สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เรื่องที่มักเข้าใจผิดในดาราศาสตร์

เรื่องที่มักเข้าใจผิดในดาราศาสตร์

โดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) 1 มกราคม 2546
ปรับปรุงครั้งล่าสุด 3 มกราคม 2567

https://thaiastro.nectec.or.th/library/misconception/


ฤดูร้อนโลกจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด


ผิด !

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุด คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าฤดูร้อนเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และฤดูหนาวมีอากาศหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ จริงอยู่ที่ว่าโลกเรานั้นมีบางช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และบางช่วงที่ถอยห่างจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แต่วงรีนี้เป็นวงรีที่มีความรีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็นวงกลม ดังนั้นระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ของสองช่วงนี้จึงแตกต่างกันน้อยมากซึ่งแทบจะไม่มีผลต่ออุณหภูมิเลย ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า ในฤดูหนาวโลกกลับอยู่ใกล้จากดวงอาทิตย์มากกว่าในฤดูร้อนเสียอีก แปลกใหมล่ะ?

แกนของโลกชี้ไปที่จุด ๆ เดียวในขณะที่โคจรรอบโลก ทำให้ซีกใดซีกหนึ่งของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ในฤดูกาลหนึ่ง ๆ 

กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลที่แท้จริงคือ ความเอียงของแกนโลก แกนโลกเอียง 23.5 องศาเทียบกับแนวตั้งฉากกับระนาบของระบบสุริยะ ดังนั้นจึงมีบางช่วงที่โลกซีกโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนซีกโลกใต้ก็เอียงออกจากดวงอาทิตย์ ช่วงนี้เองที่เป็นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ เนื่องจากปริมาณแสงอาทิตย์ส่องพื้นผิวโลกในส่วนที่เป็นซีกโลกเหนือมากกว่า มุมที่แสงแดดตกกระทบพื้นดินก็เป็นมุมมากกว่า และกลางวันก็ยาวกว่ากลางคืน ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย โลกจะหันประเทศไทยเข้าหาดวงอาทิตย์โดยตรงในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม ในขณะที่ทางประเทศออสเตรเลียเป็นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากแสงแดดตกกระทบพื้นดินเป็นปริมาณน้อยกว่า และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน เมื่อย่างเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม โลกจะหันด้านใต้เข้าหาดวงอาทิตย์แทน ฤดูกาลก็จะสลับกัน ช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้และเป็นฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือ

คริสต์มาสที่ประเทศออสเตรเลียไม่มีหิมะ ไม่ต้องใส่ชุดหนา ๆ แต่ผู้คนจะไปเที่ยวตามชายหาด ปักต้นคริสต์มาสบนหาดทราย ฉลองคริสต์มาสและเล่นน้ำทะเลตามประสาหน้าร้อน

แกนเอียงของโลกทำให้พื้นที่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้รับปริมาณแสงแดดไม่เท่ากัน 


หางของดาวหางเกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวหางเอง


ผิด !

ดูจากรูปของดาวหางก็ชวนให้คิดว่าเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะหางของดาวหางดูแล้วเหมือนกับเปลวไฟที่พุ่งจากท้ายของจรวด จึงทำให้ชวนคิดว่าดาวหางพุ่งไปข้างหน้าตามทิศทางที่หัวดาวหางชี้ไป และมักจะพาให้นึกไปอีกว่าเมื่อดาวหางปรากฏ มันคงจะเคลื่อนที่เร็วฉิวจนต้องสะบัดหน้าตาม มักมีคนถามอยู่เสมอ ๆ ว่า "มันวิ่งเร็วไหม?" "จะดูทันหรือ?"

แท้จริงแล้วหางของดาวหางไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวหาง แต่หางของดาวหางเกิดจากลมสุริยะซึ่งเป็นกระแสธารของอนุภาคประจุไฟฟ้าพลังงานสูงที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ หัวของดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งและฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะได้รับความร้อนและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำแข็งในหัวของดาวหางเกิดการระเหิดเป็นก๊าซและพ่นออกมาจากรูเล็กรูน้อยในนิวเคลียสดาวหาง น้ำแข็งและฝุ่นก๊าซเหล่านี้ก็จะถูกลมสุริยะพัดออกไปตามการพัดพาของลมสุริยะ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าหางของดาวหางนั้นจะมีทิศทางชี้ไปทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ

หางของดาวหางไม่ลู่ไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ แต่ชี้ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ 

กล้องตัวนี้เห็นได้ไกลกี่กิโลเมตรครับ?


เชยแหลก !

คนที่ถามแบบนี้เรียกว่าเชยที่สุด กล้องโทรทรรศน์ กล้องส่องทางไกลหรือกล้องสองตา ต้องวัดกำลังขยายเป็น "เท่า" เช่น 32 เท่า หมายถึงกล้องตัวนี้จะสามารถดึงภาพให้ใกล้เข้ามา 32 เท่า ซึ่งกล้องจะดึงภาพจากทุกระยะเข้ามา 32 เท่า ๆ กันหมด ต้นไม้อยู่ห่าง 32 เมตรก็จะเห็นในกล้องเหมือนกับอยู่ข้างหน้าแค่ เมตร ภูเขาอยู่ห่าง 32 กิโลเมตร ก็จะดูเหมือนอยู่ใกล้ กิโลเมตรดาวที่อยู่ไกล 320 ปีแสง ก็จะดูใกล้เหมือนกับดาวอยู่ห่าง 10 ปีแสงดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก 384,000 กิโลเมตร ถ้าเอากล้องตัวนี้มาส่องดู ก็จะเหมือนกับอยู่ใกล้ 384,000/32 หรือ 12,000 กิโลเมตร

องศาเคลวิน


ไม่รู้จัก !

ไม่มีหน่วยนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์ อุณหภูมิสัมบูรณ์ของพลังงานความร้อนนั้นมีหน่วยเป็น เคลวิน ไม่ใช่ องศาเคลวิน อุณหภูมิต่ำสุดที่เป็นไปได้คือ เคลวิน หรือ -273 องศาเซลเซียส ดูเหมือนกับคำว่าองศาเคลวินจะถูกนำไปใช้กันอย่างผิด ๆ บ่อยกว่าคำว่าเคลวินเสียอีก ฝรั่งเองก็หลงอยู่บ่อย 

Astronomy Astrology


ระวัง !

