ดาวเคราะห์ในปี 2555

วรเชษฐ์ บุญปลอด 31 ธันวาคม 2554

ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ 8 ดวง โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงที่สว่างเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าจากโลกมี 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ที่เหลืออีก 2 ดวง คือ ดาวยูเรนัสและเนปจูน ต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งนอกจากดาวเคราะห์แล้ว ยังสามารถส่องเห็นดาวบริวารบางดวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริวารของดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์

แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2555 ช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นตรงกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวเฉียงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180° แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ดาวพุธ

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็ก อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ และเคลื่อนที่เร็วที่สุด วงโคจรของดาวพุธมีความรีค่อนข้างสูง ทำให้มุมห่างสูงสุดจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 18°-28° ระนาบวงโคจรของดาวพุธเอียงทำมุมประมาณ 7° กับระนาบวงโคจรโลก หากดาวพุธโคจรมาอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในจังหวะที่มันอยู่ใกล้กับจุดตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง คนบนโลกจะมีโอกาสเห็นดาวพุธเป็นจุดดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ประเทศไทยสังเกตเห็นได้ขณะเริ่มปรากฏการณ์ระหว่างที่ดวงอาทิตย์กำลังตก

ด้วยมุมห่างที่ไม่สูงนัก ทำให้เรามีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสาง เวลาที่สังเกตดาวพุธได้คือช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอสมควร ปีนี้มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 4 ช่วง ช่วงแรกคือต้นเดือนมกราคม (ต่อเนื่องมาจากเดือนธันวาคม 2554) ช่วงที่ 2 คือเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มาก ช่วงที่ 3 กลางเดือนสิงหาคม ช่วงสุดท้ายคือปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ดาวศุกร์กับดาวเสาร์มาอยู่สูงเหนือดาวพุธ

ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำมี 3 ช่วง ช่วงแรกอยู่ในต้นเดือนมีนาคม ช่วงที่ 2 กลางเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มาก แต่อาจมีอุปสรรคจากเมฆฝน ช่วงสุดท้ายคือกลางเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน

เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวพุธมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายดิถีของดวงจันทร์ หากปรากฏในเวลาหัวค่ำ ดาวพุธจะเปลี่ยนแปลงจากสว่างเกือบเต็มดวงไปสว่างเป็นเสี้ยว และมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนเวลาเช้ามืดจะเปลี่ยนแปลงจากเป็นเสี้ยวไปสว่างเกือบเต็มดวง และมีขนาดเล็กลง

เหตุการณ์เกี่ยวกับดาวพุธในปี 2555
ร่วมทิศแนววงนอก 7 ก.พ. 27 พ.ค. 10 ก.ย.
ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด 5 มี.ค. (18°) 1 ก.ค. (26°) 27 ต.ค. (24°)
ร่วมทิศแนววงใน 22 มี.ค. 29 ก.ค. 17 พ.ย.
ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด 19 เม.ย. (27°) 16 ส.ค. (19°) 5 ธ.ค. (21°)

ดาวศุกร์

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า เมื่อดาวศุกร์ปรากฏในเวลาหัวค่ำ เราเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" แต่ถ้าปรากฏในเวลาเช้ามืด เรียกว่า "ดาวประกายพรึก" หรือ "ดาวรุ่ง" วงโคจรของดาวศุกร์ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47° เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์เปลี่ยนแปลงรูปร่างเช่นเดียวกับดาวพุธ แต่เห็นได้ชัดกว่าเนื่องจากขนาดที่ใหญ่กว่ามาก

ระนาบวงโคจรของดาวศุกร์เอียงทำมุม 3.4° กับระนาบวงโคจรโลก ดาวศุกร์มีโอกาสเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้เช่นเดียวกับดาวพุธ โดยมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธมาก สามารถเห็นดาวศุกร์เป็นดวงกลมดำเมื่อดูดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง ซึ่งปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ให้เห็นได้ในประเทศไทยด้วย

เหตุการณ์เกี่ยวกับดาวศุกร์ในปี 2555
ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด 27 มี.ค. (46°)
ร่วมทิศแนววงใน 6 มิ.ย.
ห่างดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด 15 ส.ค. (46°)

