สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น-ตก

แสงสว่างบนท้องฟ้าเวลากลางคืนในช่วงเวลาโพล้เพล้ก่อนท้องฟ้าจะมืดสนิทหลังจากดวงอาทิตย์ตก และเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นนั้น ทางดาราศาสตร์และการเดินเรือเรียกว่าแสงสนธยาหรือแสงเงินแสงทอง (twilight) เป็นแสงที่เกิดจากการกระเจิงของแสงอาทิตย์ในบรรยากาศโลก ยิ่งดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้ามากเท่าใด แสงที่กระเจิงจากบรรยากาศชั้นบนลงมายังชั้นล่างก็ยิ่งน้อยลงมากเท่านั้น ทำให้ท้องฟ้ายิ่งมืดมากขึ้น

แสงสนธยามี 3 ชนิด กำหนดตามระยะห่างเชิงมุมของดวงอาทิตย์ที่ทำกับขอบฟ้าของผู้สังเกตการณ์

  • สนธยาทางการ (civil twilight) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 6°
  • สนธยาเดินเรือ (nautical twilight) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 12°
  • สนธยาดาราศาสตร์ (astronomical twilight) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ต่ำกว่าขอบฟ้า 18°

สนธยาแต่ละชนิดจะเริ่มต้นในเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและสิ้นสุดในเวลาหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก เมื่อเริ่มสนธยาดาราศาสตร์ ท้องฟ้าเริ่มที่จะสว่างขึ้นจากภาวะกลางคืน แต่ด้วยตาเปล่ายังสังเกตได้ยาก เมื่อเริ่มสนธยาเดินเรือ ขอบฟ้ามีแสงสว่างจาง ๆ เป็นเวลาที่เริ่มมองเห็นขอบฟ้า นักเดินเรือจะเริ่มวัดมุมสูงของดาวเพื่อใช้ในการหาพิกัดของเรือซึ่งกระทำได้จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนสูงขึ้นจนอยู่ใต้เส้นขอบฟ้าเป็นมุม 6°

เมื่อเริ่มสนธยาทางการ ขอบฟ้าปรากฏอย่างชัดเจนขณะที่ยังพอมองเห็นดาวสว่าง ๆ ได้ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ดวง หลังจากนั้นท้องฟ้าจะสว่างมากขึ้นจนกระทั่งกลบแสงดาวไปหมด เมื่อถึงเวลาหัวค่ำ เหตุการณ์จะกลับกัน หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว สนธยาทางการจะสิ้นสุดลงก่อน ตามมาด้วยสนธยาเดินเรือ แล้วปิดท้ายด้วยสนธยาดาราศาสตร์ ท้องฟ้าจึงกลับเข้าสู่ความเป็นกลางคืนอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

ต่อไปนี้เป็นผลการคำนวณเวลาเกิดแสงสนธยาและเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก ในกรุงเทพฯ และอำเภอเมืองของทุกจังหวัด เรียงตามลำดับตัวอักษร

พ.ศ. 2567

พ.ศ. 2566

หมายเหตุ : ระบบปฏิทินและเวลาทางดาราศาสตร์ที่สอดคล้องกับวงโคจรและแกนหมุนของโลกเทียบกับดวงอาทิตย์ ทำให้ผลการคำนวณในแต่ละปีแทบไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสามารถใช้ได้กับปีอื่น ๆ นอกเหนือจากปีปัจจุบัน โดยอาจคลาดเคลื่อนได้ราว 1 นาที

ดูเพิ่ม