คำคู่นี้มีผู้เข้าใจผิดนำไปใช้สลับกันอยู่บ่อย ๆ Astronomy คือ ดาราศาสตร์ ส่วนคำว่า Astrology คือโหราศาสตร์

กล้องโทรทรรศน์ กล้องโทรทัศน์


นี่ก็ต้องระวัง !

แม้จะออกเสียงเหมือนกัน รากศัพท์เหมือนกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน กล้องโทรทรรศน์คือกล้องที่ใช้ส่องวัตถุที่อยู่ไกลให้ดูใกล้เข้ามา บางครั้งก็เรียกกล้องดูดาว ส่วนกล้องโทรทัศน์ คือกล้องที่ใช้บันทึกภาพสำหรับนำไปฉายออกทางโทรทัศน์


เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก จะมองเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ถูกหักเหโดยบรรยากาศโลก


ผิด !

ไม่เชื่อลองดูก็ได้

ลองทดสอบกับดวงจันทร์ดู ในคืนที่ฟ้าใส เดือนเพ็ญ หรือใกล้ ๆ เพ็ญ เตรียมกล้องถ่ายรูปพร้อมกับเลนส์เทเลโฟโต้ขนาดเหมาะมือสักอันหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าตอนหัวค่ำ เราจะเห็นว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ ถ่ายรูปดวงจันทร์ตอนนี้เอาไว้ภาพหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ชั่วโมง ดวงจันทร์จะขึ้นมาสูงถึงเกือบกลางศีรษระและแลดูขนาดเล็กกว่าตอนที่เห็นเมื่อหัวค่ำมากมาย ให้ถ่ายภาพดวงจันทร์ตอนนี้อีกภาพหนึ่ง ด้วยเลนส์ตัวเดิม นำภาพทั้งสองมาวางเทียบแล้วดูขนาดของดวงจันทร์ในภาพทั้งสอง

ภาพดวงจันทร์ทั้งสองภาพมีขนาดเท่ากันทุกประการ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณขอบฟ้าเช่นหลังคาบ้าน ต้นไม้ ช่วยเสริมให้ภาพของดวงจันทร์ที่ขอบฟ้าดูมีขนาดใหญ่เกินจริง ในขณะที่ดวงจันทร์ที่อยู่มุมเงยสูง ๆ จะไม่มีอะไรอยู่เคียงข้างจึงดูเหมือนกับดวงเล็กลง คนที่เคยดูเครื่องบินโดยสารที่รันเวย์ของสนามบินก็จะรู้สึกว่าเครื่องบินนั่นมีขนาดเล็ก ประมาณขนาดราว ๆ รถบัสสักคันเห็นจะได้ แต่เมื่อเห็นรถบันไดเข้าไปเทียบและมีคนเดินออกมาจึงได้ทราบว่าเครื่องบินลำนั้นช่างใหญ่โตมโหฬารเสียจริง ๆ ในกรณีนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ประสาทสัมผัสของคนเรามักถูกสิ่งแวดล้อมหลอกเอาอยู่เสมอ แต่กล้องถ่ายรูปที่เราใช้ทดลองมีความแม่นยำและซื่อตรงกว่าจึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

ที่กล่าวว่าบรรยากาศของโลกหักเหแสงของดวงอาทิตย์นั้นก็มีส่วนจริง แต่ผลของการหักเหคือทำให้ตำแหน่งและสีของดวงอาทิตย์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเท่านั้น

พระอาทิตย์ยามจะลับฟ้า ขนาดไม่ได้ใหญ่ไปกว่าตอนอยู่กลางหัว 

หมายเหตุ
เหตุที่แนะนำให้ทดลองกับดวงจันทร์เนื่องจากปลอดภัยต่อสายตาและกล้องมากกว่า หากทดลองกับดวงอาทิตย์ก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน แต่จะต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงที่เหมาะสมด้วย

ไม่ไปวันนี้ จะต้องรออีกกี่ปีแสง?


นี่ก็ไม่มี !

คำว่า "ปีแสง" เป็นหน่วยของระยะทาง ไม่ใช่หน่วยของเวลา เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในเวลาหนึ่งปี ดังนั้นจึงมีแต่คำว่า "ไกลหลายปีแสง" หรือ "นานหลายปี" เท่านั้น ด้วยเหตุที่มีคำว่า "ปี" อยู่ด้วยจึงมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นหน่วยของเวลา

จะดูอาทิตย์เที่ยงคืนก็ต้องไปนอร์เวย์


ไม่จำเป็น !

ขอเพียงพื้นที่นั้นอยู่ที่ละติจูดสูงกว่า 66.5 หรือต่ำกว่า -66.5 องศาก็มีโอกาสเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืนในกลางฤดูร้อนได้ทั้งนั้น

ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์


มีซะที่ไหนกัน !

ไอน์สไตน์ไม่เคยเขียนทฤษฎีอย่างว่านี้หรอก ทฤษฎีที่ชื่อ Theory of Relativity ของเขาน่ะเรียกว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ต่างหาก

สุริยุปราคาคือปรากฏการณ์ที่เงาดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์


ผิด !

คนมักพูดกันแบบนี้ จริง ๆ แล้วสิ่งกลม ๆ ดำ ๆ ที่ไปบังดวงอาทิตย์เวลาเกิดสุริยุปราคานั่นคือดวงจันทร์จริง ๆ ไม่ใช่เงาดวงจันทร์ เงาดวงจันทร์คือสิ่งที่มาพาดบนผิวโลก ทำให้บริเวณที่ถูกเงาพาดเกิดความมืดชั่วขณะ และคนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก็สามารถมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องดีอยู่แล้วว่าอะไรบังอะไร แต่คงเพราะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับความมืดกระมัง พอพูดหรือเขียนออกมาทีไรมักมีคำว่าเงาออกมาอยู่บ่อย ๆ เรียกว่าผิดเพราะลมปากพาไปแท้ 

วงกลมสีดำที่บังดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สุริยุปราคาคือดวงจันทร์ ไม่ใช่เงาดวงจันทร์ 

สู่สหัสวรรษใหม่ ปี 2000


ยัง

สหัสวรรษที่ จะเริ่มเมื่อวันที่ มกราคม ค.ศ.2001 ไม่ใช่ปี 2000 เนื่องจากปี ค.ศ.เริ่มต้นที่ ค.ศ.1 ไม่ใช่ ค.ศ. ดังนั้น การขึ้นสหัสวรรษใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ มกราคม ของปี 1001, 2001, 3001...