ดาวศุกร์เป็น "ดาวประจำเมือง" อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 โดยเคลื่อนตัวออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน ค่ำวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ สามารถใช้ดาวศุกร์ช่วยหาตำแหน่งดาวยูเรนัส เนื่องจากเป็นคืนที่ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวยูเรนัสด้วยระยะห่างน้อยกว่า 1° กลางเดือนมีนาคมจะเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี

วันที่ 27 มีนาคม 2555 ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด วันนั้นดาวศุกร์สว่างเป็นรูปครึ่งวงกลมเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง หลังจากนั้นดาวศุกร์จะมีพื้นผิวด้านสว่างลดลง กลายเป็นเสี้ยวพร้อมกับมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเข้าใกล้โลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ดาวศุกร์จะผ่านเข้าไปอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์หลายดวงของกระจุกดาวลูกไก่ในคืนวันที่ 3 เมษายน

ปลายเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ในเวลาหัวค่ำ หลังจากนั้นดาวศุกร์จะใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนสังเกตได้ยาก ช่วงที่ดาวศุกร์หายไปนี้ ดาวศุกร์จะเคลื่อนมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน สามารถสังเกตเห็นได้เป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ของโลก ยกเว้นส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้และด้านตะวันตกของแอฟริกา ดาวศุกร์ปรากฏเป็นดวงกลมดำเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 33 เท่า

หลังจากผ่านหน้าดวงอาทิตย์เพียงราว 1-2 สัปดาห์ ดาวศุกร์จะเริ่มกลับมาปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดเป็นดาวประกายพรึก จันทร์เสี้ยวมาอยู่เคียงข้างดาวศุกร์ในเช้ามืดวันที่ 18 มิถุนายน ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ แต่ห่างมากกว่าครั้งก่อน โดยมีดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัวอยู่ใกล้ ๆ

วันที่ 15 สิงหาคม ดาวศุกร์จะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด จากนั้นผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งในกลางเดือนกันยายน เช้ามืดวันที่ 3 ตุลาคม ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดาวหัวใจสิงห์ด้วยระยะห่างประมาณครึ่งองศา วันที่ 27 พฤศจิกายน ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวเสาร์ เมื่อถึงสิ้นปี ดาวศุกร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนปรากฏอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า แต่ยังพอจะสังเกตได้หากท้องฟ้าโปร่ง

ภาพจำลองดาวเคราะห์ในปี 2555 แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)

ดาวอังคาร

ดาวอังคารจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อ พ.ศ. 2542 (ภาพ – Jim Bell (Cornell University), Justin Maki (JPL), Mike Wolff (Space Sciences Institute), NASA)

ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ มันได้ชื่อว่าดาวแดงเนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าเป็นดาวสว่างสีแดง ชมพู หรือส้ม ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นและดาวฤกษ์ส่วนใหญ่บนท้องฟ้า บรรยากาศอันเบาบางทำให้เราสามารถส่องกล้องมองเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้ ยกเว้นช่วงที่เกิดพายุฝุ่นปกคลุม และบางช่วงสามารถเห็นน้ำแข็งที่ขั้วดาว

ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุดคือขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกที่สุด ตรงกับช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง อาจใกล้เพียง 56 ล้านกิโลเมตร อย่างที่เกิดในปี 2546 หรือไกลถึง 101 ล้านกิโลเมตร อย่างที่จะเกิดในปี 2555 นั่นทำให้ขนาดปรากฏของดาวอังคารขณะอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์กว้างใหญ่ได้ถึง 25.1 พิลิปดา หรือเล็กเพียง 13.8 พิลิปดา

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีช่วงของความสว่างกว้างมาก ขณะใกล้โลกที่สุดเมื่อปี 2546 ดาวอังคารสว่างถึงโชติมาตร –2.9 เมื่ออยู่ไกลโลกที่สุดในปี 2562 มันสามารถจางลงได้ถึงโชติมาตร +1.8 แกนหมุนของดาวอังคารเอียงจากระนาบวงโคจรประมาณ 25° จึงเกิดฤดูต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วน้ำแข็งและเมฆในบรรยากาศ ส่วนใหญ่ดาวอังคารที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยบนพื้นผิวได้ ไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดาวอังคารจะใกล้โลกจนใหญ่พอสำหรับการสังเกตรายละเอียดบนพื้นผิว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

