รายงานการสังเกตการณ์ฝนดาวตกสิงโต 16-18 พฤศจิกายน 2541

30 พฤศจิกายน 2541 รายงานโดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@hotmail.com)

คณะที่ผมเดินทางไปด้วยนี้เป็นคณะจากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล โดยความสนับสนุนจากภาควิชา การไปครั้งนี้ มิได้หวังผลทางวิชาการ เนื่องจากเราศึกษาดวงอาทิตย์และกระบวนการในลมสุริยะเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์ต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนประสบการณ์ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และการศึกษารวบรวมข้อมูลการเกิดฝนดาวตกครั้งนี้เป็นอย่างดี

เราออกเดินทางกันตั้งแต่ช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน ไปตามเส้นทางผ่าน จ.ปราจีนบุรี โดยมีจุดหมายที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างพักแวะที่ ปั๊มน้ำมัน มีคนเตือนเราเรื่องช้างบนเขาใหญ่ว่าอาจกีดขวางบนถนน ปรากฏว่าได้พบจริง ๆ ดีที่เขาหลบให้ เราจึงไม่ต้องหยุดรอนานนัก ผมมองดูท้องฟ้าไปเกือบตลอดทางนับตั้งแต่เข้าสู่เขตเขาใหญ่ ท้องฟ้าปลอดโปร่งแจ่มใสมาก จนเห็นทางช้างเผือกและบริเวณถุงถ่าน ในกลุ่มดาวหงส์ได้ชัดเจน คืนนี้ผมแทบแยกดาวเสาร์จากดาวฤกษ์อื่นไม่ออก เพราะความที่มีดาวอยู่เต็มท้องฟ้านั่นเอง แต่จำได้ว่าดาวเสาร์ อยู่เกือบตรงกลางระหว่างดาวพฤหัสบดี กับกระจุกดาวลูกไก่จึงบอกได้ง่ายขึ้น เมื่อถึงบ้านพัก ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ราว 3 ทุ่มเศษ เราก็ออกดูดาวกันอย่างกระตือรือร้น จุดที่เราดูดาวกันคืนนี้เป็นลานกว้าง หลายคนนำเสื่อและถุงนอนมาด้วย เพราะอย่างน้อยผมและอีกหลายคน คงเต็มใจที่อยู่ดูดาวตกคืนนี้จนถึงเช้า ท้องฟ้าขณะนั้นปลอดโปร่งเห็นดาวระยิบระยับ ขอบฟ้ามีต้นไม้บังเล็กน้อยแต่ไม่เป็นอุปสรรค

ระหว่างที่เฝ้ารอเวลาเที่ยงคืนที่ยังมาไม่ถึงนี้ เรามองหาวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ และชักชวนกันดู นับตั้งแต่ที่สว่างสุกใส อย่างดาวพฤหัสบดีกับดาวบริวาร กระจุกดาวลูกไก่ กาแล็กซีแอนดรอเมดา กระจุกดาวและเนบิวลาต่าง ๆ ไปจนถึงที่ต้องใช้กล้องส่องหาและเทียบกับแผนที่ดาวอย่างดาวเคราะห์น้อยซีรีส

ระหว่างนี้เราเห็นดาวตกจากกลุ่มดาววัวได้บ้าง จนกระทั่งใกล้เวลาเที่ยงคืน เราเริ่มเห็นดาวตกลีโอนิดส์พุ่งขึ้นมา จากยอดไม้สู่ท้องฟ้าเบื้องบน ทำให้หลายคนเริ่มตื่นเต้น จนเที่ยงคืนเศษมีดาวตกดวงหนึ่ง พุ่งจากฟ้าด้านตะวันออกสู่ฟ้าด้านตะวันตกเป็นทางยาวราว 140-150 องศา! ทำให้เราทุกคนต้องมองตามชนิด ที่เรียกว่าต้องเหลียวหลัง (ทุกคนกำลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก)

หลังจากนั้นมีดาวตกบ้างเป็นระยะ ๆ ทิ้งช่วงห่างกันบ้าง เนื่องจากการคาดหมายก่อนหน้านี้เชื่อว่า ดาวตกจะมีมากในคืนถัดไป ประกอบกับท้องฟ้าเริ่มมีเมฆบาง ๆ คล้ายหมอกมาปกคลุม ทำให้หลายคนชะล่าใจเข้านอนก่อน เหลืออยู่ราว 10-20 คน แม้แต่ผมเองก็ยังคิดว่าพรุ่งนี้จะบันทึก จำนวนดาวตกอย่างละเอียด คืนนี้ผมจึงดูและนับเพียงอย่างเดียว ชั่วโมงแรกหลังเที่ยงคืนผ่านไป เราช่วยกันนับได้ 18 ดวง ซึ่งทุกดวงล้วนสว่างน่าดูทั้งนั้น พวกเรามีทั้งตั้งหน้าตั้งตาดูและหลับ ๆ ตื่น ๆ ตามเสียงโห่ร้องของคนรอบข้าง ปรากฏว่ายิ่งดึกยิ่งมีอัตราการเกิดมากขึ้น ตอนนี้ทุกคนต่างหลับไม่ลง และเมฆบาง ๆ ที่ปกคลุมท้องฟ้าก่อนหน้านี้ก็เริ่มจางหายไป มีบางครั้งที่ผมมองไม่เห็นดาวตกโดยตรงเพราะหันหลังให้ แต่ก็เห็นแสงสว่างจากดาวตกที่กระทบใบหน้าคนข้างหน้าได้ชัดเจน ที่สว่างมาก ๆ อย่างนี้อาจเรียกว่า ลูกไฟ (fireball) มีหลายดวงที่ก่อให้เกิดลักษณะคล้ายควันที่เรียกว่า persistent train ค้างอยู่นานหลายวินาทีจนถึงหลายนาที นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และค่อย ๆ จางหายไปตามความแปรปรวนในบรรยากาศด้วย รวมทั้งบางดวงดูคล้ายการระเบิดออก นอกจากนี้ทุกคนสังเกตเห็นว่า ดาวตกที่เกิดใกล้จุดเรเดียนต์ จะเป็นขีดสั้น และสว่างมาก