ในทำนองเดียวกัน การขึ้นศตวรรษใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ มกราคม ของปี 101, 201, 301... ด้วย

ผมใช้กล้องชมิดท์


ใช่เหรอ?

กล้องโทรทรรศน์ชนิดที่เป็นที่นิยมมากชนิดหนึ่งในหมู่นักดูดาวทั่วโลกคือ กล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรน (Schmidt-Cassigrain) แต่เราจะเรียกกล้องชนิดนี้ย่อ ๆ ว่า "กล้องชมิดท์" ไม่ได้ เพราะหากพูดว่า "กล้องชมิดท์" จะหมายถึงกล้องอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งรูปร่างคล้าย ๆ กับกล้องแบบแคสสิเกรน ไม่มีเลนส์ตาสำหรับมอง แต่มีช่องด้านข้างกล้องสำหรับติดและถอดแผ่นเพลตแทน หรือไม่ก็มีสายไฟออกมาสำหรับให้ต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ กล้องชมิดท์นี้เป็นกล้องสำหรับถ่ายภาพโดยเฉพาะ มีราคาแพงมาก เนื่องจากกล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรนกับกล้องแบบชมิดท์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะเรียกกล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรน ควรเรียกตรง ๆ ว่า "ชมิดท์แคสสิเกรน" หรือถ้าจะเรียกย่อ ๆ ก็ควรเรียกว่า "กล้องเอสซีที" (SCT) มากกว่า

คืนเดือนหงายคือคืนที่ดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวหงาย คืนเดือนคว่ำคือคืนที่ดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวคว่ำ


มั่วแล้ว

เดือนหงายหมายถึงคืนที่เห็นดวงจันทร์ คำที่ตรงข้ามกันคือคำว่าเดือนมืด หมายถึงคืนที่มองไม่เห็นดวงจันทร์ ส่วนเดือนคว่ำไม่มี

ดาวประจำเมืองคือดาวที่อยู่กับที่ อยู่ทางทิศเหนือ เรียกอีกชื่อว่าดาวเหนือ


นี่ก็มั่ว

ดาวประจำเมืองคือดาวศุกร์ที่เห็นในช่วงหัวค่ำ ปรากฏอยู่บริเวณทิศตะวันตก อาจเฉียงเหนือหรือใต้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทิศเหนือ และไม่ใช่ดาวเหนือ ดาวเหนือก็คือดาวเหนือ คนละดวงกัน

เข้าใจว่าคงเพราะดาวประจำเมืองมีคำว่า "ประจำ" อยู่นี่เอง ทำให้คนมักคิดไปว่าเป็นดาวที่ประจำอะไรสักอย่าง จึงไพล่ไปนึกถึงดาวเหนือซึ่งมีตำแหน่งประจำขั้วฟ้าเหนือ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

ฝนดาวตกเกิดจากการที่ธารสะเก็ดดาวจากดาวหางเคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก แรงดึงดูดของโลกจึงดึงดูดสะเก็ดดาวเข้ามาสู่โลกกลายเป็นดาวตก


ผิดแล้ว

ฟังดูไม่น่าจะผิดแต่ก็ผิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สะเก็ดดาวจากดาวหางตกลงสู่โลกจำกลายเป็นฝนดาวตก เกิดจากการที่เส้นทางการโคจรของโลกไปตัดกับธารสะเก็ดดาวเอง เมื่อโลกเคลื่อนที่ฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว สะเก็ดดาวจึงเข้ามาสู่บรรยากาศโลกกลายเป็นดาวตก แรงดึงดูดของโลกแม้จะมีอยู่จริง แต่มีผลต่อการทิศทางการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวน้อยมากจนแทบจะตัดออกไปได้เลย

ไปรับแสงตะวันแรกของไทยในวันปีใหม่กันที่โขงเจียม


ไม่ใช่ที่นั่น

แม้อำเภอโขงเจียมจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นที่นั่นก่อนที่อื่นทุกวัน เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียง แนวรอยต่อเช้าจึงไม่ได้ขนานกับเส้นลองจิจูดเสมอ โดยในฤดูร้อนแนวรอยต่อจะเอียงซ้ายทำให้ทางตอนเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางใต้ที่ลองจิจูดเท่ากัน ส่วนฤดูหนาวรอยต่อจะเอียงขวาทำให้ทางตอนใต้จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางเหนือที่ลองจิจูดเท่ากัน

วันขึ้นปีใหม่ของทุกปี แนวรอยต่อเช้าเอียงไปทางขวาเป็นมุมประมาณ 23 องศาซึ่งถือว่าเอียงมากเกือบที่สุดในรอบปี มากจนปลายด้ามขวานของประเทศไทยล้ำไปทางตะวันออกมากกว่าอำเภอโขงเจียม ด้วยเหตุนี้ ทุกวันปีใหม่ พื้นที่ในประเทศไทยที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นที่แรกจึงไม่ใช่อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี แต่เป็นที่บ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอแรกของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับแสงอาทิตย์ก็ไม่ใช่อำเภอโขงเจียม แต่เป็นอำเภอบุณฑริก

พื้นที่ในประเทศไทยที่ได้รับแสงตะวันแรกของปีคืออำเภอตากใบ นราธิวาส 

ดาวตกส่องแสงเนื่องจากการเสียดสีกับบรรยากาศจนทำให้เกิดความร้อนและเปล่งแสงออกมา


ไม่ใช่

แสงดาวตกเกิดจากความร้อน ถูก แต่ที่ว่าความร้อนเกิดจากการเสียดสีนั้นผิด 

ดาวตกเกิดจากสะเก็ดดาวที่พุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลก ความเร็วที่พุ่งเข้ามาสูงมาก (อาจสูงถึงระดับแสนกิโลเมตรต่อชั่วโมง) ทำให้เกิดแรงอัดอากาศที่ด้านหน้าของสะเก็ดดาว แรงอัดที่สูงมากนี้เองที่ทำให้เกิดความร้อน ทำนองเดียวกับเมื่อเราสูบลมจักรยาน กระบอกสูบที่ร้อนขึ้นเกิดจากความดันอากาศภายในกระบอกสูบที่เพิ่มสูงขึ้น 

