กิจกรรมเดือนมีนาคม 2556
กิจกรรมบรรยายพิเศษ
"เตรียมตัว ปฏิบัติการ ตามล่า ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS)"
วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556
ในเดือนมีนาคม 2556 จะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม คือ มีดาวหางปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าประเทศไทย มีชื่อว่า “ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS)” ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นไปในเวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว 30 นาที ทางทิศตะวันตก วันที่จะสังเกตดาวหางแพนสตาร์สได้ดีที่สุดคือวันที่ 9 -17 มีนาคม 2556 สำหรับประเทศไทย เป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด ประเทศไทยไม่ได้เห็นดาวหางมาปรากฏให้เห็นหลายปีแล้ว ในปี 2556 นี้ จะมีดาวหางถึง 2 ดวง มาปรากฏให้เห็นท้องฟ้าประเทศไทย ดาวหางดวงแรกชื่อ ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) ปรากฏให้เห็นเดือนมีนาคม ดาวหางดวงที่สองชื่อ ดาวหางไอซอน (C/2012 S1 ISON) ปรากฏให้เห็นในเดือนพฤศจิกายน 2556
การบรรยายครั้งนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยจึงนำเรื่องดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS) มาบรรยายให้ความรู้ความเป็นมาของดาวหางดวงนี้ การเตรียมตัว ตามล่า ดาวหาง ดูอย่างไร ดูได้ที่ไหน ใช้อุปกรณ์อะไรตามล่าดาวหาง ดูด้วยตาเปล่าได้หรือไม่ นอกจากการบรรยายแล้ว ในเวลาหัวค่ำมีกิจกรรมดูดาวกลางกรุง แนะนำวิธีการดูดาว ตั้งกล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวเคราะห์คือ ดาวพฤหัสบดีและดาวบริวาร 4 ดวงใหญ่ ตามล่าเนบิวลา กระจุกดาว และดาวคู่
กำหนดการบรรยาย
- 15:30 น. ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมบรรยายพิเศษที่ สมาคมดาราศาสตร์ไทย
- 16:00 น. อาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวเปิดการบรรยายพิเศษ และแนะนำทีมวิทยากร
เข้าสู่การบรรยาย เรื่อง “เตรียมตัว ปฏิบัติการ ตามล่า ดาวหางแพนสตาร์ส (C/2011 L4 PANSTARRS)”
วิทยากรบรรยายโดย อาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย
- 17:30 น. บรรยายข่าวดาราศาสตร์ล่าสุดที่ผ่านมา
เรื่อง “อุกกาบาตระเบิดตกที่ประเทศรัสเซีย” วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556
เรื่อง “ตามล่าดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14” วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 โดยทีมสมาคมดาราศาสตร์ไทย
วิทยากรบรรยายโดย นายพรชัย อมรศรีจิรทร กรรมการบริหารสมาคมดาราศาสตร์ไทย
- 18:30 น. กิจกรรมดูดาวกลางกรุง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ส่องดูดาวเคราะห์คือ ดาวพฤหัสบดี และดาวบริวาร 4 ดวง ตามล่าเนบิวลา กระจุกดาว และดาวคู่ แนะนำการดูดาว กลุ่มดาว โดยทีมวิทยากรสมาคมดาราศาสตร์ไทย
- 20:00 น. ปิดกิจกรรม
หมายเหตุ
- การบรรยายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศได้
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฟังบรรยายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ฟรี)
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (อาคาร 4) ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โทร. 02-3817409 -10 เจ้าหน้าที่สมาคมฯ คุณสุกัญญา พึ่งผลงาม
การเดินทางมาสมาคมดาราศาสตร์ไทย
ที่สะดวกที่สุดควรมาทางรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีเอกมัย (ฝั่งสถานีขนส่งเอกมัย) แล้วเดินย้อนขึ้นมาผ่านสถานีขนส่งเอกมัย ผ่านทางเข้าท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เข้าทางเข้าที่จะไปโรงเรียนปทุมคงคา สมาคมดาราศาสตร์ไทย จะอยู่ชั้น 1 อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (อาคาร 4) อยู่ทางขวามือติดกับถนนสุขุมวิท