นักวิทยุสมัครเล่นกับคืนราหูอมจันทร์ 4-5 พ.ค. 47

22 กรกฎาคม 2547 รายงานโดย: มรกต อารียะ

เมื่อคืนวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 หลัง 24.00 น.เป็นคืนที่คนไทยทั้งประเทศยอมอดหลับอดนอน เพื่อรอดูจันทรุปราคาหรือที่เรียกกันมาแต่โบร่ำโบราณว่าราหูอมจันทร์ และก่อนที่จะถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 ข่าวเรื่องจันทรุปราคาได้เผยแพร่ผ่านสื่อแทบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี นิตยสาร หรือในอินเทอร์เน็ตก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจติดตามมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาคือในคืนวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ จะมีดาวหางปรากฏให้เห็นช่วงหัวค่ำในคืนเดียวกันอีก 2 ดวง ก็ยิ่งทำให้หลาย ๆ คนอดทนอยู่รอคอยแม้ว่าจะใกล้ย่างวันใหม่แล้วก็ตาม

ในพื้นที่เขตภาคเหนือของประเทศไทยดูจะคึกคักมากเมื่อชมรมนักวิทยุสมัครเล่นเครือข่ายดาราศาสตร์ไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเจษฎาบดินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แจ้งออกอากาศผ่านความถี่วิทยุสมัครเล่นสถานีทวนสัญญาณหรือรีพีทเตอร์สุโขทัยรวมทั้งความถี่ต่างๆ ล่วงหน้าเกือบเดือนและมีการพูดคุยในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแจ้งข้อมูลไปยังสถานีวิทยุต่าง ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดแพร่ ทำให้มีผู้สนใจกันมาก ทั้งนี้เพราะนักวิทยุสมัครเล่นและประชาชนผู้สนใจในเขตภาคเหนือหรือภาคอื่นสามารถร่วมรายงานผลการสังเกตได้ในช่วงความถี่ 145.675 MHz และทางโทรศัพท์หมายเลข 0-1887-4375

เมื่อถึงคืนวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2547 เวลา 22.30 น. สถานีประสานงานและรับรายงานผลการสังเกตจันทรุปราคาในนาม E21ECQ แจ้งเปิดสถานีในช่องรีพีทเตอร์สุโขทัย พร้อมรายละเอียดข้อมูลจันทรุปราคาซึ่ง อ.วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์จากสมาคมดาราศาสตร์ไทยและเจ้าของหอดูดาวบัณฑิต อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา และข้อมูลจากวารสารทางช้างเผือกของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งมีนักวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

เวลา 24.01 น.เป็นเวลาการเริ่มต้นการสังเกตจันทรุปราคา โดย มรกต อารียะ/E21ECQ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานนักวิทยุสมัครเล่นเครือข่ายดาราศาสตร์ไทยได้ CQ CQ CQ สอบถามสภาพอากาศและทัศนวิสัยท้องฟ้าในจังหวัดต่าง ๆ ที่มีนักวิทยุสมัครเล่นสแตนด์บาย ซึ่งได้รับรายงานว่าในช่วงหัวค่ำถึงเวลา 24.00 น. อ.พิทักษ์ วัฒนวิกย์กรรม์/HS5CWN ที่วันนี้เดินทางจากอุตรดิตถ์ไปตั้งหลักดูจันทรุปราคาที่อำเภอขานุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร รายงานว่าท้องฟ้าแจ่มใส ดวงจันทร์แสงสว่างสวยงามมาก ซึ่งแตกต่างกับจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ท้องฟ้าปิดมาตั้งแต่หัวค่ำแล้ว

HS6SEE จากจังหวัดพิจิตรบอกว่าดวงจันทร์อยู่กลางท้องฟ้ามีแสงสว่างเต็มดวง HS6PZL บอกว่าที่พรมพิรามมองเห็นดวงจันทร์เช่นเดียวกับที่พิจิตร HS6NITและHS6OPEแจ้งว่ากำลังขับโมบายล์มุ่งหน้าสู่จังหวัดเลยและถึงบริเวณสี่แยกวังทองมองเห็นดวงจันทร์อยู่เหนือท้องฟ้าเช่นเดียวกับ HS6IEN อำเภอเมืองพิษณุโลกก็เห็นเช่นเดียวกัน แต่ในเมืองมีเมฆค่อนข้างมาก