ดาวตก ส่องสว่างขึ้นจากความร้อนที่เกิดจากความดัน ไม่ใช่แรงเสียดสี (จาก Wikimedia Commons)

ส่วนสะเก็ดดาวร้อนขึ้นโดยการแผ่รังสีความร้อนจากแนวปะทะของอากาศที่ร้อนขึ้นจากความดันตามที่กล่าวมาข้างต้น ความร้อนนี้ทำให้ผิวหน้าของสะเก็ดดาวหลอมเหลวและระเหยออกไปเป็นไอ 

การเสียดสีเกิดขึ้นจริง แต่กลไกหลักของการเกิดความร้อนในที่นี้คือความดัน ไม่ใช่การเสียดสี


ยานสปุตนิก เป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ชิ้นแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ


ไม่ใช่

สิ่งประดิษฐ์มนุษย์ชิ้นแรกที่ขึ้นสู่อวกาศคือจรวด วี-2 ที่สร้างชื่อไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง จรวดวี-2 บางลำพุ่งขึ้นสูงกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเข้าสู่พรมแดนของอวกาศแล้ว แต่จรวดวี-2 เพียงแต่ขึ้นสู่อวกาศเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วตกกลับสู่โลกเท่านั้น ไม่ได้โคจรรอบโลก สิ่งประดิษฐ์มนุษย์ชิ้นแรกที่โคจรรอบโลกได้คือสปุตนิก-1 ดังนั้น เกียรติยศของสปุตนิก-1 คือการเป็นสิ่งประดิษฐ์แรกที่โคจรรอบโลกได้สำเร็จ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่อยู่เหนือเพียงการขึ้นสู่อวกาศของ วี-2 มาก

ดวงอาทิตย์ คือลูกไฟดวงโต


ไม่ใช่

ดวงอาทิตย์ไม่ใช่ไฟ สิ่งที่ทำให้ดวงอาทิตย์ร้อนแรงไม่ใช่ปฏิกิริยาเคมีดังที่เกิดในเปลวไฟ แต่เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่หลอมไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียม ปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้พลังงานมหาศาลจนแกนดวงอาทิตย์ร้อนถึง 15 ล้านองศา ดวงอาทิตย์จึงเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ธรรมชาติซึ่งร้อนกว่าไฟมาก 
ยามคุณเดินอาบแดดอุ่น ๆ ริมชายหาด ก็จงเข้าใจว่าคุณกำลังอาบรังสีจากนิวเคลียร์ บ้านไหนติดโซลาร์เซลก็แสดงว่าบ้านนั้นใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือถ้าหลังบ้านใครมีราวตากผ้าก็ตั้งชื่อให้โก้ไปเลยว่าเครื่องทำผ้าแห้งพลังงานนิวเคลียร์

ดวงอาทิตย์ไม่ใช่ลูกไฟ แต่ร้อนยิ่งกว่าไฟ (จาก NASA)

นักบินอวกาศจะสลบไปชั่วขณะในช่วงที่จรวดทะยานจากฐานปล่อยพุ่งขึ้นสู่อวกาศ เนื่องจากได้รับแรงจีสูงมาก


ดูหนังมากไปป่าว

ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก นักบินอวกาศได้รับแรงจีขณะขึ้นสู่อวกาศสูงสุดประมาณ 3-4 จี อาการที่เกิดขึ้นกับนักบินอวกาศขณะพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า (รวมถึงขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในการกลับสู่โลก) คือแขนขาหนัก แน่นอก หายใจลำบาก พูดไม่ค่อยออก เท่านั้น  แม้แต่การกลับสู่โลกในแบบทิ้งตัวซึ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน นักบินอวกาศก็ได้รับแรงจีประมาณ 7-8 จี ซึ่งแม้จะสูงกว่ามาก แต่ก็ไม่ถึงกับหมดสติ

นักบินอวกาศใส่รองเท้าแม่เหล็กเพื่อช่วยยึดเกาะกับพื้นยานได้


จะใส่ทำไม

ในเมื่อตอนอยู่ในยานอวกาศใช้เหาะเอาสะดวกกว่ากันเยอะ อย่าลืมว่าการเดินเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขณะอยู่ในภาวะไร้น้ำหนัก นักบินอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติจึงไม่เดิน เมื่อต้องการเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนก็เหาะไป เมื่อต้องการอยู่กับที่ ก็ใช้เท้าขัดกับราวโลหะซึ่งมีอยู่ทั่วสถานีเพื่อตรึงตัวเองไว้กับที่ และในเมื่อไม่ต้องเดิน ก็ไม่ต้องใส่รองเท้า นักบินอวกาศใส่เพียงถุงเท้า (ที่ไม่เคยซัก) เท่านั้น

มีการใช้แม่เหล็กในการตรึงสิ่งของต่าง ๆ ไว้กับที่บ้างเหมือนกัน เช่น ตรึงช้อนส้อมไว้กับโต๊ะกินข้าว แต่ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ใช้ตรึงสิ่งของต่าง ๆ บนสถานีอวกาศเป็นเทปเวลโคร (เทปที่ใช้ติดสายคาดรองเท้า) บนสถานีอวกาศจึงมีแต่เสียงฟืดฟาดของเทปเวลโคร เป็นเทปที่มีประสิทธิภาพและน้ำหนักเบา ดีกว่าแม่เหล็กมาก 


