กิจกรรมสังเกต “ดาวอังคารใกล้โลก”
วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 ณ บริเวณข้างสนามฟุตซอล ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ถึง 21:00 น.
เดือนพฤษภาคม 2559 มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ 2 ปรากฏการณ์ เช่น ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เกิดขึ้นวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม ขณะที่ดาวพุธโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นเพียงจุดดำเล็กๆ ประเทศไทยเห็นในเวลาตอนก่อนดวงอาทิตย์ตก อาจเห็นได้ยากหรืออาจไม่เห็นก็ได้ เพราะใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกมาก แล้วอีก 2 อาทิตย์ต่อมา เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ตอนหัวค่ำ ”ดาวอังคารใกล้โลก” (Mars Opposition) วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 เป็นปีที่ดีสำหรับการสังเกตดาวอังคาร เนื่องจากดาวอังคารจะผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ที่อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน แม้ว่าปีนี้จะยังไม่ใช่ช่วงที่ใกล้โลกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็ตาม ในขณะนี้ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง ความสว่างที่โชติมาตร -2.1 นับว่าสว่างพอๆ กับดาวพฤหัสบดีขณะนี้ ดาวอังคารอยู่ระยะห่างจากโลก 0.5101 หน่วยดาราศาสตร์ (47.4 ล้านไมล์)(76 ล้านกิโลเมตร) แต่ดาวอังคารยังไม่ใกล้โลกที่สุด วันที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ระยะห่าง 0.503 หน่วยดาราศาสตร์ (46.7 ล้านไมล์)(75 ล้านกิโลเมตร) ขณะอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง วันนั้นดาวอังคารมีขนาดปรากฏใหญ่สุดที่ 18.6 พิลิปดา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3/4 ของขนาดใหญ่สุดที่เป็นไปได้ (25.1 พิลิปดา) ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2546 .ในเดือนพฤษภาคม ดาวอังคารสว่างสดใสให้เห็นได้ตลอดทั้งคืน จากครั้งนี้แล้วในปี 2018 (พ.ศ.2561) วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 เป็นวันดาวอังคารใกล้โลกที่สุด ความสว่างโชติมาตร -2.8 ที่ระยะห่างจากโลก 0.39 หน่วยดาราศาสตร์ (36.2 ล้านไมล์)(58.3 ล้านกิโลเมตร)
สมาคมดาราศาสตร์ไทย ขอเชิญชวนท่านสมาชิกฯ และประชาชนผู้สนใจร่วมกิจกรรม Star Party Mars Opposition 2016 “ดาวอังคารใกล้โลก” วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559 ณ บริเวณข้างสนามฟุตซอล ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ถนนสุขุมวิท พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ถึง 21:00 น. มีกิจกรรมให้ความรู้ดาราศาสตร์เรื่องดาวอังคาร ตั้งกล้องโทรทรรศน์หลายกล้องส่องดู ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี, ดวงจันทร์, และดาวเสาร์ ขณะนี้กำลังจะเข้าใกล้โลกในเดือนหน้า ศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 , ภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคาร 3 มิติ, นำภาพดาวอังคารขึ้นฉายบนจอภาพโปรเจคเตอร์
|
กำหนดการ วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2559
- 17:30 น. - ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย ชั้น 1 อาคาร 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (เอกมัย)
- 18:00 น. - ดูดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวาร 4 ดวง ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่นำมาตั้งบริการให้ชมกัน
- 18:30 น. - ให้ความรู้เรื่องดาวอังคาร โดยฉายภาพยนตร์เรื่อง สำรวจดาวอังคาร
- 19:30 น. - สังเกตดาวอังคารด้วยกล้องโทรทรรศน์ นำภาพดาวอังคารขึ้นบนจอภาพโปรเจคเตอร์ขยายภาพดาวอังคาร กล้องโทรทรรศน์อีกหลายกล้องจะส่องดูดาวเสาร์ที่มีวงแหวนสวยงาม ที่กำลังจะเข้ามาใกล้โลกเดือนหน้า ดาวอังคาร และดาวเสาร์ขณะนี้อยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง ที่มีดาวฤกษ์ Antares (ปาริชาต) สีแดงเป็นคู่แข่งกับ ดาวอังคาร และส่องดูพื้นผิวของดวงจันทร์
- 21:00 น. - ปิดกิจกรรม
อย่าลืมนะครับค่ำคืนวันหยุดแห่งดวงดาว หากไม่ได้ไปไหน ขอเชิญชวนมาร่วมกิจกรรมหาความรู้ดาราศาสตร์ที่สมาคมดาราศาสตร์ไทยกันนะครับ
หมายเหตุ กิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศได้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ (ฟรี)
|