ที่สุโขทัย HS6MWW หนุ่มใหญ่ใจดีแห่งเมืองศรีนครแจ้งเมื่อเวลา 24.15 น. ว่าฟ้าปิด มองไม่เห็นดวงจันทร์ ส่วนHS6EVY อำเภอเมืองเพชรบูรณ์แจ้งเมื่อเวลา 24.21 น. ว่ามองเห็นดวงจันทร์บางส่วนเพราะมีเมฆมาก ที่อำเภอพรานกระต่าย HS6NXZ แจ้งว่ายังไม่เห็นดวงจันทร์แต่คาดว่าเมื่อถึงเวลา 00.51 น. คงได้เห็นช่วงเริ่มต้นจันทรุปราคาที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก

แต่ที่จังหวัดเชียงใหม่ HS5SAX รายงานจากอำเภอเมืองว่าท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆหมอก สำหรับที่อุตรดิตถ์ เน็ทคอนโทลบอกกับเพื่อนในความถี่ว่ารอบ ๆ ตัว ณ เวลา 00.40 น. ว่ามีเปลือกแห้วเต็มกระป๋อง เพราะท้องฟ้าปิดมาตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ แต่ก็หวังว่าถึงเวลาสำคัญคงเปิดให้เห็นบ้าง

นักวิทยุสมัครเล่นเครือข่ายดาราศาสตร์ไทย ตั้งกล้องให้ประชาชนและผู้สนใจได้ดูปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ส่วนที่จังหวัดแพร่ คุณชนิสา ชมศิลป์ นักจัดรายการคนสวยแห่ง สวท. แพร่ แจ้งทางโทรศัพท์ว่าท้องฟ้าจังหวัดแพร่ค่ำคืนนี้มีเมฆมาก มองไม่เห็นทั้งดวงจันทร์และแม้แต่ดาวสักดวง (หัวอกเดียวกับคนที่อยู่อุตรดิตถ์ไม่ว่าจะเป็น HS5NCR หรือ E21ECQ ที่เฝ้ารอฟ้าเปิดจนแห้วหมดไปเกือบถัง กว่าจะมองเห็นดวงจันทร์ก็ถูกราหูอมไปค่อนดวงแล้ว แต่ก็ยังดีที่ได้เห็นแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม

เมื่อถึงเวลา 00.51 น. นักวิทยุสมัครเล่นรายงานเข้ามากันอย่างต่อเนื่อง และผู้ทำหน้าที่เน็ทคอลโทลได้โทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหวบนท้องฟ้ากับ อ. วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ที่อยู่บนหอดูดาวบัณฑิต ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่าที่ฉะเชิงเทราท้องฟ้าแจ่มใส ตอนนี้เริ่มเห็นเงามัวแล้ว จึงทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของจังหวัดต่าง ๆ ได้ดีตั้งแต่เวลา 00.51 น. จนกระทั่งถึงเวลา 04.10 น. E21ECQ จึงแจ้งขอบคุณสมาชิกนักวิทยุสมัครเล่นและผู้ร่วมกิจกรรมในค่ำคืนนี้ทุก ๆ ท่านที่ร่วมรายงานผลการสังเกตจันทรุปราคาพร้อมขออนุญาตปิดสถานีรับรายงานการสังเกตการณ์ เพราะเวลานี้นักวิทยุสมัครเล่นหลายจังหวัดแจ้งว่าดวงจันทร์ออกจากเงามืดแล้ว และบอกว่าพบกันใหม่กลางเดือนตุลาคม 2547 ที่เป็นช่วงที่มีฝนดาวตก แต่คงต้องรอข้อมูลรายละเอียดจากสมาคมดาราศาสตร์ไทยอีกครั้ง ซึ่งหากมีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็คงได้ร่วมกิจกรรมเช่นนี้อีก