พื้นผิวของดวงจันทร์สะท้อนแสงดีมาก


ใช่ ดีกว่าถ่านหุงข้าวหน่อยนึง

เมื่อคุณมองดูดวงจันทร์ในคืนจันทร์เพ็ญ อาจรู้สึกว่าดวงจันทร์สว่างจนแสบตา น่าจะเชื่ออยู่ว่าพื้นผิวดวงจันทร์คงจะขาวโพลนราวกับหาดทรายบนโลก ถ้าคุณคิดแบบนั้นก็แสดงว่าคุณถูกม่านตาตัวเองหลอกเข้าให้เสียแล้ว ความจริงพื้นผิวดวงจันทร์สะท้อนแสงได้เฉลี่ยประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ เทียบได้กับการสะท้อนแสงของพื้นดินเปียกฝนหรือถนนราดยางเก่า ๆ ซึ่งถือว่าคล้ำมาก

เมื่อขึ้นไปถึงอวกาศ แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นศูนย์


ไม่ใช่แล้ว

ความโน้มถ่วงมีพิสัยเป็นอนันต์ นั่นคือไปได้ไกลไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นไม่ว่าจะออกไปไกลโพ้นแค่ไหนก็หนีไม่พ้นความโน้มถ่วงของโลกอยู่ดี จรวดที่ยิงขึ้นไปเป็นแนวตั้งฉากกับพื้นโลก แม้จะขึ้นไปสูงจนถึงอวกาศ ก็จะตกกลับลงมาอยู่ดี

แต่การที่สถานีอวกาศและดาวเทียมดูเหมือนกับลอยอยู่เหนือโลก มนุษย์อวกาศที่อยู่ในสถานีอวกาศก็ดูเหมือนกับจะลอยอยู่โดยไม่ตกลงมา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้รับแรงโน้มถ่วงของโลก ความจริงแล้วที่ระดับความสูงของสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 400 กิโลเมตร แรงโน้มถ่วงยังมีอยู่มากถึงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของที่ได้รับที่พื้นโลก

แล้วทำไมเขาลอยอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาล่ะ?

เขาไม่ได้ลอย เขาตกจริง ๆ เขากำลังตกลงสู่ใจกลางโลกตลอดเวลา แต่ในขณะที่ตก สถานีก็เคลื่อนที่ไปรอบ ๆ โลกเป็นวงกลมด้วยความเร็วสูงตลอดเวลาเช่นกัน การที่ยานโคจรไปรอบโลก แนวเส้นโค้งของวงโคจรจะรับเข้ากับความเร็วในการตกของสถานีพอดี ระยะความสูงจากพื้นดินของสถานีจึงคงที่อยู่ที่ระดับนั้นตลอดทั้ง ๆ ที่กำลังตก หรือเรียกอีกอย่างว่า ตกเท่าไหร่ก็ไม่ถึงพื้นสักที 

ในเมื่อการตกนี้เป็นการตกอย่างอิสระ วัตถุสิ่งของรวมถึงมนุษย์อวกาศภายในก็จะรู้สึกเหมือนลอยอยู่โดยไม่ได้รับรู้ถึงน้ำหนักใด ๆ เหมือนคนในลิฟต์ที่กำลังตกจะลอยอยู่ในลิฟต์เหมือนกับไร้น้ำหนักทั้งที่เขากำลังตกไปพร้อมกับลิฟต์ แต่เนื่องจากลิฟต์ไม่ได้โคจรรอบโลก จึงตกถึงพื้น ส่วนสถานีอวกาศโคจรรอบโลก จึงตกไม่ถึงพื้น

กำแพงเมืองจีนมองเห็นได้จากอวกาศด้วยตาเปล่า


โม้

กำแพงเมืองจีนนั้นยิ่งใหญ่มากก็จริง แต่ความกว้างของกำแพงกว้างไม่ถึงสิบเมตร แม้แต่ถนนหลวงที่กว้างหลายสิบเมตรยังมองไม่เห็นจากอวกาศ แล้วจะมองเห็นกำแพงเมืองจีนได้อย่างไร 

กำแพงเมืองจีน มองไม่เห็นจากอวกาศ 

ลองกดเครื่องคิดเลขเล่น ๆ กันดู สายตามนุษย์แยกแยะรายละเอียดของสิ่งของที่เล็กที่สุดวัดเป็นขนาดเชิงมุมไม่เกิน ลิปดา (1/60 ของ องศา) สิ่งใดที่เล็กกว่า ลิปดาก็จะมองไม่เห็น  ขนาดเชิงมุม ลิปดาก็เทียบได้กับขนาดของเหรียญบาทที่อยู่ห่างออกไป 70 เมตร พรมแดนของอวกาศเริ่มตั้งแต่ความสูง 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก กำแพงเมืองจีนกว้างประมาณ เมตร สิ่งของกว้าง เมตรที่มองจากระยะ 100 กิโลเมตรก็จะมีขนาดเชิงมุมเพียง 0.24 ลิปดา ยังเล็กเกินกว่าที่ตาเปล่ามนุษย์จะมองเห็นอยู่ดี ยานที่มีมนุษย์อยู่ไม่ว่าจะเป็นสถานีอวกาศหรือกระสวยอวกาศส่วนใหญ่โคจรที่ระดับความสูง 300-400 กิโลเมตร ความกว้างเชิงมุมของกำแพงเมื่อมองจากสถานีอวกาศก็ยิ่งเล็กลงไปอีกเหลือเพียง 0.06 ลิปดา ต่อให้แถมเงากำแพงที่ทอดเฉียง ๆ ยามเช้าหรือยามเย็นให้กำแพงกว้างขึ้นเป็น 20 เมตร กำแพงแถมเงาที่มองจากสถานีอวกาศก็ยังมีความกว้างเชิงมุมแค่ 0.17 ลิปดาเท่านั้น เพ่งให้ตาขวิดก็ยังไม่เห็น

แม้จะมองไม่เห็นกำแพงเมืองจีนด้วยตาเปล่าจากอวกาศ แต่เมื่อใช้กล้องสองตาก็มองเห็นได้ไม่ยาก เราอาจได้ยินนักบินอวกาศเล่าว่าเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้จากอวกาศ นั่นก็เพราะเขาใช้กล้องสองตาส่องลงมา 

