รายงานการสังเกตการณ์ฝนดาวตกสิงโต 16-18 พฤศจิกายน 2541

8 ธันวาคม 2541 รายงานโดย: วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ได้ผ่านไปแล้ว พร้อมด้วยความผิดหวังและสมหวังคละเคล้ากันไป และต้องยอมรับว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ 1998 เป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวไทยไม่น้อยกว่าสุริยุปราคาเมื่อปี 2538 สำหรับผู้ที่ผิดหวังจากการเฝ้ารอคอยในคืนวันที่ 17/18 พฤศจิกายนนั้น ไม่นับผู้ที่ไม่สามารถได้เห็นเนื่องจากฟ้าปิด จำนวนฝนดาวตกที่ตกลงมามากกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสำหรับท่านที่ไม่เคยชมได้เห็นฝนดาวตกมาก่อนเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้ชื่นชมและพอใจ ในการคำนวณเวลาของนักดาราศาสตร์ที่คำนวณเวลาฝนดาวตกครั้งนี้ได้ต่อท้ายไว้ว่า earlier หรือ later ซึ่งหมายความว่าเวลาอาจก่อนหรือหลังก็ได้ นี่แหละเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมได้ออกมาเฝ้าดูฝนดาวตกก่อนในคืนวันที่ 16 ต่อวันที่ 17 ด้วยว่าต้องการที่จะเฝ้าดูก่อนตามคำคำนวณนั้น และต้องการออกมาซ้อมมือในการถ่ายภาพฝนดาวตก อยากดูทิศทางของฝนดาวตกลีโอนิดส์ ซึ่งมีความเร็วมากกว่าฝนดาวตกชุดอื่น ๆ จากบอดี้กล้องถ่ายรูปที่ใช้ถึง 3 ตัว ได้วางฟิล์มไว้ที่ 200 ถึง 400 และ 800 วางดักไว้ตามทิศทางต่าง ๆ กัน สถานที่คือ โรงเรียนนายร้อย จปร. เขาชะโงก จ.นครนายก และช่วงต้นของฝนดาวตกลีโอนิดส์ เวลาประมาณ 1.00 น. เศษ ก็ได้เห็นดวงแรกเป็นไฟร์บอลพุ่งจากดินขึ้นสู่ฟ้า เมื่อกลุ่มดาวสิงโตเริ่มขึ้น แทนที่ฝนดาวตกจะตกจากฟ้าลงดิน แต่สำหรับลีโอนิดส์ในช่วงเริ่มแรกจะพุ่งจากดินสู่ฟ้า หลัง 1.00 น. ฝนดาวตกเริ่มถี่ขึ้นเป็นระยะ ๆ ดาวตกที่มีความสว่างแบบไม่ธรรมดาปรากฏให้เห็นมากขึ้น หลากสีหางยาว ทิ้งช่วงห่างนิดหน่อย ตั้งแต่ 2.00 น. ถึง 2.30 น. และเริ่มลงหนัก ตั้งแต่ 3.00 น. เป็นต้นไป

เมื่อกลุ่มดาวสิงโตขึ้นสูงมากขึ้น ฝนดาวตกเริ่มสาดลงมาทุกทิศทุกทาง ฟ้าขณะนั้น มีเมฆหลัว ปกคลุมอยู่ ฟ้าไม่แจ่มใสนัก แต่ฝนดาวตกที่สาดลงมานั้น แต่ละดวงจัดเข้าประเภทไฟร์บอลเป็นจำนวนมาก มากกว่า 15 ดวงที่มีควันทิ้งไว้เป็นทางยาวให้ค้างฟ้านานถึง 5 นาที นานพอให้ผมถ่ายภาพได้ และใช้กล้องสองตาสังเกตได้ซึ่งแปลกและสวยงามมาก และไม่คิดว่าจะได้เห็นอย่างนี้ในดาวตกชุดใด ๆ อีกแล้ว ช่วง 3.00 น. ถึง 5.00 น. ถึงแม้นว่าฟ้าสว่างแล้ว ฝนดาวตกที่มีขนาดใหญ่ก็ยังสาดลงมาอย่างไม่หยุด นับได้รวมกว่า 500 ดวง ในจำนวนนี้ กว่า 200 ดวงมีแสงสว่างมาก มีสีหลายสี เป็นที่ประทับใจผู้ที่เฝ้าชมบริเวณเดียวกับผม ซึ่งเป็นทีมงานของสมาคมดาราศาสตร์ไทยเกือบ 30 ชีวิต ให้ตลึงต่อภาพที่ได้เห็นขณะนั้น เท่าที่ทราบ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เริ่มประมาณ 3.00 น. ในบ้านเรา ผ่านเอเชียกลาง ยุโรป และไปสิ้นสุดที่มหาสมุทรแอตแลนติก มีอีเมลที่รายงานไปยังโฮมเพจของนิตยสาร Sky & Telescope แสดงความประทับใจกับไฟร์บอลเป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยนั้น เปรียบเทียบคืนวันที่ 16/17 กับคืนวันที่ 17/18 แล้ว เป็นหนังคนละม้วนคนละเรื่องเลยทีเดียว

สรุปได้ว่า ฝนดาวตกลีโอนิดส์ในปี 1998 ไม่จัดเข้าขั้นพายุฝนดาวตกที่เป็นสายธารแบบปี ค.ศ.1833 แต่สมควรจารึกลงในประวัติส่วนหนึ่งของฝนดาวตกลีโอนิดส์ 1998 ได้เลยว่า พายุของไฟร์บอลเลยทีเดียว ซึ่งหาดูได้ยากเช่นกัน

และในปีหน้า 1999 ผมคงไม่พลาดที่จะต้องเฝ้าชมและถ่ายภาพพายุไฟร์บอลของลีโอนิดส์ชุดนี้อีกแน่นอน เพราะสวยงามและประทับใจเกินกว่าที่จะละทิ้งโอกาสนี้ได้ เพราะที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ผมคงไม่มีโอกาสได้เห็นไฟร์บอลขนาดใหญ่และสวยงามอย่างนี้อีกในช่วงเวลาที่เหลือชีวิตผมอีกแล้ว







วิมุติ วสะหลาย [wimut@hotmail.com]