สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วาระสุดท้ายของสถานีอวกาศมีร์

23 มีนาคม 2544 โดย: วรเชษฐ์ บุญปลอด (worachateb@yahoo.com)
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 5 มกราคม 2560
รายงานล่าสุดระบุว่าสถานีอวกาศมีร์ตกลงสู่มหาสมุทรในเวลา 12.59 น. ผู้สังเกตการณ์บนเกาะฟิจิสามารถมองเห็นชิ้นส่วนของสถานีเคลื่อนผ่านท้องฟ้าไปอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ไม่มีรายงานผู้ได้รับอันตรายจากการตกของสถานี
09.32 น. มีรายงานยืนยันว่าการจุดจรวดบนยานโพรเกรสสองครั้งแรก สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คาดว่าการจุดจรวดครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นในเวลาประมาณ 12.09 น.
คาดว่าเทปบันทึกภาพเหตุการณ์จากเครื่องบิน จะออกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.mirreentry.com
ในวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม จะมีการจุดเครื่องยนต์ของยานโพรเกรส ซึ่งขณะนี้เชื่อมต่ออยู่กับมีร์จำนวน ครั้ง ได้แก่ เวลา 7.32 น. 9.01 น. และ 12.08 น. ซึ่งเป็นการปรับวงโคจรของสถานี ขณะที่สถานีอวกาศมีร์ลดระดับลงสู่โลก จะผ่านเหนือน่านฟ้าญี่ปุ่นที่ระดับความสูง 170 กิโลเมตร ในเวลาประมาณ 12.30 น. จากนั้นจะลดระดับมาอยู่ที่ 100 กิโลเมตรในเวลา 12.44 น. และเริ่มระเบิดออกในเวลา 12.52 น. ขณะที่อยู่สูง 80 กิโลเมตร ชิ้นส่วนของสถานีตกลงสู่พื้นโลกในเวลาประมาณ 13.00-13.30 น.


ภาพสถานีอวกาศมีร์จากเกาะฟิจิ

ภาพถ่าย ภาพบนถ่ายโดย Rob Griffith สำนักข่าว AP

ภาพถ่าย ภาพบนโดย Mark Baker สำนักข่าว Reuters

รัสเซียกำหนดวันปล่อยมีร์ตกลงสู่โลก


เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2543 รัฐบาลรัสเซียแจ้งต่อสหประชาชาติในการที่จะบังคับให้สถานีอวกาศมีร์ตกลงสู่พื้นโลก ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมายว่าด้วยอันตรายจากห้วงอวกาศ หลังจากนั้นมีการกำหนดให้วันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ เป็นวันปฏิบัติการ ซึ่งต่อมามีการเลื่อนกำหนดการออกมาหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่สถานีอวกาศมีร์กำลังลดระดับต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากแรงเสียดทานของบรรยากาศ โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม หลังจากที่สถานีหมุนคว้างอย่างช้าๆ เนื่องจากระบบไจโรสโคปที่ใช้ในการปรับการวางตัวของสถานีหยุดการทำงานเมื่อต้นปี คอมพิวเตอร์หลักบนสถานีเริ่มทำงานอีกครั้งด้วยคำสั่งจากภาคพื้นดินหลังจากที่หยุดการทำงานมานานเพื่อรักษาพลังงานไฟฟ้า การเปิดสวิตซ์คอมพิวเตอร์ครั้งนี้ เพื่อใช้ในการปรับการวางตัวของสถานีก่อนที่จะมีการจุดจรวดโดยยานโพรเกรสที่เชื่อมต่ออยู่ซึ่งเป็นขั้นตอนในการนำสถานีตกลงสู่โลก ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มีนาคม รัสเซียแถลงการณ์ว่าวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม จะเป็นวันสุดท้ายในอวกาศของสถานีอวกาศมีร์ ซึ่งเลื่อนจากที่ประกาศก่อนหน้านี้อีกหนึ่งวัน เนื่องจากวงโคจรของสถานีลดระดับลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เส้นทางของมีร์จะผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นด้วย ซึ่งขณะที่มีร์ผ่านประเทศญี่ปุ่นนั้นจะอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 200 กิโลเมตร


