บริวารของโลกเราที่ลอยเด่นให้เราได้เห็นกันทั้งกลางวันและกลางคืน
ดวงจันทร์ มีระยะห่างเฉลี่ยจากโลกประมาณ 384,400 กิโลเมตร
มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,478 กิโลเมตร
มีมวล 0.0123 เท่าของโลก
มีอุณหภูมิพื้นผิว 107 องศาเซลเซียส (ด้านสว่าง) ถึง -153 องศาเซลเซียส (ด้านมืด)
คาบการหมุนรอบตัวเอง 27.32 วันของโลก การเคลื่อนที่รอบโลกของดวงจันทร์ มีแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดดวงจันทร์โดยดวงจันทร์หันเข้าหาโลกด้านเดียวตลอดเวลา ดวงจันทร์จึงถูกตรึงเข้าที่ ทำให้คาบของการเคลื่อนที่รอบโลกยาวเท่ากับคาบของการหมุนรอบตัวเองไปพร้อมกับโลก คนบนโลกจึงมองเห็นดวงจันทร์ด้านเดียวคือด้านใกล้โลก ส่วนด้านไกลไม่สามารถมองเห็นได้บนโลก
จะดูดวงจันทร์อย่างไร ? การที่จะดูดวงจันทร์นั้นควรที่จะดูตอนที่ดวงจันทร์เป็นเสี้ยว คือ จันทร์ข้างขึ้น 1-9 ค่ำ ดวงจันทร์จะได้รับแสงดวงอาทิตย์ บางส่วนได้เห็นริ้วรอยที่พื้นผิวของดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน ถ้าเราดูดวงจันทร์ที่เป็นวันเพ็ญเต็มดวง (ขึ้น 15 ค่ำ) ดวงจันทร์จะได้รับแสงของดวงอาทิตย์สว่างเต็มดวง ทำให้เรามองไม่เห็นรายละเอียดพื้นผิวดวงจันทร์
ดูดวงจันทร์เพื่ออะไร ? ดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่ตอนกลางวันและกลางคืนนั้น เป็นวัตถุที่เราดูแล้วว่าสวยงามที่สุดบนท้องฟ้า บางชนชาติมองดวงจันทร์เห็นกระต่ายตัวน้อยบนดวงจันทร์ และเห็นเป็นใบหน้าหญิงสาว บนดวงจันทร์นั้นมีสิ่งที่ให้นักดูดาวสมัครเล่นได้ใช้กล้องสองตาส่องดูหลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์ (crater) เช่น หลุมเพลโต (Plato Crater) หลุมโคเพอร์นิคัส (Copernicus Crater) หลุมอาร์คิมีดีส (Archimedes Crater) เป็นต้น แนวเทือกเขา (Montes) เช่น เทือกเขาแอลปส์ (Montes Alpes) และทะเลบนดวงจันทร์ (Mare - มาเร, Maria - มาเรีย) เช่น ทะเลแห่งความสงบ (Mare Tranquilitatis) ทะเลแห่งวิกฤตการณ์ (Mare Crisium)
ดวงจันทร์มีอิทธิพลต่อโลกเราก็คือ น้ำขึ้น น้ำลง และการเกิดสุริยุปราคา
เวลา 16.30 น. เป็นการฉายภาพยนตร์สารคดีผ่านเครื่องฉายแอลซีดีโปเจ็กเตอร์เรื่อง Moons <140 ที่เกี่ยวกับดวงจันทร์บริวารดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เริ่มจากการก่อกำเนิดระบบสุริยะ ขณะที่โลกเริ่มก่อตัวได้มีวัตถุขนาดใหญ่ประมาณดาวอังคารได้ลอยเข้ามาชนกับโลกเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว เปลือกของโลกได้กระเด็นออกไปในอวกาศล่องลอยอยู่รอบ ๆ โลกได้ถูกแรงดึงดูดและแรงโน้มถ่วงของโลกจับไว้ ต่อมาเศษซากที่ลอยอยู่นั้นก็ค่อย ๆ รวมตัวกันเป็นดวงจันทร์บริวารหนึ่งเดียวของโลกที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
ต่อมาก็เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 2 คือ ดาวอังคาร ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวงคือ โฟบอส (Phobos) และดีมอส (Deimos) เป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1877 ดวงจันทร์ทั้งสองดวงมีรูปร่างบิดเบี้ยวคล้ายกับดาวเคราะห์น้อย ที่ถูกดาวอังคารคว้าจับเอาไว้เป็นดาวบริวาร
ดาวเคราะห์ดวงต่อมาคือ ดาวพฤหัสบดี มีดวงจันทร์บริวารที่สำรวจพบแล้ว 63 ดวง มากที่สุดในระบบสุริยะ ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 ดวงขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymede) และคัลลิสโต (Callisto) ถูกค้นพบโดย กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน จึงเรียกบริวารทั้ง 4 ดวงว่า บริวารกาลิเลโอ (Galilean Satellites)
ดวงจันทร์แกนิมีด เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5,262.4 กิโลเมตร
ดวงจันทร์คัลลิสโต เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ในระบบสุริยะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4,820.6 กิโลเมตร
ดวงจันทร์ไอโอ เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ในระบบสุริยะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,630.6 กิโลเมตร