นักวิทยุสมัครเล่นและผู้สนใจร่วมกิจกรรมสังเกตจันทรุปราคาคืนวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2547 มีรายนามดังนี้ HS5CWN กำแพงเพชร) HS6SEE (พิจิตร) HS6NXZ (สุโขทัย) HS5PMK (โมบายล์บนถนนหมายเลข 11 เด่นชัย-พิษณุโลก) HS6IEN (พิษณุโลก) HS5NCR (ต.บ้านด่าน-อุตรดิตถ์) HS5PEH (ลำปาง) HS6TKP (ศรีสำโรง) HS6MWW (ศรีนคร) HS6NIT และ HS6OPE (เดินทางสู่จังหวัดเลย ได้รายงานเป็นระยะ ๆ ทั้งในความถี่วิทยุและรายงานผ่านทางโทรศัพท์มือถือจนกระทั่งถึงจังหวัดเลย) HS6EVY (เมืองเพชรบูรณ์) HS6SSF (นครสวรรค์) HS6AXR (กิ่งบึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร) HS5XPN HS6RMY (เมืองพิษณุโลก) HS0IEE (อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์) HS6TQS (ร.ร. เทพนครโฮเต็ล จ.กำแพงเพชร) HS5WPD (เมืองพิษณุโลก) คุณประจวบ ประทุมมาศ (สมาชิกร่วมกตัญญูนามสนับสนุน 901 รายงานทางโทรศัพท์จาก อ. ชนแดน จ. เพชรบูรณ์) HS6NHV (บ้านด่านลานหอย สุโขทัย) HS5SAX (อ.เมืองเชียงใหม่) HS6SSF (รปภ. จากสลกบาตร กำแพงเพชร) HS6SZN (นครสวรรค์ : มองเห็นชัดเจน ที่ อ.เมืองนครสวรรค์) HS5KJC (ขับรถอยู่บนถนนสายตากฟ้า-ตาคลี) HS5XPN (ลำปาง) HS6TFZ (เขตรอยต่อจังหวัดพิจิตรกับพิษณุโลก) HS6TEL (พิษณุโลก) คุณประจวบ ประทุมมาศ (รายงานทางโทรศัพท์จาก จ.ตาก) HS6NZN (อ.เมืองนครสวรรค์) HS6SAK (โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร) E20BFN (อ.วังเจ้า) HS6TPZ (พิจิตร) HS6SXB HS6RUJ (อ.ตาคลี) ซึ่งนักวิทยุสมัครเล่นและผู้สนใจในหลายจังหวัดก็สมหวังแบบจุใจกับการเฝ้ารอดูจันทรุปราคา แต่ก็มีบางจังหวัดที่เห็นบ้างไม่เห็นบ้างเช่นที่อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพราะมีเมฆฝนรบกวน ทำให้สังเกตได้ไม่ดีเท่าที่คิดไว้ก่อนหน้านี้

จากการสังเกตการณ์จันทรุปราคาในคืนวันที่ 4-5 พฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมานับว่าเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของนักวิทยุสมัครเล่นเครือข่ายดาราศาสตร์ไทยที่ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ก็จะใช้สถานีรีพีทเตอร์สุโขทัย145.675 MHz เป็นสถานีหลักในการรายงานและรับข้อมูลจากนักวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในเขตภาคเหนือและใกล้เคียง ซึ่ง HS6JGO ประธานชมรมนักวิทยุจังหวัดสุโขทัยและคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีเสมอมา ทำให้ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น จากทำเนียบผู้ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมประสานงานเมื่อครั้งเริ่มรวมตัวกันใหม่ ๆ สามปีที่ผ่านมามีจำนวนประมาณเกือบ 400 คน แต่ขณะนี้มีผู้ร่วมงานด้านดาราศาสตร์มากขึ้น และมีอุปกรณ์ดูดาวในการศึกษาค้นคว้า ถึงจะไม่ใหญ่โตแต่ก็ช่วยให้มองเห็นวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ได้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก ที่สำคัญมีนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาวัตถุท้องฟ้ามากว่า 40 ปี อย่างอาจารย์วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต เป็นที่ปรึกษา ทำให้เรื่องดาราศาสตร์ได้รับการถ่ายทอดและอธิบายได้ชัดเจนอย่างรวดเร็วและทำให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นทุกปีหรือทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เกิดขึ้น และเหตุการณ์เหล่านี้ จะช่วยให้เยาวชนที่แวดล้อมในครอบครัวนักวิทยุสมัครเล่นได้ซึมซับเรื่องดาราศาสตร์ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนรู้ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย

จากความสำเร็จในด้านดาราศาสตร์ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและด้านการท่องเที่ยวตลอดจนด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงด้านการศึกษาที่นักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มนี้ทำอยู่ จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาองค์กรให้มั่นคง มีสถานภาพในทางกฎหมาย นักวิทยุสมัครเล่นในจังหวัดอุตรดิตถ์ กำลังเตรียมยื่นจดทะเบียนในนาม "สมาคมรักษ์น้ำ ชมฟ้า พาท่องเที่ยวอุตรดิตถ์" หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า"Water Conservation Astronomy and Tourism Association of Uttaradit มีชื่อย่อว่า WATA ทั้งนี้คงจะดำเนินการได้แล้วเสร็จในไม่ช้านี้ และผู้ที่สนใจแจ้งความประสงค์ร่วมคิด ร่วมสร้างได้ที่ อ.มรกต อารียะ 0-1887-4375 อ.พิทักษ์ วัฒนวิกย์กรรม์ 0-1046-6983 อ.อาคม พรอิสริยะเจริญ 0-5544-5020 HS5UIA ร้านจัมโบ้โพนช็อป หน้าศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ และที่ ตู้ ป.ณ. 44 ปณจ.อุตรดิตถ์ 53000 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป







วิมุติ วสะหลาย [wimut@hotmail.com]