บางคนอาจค้านว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะเมื่อมนุษย์อวกาศขึ้นสู่อวกาศแล้ว สายตาจะดีกว่าตอนอยู่บนโลกมาก ย่อมเป็นไปได้ที่จะมองเห็นกำแพงเมืองจีนจากอวกาศ เรื่องนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกัน การทดลองโดยมนุษย์อวกาศพบว่าขณะอยู่ในภาวะไร้น้ำหนัก ไม่เพียงแต่สายตาไม่ดีขึ้น แต่สายตากลับแย่ลงในบางคนด้วยซ้ำ

นักบินอวกาศหลายคนกล่าวอย่างเหนื่อยหน่ายว่า ตนต้องตอบคำถามและยืนยันเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมักมีคนมาถามเสมอว่าจริงหรือไม่ เป็นคำถามยอดฮิตพอ ๆ กับคำถามว่าอยู่ในอวกาศอึยังไง 

นักบินอวกาศจีนที่ขึ้นสู่อวกาศก็ยืนยันเรื่องนี้เช่นกันว่าอยู่บนอวกาศมองไม่เห็นกำแพงเมืองจีน


นาซาทุ่มงบวิจัยนับล้านเพื่อพัฒนาปากกาไว้ใช้ในอวกาศ แต่รัสเซียใช้แค่ดินสอ


ไปเอามาจากไหน

เรามักได้ยินคนพูดประโยคนี้ในเชิงเยาะหยันความบ้าไฮเทคของอเมริกันและความล้าหลังแฝงหลักแหลมของฝ่ายโซเวียต จะว่าไปบางเรื่องก็มีส่วนจริง แต่ไม่ใช่กับเรื่องปากกาอวกาศ

ตั้งแต่ที่ยุคอวกาศเริ่มต้นขึ้น นักบินอวกาศทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกาและโซเวียตใช้ดินสอเขียนบนอวกาศทั้งคู่ แม้จะรู้ว่าดินสอไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะเมื่อไส้ดินสอซึ่งเป็นวัสดุนำไฟฟ้าหัก เศษไส้อาจลอยไปติดกับแผงวงจรและก่อปัญหาร้ายแรงได้ ส่วนปากกาก็ใช้งานไม่ได้ในสภาวะไร้น้ำหนักเพราะน้ำหมึกไม่ไหลลง ทั้งสองประเทศจึงต้องรีบหาทางเลือกอื่น 

ในที่สุดก็มีบริษัทเอกชนอเมริกันสร้างปากกาที่ใช้งานได้ในสภาวะไร้น้ำหนักออกมาจนได้ ปากกานี้ขับดันหมึกด้วยแรงดันแก๊สภายใน ไม่ใช้แรงโน้มถ่วงของโลก มีชื่อว่า ฟิชเชอร์สเปซเพน แล้วปากกานี้ได้กลายเป็นเครื่องเขียนประจำตัวนักบินอวกาศมาตั้งแต่ยุคอะพอลโลจนถึงปัจจุบัน

ส่วนฝ่ายโซเวียตน่ะหรือ? เขาก็สั่งซื้อฟิชเชอร์สเปซเพนจากอเมริกาไปใช้ประจำการในโครงการอวกาศของตนในเวลาไล่เลี่ยกับนาซา และยังใช้จนถึงปัจจุบันเช่นกัน

ปากกาอวกาศ ฟิชเชอร์สเปซเพน รุ่น AG7 รุ่นดั้งเดิมที่ใช้กันตั้งแต่ยุคอะพอลโล ปัจจุบันมีขายให้คนชอบอวกาศซื้อไปเหน็บเล่นแล้ว 


ดาวหางฮัลเลย์ ค้นพบโดย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์


ไม่ใช่

เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1656 1742 แต่ดาวหางฮัลเลย์มีบันทึกการพบเห็นมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลแล้ว เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ จึงไม่ใช่ผู้ค้นพบดาวหางดวงนี้

เอ็ดมันด์ แฮลลีย์ ได้ศึกษาบันทึกการพบเห็นดาวหางในอดีต และคำนวณหาวงโคจร เขาสังเกตว่า ดาวหางสว่างที่ปรากฏในปี ค.ศ. 1531, 1607 และ 1682 มีวงโคจรคล้ายกันมาก จึงสันนิษฐานว่า ดาวหางที่พบในสามสมัยนี้เป็นการปรากฏซ้ำของดาวหางดวงเดียวกัน และได้พยากรณ์ว่าดาวหางดวงนี้จะกลับมาปรากฏอีกครั้งใน ค.ศ. 1758 ซึ่งก็เป็นความจริง

ชื่อของดาวหางดวงนั้นจึงได้ชื่อในเวลาต่อมาว่า ดาวหางฮัลเลย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คำนวณวงโคจรได้เป็นคนแรก ไม่ใช่ในฐานะผู้ค้นพบ


หยาง ลี่เหว่ย เป็นนักบินอวกาศชาวเอเชียคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ


ไม่ใช่ 

หยาง ลี่เหว่ย เป็นนักบินอวกาศชาวจีนคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ แต่ไม่ใช่คนแรกของเอเชีย 

ชาวเอเชียคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศอยู่ใกล้บ้านเรานี้เอง ชื่อ ฟาม ตวาน เป็นนักบินกองทัพอากาศเวียดนาม ฟาม ตวาน ได้รับเลือกให้ร่วมโครงการโซยุซของสหภาพโซเวียต และได้เดินทางไปกับยานโซยุซ 37 ไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศซัลยุต เมื่อปี 2523 ก่อนหน้าที่หยาง ลี่เหว่ยจะได้ขึ้นสู่อวกาศถึง 23 ปี

มนุษย์อวกาศดื่มฉี่ของตนเอง


แหวะ ใครจะไปกิน

น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แต่น้ำก็เป็นของหนักที่มีค่าขนส่งขึ้นสู่อวกาศแพงมาก ภารกิจอวกาศจึงต้องหาวิธีลดลดการขนส่งน้ำขึ้นไปให้เหลือน้อยที่สุด บนสถานีอวกาศนานาชาติมีวิธีนำน้ำจากร่างกาย (ทั้งปัสสาวะ เหงื่อ และความชื้นจากลมหายใจ) มาแปรใช้ใหม่ กระบวนการแปรใช้ใหม่มีประสิทธิภาพมากจนน้ำที่ได้มามีความสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าน้ำดื่มบรรจุขวดที่เราซื้อกินกันบนโลกเสียอีก แน่นอนว่าน้ำที่บริสุทธิ์ระดับนั้นย่อมเรียกว่าเป็นน้ำปัสสาวะไม่ได้

