ดาวเคราะห์ในเดือนตุลาคม 2557

วรเชษฐ์ บุญปลอด 29 กันยายน 2557

เวลาหัวค่ำ

ดาวพุธอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำในกลุ่มดาวหญิงสาวต่อเนื่องมาจากเดือนกันยายน เดือนนี้ดาวพุธเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จึงอยู่ใกล้ขอบฟ้าและเริ่มสังเกตได้ยาก อาจสังเกตได้ไม่เกินกลางสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 17 ตุลาคม ดาวพุธผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน คืออยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ หลังจากนั้น ดาวพุธจะย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือน วันที่ 1-7 ตุลาคม ดาวพุธมีความสว่างลดลงจากโชติมาตร +0.3 ไปที่ +1.2 ส่วนวันที่ 26-31 ตุลาคม ความสว่างของดาวพุธเพิ่มขึ้นจากโชติมาตร +0.5 ไปที่ –0.5

ดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู เข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนูในปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนดาวอังคารตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง หรือหลังจากนั้นไม่นาน ปลายเดือนตกเร็วขึ้นอีกเล็กน้อย เดือนนี้ความสว่างของดาวอังคารลดลงจากโชติมาตร +0.8 ไปที่ +0.9

คืนวันที่ 19 ตุลาคม ดาวหางไซดิงสปริง (C/2013 A1 Siding Spring) ซึ่งเป็นดาวหางที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งแรก จะเฉียดใกล้ดาวอังคาร โดยใกล้กันที่สุดในเวลาประมาณตี 1 ครึ่ง ของวันที่ 20 ตุลาคม ตามเวลาประเทศไทย ที่ระยะห่างราว 130,000 กิโลเมตร ซึ่งยังไกลกว่าดีมอส ดาวบริวารดวงนอกที่อยู่ห่างดาวอังคาร 23,500 กิโลเมตร แต่ด้วยระยะที่ใกล้ขนาดนี้ นักดาราศาสตร์คาดว่าโคม่าของดาวหางอาจแผ่คลุมดาวอังคาร แบบจำลองแสดงว่าสะเก็ดดาวที่หลุดออกมาจากดาวหางอาจทำให้เกิดฝนดาวตกบนดาวอังคารในอัตราสูง และยานอวกาศที่สำรวจดาวอังคารอยู่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกสะเก็ดดาวพุ่งชน

ช่วงที่ดาวอังคารและดาวหางปรากฏใกล้ที่สุด ดาวอังคารตกลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่คาดว่าช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 ตุลาคม ขณะที่ดาวอังคารยังอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดาวหางจะอยู่ห่างดาวอังคารประมาณ 0.2°-0.3° และอาจสว่างราวโชติมาตร 8-9 ไม่สามารถเห็นดาวหางได้ด้วยตาเปล่า ต้องสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง มุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่ลดลง ทำให้มีเวลาสังเกตได้สั้นลงทุกวัน ต้นเดือนดาวเสาร์ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง ปลายเดือนตกเวลา 1 ทุ่ม จึงสังเกตได้ยากขึ้นในปลายเดือน เนื่องจากอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนักเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด เดือนนี้ดาวเสาร์สว่างขึ้นเล็กน้อยจากโชติมาตร +0.6 ไปที่ +0.5

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.7) อยู่ในกลุ่มดาวปลา ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.8) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ดาวยูเรนัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับจันทร์เพ็ญขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เดือนนี้ดาวยูเรนัสมีขนาดเชิงมุม 3.7 พิลิปดา ขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ตก อยู่สูงสุดบนท้องฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืน และตกลับขอบฟ้าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น สังเกตดาวเคราะห์ทั้งสองได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยเลือกเวลาที่ท้องฟ้ามืดและไม่มีแสงจันทร์รบกวน ดูแผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและเนปจูนได้ที่ดาวเคราะห์ในปี 2557

เวลาเช้ามืด

ดาวศุกร์ (โชติมาตร –4.0) อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ไม่สามารถสังเกตได้ตลอดเดือนนี้ วันที่ 25 ตุลาคม 2557 ดาวศุกร์จะผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (ดาวศุกร์อยู่ตรงข้ามกับโลก โดยมีดวงอาทิตย์คั่นอยู่ตรงกลาง) หลังจากนั้น ดาวศุกร์จะทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น ปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมจึงเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ

ดาวพฤหัสบดี อยู่ในกลุ่มดาวปู กลางเดือนตุลาคมจะย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต สามารถมองเห็นได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ต้นเดือนดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 2 ครึ่ง ปลายเดือนขึ้นในเวลาประมาณตี 1 ตลอดเดือนนี้ดาวพฤหัสบดีสว่างขึ้นจากโชติมาตร –1.9 ไปที่ –2.1

ภาพจำลองดาวเคราะห์ แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์ และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ (ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)

ดวงจันทร์

ช่วงแรกของเดือนเป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ สว่างครึ่งดวงในวันที่ 2 ตุลาคม จากนั้นมีส่วนสว่างเพิ่มขึ้นจนเต็มดวงในวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเห็นได้ในประเทศไทย โดยคืนนั้นดวงจันทร์อยู่ห่างดาวยูเรนัสประมาณ 2° บางส่วนของโลกสามารถสังเกตดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสขณะเกิดจันทรุปราคาได้ เช่น ด้านตะวันออกของรัสเซีย (ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตดาวยูเรนัสถูกดวงจันทร์บังขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)

วันที่ 8 ตุลาคม ดวงจันทร์ถูกเงามืดของโลกบังอยู่ขณะขึ้นเหนือขอบฟ้า ซึ่งเป็นจังหวะใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ตก จากนั้นสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงในเวลา 18:24 น. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (ดวงจันทร์กลับมาสว่างเต็มดวง) ในเวลา 19:34 น. แต่ดวงจันทร์ยังดูหมองคล้ำกว่าปรกติต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนจะออกจากเงามัวในเวลา 20:34 น.

เมื่อเข้าสู่ข้างแรม จะเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด วันที่ 12 ตุลาคม ดวงจันทร์อยู่ระหว่างดาวอัลเดบารันในกลุ่มดาววัวกับกระจุกดาวลูกไก่ จากนั้นสว่างครึ่งดวงในวันที่ 16 ตุลาคม ดวงจันทร์เคลื่อนต่อไปและกลายเป็นเสี้ยว วันที่ 18 ตุลาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 5° วันถัดไปดวงจันทร์ไปอยู่ทางขวามือของดาวหัวใจสิงห์ที่ระยะ 4°

จันทร์ดับในวันที่ 24 ตุลาคม เกิดสุริยุปราคาบางส่วน เห็นได้ทางด้านตะวันออกของรัสเซียและพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ วันที่ 25 ตุลาคม ดวงจันทร์เริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ อยู่ต่ำกว่าดาวเสาร์ประมาณ 3° วันที่ 28 ตุลาคม จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวอังคารที่ระยะ 6° จากนั้นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันสุดท้ายของเดือน

ดูเพิ่ม