ปีนี้ดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 4 มีนาคม 2555 การที่ดาวอังคารกำลังเข้าใกล้โลกมากขึ้นในช่วงต้นปี ทำให้ขนาดและความสว่างของดาวอังคารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครึ่งแรกของเดือนมกราคม ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต จากนั้นย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว ก่อนถอยหลังกลับมาอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตอีกครั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบนี้จะเห็นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ขนาดปรากฏ 13.9 พิลิปดา

ต้นเดือนมิถุนายน ดาวอังคารตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ จึงเห็นอยู่สูงกลางฟ้าในเวลาหัวค่ำ ปลายเดือนมิถุนายน ดาวอังคารออกจากกลุ่มดาวสิงโต เข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว คืนวันที่ 14 สิงหาคม อยู่ตรงกลางระหว่างดาวเสาร์กับดาวรวงข้าว เมื่อถึงต้นเดือนกันยายน ดาวอังคารจะเข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง แล้วย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องและคนแบกงูในช่วงต้นเดือนและปลายเดือนตุลาคม ตามลำดับ

กลางเดือนพฤศจิกายน ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู ปลายเดือนธันวาคม เข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเล สองเดือนสุดท้ายของปี เป็นช่วงที่มีเวลาสังเกตดาวอังคารได้ไม่นานนัก เนื่องจากมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 40° แต่ยังสามารถสังเกตได้บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ

ต้นปี 2555 ดาวอังคารสว่างที่โชติมาตร +0.2 จากนั้นสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เป็นช่วงที่สว่างที่สุดด้วยโชติมาตร –1.2 เกือบใกล้เคียงกับดาวซิริอัสในกลุ่มดาวหมาใหญ่ หลังจากนั้นความสว่างลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อสิ้นปี ความสว่างของดาวอังคารลงไปอยู่ที่โชติมาตร +1.2 ช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกในปีนี้ ดาวอังคารจะปรากฏถอยหลัง (เคลื่อนจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์) ในช่วงวันที่ 24 มกราคม – 14 เมษายน 2555 ซึ่งเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เร็วกว่า และแซงหน้าดาวอังคารในวงโคจรที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า

ดาวอังคารขณะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปีต่าง ๆ (เวลาประเทศไทย) ตัวเลขที่ระบุไว้ข้างเส้นซึ่งเชื่อมระหว่างโลกกับดาวอังคารคือระยะห่างขณะใกล้กันที่สุด มีหน่วยเป็นล้านกิโลเมตร ในวงเล็บคือวันที่ใกล้กันที่สุด ซึ่งอาจไม่ตรงกับวันที่ดาวอังคารทำมุม 180° กับดวงอาทิตย์

ดาวพฤหัสบดี

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วทำให้ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว สามารถใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย 4 ดวง

ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 11.86 ปี มันจึงขยับเข้าสู่กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกปีละกลุ่ม โดยประมาณ การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วของดาวพฤหัสบดีทำให้เมฆในบรรยากาศมีลักษณะเป็นริ้วสว่างกับคล้ำสลับกัน ริ้วสว่างเป็นส่วนที่อยู่สูง ริ้วที่คล้ำกว่าเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไป เมฆสีขาวอยู่สูงที่สุด ประกอบด้วยผลึกแอมโมเนีย ต่ำลงไปเห็นเป็นสีน้ำตาลอ่อนกับน้ำตาลเข้ม ส่วนที่เห็นเป็นสีน้ำเงินและม่วงน่าจะเป็นบริเวณที่อยู่ลึกที่สุด

จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือพายุขนาดยักษ์ พัดวนทวนเข็มนาฬิกา มีทรงรี ขนาดประมาณ 12,000 × 20,000 กิโลเมตร (ใหญ่กว่าโลกที่มีขนาด 12,756 กิโลเมตร) ตำแหน่งของจุดแดงใหญ่อยู่บริเวณละติจูด 22° ใต้ นอกจากจุดแดงใหญ่ ยังอาจเห็นพายุในรูปของจุดขาวและจุดมืด

บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีแบ่งได้เป็นหลายส่วนตามริ้วที่พาดในแนวขนานกับเส้นศูนย์สูตร ริ้วคล้ำเรียกว่าแถบ (belt) ริ้วสว่างเรียกว่าเขต (zone) ซ้อนกับบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ เขตศูนย์สูตร (equatorial) เขตร้อน (tropical) เขตอบอุ่น (temperate) และเขตขั้วดาว (polar) ทั้งซีกเหนือและใต้