ดวงจันทร์ยูโรปา เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 5 ในระบบสุริยะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,121.6 กิโลเมตร
ดาวเคราะห์ดวงต่อมาคือ ดาวเสาร์ มีดวงจันทร์บริวารที่ได้สำรวจพบแล้วล่าสุด 62 ดวง ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดอันดับ 2 รองจากดาวพฤหัสบดี แต่เชื่อว่าจำนวนอาจจะเพิ่มขึ้นอีกที่จะพบได้ในอนาคต ในจำนวนนี้มีดวงจันทร์ชื่อ ไททัน (Titan) เป็นดวงจันทร์บรืวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในระบบสุริยะ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5,150 กิโลเมตร
ดาวเคราะห์ดวงต่อมาคือ ดาวยูเรนัส มีดวงจันทร์บริวารจำนวน 27 ดวง มีดวงจันทร์บริวารชื่อ ทิเทเนีย (Titania) มีขนาดใหญ่สุด
ดาวเคราะห์ดวงต่อมาคือ ดาวเนปจูน มีดวงจันทร์บริวารจำนวน 13 ดวง มีดวงจันทร์บริวารชื่อ ไทรทัน (Triton) มีขนาดใหญ่สุด
และดาวเคราะห์ที่เปลี่ยนสถานะเป็นดาวเคราะห์แคระ คือ ดาวพลูโต มีดวงจันทร์บริวารล่าสุดจำนวน 3 ดวง คือ คารอน (Charon) นิกซ์ (Nix) และไฮดรา (Hydra)
เวลา 17.00 น. เป็นการบรรยายเรื่อง “มาดูดาวคู่กันเถอะ ทั้งสนุก และได้ความรู้” วิทยากรบรรยายโดย คุณพรชัย อมรศรีจิรทร เป็นกรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย หัวข้อที่บรรยายคือ ดาวคู่คืออะไร, ดาวคู่มีกี่แบบ, ศึกษาดาวคู่ทำไม, ทำไมนักดูดาวสมัครเล่นจึงชอบดูดาวคู่
ดาวคู่คืออะไร ? ดาวคู่คือ ดาวที่ปรากฏอยู่คู่กัน อยู่ใกล้ๆ กัน มักจะเห็นด้วยตาเปล่าเพียงดวงเดียว ในพวกนี้จะอยู่ห่างไกลกันมากในอวกาศแต่บังเอิญมาอยู่ในทิศทางเดียวกันจนดูเหมือนเป็นคู่กัน เรียกว่า ดาวเห็นคู่ (Double Star) ส่วนดาวคู่ที่โคจรรอบกันและกัน มีศูนย์กลางมวลร่วมกัน เรียกว่า ดาวคู่ (Binary Star) นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจพบได้อีกเป็นระบบดาวสามดวง (Triple Star) และระบบหลายดวง (Multiple Star)
ดาวคู่มีกี่แบบ ? ดาวคู่แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ตามลักษณะที่สังเกตการณ์คือ
- Visual binary star คือ ดาวคู่ประจักษ์
- Spectroscopic binary star คือ ดาวคู่สเปกตรัม
- Eclipsing binary star คือ ดาวคู่อุปราคา
- Astrometric binary star คือ ดาวคู่แอสโทรเมตรี
ศึกษาดาวคู่ทำไม ? นักดาราศาสตร์ศึกษาดาวคู่เพื่อ
- หาคาบการโคจร
- หามวลของดาวแต่ละดวง
- หาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น
ทำไมนักดูดาวสมัครเล่นจึงชอบดูดาวคู่ ?
- ดาวคู่มักจะสว่าง ดูง่ายท่ามกลางแสงในตัวเมือง
- ไม่ต้องการใช้กล้องใหญ่ ใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กก็มองเห็น
- ดาวคู่ มักจะแสดงให้เห็นความแตกต่างความสว่างของดาว
- ครึ่งหนึ่งของดาวบนท้องฟ้า เป็นดาวคู่
- ดาวคู่ เห็นเป็นสีสันสดใส แตกต่างจาก dso ที่มองไม่เห็นอะไรเลย ยกเว้นดาวเคราะห์
เวลา 17.40 น. ให้มีการสอบถามกับวิทยากรที่บรรยาย และให้ตอบคำถามที่วิทยากรสมาคมดาราศาสตร์ไทยตั้งคำถาม ผู้ใดตอบถูกจะมีรางวัลมอบให้ เช่น ดาวเรืองแสง และแผ่นซีดีสารคดีที่เปิดให้ชม เรื่อง Moons <140 จำนวน 2 แผ่น
เวลา 18.00 น. เป็นเวลาที่ทุกคนให้ความสนใจกันมากเพื่อที่จะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ดูดาวเคราะห์ที่เห็นอยู่ดวงเดียวคือ ดาวพฤหัสบดี และดูดาวคู่ สมาคมดาราศาสตร์ไทยได้นำกล้องโทรทรรศน์ขนาด หน้ากล้อง 8 นิ้ว แบบสะท้อนแสงระบบตามดาว กล้องหักแหแสง ขนาดหน้ากล้อง 3 นิ้ว จำนวน 2 กล้อง มาตั้งที่ลานหน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล้อง 8 นิ้วตั้งให้ดูดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์บริวารที่เห็น 4 ดวงใหญ่ คือ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต กล้องหักแหแสงทั้ง 2 กล้อง ตั้งให้ดูดาวคู่ เช่น ดาวไรเจล (Rigel) กลุ่มดาวนายพราน เป็นดาวคู่ ที่เห็นดวงใหญ่และดวงเล็กมีสีขาวน้ำเงิน ดาวพอลลักซ์ (Pollux) กลุ่มดาวคนคู่ ที่เห็นสองดวงมีสีต่างกัน มีสีส้ม และสีขาวน้ำเงิน และมาดูดาวซิริอัส (Sirius) หรือดาวโจร กลุ่มดาวหมาใหญ่ ดาวซิริอัสเป็นดาวคู่ Sirius A และ Sirius B
เวลา 20.00 น. ปิดกิจกรรม