สถานีอวกาศมีร์ซึ่งเป็นสุดยอดโครงการอวกาศของอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวรัสเซีย กำลังมีวงโคจรที่ลดระดับต่ำลงทุกขณะ สถานีประกอบด้วยโมดูลส่วนต่างๆ น้ำหนักรวมกว่า 135 ตัน จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่ตกลงสู่บรรยากาศโลกจากวงโคจร คาดกันว่าหลังจากที่สถานีแตกสลายระหว่างการเสียดสีกับบรรยากาศ จะมีชิ้นส่วนนับพันชิ้นน้ำหนักรวมราว 20-35 ตัน หลงเหลือและตกลงสู่พื้นโลก หลายเดือนที่ผ่านมา นานาชาติแสดงความกังวลว่าชิ้นส่วนเหล่านี้อาจตกลงในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ซึ่งรัสเซียออกมายืนยันว่าการตกของสถานีอวกาศมีร์ในครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียเปลี่ยนกำหนดการจากก่อนหน้านี้ที่จะกำหนดวันให้มีร์ตกลงสู่โลกในช่วงที่มีร์ลดระดับที่ 250 กิโลเมตร เป็นประมาณ 220 กิโลเมตร ซึ่งมีร์มีวงโคจรต่ำลงราววันละ กิโลเมตร ผู้ควบคุมจะบังคับให้สถานีอวกาศมีร์ตกด้วยการจุดจรวดบนยานโพรเกรสที่กำลังเชื่อมต่ออยู่กับมีร์ แต่ถ้าหากไม่มีการบังคับมีร์ด้วยการจุดจรวด สถานีอวกาศจะตกลงสู่โลกในประมาณวันที่ 28 มีนาคมนี้ และอาจตกในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยอยู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียและประชาคมโลกไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

รัสเซียขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ และยุโรป


เมื่อวันที่ มีนาคม โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ แถลงอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนว่า สหรัฐฯ จะให้ความร่วมมือกับรัสเซียในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นระหว่างการบังคับสถานีอวกาศมีร์ให้ตกลงสู่พื้นโลก ได้แก่ ตำแหน่งและวงโคจรของสถานี ข้อมูลบรรยากาศโลก รวมทั้งปฏิกิริยาของดวงอาทิตย์ที่มีผลต่อบรรยากาศโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีความร่วมมือจากการที่ศูนย์บัญชาการด้านอวกาศของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศปีเตอร์สันในโคโลราโด ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่หลักในการติดตามความเคลื่อนไหวในอวกาศ คือ ตรวจจับจรวดนำวิถีที่พุ่งเป้ามายังอเมริกาเหนือ จะใช้เรดาร์และกล้องโทรทรรศน์ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของสถานีอวกาศมีร์ รวมทั้งให้ข้อมูลสภาวะของชั้นบรรยากาศกับรัสเซียในการกำหนดวันและเวลาที่แน่นอนในการบังคับมีร์ตกลงสู่โลก โดยหน่วยงานทำหน้าที่เพียงการสังเกตการณ์เท่านั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์บัญชาการแห่งนี้คาดว่าจะสามารถคำนวณหาจุดตกที่แน่นอนของมีร์ได้ในช่วง 30 นาทีสุดท้าย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ รัสเซียและนาซาได้ทดลองซักซ้อมการทำงานร่วมกันในช่วงเหตุการณ์ขณะมีร์ตกลงสู่พื้นโลกด้วยการติดต่อทางเครือข่าย นอกจากนี้องค์การอวกาศยุโรป จะให้ความร่วมมือตามคำขอของรัสเซียด้วยการให้ข้อมูลมีร์จากเรดาร์ในเยอรมนีด้วย

จุดตกของสถานีอวกาศมีร์


เส้นทางการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศมีร์และบริเวณจุดตก วงกลมตามแนวเส้นทางแสดงระดับความสูงของสถานีจากพื้นผิวโลก ปรับปรุงเมื่อ 20 มีนาคม 2544 ดัดแปลงจาก Space.com 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียกล่าวว่า สถานีอวกาศมีร์จะปิดตัวเองจากการสั่งการด้วยการควบคุมระยะไกลขณะที่สถานีโคจรผ่านเหนือรัสเซีย หลังจากนี้ยานโพรเกรสที่ต่ออยู่กับมีร์จะจุดจรวดเพื่อบังคับมีร์ให้ตกลงทำมุมชันกับพื้นผิวโลก ความหนาแน่นของบรรยากาศและกระแสลมจะทำให้อัตราเร็วของสถานีลดลงจากประมาณ 27,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นประมาณ 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจุดตกของมีร์กำหนดให้เป็นพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ละติจูด 44.2 องศาใต้ ลองจิจูด 150 องศาตะวันตก ซึ่งเป็นบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ห่างจากนิวซีแลนด์ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร อยู่ระหว่างนิวซีแลนด์และชิลีในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเกาะและมีการจราจรทางทะเลและทางอากาศเบาบาง พื้นที่เป้าหมายมีความยาวประมาณ 5,500-6,000 กิโลเมตร กว้าง 200 กิโลเมตร สถานีอวกาศมีร์ประกอบด้วยแกนสำหรับการเชื่อมต่อที่ส่งขึ้นไปในปี พ.ศ. 2529 และโมดูลห้องปฏิบัติการและโมดูลระบบอีก โมดูล เคยมีโครงการเชื่อมต่อกับยานขนส่งอวกาศร่วมกันกับสหรัฐอเมริกามาแล้วหลายครั้ง