กาลิเลโอตาบอดเพราะเอากล้องส่องดูดวงอาทิตย์


ไม่จริง

เรื่องกาลิเลโอตาบอดเพราะเคยไปส่องดูดวงอาทิตย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นตัวอย่างยอดนิยมที่มักได้ยินกันเสมอเมื่อมีกิจกรรมการสังเกตการณ์ที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ เป็นการดีที่มีการตักเตือนให้ผู้ที่จะสังเกตดวงอาทิตย์ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแสงอาทิตย์มีความเข้มมาก หากสังเกตด้วยอุปกรณ์หรือวิธีที่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาได้ 

แต่การยกตัวอย่างแบบนั้นไม่ถูก กาลิเลโอไม่ได้ตาบอดเพราะดูดวงอาทิตย์

เป็นความจริงที่กาลิเลโอต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกจองจำและต้องตาบอดในช่วงบั้นปลายชีวิต และก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่กาลิเลโอเคยใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูดวงอาทิตย์ การทึกทักไปว่าเพราะกาลิเลโอดูดวงอาทิตย์ กาลิเลโอจึงตาบอด ก็ดูสมเหตุสมผลดี แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดแล้วจะเห็นว่าเป็นเหตุผลที่โยงเข้ากันไม่ได้ สาเหตุการตาบอดของกาลิเลโอมีบันทึกอยู่ว่าเกิดจากโรคต้อหินและต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดในผู้สูงอายุอยู่แล้ว 

กาลิเลโอเคยดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์เพียงไม่กี่ครั้ง และเป็นการดูเพียงช่วงสั้น ๆ ที่ดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้าหรือใกล้ลับขอบฟ้า และที่สำคัญก็คือ เขาสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยวิธีนี้ในช่วงวัยกลางคน ก่อนหน้าที่จะตาบอดถึงเกือบสามสิบปี การตาบอดของกาลิเลโอจึงไม่เกี่ยวกับการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์


สัตว์ตัวแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศเป็นหมา ชื่อไลกา


ไม่ใช่

ไลกา เป็นสัตว์ตัวแรกที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลก แต่ไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ 
ไลกาได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกในวันที่ พฤศจิกายน 2500 โดยไปกับยานสปุตนิก แต่สัตว์ตัวแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศได้ไปก่อนหน้านั้นถึงสิบปี เป็นแมลงวันผลไม้จำนวนหนึ่ง ถูกส่งขึ้นไปกับจรวดวี โดยสหรัฐอเมริกาเพื่อทดลองเกี่ยวกับรังสีในอวกาศ จรวดนำแมลงวันผลไม้กลุ่มนี้ขึ้นไปสูงจากพื้นดิน 109 กิโลเมตร แม้หน้าตาจะไม่น่ารักเท่าไลกา แต่ก็โชคดีได้กลับมายังพื้นโลกอย่างปลอดภัย

ไลกา หมาตัวแรกที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลก (จาก space.com)

บลูมูนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง


ก็ไม่นานเท่าไหร่

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า once in blue moon ซึ่งมีความหมายว่านาน ๆ ที แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าบลูมูนจะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง 

บลูมูนไม่ได้หมายถึงดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน แต่หมายถึงจันทร์เพ็ญครั้งที่สองของเดือนปฏิทิน มีโอกาสเกิดขึ้นทุกสองสามปีโดยเฉลี่ย บางปีอาจเกิดขึ้นได้ถึงสองครั้ง ความถี่การเกิดระดับนี้ถือว่าไม่น้อยเลยสำหรับดาราศาสตร์

ดาวพฤหัสบดีเกือบจะเป็นดาวฤกษ์อยู่แล้ว


ยังขาดอีกเยอะ

ดาวพฤหัสบดีมีองค์ประกอบคล้ายดาวฤกษ์ นั่นคือประกอบด้วยไฮโดรเจนเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือฮีเลียม การที่ดาวพฤหัสบดีมีองค์ประกอบคล้ายดาวฤกษ์และมีขนาดใหญ่ มีมวลสูง อาจพาให้เข้าใจไปว่า คงใกล้เป็นดาวฤกษ์เต็มที บางคนถึงกับกล่าวว่าหากเอาดาวเสาร์มาโปะให้ดาวพฤหัสบดีก็จะทำให้กลายเป็นดาวฤกษ์ได้เลย เมื่อนั้นระบบสุริยะของเราก็จะมีดาวฤกษ์สองดวงเลยทีเดียว

นั่นเป็นการกล่าวเกินจริงไปมาก ดาวพฤหัสบดียังไม่ใช่ดาวฤกษ์ และจะไม่มีวันเป็น ดาวฤกษ์หมายถึงดาวที่สร้างพลังงานออกมาได้เองจากปฏิกิริยาหลอมไฮโดรเจนที่ใจกลาง ดาวแก๊สจะเกิดปฏิริยาเช่นนั้นได้จะต้องมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีไม่น้อยกว่า 90 เท่า ดาวพฤหัสบดีขณะนี้จึงยังไม่ใกล้เคียงความเป็นดาวฤกษ์เลย ต่อให้เอาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะทั้งหมดมาเทรวมให้ดาวพฤหัสบดี มวลดาวพฤหัสบดีก็ยังเพิ่มขึ้นแค่ไม่ถึงสองเท่า


ดาวฤกษ์อายุมากสีแดง ดาวฤกษ์อายุน้อยสีฟ้า


ไม่เสมอไป

เมื่อเราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า จะเห็นว่าดาวฤกษ์แต่ละดวงมีสีสันแตกต่างกัน มีตั้งแต่สีแดง ส้ม เหลือง ขาว และสีฟ้า สีของดวงดาวบ่งบอกสมบัติทางกายภาพ สี เป็นสมบัติพื้นฐานที่สำคัญมากที่นักดาราศาสตร์ใช้ศึกษาวัตถุบนท้องฟ้า การศึกษาองค์ประกอบของสีและแสง ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้รับรู้ถึงองค์ประกอบทางเคมี และอุณหภูมิของวัตถุนั้นได้ เรียกว่าวิชาสเปกโทรสโกปี