เดือนมกราคมถึงปลายเดือนเมษายน 2555 เป็นช่วงที่สามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีได้บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ดาวพฤหัสบดีทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ในปลายเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มองเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่เหนือศีรษะขณะดวงอาทิตย์ตก และตกลับขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน

สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม ดาวพฤหัสบดียังอยู่ในกลุ่มดาวปลา ใกล้รอยต่อระหว่างกลุ่มดาวปลากับกลุ่มดาวแกะ จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ กลางเดือนมีนาคมจะเห็นดาวพฤหัสบดีกับดาวศุกร์อยู่เคียงกัน สูงเหนือท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ปลายเดือนเมษายน ดาวพฤหัสบดีหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ โดยอยู่ร่วมทิศกันในวันที่ 13 พฤษภาคม

ต้นเดือนมิถุนายน ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด อยู่ในกลุ่มดาววัว ห่างไปทางขวามือของกระจุกดาวลูกไก่ ต้นเดือนกรกฎาคม ดาวอัลเดบารัน ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และกระจุกดาวลูกไก่ เรียงกันเกือบเป็นเส้นตรง วันที่ 15 กรกฎาคม มองเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่เคียงข้างดาวพฤหัสบดี ปลายเดือนดาวพฤหัสบดีเคลื่อนไปอยู่ทางซ้ายมือของดาวอัลเดบารัน

ต้นเดือนกันยายน ดาวพฤหัสบดีทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จึงเห็นดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืน แล้วไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด วันที่ 1 ธันวาคม 2555 ดาวพฤหัสบดีจะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ขนาดปรากฏตามแนวศูนย์สูตรอยู่ที่ 48.5 พิลิปดา จากนั้นอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 3 ธันวาคม สว่างที่สุดด้วยโชติมาตร –2.8 หลังจากนั้น เราจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มมืดในเวลาหัวค่ำ ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้วมากกว่า 60 ดวง ดวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 4 ดวง สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต แกนีมีดสว่างที่สุดด้วยโชติมาตรประมาณ +4.4 คัลลัสโตจางที่สุดโดยจางกว่าแกนีมีดราว 1 โชติมาตร

วันที่ดาวเคราะห์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในปี 2555
ดาวเคราะห์ วันที่ โชติมาตร
(อันดับความสว่าง)
ดาวอังคาร 4 มีนาคม (3 น.) -1.2
ดาวเสาร์ 16 เมษายน (1 น.) +0.2
ดาวเนปจูน 24 สิงหาคม (20 น.) +7.8
ดาวยูเรนัส 29 กันยายน (14 น.) +5.7
ดาวพฤหัสบดี 3 ธันวาคม (9 น.) -2.8

ดาวเสาร์

ยานแคสซีนีถ่ายภาพแถบเมฆสีขาวที่เรียกว่าจุดขาวใหญ่บนดาวเสาร์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 (ภาพ – NASA/JPL/Space Science Institute)

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ ดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว จึงมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น มีวงแหวนสว่างล้อมรอบในระนาบศูนย์สูตรของดาวเสาร์ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กสามารถแบ่งวงแหวนดาวเสาร์ออกได้เป็น 3 วง ได้แก่วงแหวนเอ (A) บี (B) และซี (C) เรียงลำดับจากวงนอกสุดถึงวงในสุด เมื่อสังเกตจากโลก ขอบวงแหวนจะหันเข้าหาโลกทุก ๆ 15-16 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2552 ปัจจุบันดาวเสาร์กำลังหันขั้วเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ วงแหวนดาวเสาร์จึงมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นในแนวเหนือ-ใต้ โดยจะกว้างที่สุดในปี 2560

รูปร่างของดาวเสาร์เป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วสั้นกว่าในแนวศูนย์สูตรราวร้อยละ 10 นับว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีความแป้นมากที่สุด บรรยากาศของดาวเสาร์ถูกแบ่งเป็นแถบและเขตต่าง ๆ แบบเดียวกับดาวพฤหัสบดี บางครั้งเกิดแถบเมฆสีขาวขึ้น เรียกว่าจุดขาวใหญ่ (Great White Spot) ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2553