มีร์แตกกระจายก่อนตกลงสู่มหาสมุทร


ทุกๆ ปี ดาวเทียมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถตรวจจับอุกกาบาตที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับมีร์ตกลงสู่บรรยากาศโลกราว 10 ครั้ง อย่างเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 18 มกราคม 2543 อุกกาบาตน้ำหนัก 200 ตัน เข้าสู่บรรยากาศโลกและแตกกระจายเหนือแคนาดา หากว่ามีอุกกาบาตน้ำหนักเท่ากับมีร์ตกลงถึงพื้นโลกจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก คล้ายกับการระเบิดของระเบิดทีเอ็นทีน้ำหนักหลายพันตัน และจะมีหลุมอุกกาบาตขนาดราวสนามฟุตบอล แต่สิ่งนี้จะไม่ใช้ผลจากการตกของสถานีอวกาศมีร์ เนื่องจากโลกมีบรรยากาศอันหนาแน่นคอยป้องกันอยู่

ขณะผ่านชั้นบรรยากาศโลก คาดว่าสถานีอวกาศมีร์จะเผาไหม้และแตกกระจายออก ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 8-10 นาทีหลังจากที่เข้าสู่บรรยากาศที่หนาแน่นแล้ว เป็นเพียงแค่การคาดการณ์จากหลักทางฟิสิกส์เท่านั้น ซึ่งศูนย์บัญชาการด้านอวกาศของสหรัฐฯ จะสามารถยืนยันการตกของสถานีได้ก็ต่อเมื่อเครือข่ายของอุปกรณ์ตรวจจับไม่สามารถพบสัญญาณการมีอยู่ของสถานีอวกาศมีร์ได้อีก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีร์มีขนาดใหญ่มาก ทำให้คาดว่าชิ้นส่วนราว 1,500 ชิ้น น้ำหนักรวมประมาณ 20-35 ตัน จะตกลงถึงผิวโลกในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ แม้ว่ารัสเซียจะยืนยันกับชาวโลกว่าจะไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อสาธารณชน แต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม รัสเซียได้ทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยภายในประเทศจำนวน แห่งด้วยวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมา รัสเซียมีประสบการณ์ในการนำยานลงสู่บรรยากาศโลกมาแล้วราว 100 ครั้ง สถานีอวกาศของรัสเซียที่ถูกบังคับให้ตกลงสู่โลกล่าสุด คือ ซาลยุต น้ำหนัก 40 ตัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2525 ซึ่งรัสเซียไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจากการที่สถานีสกายแล็บของสหรัฐฯ เคยตกลงในบริเวณตะวันตกของออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2522

ภาพจำลองการแตกระเบิดของสถานีอวกาศมีร์



อวกาศรอบโลกที่เต็มไปด้วยขยะ


ขณะนี้สถานีอวกาศมีร์ไม่ได้เป็นขยะอวกาศชิ้นเดียวที่โคจรอยู่รอบโลก จากข้อมูลของศูนย์บัญชาการด้านอวกาศของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุคอวกาศเริ่มต้นขึ้นจากการส่งยานสปุตนิกของอดีตสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2500 มีวัตถุที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้นในวงโคจรรอบโลกราว 26,600 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้ 17,700 ชิ้นได้ตกลงและเผาไหม้ในบรรยากาศโลก อีก 600 ชิ้น กระจายออกสู่อวกาศ ที่เหลืออีก 8,300 ชิ้น ยังคงโคจรอยู่รอบโลก ในจำนวนที่เหลือนี้มีเพียงร้อยละ 7-10 เท่านั้นที่เป็นดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ โดยมีหน่วยงาน NORAD คอยติดตามการเคลื่อนที่ของขยะอวกาศและดาวเทียมต่างๆ เหล่านี้