สิ่งที่เราทราบได้ทันทีจากสีของดาวฤกษ์คือ อุณหภูมิพื้นผิวของดาว สีของดาวฤกษ์สัมพันธ์กับอุณหภูมิจากร้อนน้อยที่สุดไปร้อนมากที่สุดดังนี้ แดง ส้ม เหลือง ขาว ฟ้า นั่นคือ ดาวสีแดงร้อนน้อยที่สุด ดาวสีฟ้าร้อนมากที่สุด

โดยทั่วไป ดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าก็จะร้อนมากกว่าดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยกว่า

แต่ดาวฤกษ์ที่มีมวลมากมักมีอายุขัยสั้น ส่วนดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยกว่าจะมีอายุขัยยืนยาวกว่ามาก ดาวฤกษ์มวลสูงอาจส่องแสงได้เพียงไม่กี่ร้อยล้านปีก็ระเบิดดับสูญไป ส่วนดาวฤกษ์มวลต่ำอาจส่องแสงได้นานหลายหมื่นล้านปีหรืออาจนานถึงเป็นแสนล้านปี 

ดาวฤกษ์ในกระจุกดาวเอ็นจีซี 6397 เป็นดาวอายุมากทั้งหมด แต่มีหลายดวงที่เป็นสีน้ำเงิน (จาก ESA/Hubble)

ดังนั้น หากเรามองเห็นดาวสีฟ้าหรือสีขาว อาจพอจะอนุมานได้ว่า ดาวดวงนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นาน 
แต่ดาวสีน้ำเงินบางดวงก็มีอายุมากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นในกระจุกดาวทรงกลม ซึ่งเป็นกลุ่มของดาวที่มีต้นกำเนิดเดียวกันอายุเท่ากันเกาะกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุกจนเหมือนปุยทรงกลม กระจุกดาวทรงกลมเป็นวัตถุดึกดำบรรพ์ มีอายุมาก ดาวในกระจุกก็มีอายุมาก แต่กลับพบว่ามีดาวสีน้ำเงินอยู่ในกระจุกดาวทรงกลมด้วย 

หากมองเห็นดาวสีแดง ก็อย่าเพิ่งทึกทักไปว่าเป็นดาวอายุมาก เพราะดาวฤกษ์มวลต่ำเป็นสีแดงมาตั้งแต่เกิด ดาวมวลต่ำที่มีอายุแค่ร้อยล้านปีก็มีสีแดงไม่ต่างจากดาวมวลต่ำที่มีอายุหมื่นล้านปี เราไม่อาจบอกได้ว่าดาวสีแดงที่เห็นอยู่นี้เป็นดาวอายุมากหรือน้อยโดยดูเพียงสีอย่างเดียว

สรุปว่า สีของดาวไม่อาจใช้เป็นตัวชี้วัดอายุดาว ดาวอายุน้อยก็อาจมีสีแดงได้ ดาวอายุมากก็อาจมีสีน้ำเงินได้เหมือนกัน


แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นผู้คิดค้นระเบิดนิวเคลียร์


ไม่เกี่ยว

ชื่อของไอน์สไตน์และทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะของเขามักถูกโยงไปเข้ากับระเบิดนิวเคลียร์เสมอ เพราะทฤษฎีนี้ใช้อธิบายได้ว่าพลังงานมหาศาลจากกระบวนการนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้อย่างไร 

แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะไม่ได้บอกวิธีสร้างระเบิดนิวเคลียร์ และแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ไม่ได้มีส่วนในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์เพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ไอนส์ไตน์จึงไม่ใช้ผู้คิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ 

อย่างไรก็ตาม ไอนส์ไตน์ก็ยังมีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดระเบิดนิวเคลียร์ เพราะเขาได้เคยเขียนจดหมายไปยังประธานาธิบดี แฟรงคลิน รูสเวลต์ เพื่อให้เร่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ก่อนที่เยอรมันจะทำสำเร็จ


จะดูทางช้างเผือก ก็ต้องเดือนกุมภาพันธ์


เดือนไหนก็ได้

ทางช้างเผือกมองเห็นได้ตลอดปี ไม่จำเป็นต้องเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 

นักถ่ายภาพทางช้างเผือกส่วนใหญ่มักกล่าวอยู่เสมอว่า จะถ่ายรูปทางช้างเผือก ต้องเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจไปว่า ทางช้างเผือกมองเห็นได้เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้นซึ่งไม่เป็นความจริง

ทางช้างเผือก คือดาวฤกษ์นับล้านดวงที่เกาะกลุ่มกันอยู่เป็นแถบโอบล้อมโลกไว้ เมื่อมองจากโลก จะปรากฏเป็นแถบสีขาวจาง ๆ พาดเป็นทางไปบนท้องฟ้า เนื่องจากโลกเราก็เป็นส่วนหนึ่งของดาราจักรทางช้างเผือก เราจึงมองเห็นว่าทางช้างเผือกพันล้อมโลกไว้เป็นวง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวันใดเดือนใดหรือเวลาใด ก็จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งของทางช้างเผือกอยู่บนท้องฟ้าให้เห็นเสมอ ทางช้างเผือกจึงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ตลอดปี 


สาเหตุที่นักถ่ายภาพมักแนะนำว่าถ้าจะถ่ายภาพทางช้างเผือกควรถ่ายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นั่นเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับช่วงฤดูหนาวซึ่งท้องฟ้าปลอดโปร่ง และกลุ่มดาวคนยิงธนู-แมงป่องซึ่งอยู่บริเวณที่ทางช้างเผือกสว่างที่สุดขึ้นสูงจากขอบฟ้ากำลังดีในช่วงใกล้รุ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาสะดวกสำหรับคนทั่วไปที่จะตื่นมาถ่ายรูปดาว  ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จึงเหมาะสำหรับการชมหรือถ่ายภาพทางช้างเผือก แต่ไม่ได้หมายความว่าทางช้างเผือกมองเห็นได้เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์