ปีนี้ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงต้นปี วันที่ 16 เมษายน ดาวเสาร์จะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ มีขนาดปรากฏตามแนวศูนย์สูตร 19.1 พิลิปดา สว่างที่โชติมาตร 0.2 หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ

ปลายเดือนกันยายน ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 25 ตุลาคม เมื่อถึงต้นเดือนพฤศจิกายน น่าจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ขณะนั้นดาวเสาร์อยู่ห่างทางซ้ายมือของดาวรวงข้าว ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นตลอดช่วงที่เหลือของปี

ดาวเสาร์มีดาวบริวารที่ค้นพบแล้วมากกว่า 60 ดวง ไททันมีขนาดใหญ่และสว่างที่สุด โชติมาตรของไททันขณะที่ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์คือ 8 ดวงที่สว่างรองลงมา ได้แก่ เรีย ทีทิส ไดโอนี เอนเซลาดัส และไอยาพิตัส บริวาร 5 ดวงนี้มีโชติมาตรอยู่ในช่วง 9 ถึง 12 โชติมาตรของไอยาพิตัสแปรผันระหว่าง 10 ถึง 12 เนื่องจากพื้นผิว 2 ด้านสะท้อนแสงได้ไม่เท่ากัน มันจะสว่างกว่าเมื่ออยู่ทางด้านตะวันตกของดาวเสาร์

กราฟความสว่างของดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า 5 ดวงตลอดปี 2555

ดาวยูเรนัส

ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 จัดอยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์แก๊ส องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบในเวลา 84 ปี แต่ละปี ดาวยูเรนัสจึงเคลื่อนที่ไปเป็นระยะเชิงมุมประมาณ 4°

ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 ดาวยูเรนัสอยู่ในกลุ่มดาวปลา บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังจากนั้นดาวยูเรนัสจะอยู่ต่ำและเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น กลับมาสังเกตได้อีกครั้งในเวลาเช้ามืด ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป

กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ดาวยูเรนัสเข้าไปอยู่ในเขตของกลุ่มดาวซีตัส หลังจากนั้นมันจะถอยไปอยู่ในกลุ่มดาวปลาอีกครั้ง ปีนี้ดาวยูเรนัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 29 กันยายน 2555 สว่างที่โชติมาตร 5.7 มีขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตร 3.70 พิลิปดา

ปีนี้ดาวยูเรนัสจะมีตำแหน่งผ่านใกล้ดาว 44 ปลา (44 Psc) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์โชติมาตร 5.8 ในกลุ่มดาวปลา 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงก่อนเช้ามืดของวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 ห่างกัน 3 ลิปดา ครั้งที่ 2 ในคืนวันที่ 23 กันยายน 2555 ห่างกันไม่ถึง 1 ลิปดา โดยจะสังเกตได้ว่าความสว่างของดาวยูเรนัสกับดาว 44 ปลา ใกล้เคียงกันมาก

ดาวเนปจูน

ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด โคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบในเวลา 165 ปี แต่ละปี ดาวเนปจูนจึงเคลื่อนที่ไปเป็นระยะเชิงมุมประมาณ 2°

ตลอดปีนี้ดาวเนปจูนอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวเนปจูนได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ถึงต้นเดือนมกราคม 2556 ช่วงแรกอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวเนปจูนอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 24 สิงหาคม 2555 สว่างที่สุดด้วยโชติมาตร 7.8 และมีขนาดเชิงมุมตามแนวศูนย์สูตร 2.36 พิลิปดา หลังจากนั้น ดาวเนปจูนจะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าตั้งแต่เวลาหัวค่ำ

แผนที่แสดงการเคลื่อนที่ของดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน โดยมีเส้นบอกตำแหน่งทุกวันที่ 1 ของเดือน (1 = มกราคม, 2 = กุมภาพันธ์, ..., 13 = มกราคม 2556) ขวามือด้านล่างมีเส้นบอกระยะเชิงมุม 5° ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณของขอบเขตภาพในกล้องสองตาขนาด 8×50 หรือ 10×50 ขนาดของวงกลมที่แทนดาวในภาพ กำหนดตามความสว่าง ดาวดวงเล็กที่สุดในแผนที่สำหรับดาวเนปจูนมีโชติมาตร 9

ดูเพิ่ม