ความหวั่นกลัวของนานาชาติ


ก่อนหน้านี้ที่รัสเซียกำหนดให้มีร์ผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นในระหว่างการตก ญี่ปุ่นได้ร้องขอรัสเซียให้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับญี่ปุ่นและมีแผนที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังศูนย์ควบคุมภารกิจซึ่งอยู่นอกกรุงมอสโคว์ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจุดตกลงสู่พื้นโลกของมีร์ที่กำหนดไว้นั้นอยู่ใกล้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดในระหว่างการเข้าสู่บรรยากาศของสถานี ทั้งสองประเทศอาจพบกับหายนะครั้งร้ายแรง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการเข้าสู่บรรยากาศของดาวเทียม (Satellite Reentry Committee) ในนิวซีแลนด์ ขณะที่ออสเตรเลียจัดตั้งหน่วยงานในการจัดการด้านความปลอดภัยขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แม้ว่าทั้งสองประเทศยังมั่นใจในความปลอดภัย แต่ก็กำลังติดตามแผนงานของรัสเซียในภารกิจนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในอดีตเคยมีการตกของชิ้นส่วนจากดาวเทียมมาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2515 มีลูกบอลไททาเนียมสำหรับกันก๊าซพิษ ชิ้น น้ำหนักชิ้นละ 14 กิโลกรัมตกลงในทุ่งนาของนิวซีแลนด์ จากการสอบสวนเชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนของยานโซเวียต จากกฏหมายด้านอวกาศ ควรจะต้องส่งชิ้นส่วนดังกล่าวคืนให้กับรัสเซีย แต่รัสเซียก็ปฏิเสธความเป็นเจ้าของ

ในปี 2522 สหรัฐฯ ประกาศว่าสถานีสกายแล็บจะตกในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่แล้ว ออสเตรเลียต้องเผชิญกับการตกของสถานีสกายแล็บจนได้ ชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดตกในบริเวณห่างไกลชุมชนทางด้านตะวันตกของออสเตรเลีย โดยผู้โชคดีคนหนึ่งได้เงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่เป็นคนแรกที่สามารถเก็บชิ้นส่วนของสกายแล็บให้กับห้องข่าวของหนังสือพิมพ์ในซานฟรานซิสโก แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองไม่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงใดๆ แต่สำหรับสถานีอวกาศมีร์แล้วต่างจากครั้งนั้นเนื่องจากน้ำหนักมหาศาลของสถานี และขนาดที่ใหญ่เป็นสองเท่าของสกายแล็บ โชคดีที่สถานีไม่มีวัตถุหรือสารเคมีร้ายแรงใดๆ อย่างที่เกิดในปี 2521 ที่ดาวเทียมที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ตกลงอย่างไร้การควบคุมทางตอนเหนือของแคนาดา ทำให้กัมมันตภาพรังสีแผ่กระจายออกไป ซึ่งรัสเซียต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการกำจัด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี และผลกระทบทางเคมีและชีวภาพจากการตกของมีร์ ซึ่งรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีชิ้นส่วนหรือเครื่องมือใดๆ ที่จะเป็นอันตรายจากการตกของสถานี

สถานีอวกาศ สกายแล็บ ตกลงสู่พื้นดินในออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2522 

สำหรับสหรัฐอเมริกาเอง แม้จะอยู่ห่างจากจุดตกมาก แต่หากเกิดความผิดพลาด สถานีอวกาศมีร์ก็มีโอกาสจะตกลงในสหรัฐฯ ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานจัดการด้านความปลอดภัย (FEMA) ของสหรัฐฯ กำลังสร้างเครือข่ายติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดเช่นกัน มาร์ค วูล์ฟสัน โฆษกของ FEMA กล่าวว่า หน่วยงานดับเพลิงท้องถิ่นและทีมช่วยเหลือฉุกเฉินจะได้รับการติดต่อเป็นอันดับแรก เครือข่ายเรดาร์และกล้องโทรทรรศน์ของศูนย์บัญชาการด้านอวกาศของสหรัฐฯ ที่มีอยู่ทั่วโลกจะติดตามการเคลื่อนที่ของมีร์ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยังศูนย์บัญชาการทางทหารแห่งชาติไปจนถึงทำเนียบขาว โดยศูนย์อวกาศจอห์นสันที่ฮุสตันในรัฐเทกซัสจะส่งข้อมูลนี้ไปยังศูนย์ควบคุมภารกิจสถานีอวกาศมีร์ของรัสเซียในทันที โดยในช่วง 15 นาทีก่อนและหลังเวลาตกที่กำหนดไว้นี้ จะเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ติดต่อกับรัสเซียเพื่อระบุตำแหน่งที่แม่นยำของมีร์