ใกล้เช้ามืดของวันนั้นเราเห็นการสว่างจ้าของดาวเทียมอิริเดียม (Iridium flare) ดวงหนึ่งทางทิศใต้ ดวงจันทร์โผล่พ้นยอดไม้ทางทิศตะวันออก เวลาราว 5 นาฬิกาเศษ ท้องฟ้าเริ่มสว่างขึ้น แต่สิ่งที่ยังฉุดรั้งเราไว้ คือดาวตกที่เพิ่มขึ้นทุกที ประมาณได้ราว 4 ดวงต่อนาที! บางครั้งมีบ่อยจนรู้สึกเหมือนกับว่าจะนับไม่ทันเลยทีเดียว จนถึง 6 นาฬิกาเศษ ท้องฟ้าสว่างมากแล้ว เบ็ดเสร็จคืนนี้เรานับได้มากกว่า 540 ดวง ตลอดเวลาราว 8-9 ชั่วโมง ใต้ผืนฟ้าที่ปลอดโปร่งเกือบตลอดเวลา สำหรับผมแล้ว ดาวตกคืนนี้เป็นดาวตกที่งดงามและน่าดูที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา และยังนับเป็นคืนที่ปรากฏ fireball มากที่สุดคืนหนึ่งในรอบหลายปี

หลังจากนั้นผมเข้านอน และตื่นอีกครั้งในอีก 2-3 ชั่วโมงถัดมา ช่วงสายถึงบ่ายของวันนั้นเรามีโปรแกรม ที่จะท่องเที่ยวดูน้ำตก และธรรมชาติที่งดงาม ระหว่างที่กำลังรอขึ้นรถ เวลา 9.42 น. ผมบังเอิญมองเห็นดาวตก (เชื่อว่าน่าจะเป็น fireball เพราะเห็นในเวลากลางวัน) ดวงหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเวลาสั้น ๆ ใกล้ขอบฟ้า มีคนบอกว่าเห็นเหมือนผมด้วย ช่วงระหว่างการเดินทางไปน้ำตก เราได้ทักทายกับลิงหลายตัวบนท้องถนน ผมมีเวลางีบหลับอีกเล็กน้อยตอนบ่ายแก่ ๆ ก่อนจะเตรียมตัวเดินทางไปยังจุดที่ทางเขาใหญ่จัดไว้ให้ ปรากฏว่ามีผู้คนหลายพันคนมาอยู่ในที่ดังกล่าว ช่วงหัวค่ำผมเริ่มเป็นกังวลกับเมฆฝนและฟ้าแลบที่ปรากฏอยู่ไกล ๆ ทางด้านตะวันออก ประกอบกับกระแสลมที่เป็นลมจากฝั่งทะเลจีนใต้ อาจพาฝนมายังพื้นที่ ๆ เราอยู่ ปรากฏว่ามาจริง ๆ ครอบคลุมฟ้าเกือบทั้งหมด มีฝนตกเล็กน้อย จากนั้นก็ผ่านไป ฟ้าปลอดโปร่งสดใสกลับมาอีกครั้ง ดาวตกคืนนี้มีไม่มากอย่างที่คิด แถมยังน้อยกว่าคืนที่ผ่านมาเสียอีก โดยมีถี่ขึ้นตอนช่วง 3 นาฬิกาเศษและลดลง นอกจากนี้ยังรู้สึกว่า อัตราการเกิดกำลังลดลงเรื่อย ๆ

เราเดินทางกลับกันในเช้าวันนั้นถึงกรุงเทพฯ ราวเที่ยงวัน ผมเช็คข่าวและข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พร้อมกับส่งรายงานไปยัง Peter Jenniskens กับ Gary Kronk ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวตกและ Rainer Arlt ที่ International Meteor Organization ซึ่งเป็นแหล่ง รวบรวมข้อมูลการเกิดดาวตกจากทั่วโลก แม้คนจำนวนมากจะรู้สึกผิดหวังกับการ มาดูดาวตกครั้งนี้ แต่สำหรับผมและใครหลายคนในคณะของเรา รู้สึกยิ่งกว่าคุ้มที่ได้มา ดาวตกกว่า 500 ดวง เมื่อคืนวันที่ 16 ยังติดตาตรึงใจผมอยู่เลย แล้วพบกันอีกปีหน้าครับ!







วิมุติ วสะหลาย [wimut@hotmail.com]