การตกของยานต่างๆ ในอดีต



ขั้นตอนการปลดมีร์ลงสู่พื้นโลก


แผนภาพแสดงขั้นตอนการปลดสถานีอวกาศมีร์ออกจากวงโคจร และบังคับให้ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ในวันที่ 23 มีนาคม 2544 บริเวณสีเขียวอ่อน คือ พื้นที่ของสถานีรับ-ส่งสัญญาณภาคพื้นดินของรัสเซีย ดัดแปลงจาก www.russianspaceweb.com 


ศูนย์ควบคุมภารกิจในคอโรลยอฟนอกกรุงมอสโคว์ แถลงกำหนดวันปฏิบัติการว่าจะเป็นวันที่ 23 มีนาคม ปฏิบัติการจะใช้เวลา ชั่วโมง จากความเป็นไปได้ในขณะนี้ คาดว่าปฏิบัติการจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

 สถานีจะถูกบังคับจากภาคพื้นดินจำนวน ครั้ง ครั้งแรกเป็นการจุดเครื่องยนต์ควบคุมจำนวน ตัวของยานโพรเกรส เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 7.32 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) การจุดเครื่องยนต์ครั้งนี้ยาวนาน 20 นาที ทำให้วงโคจรมีระยะใกล้สุด 187 กิโลโมตร ไกลสุด 218 กิโลเมตร คาบการโคจร 88.4 นาที
 จากนั้นสถานีจะโคจรรอบโลกครบหนึ่งรอบมาผ่านเหนือรัสเซียอีกครั้งในเวลา 9.01 น. ซึ่งมีการจุดเครื่องยนต์ควบคุมของโพรเกรสเป็นครั้งที่สอง เป็นระยะเวลา 22 นาที การปรับวงโคจรสองครั้งแรกนี้จะทำให้สถานีมีวงโคจรมีระยะใกล้สุด 159 กิโลโมตร ไกลสุด 217 กิโลเมตร คาบการโคจร 88.1 นาที

การทำลายสถานีอวกาศมีร์จากวงโคจรรอบโลก (สำนักข่าวรอยเตอร์) 

 จากนั้นสถานีจะโคจรรอบโลกอีกหนึ่งรอบก่อนจะถึงรอบสุดท้ายที่จะมีการบังคับให้ตกลงสู่พื้นโลก ระหว่างนี้รัสเซียจะคำนวณหาเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะเป็นเวลา 12.08 น. ให้มีการจุดเครื่องยนต์หลักและเครื่องยนต์ควบคุม ตัวบนยานโพรเกรสเป็นระยะเวลานาน 22 นาที การปรับครั้งนี้ทำให้สถานีลดระดับความสูงจากพื้นโลกลงจาก 213 กิโลเมตร เป็น 159 กิโลเมตร

 สถานีจะลดระดับลงเรื่อยๆ มาอยู่ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร ในเวลาประมาณ 12.44 น. โดยชิ้นส่วนที่เป็นอะลูมิเนียมจะเริ่มเผาไหม้ จากนั้นในเวลา 12.52 น. สถานีจะอยู่ที่ระดับความสูง 80 กิโลเมตร การระเบิดของสถานีอย่างรุนแรงจะเริ่มขึ้น คาดว่าชิ้นส่วนอะลูมิเนียมหนักและไทเทเนียมที่เหลือจากการระเบิดของสถานีอวกาศมีร์จำนวนราว 1,500 ชิ้น น้ำหนักรวม 20-35 ตัน จะตกลงสู่มหาสมุทรในเวลาประมาณ 13.00-13.30 น. ของวันเดียวกัน โดยสถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินที่อยู่ทางตะวันออกของรัสเซีย จะเป็นสถานีสุดท้ายที่รับสัญญาณจากสถานีอวกาศมีร์ จากนั้นเครือข่ายเรดาร์ของสหรัฐฯ จะรับหน้าที่ติดตามสถานีอวกาศมีร์ต่อไปจนสถานีตกลงสู่มหาสมุทร

หมายเหตุ เวลาและกำหนดการข้างต้นเป็นการคาดการณ์จากวงโคจรของสถานีในปัจจุบัน และจากแถลงการณ์เวลาคร่าวๆ ของการตกของสถานีอวกาศมีร์ที่รัสเซียประกาศออกมาเท่านั้น ยังสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก

นอกจากนี้รัสเซียคาดว่าเครื่องบินและเรือของนักท่องเที่ยวที่ไปอยู่ใกล้บริเวณจุดตกเพื่อรอดูการตกของมีร์อาจไม่เห็นอะไรมากนัก โดยศูนย์ควบคุมภารกิจไม่ได้มีความร่วมมือใดๆ กับเครื่องบินหรือเรือของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น

เกิดอะไรขึ้นกับสถานีอวกาศมีร์ระหว่างการตก


ภาพจำลองการระเบิดและแตกกระจายของสถานีอวกาศมีร์ ขณะผ่านชั้นบรรยากาศอันหนาแน่นของโลก จาก Analytical Graphics Inc. 

ด้วยความกดดันและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศชั้นต่ำลงมา แผงเซลล์สุริยะพร้อมกับองค์ประกอบภายนอกของสถานีอวกาศมีร์จะเริ่มแยกออกจากกันที่ระดับความสูงประมาณ 100-110 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะเริ่มเกิดคลื่นกระแทกบริเวณโดยรอบตัวสถานี ทำให้อุณหภูมิรอบตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกมากพร้อมกับความหนาแน่นของมวลอากาศที่เพิ่มขึ้น สถานีจะเริ่มแตกกระจายและเผาไหม้อย่างรุนแรงที่ระดับความสูง 80-90 กิโลเมตร โมดูลที่มีความดันภายในจะระเบิดออก คาดว่าสถานีอวกาศมีร์จะแตกออกเป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ อย่างน้อย ชิ้น ชิ้นส่วนที่ตกลงสู่มหาสมุทรจำนวนราว 1,500 ชิ้น น้ำหนักรวม 20-35 ตัน จะมีอัตราเร็วราว กิโลเมตรต่อวินาที ในจำนวนนี้อาจมี หรือ ชิ้นที่มีขนาดพอๆ กับรถยนต์เล็กๆ คันหนึ่ง ซึ่งมีน้ำหนักถึง 700 กิโลกรัม ชิ้นส่วนโลหะที่ตกลงสู่มหาสมุทรจะเกิดจากการหลอมที่อุณภูมิสูงขณะผ่านบรรยากาศ คาดว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะกระจายออกเป็นวงกว้างภายในพื้นที่กว้าง 200 กิโลเมตร ยาว 6,000 กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลางที่ละติจูด 44.2 องศาใต้ ลองจิจูด 150 องศาตะวันตก

หากเกิดความผิดพลาด


เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียกล่าวว่า ยานโพรเกรสมีเชื้อเพลิงเพียงแค่พอที่จะใช้ในการบังคับสถานีอวกาศมีร์ให้ตกลงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้นหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ชิ้นส่วนของมีร์อาจตกลงสู่พื้นดินในบริเวณที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น จากข้อมูลวงในของรัสเซียและสหรัฐฯ คาดกันว่า หากการจุดจรวดสำเร็จแค่ 50 เปอร์เซนต์ จะทำให้ชิ้นส่วนของมีร์ตกลงในยุโรป และหากสำเร็จเพียง 25 เปอร์เซนต์ สถานีอวกาศมีร์จะตกลงสู่พื้นโลกอย่างไร้การควบคุมและไม่สามารถคาดการณ์ได้ และถ้าหากไม่มีการจุดจรวดในครั้งนี้ สถานีอวกาศมีร์จะตกลงสู่โลกในราววันที่ 28 มีนาคม (คลาดเคลื่อนได้ วัน) อย่างไรก็ดี รัสเซียมีประสบการณ์ในการนำดาวเทียม 80 ดวงและสถานีอวกาศซาลยุตจำนวน สถานีลงสู่บรรยากาศโลกมาแล้ว

หมายเหตุ เว็บเพจหน้านี้จะมีการปรับปรุง เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวของการปฏิบัติการบังคับสถานีอวกาศมีร์ตกลงสู่พื้นโลกต่อไป โปรดติดตาม